xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำมูล” บุรีรัมย์แห้งขอดเร็วในรอบ 10 ปี-เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังเดือดร้อนหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - บุรีรัมย์แล้งวิกฤตแม่น้ำมูลตื้นเขินเร็วสุดในรอบ 10 ปี จนสามารถเดินข้ามไปมาได้ เผยส่งผลกระทบหนักกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังกว่า 40 ราย รวมกว่า 400 กระชัง ต้องยอมขาดทุนยับเร่งจับปลาขายก่อนกำหนด เหตุน้ำน้อยเกรงเน่าเสียเป็นกรดแก๊ส ขาดออกซิเจนทำปลาช็อกตายเป็นเบือ ร้องรัฐช่วยเหลือด่วน เผยรัฐบาล “ทักษิณ” เคยสัญญาแก้ปัญหาให้แต่หายเข้ากลีบเมฆ

วันนี้ (18 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดบุรีรัมย์ ว่า บุรีรัมย์เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลผ่าน อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ลดระดับลงเร็วกว่าปกติในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนตื้นเขินสามารถเดินเท้าข้ามไปมาได้ และส่งผลกระทบอย่างหนักกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง บ.ท่าเรือ ต.ท่าม่วง กว่า 40 ราย ที่เลี้ยงปลารวมกว่า 400 กระชัง

โดยเกษตรกรต้องเร่งจับปลาในกระชังที่ขนาดยังไม่โตเต็มที่ออกขายก่อนกำหนดถึงแม้จะได้ราคาต่ำก็ตาม ซึ่งสร้างความเสียหายทำให้เกษตรกรประสบปัญหาขาดทุนหลายแสนบาท เนื่องจากน้ำมูลมีปริมาณน้อยไม่ไหลเวียน เมื่อให้อาหารปลาจะเสี่ยงต่อการเกิดน้ำเน่าเสีย เป็นกรดแก๊ส น้ำขาดออกซิเจนปลาขาดอากาศหายใจอาจช็อกตายเป็นจำนวนมากได้ตลอดเวลา

ทั้งตามปกติแล้ว เกษตรกรจะสามารถเลี้ยงปลาในกระชังได้ปีละ 3-4 รอบ แต่ปีนี้เลี้ยงได้เพียง 2 รอบเท่านั้น ทำให้เกษตรกรขาดรายได้และไม่มีงานทำ เกษตรกรกว่า 10 ราย ต้องชะลอการเลี้ยงปลาและอพยพไปทำงานรับจ้างยังต่างจังหวัดแล้ว เพื่อความอยู่รอด

นายณรงค์ วงศ์แสงรัตน์ หนึ่งในแกนนำเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง บ้านท่าเรือ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติภัยแล้งดังกล่าวทำให้ผู้เลี้ยงปลาในกระชังนับสิบรายต้องชะลอการเลี้ยง อพยพไปขายแรงงานยังต่างจังหวัด เพื่อนำเงินมาใช้หนี้ซึ่งส่วนใหญ่กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาลงทุน โดยเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากว่า 40 รายของบ้านท่าเรือ เป็นหนี้ ธ.ก.ส.มากกว่า 10 ล้านบาท

“จึงเรียกร้องให้ทางภาครัฐได้เข้ามาก่อสร้างเขื่อนยาง และขุดลอกลำน้ำมูลตลอดแนวหมู่บ้านกว่า 6 กิโลเมตร เพื่อให้ชาวบ้านสามารถมีน้ำเลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี ก่อนที่อาชีพเลี้ยงในกระชังของเกษตรกรบ้านท่าเรือจะล้มหายตายจากไป เพราะปัญหาภัยแล้งได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี” นายณรงค์ กล่าว

นายณรงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อครั้งมีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจรที่ จ.บุรีรัมย์ ของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้นได้มาตรวจเยี่ยมรับทราบปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน รวมทั้งเกษตรกรที่ ต.ท่าม่วง อ.สตึก และสัญญาว่าจะเร่งทำการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาน้ำมูลตื้นเขิน

ต่อมาได้มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาทำการสำรวจอยู่บ่อยครั้ง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือโดยการทำเขื่อนยางกั้นลำน้ำมูลเพื่อกักเก็บน้ำ และให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภค เลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี

“แต่จนถึงขณะนี้ไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนด้วย ก่อนที่อาชีพเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้านท่าเรือจะสูญหายไป” นายณรงค์ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น