xs
xsm
sm
md
lg

มน.ชงมะปราง-มะยงชิด ให้เกษตรกรปลูกส่งนอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - มน.ติวเข้มกลุ่มผู้ปลูกมะยงชิด-มะปรางหวาน เหนือล่าง เชื่อพื้นที่ปลูกไม่เสี่ยงต่อปัญหาล้นตลาด หลังต่างประเทศยังต้องการ แต่เกษตรกรผู้ปลูกต้องคัดคุณภาพสุดๆ ให้ได้ราคา ชมรมมะยงชิด-มะปรางหวานภาคเหนือที่สุโขทัย ยันผลไม้เศรษฐกิจสร้างฐานะ

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก ได้จัดการประกวดผลมะยงชิดมะปรางหวาน พร้อมจัดงานเสวนา “การผลิตมะปรางเชิงการค้าในเขตภาคเหนือตอนล่าง” อภิปรายถึงปัญหาและอุปสรรคการผลิตมะปราง โดยมีเกษตรกรผู้ปลูกมะยงชิดมะปรางหวานในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และกำแพงเพชร ฯลฯ ประมาณ 200 คน

ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีเกษตรศาสตร์ ม.นเรศวร กล่าวว่า การเสวนาเชิงวิชาการจัดขึ้นก็เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมะยงชิดและมะปรางหวาน ในเขตภาคเหนือตอนล่างที่สนใจและปลูกอยู่แล้ว แลกเปลี่ยนความคิดและถกปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ มะปรางเป็นผลไม้ทางเศรษฐกิจ ที่มีราคาแพงกิโลกรัมร่วม 200 บาท เพราะไม่สามารถบังคับออกนอกฤดูกาลได้ ที่สำคัญ หากได้ผลผลิตมะยงและมะปรางหวาน ที่มีรสชาติหวานและผลใหญ่ เมล็ดเล็ก ย่อมเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ปัญหาก็คือ เกษตรกรทุกคนไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้ทุกคน เพราะต้องบำรุงดูแลต้นมะยง หรือมะปรางอย่างใกล้ชิด ทั้งป้องกันโรคและกำจัดแมลงศัตรูพืช ส่งผลให้ปริมาณมะปรางคุณภาพออกสู่ตลาดช่วงนี้ ในแต่ละปีมีจำนวนน้อย หากผลผลิตออกมาลูกเล็ก ราคาก็ต่ำเหลือไม่กี่บาท ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ฉะนั้น หากภาครัฐจะส่งเสริม คิดว่า ปริมาณจะไม่ล้นตลาดเหมือน “ลองกอง” เพราะคุณภาพผลผลิตขึ้นอยู่กับเกษตรกรเอาใจใส่ดูแล ข้อดีของมะปรางส่งออก คือ เก็บไว้ได้นานหนึ่งสัปดาห์ และใส่สารชะลอความสุกงอมก็อยู่ได้ถึงสองสัปดาห์

ภาพรวมในหลายจังหวัดที่นิยมปลูกมะยงชิด-มะปรางหวาน คือ จังหวัดสุโขทัยมีเนื้อที่ปลูกมะยงมะปรางไม่เกิน 2 พันไร่ พิษณุโลกไม่เกิน 2 พันไร่ และพิจิตรไม่เกิน 1 พันไร่ สาเหตุที่ภาคเหนือตอนล่างมีความเหมาะสม ก็เพราะความชื้นต่ำ เกิดโรคระบาดน้อย และจากโครงการวิเคราะห์ DNA พันธุ์มะยงชิด-มะปรางหวาน ในห้องปฏิบัติการ เบื้องต้นพบว่า แต่ละสายพันธุ์ในแต่ละสวน มีความเหมือนกัน จะแตกต่างก็แค่วิธีการปลูก ดูแลของเกษตรกรแต่ละคน ในแต่ละพื้นที่ แต่ต้องตั้งชื่อกันตามลักษณะพื้นที่และเจ้าของสายพันธุ์

นายประทุม ทองคำ เหรัญญิกชมรมมะยงชิด-มะปรางหวานภาคเหนือ เปิดเผยว่า ชมรมก่อตั้งเมื่อ 3 ปีก่อน จากเกษตรกรผู้ปลูกมะยงชิดมะปรางหวานนิยมปลูกกันเป็นในแถบภาคเหนือตอนล่าง เช่น กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก และสุโขทัยที่ถือว่า เป็นแหล่งปลูกเก่าแก่ของประเทศไทยก็ว่าได้ ซึ่ง “หมากปราง” ปรากฏอยู่ในศิลาจารึก ว่า นิยมปลูกตามที่ราบลุ่มแม่น้ำยม จากความสมบูรณ์ของดินร่วนปนทราบ เพาะปลูกจน แพร่หลาย มากสายพันธุ์ในปัจจุบัน เช่น พันธุ์หวานพวง, ลุงชิต, สวนสวัสดี, สุวรรณบาตร, ปทุมทอง, มหาชนก, ไข่หาน(เพชรคลองลาน), ทูลถวาย, ศรีประทุม ฯลฯ

การรวมตัวของชมรมที่มีสมาชิกจำนวน 43 ราย มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสายให้มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดและให้เป็นที่รู้จักวงกว้าง เกษตรกรแต่ละรายปลูกกันไม่ต่ำกว่า คนละ 10 ไร่ บ้างก็มีเนื้อที่แค่ 4-5 ไร่ ก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มากว่าพืชเศรษฐกิจอื่น เช่น ยาสูบ และไม่ต้องผวาต่อเหตุการณ์น้ำท่วมสุโขทัย ขอเพียงแต่ดูแลผลมะปรางให้ได้ขนาดใหญ่และหวานเท่านั้นก็พอ ให้สามารถส่งขายไป “ตลาดไท” กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ กลุ่มพ่อค้าทางภาคใต้ต่างสนใจ สั่งซื้อไปขายยังลูกค้าที่ประเทศมาเลเซีย และความนิยมของมะยงชิด-มะปรางไปไกลถึงประเทศเยอรมนีอีกด้วย ซึ่งเจ้าของสวนต้องคัดคุณภาพสุดๆ แต่ก็คุ้มกับผลตอบแทน ขายส่งอย่างต่ำกิโลกรัมละ 50-60 บาท ก็ยังถือว่าคนสวนอยู่ได้ พ่อค้าคนกลางก็ไปขาย 100-120 บาทต่อกิโลกรัม หากผลมะยงชิด มะปรางหวานมีขนาดผลใหญ่ สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 200 บาท และถ้าใส่แพกเกจหรือใส่กล่องสวยๆ ราคาไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศสูงมาก เพราะลูกค้าต่างประเทศรับประทานแบบไม่ต้องชั่งกิโล จำหน่ายมะยงชิด-มะปรางหวานแพงมาก ขายเป็นลูก ซึ่งมะยงชิด ที่มีรสชาติออกหวานอมเปรี้ยวจะเป็นที่นิยมสูงกว่ามะปราง ที่ออกรสชาติหวานนำ

กำลังโหลดความคิดเห็น