พิษณุโลก – ทุนท้องถิ่นเมืองสองแควนัดหารือด่วนวันนี้ หาทางแก้ถูก “ธนารักษ์-กรมศิลป์” จ่อยึดโฉนดที่ดินย่านเศรษฐกิจเมืองพิษณุโลกเปลี่ยนเป็น “นส.ล. หรือหนังสือสำคัญที่หลวง” ครึ่งเมือง พบส่วนหนึ่งของพื้นที่เป้าหมายเป็นที่ย่านเศรษฐกิจ-ทำเลทอง ที่มีราคาสูงถึง 80,000 บาท/ตร.ว. หรือไร่ละ 32 ล้าน แนะบรรเทาผู้เดือดร้อนให้ยืดอายุเช่าสิทธิ์ 30 ปี ด้านนายแบงก์หวั่น NPL ขยายวง เข้มปล่อยสินเชื่อเพิ่ม-เตรียมเรียกลูกหนี้เพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน
จากกรณีกรมธนารักษ์และกรมศิลป์ เตรียมเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ปลูกสร้างตึกอาคารพาณิชย์ในย่านเศรษฐกิจสำคัญของตัวเมืองพิษณุโลกเพื่อเปลี่ยนเป็น “หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง” สถานการณ์ส่อแววขยายวงกว้าง นายวิเศษ วชิราศรีศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ระบุว่า วันนี้ (28 ก.พ.) นักธุรกิจในเมืองพิษณุโลกเตรียมรวมตัว เพื่อถกปัญหาและหาทางออกรับมือกรมธนารักษ์และกรมศิลป์ เตรียมเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ปัจจุบันก่อกสร้างตึกอาคารพาณิชย์หลายสิบล้าน บนถนนมหาธรรมราชาและเอกาทศรฐ ย่านเศรษฐกิจสำคัญของตัวเมืองพิษณุโลก
นายวรเชษฐ์ ทับทิบ ธนารักษ์จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า ล่าสุดกลุ่มผู้ถือโฉนดต่างถามไถ่ที่ธนารักษ์จังหวัดพิษณุโลกถึงแนวเขตเพิกโฉนดตามแนวเขตที่ดินกำแพงเมือง คูเมืองพิษณุโลกว่าตรงกับที่ดินของตนเองหรือไม่ ซึ่งตนขอยืนยันว่า แนวเขตที่เตรียมเพิกถอนนั้นอยู่แค่กำแพงเมืองเดิม ไม่ใช่พื้นที่ใจกลางเมืองหรือในไข่แดงของกำแพงเมือง จำนวนผู้เสียหายคงไม่ใช่หลักพันรายแน่นอน
โดยตามแนวสำรวจกำแพงเมืองเก่าที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ปี 2479 เจ้าของที่ดินคือ กรมศิลปากร กรมธนารักษ์เพียงแค่เก็บค่าเช่า พบว่า ที่ดินโซนเหนือ บริเวณวัดโพธิญาณ หน่วย นพต.34 มีที่ดินจำนวน 64-4-36.1 ไร่ บริเวณนี้มีร่องรอยเนินกำแพง ส่วนบริเวณทิศตะวันออก ริมทางรถไฟ ริมถนนเอกาทศรฐตอนเหนือ มีเนื้อที่ 52-3-70 ไร่ และบริเวณทิศตะวันตกตามแนวถนนพระร่วง ปรากฏคลองน้ำหรือแนวคูเมืองและป้อมกำแพงเมือง มีร้านค้า หอพัก อาคารบ้านเรือน เนื้อที่รวม 156-0-18.4 ไร่
แนวทางแก้ปัญหาการบุกรุกที่ราชพัสดุบริเวณคูเมือง-กำแพงเมืองได้ดำเนินการทั่วประเทศ 900 แห่ง 90 เมือง สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวเมืองเศรษฐกิจ น่าจะมีแนวทางบรรเทาผู้เดือดร้อน แต่ก็ต้องขึ้นอยู่ว่ากรมศิลปากรแก้ไขให้ยั่งยืนอย่างไร ควรจะเสนอเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง หรือ สัญญาเช่า 30 ปี เฉพาะเมืองเศรษฐกิจอย่างพิษณุโลก หากมีอายุสัญญาเช่าระยะสั้นปีต่อปีเหมือนกันทั่วประเทศเรื่องคงวุ่นวาย
จากสำรวจที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ตามแนวสำรวจรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามแนวกำแพงเมือง-คูเมืองพิษณุโลก พบว่า โซนด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำน่าน ตั้งแต่ริมแม่น้ำน่านผ่านสถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก ถนนมหาธรรมราชา(ย่านค้าปลีก-ค้าส่ง) ถนนเอกาทศรถผ่านด้านหน้าห้างท็อปแลนด์พลาซ่า เป็นโซนที่แพงที่สุดในจังหวัดพิษณุโลก คือ ราคา 80,000 บาทต่อตารางวา หรือไร่ละ 32 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาประเมินที่ดินที่ปรับใหม่2551 -2554 โดยปรับเพิ่มจากราคาประเมิน ตรว.ละ 50,000 บาท (2547-2550 ) โซนนี้บริเวณถนนมหาธรรมราชาและถนนเอกาทศรฐมีอาคารพาณิชย์ไม่ต่ำกว่า 30-40 หน้าห้องอยู่แนวเพิกถอนทั้งหมด
