xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมปรับปรุง “พระธาตุแช่แห้ง” ธาตุเก่าคู่เมืองน่านครั้งใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น่าน - จังหวัดฯ เตรียมปรับภูมิทัศน์วัฒนธรรมเวียงพระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง เน้นสร้างความร่มรื่นและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชาวน่าน

นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านกล่าวถึงการปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่บริเวณวัดพระธาตุแช่แห้ง ซึ่งได้มีการประชุมหารือร่วมกับ คณะสงฆ์และกรรมการวัดพระธาตุแช่แห้ง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ว่าได้มีการหารือเตรียมปรับภูมิทัศน์วัฒนธรรมเวียงพระธาตุแช่แห้ง ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองน่านมากว่า 600 ปี หลังจากที่ได้มีมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2548 ประกาศให้พื้นที่บริเวณใจกลางเมืองน่าน และเวียงพระธาตุแช่แห้ง เป็นพื้นที่เมืองเก่าน่าน

ในปี 2551 สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน ร่วมกับองค์กรทุกภาคส่วนของจังหวัดน่าน ได้ร่วมกันดำเนินกิจกรรมตามโครงการปรับภูมิทัศน์วัฒนธรรมเวียงพระธาตุแช่แห้ง ให้มีความสวยงามทางวัฒนธรรม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดน่าน

โดยจะต้องเร่งดำเนินการการปรับภูมิทัศน์บริเวณสวนรุกขชาติ โบราณสถาน แหล่งเรียนรู้ของวัด จัดให้มีด้วยกัน 5โซน คือ พื้นที่ในการปลูกสมุนไพร, กล้วยไม้, การปลูกไม้ยืนต้น, การปลูกไม้เลื้อยและไม้เถาวัลย์ และการปลูกไม้พุ่มต่างๆ นอกจากนี้ให้ปรับพื้นที่บริเวณรอบวัดให้มีความสะอาด สวยงาม เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไป

สำหรับวัดพระธาตุแช่แห้ง ที่บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด กิ่ง อ.ภูเพียง ถือว่าเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่ มีอายุราว 600 ปี มีตำนานและประวัติศาสตร์การก่อสร้างยาวนาน ตามหลักฐานปรากฎ ได้กล่าวถึงสมัยพญาการเมือง เจ้าเมืองน่านแห่งราชวงศ์ภูคา ได้สร้างพระธาตุแช่แห้งขึ้นเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน 7 พระองค์ และพระพิมพ์เงินพิมพ์ทอง อย่างละ 20 องค์ ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระมหาธรรมราชาลิไท

เมื่อครั้งเสด็จลงไปสร้างวัดหลวงอภัยที่เมืองสุโขทัย ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของวิหารและพระธาตุเจดีย์ องค์พระธาตุบุด้วยทองจังโก ปิดทองคำเปลวอีกชั้นหนึ่ง สีเหลืองอร่ามตลอดทั้งองค์พระธาตุงดงามมาก วิหารพุทธไสยาสน์ รูปปั้นพญานาคราช ก็มีคุณค่ายิ่งต่อการศึกษา มีความสำคัญทั้งในด้านแบบแผนศิลปกรรมและหลักฐานทางโบราณคดี

สำหรับชื่อขององค์พระธาตุที่มีความหมายเชิงปริศนาธรรมนั้น แช่แห้ง หมายความถึง ยอดคนหรือมหาบุรุษเท่านั้น ที่จะทำตัวให้แห้งได้เมื่ออยู่ในสภาวะความเปียกชื้นของกิเลสและอวิชา ซึ่งในทุกปีระหว่างวันขึ้น 11ค่ำ ถึง 15 ค่ำ เดือน 6 หรือประมาณเดือนมีนาคม จะมีงานประเพณีหกเป็ง ซึ่งเป็นงานประเพณีประจำปีฉลององค์พระธาตุ เพื่อนมัสการและสักการะองค์พระธาตุแช่แห้ง และถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่อีกงานของจังหวัดน่านที่จะมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศทั้งในจังหวัดน่านและต่างจังหวัดมานมัสการองค์พระธาตุ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เกิดปีนักษัตรกระต่าย ต้องมานมัสการองค์พระธาตุแช่แห้งที่จังหวัดน่าน เพราะเป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีกระต่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น