มหาสารคาม - แปลงอ้อยในพื้นที่มหาสารคามเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเกษตรกรต้องเร่งตัดส่งโรงงานกว่าวันละ 4,500 ตัน ขณะที่นักวิชาการเกษตรเตือนเกษตรกรไม่ให้เผาอ้อยก่อนลงมือเก็บเกี่ยวพร้อมเร่งหาทางลดต้นทุนการผลิต
นายชิดชัย ลาโยธี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า พื้นที่อำเภอโกสุมพิสัยเป็นแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัด มีพื้นที่ปลูกกว่า 40,000 ไร่ โดยเฉพาะที่ตำบลดอนกลาง วังยาว, เขวาไร่, หนองเหล็ก และตำบลหนองกุงสวรรค์
จากการสำรวจและติดตามสถานการณ์พบว่า หลายพื้นที่แปลงปลูกอ้อยเริ่มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เกษตรกรจึงต้องเร่งตัดอ้อยส่งให้กับโรงงาน และมีการเผาแปลงอ้อย เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อเกษตรกรมากกว่า ทั้งนี้นอกจากราคารับซื้อจะลดลงแล้วยังทำให้สภาพดินเสื่อม
อย่างไรก็ตาม ในฤดูการปลูกอ้อยปีต่อไป มีเป้าหมายที่จะร่วมมือกับเกษตรกรปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ได้มากกว่า 10 ตันต่อไร่ พร้อมลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำกว่าไร่ละ 5,800 บาทจากระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากราคารับซื้ออ้อยในปีนี้อยู่ที่ตันละ580- 600 บาท ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาการขาดทุน
ผลจากการที่เกษตรกรเร่งตัดอ้อยส่งโรงงาน ทำให้จุดรับซื้ออ้อยที่ตำบลดอนกลาง อำเภอโกสุมพิสัย ผลผลิตใกล้เต็มรับซื้อที่ตั้งไว้ 400,000 ตัน โดยแต่ละวันมีเกษตกรนำผลผลิตอ้อยไปรอคิวจำหน่ายยาวเหยียด ไม่ต่ำกว่าวันละ 4,500 ตัน ซึ่งขณะนี้มีการรับซื้อผลผลิตอ้อยจากเกษตรกรไปแล้ว กว่า 300,000 ตัน