สำหรับราคาที่ดิน หลังวัดใหญ่ ผ่านโรงเรียนเทศบาลวัดน้อยและไปจรดแม่น้ำน่านใกล้วัดโพธิญาณ ราคาลดหลั่นกันไป จากราคาสูงสุดบริเวณถนนธรรมราชาและเอกาทศรฐ คือ ตารางวาละ 70,000-60,000 บาทที่ดินถนนระยะไม่เกิน 20 เมตร
โซนด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำน่านและตัวเมือง ตั้งแต่ริมแม่น้ำน่านด้านทิศเหนือบริเวณค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราชลงมาผ่านถนนพระลือ ถนนพระร่วง ถึงแยกวัดคูหาสวรรค์ ผ่านด้านหลัง ม.ราชภัฏพิบูลสงคราม มีร้านค้า หอพัก อาคารบ้านเรือน ราคาประเมินปี 2551 ราคาตาราวางละ 30,000 บาท หรือไร่ละ 12 ล้านบาท
ส่วนวัดโพธิญาณ หน่วย นพต.34 (โรงทอผ้าเดิม) รร.อนุบาลพิษณุโลก มีเนื้อที่แนวกำแพงและคูเมืองจำนวน บริเวณนี้มีสภาพกำแพงเมืองเก่าปรากฏอยู่ เป็นเนินดินพบร่องรอยการก่ออิฐกำแพงเมือง
แหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า มีผู้ยื่นคัดค้านระหว่างที่เจ้าหน้าที่ไปขอนำชี้วัดแนวเขตในพื้นที่ไม่เกิน 50 ราย และทยอยมาคัดค้านที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก ส่วนแนวเขตที่ธนารักษ์ ให้กรมที่ดินแจ้งไปยังผู้เอกสารสิทธิ คือ โฉนด เพื่อรังวัดไม่เกิน 300 ราย แนวทางการดำเนินงานของที่ดินนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ที่สั่งยุติไว้ก่อน
แต่การเพิกถอนโฉนด ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 มีสิทธิในการเพิกถอนโฉนดโดยคำสั่งศาล เมื่อความปรากฏภายหลังว่าออกโฉนดโดยไม่ชอบ แต่ต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่ดินขึ้นมาอีกครั้ง เชื่อว่า การเพิกถอนกระทบกับประชาชนจำนวนมากและกระทบกับย่านธุรกิจ จะต้องมีการต่อสู้กันอีกยาว
นายสมชัย ตั้งเจริญไพศาล ประธานชมรมธนาคารจังหวัดพิษณุโลก (ผู้จัดการธนาคารยูโอบี สาขา พิษณุโลก) เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่อาจจะมีการเพิกถอนโฉนดตามแนวคูเมือง ย่อมมีปัญหาวงกว้าง เพราะหลักประกันคือ โฉนดของลูกค้า ส่วนใหญ่จำนองกับทุกธนาคารในจังหวัดพิษณุโลก หากหลักทรัพย์ค้ำประกันถูกเพิกถอน ก็ไม่มีค่า ปัญหาคือ NPL จะตามมา หากถอดโฉนดจริงๆ ถึงเวลานั้นก็ต้องเรียกลูกค้ามาเจรจาเพื่อเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มเติม
ฃแต่ขณะนี้ชมรมธนาคารยังไม่ได้ออกหนังสือเวียนเตือนทุกธนาคาร แต่เชื่อว่า ทุกธนาคารเฝ้าระวังและติดตามข้อเท็จจริง ระหว่างนี้ก็ระมัดระวังการปล่อยกู้ เพราะไม่ชัดเจนว่าแนวเขตกำแพงเมือง-คูเมืองพิษณุโลกอยู่บริเวณไหน ตนอยากให้ภาครัฐบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ถือสิทธิ์ เพราะเขาถือโฉนดโดยสุจริต การยกเลิก จะต้องมีมาตรการบรรเทา ส่วนสิทธิการเช่า หลังเพิกถอนโฉนดจริงๆ ก็เชื่อว่า ลดมูลค่าหลักทรัพย์มาก สิทธิในการเช่าที่ราชพัสดุบางธนาคาร ก็ไม่รับจำนอง เป็นหลักทรัพย์ที่มีปัญหา ไม่เหมือนโฉนดที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า