ศูนย์ข่าวศรีราชา - ปัญหาขยะชลบุรีเริ่มบานปลายหลังศูนย์กำจัดขยะมูลค่ากว่า 600 ล้านบาท หยุดดำเนินการส่งผลกระทบต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 20 แห่ง เริ่มไม่มีสถานที่ทิ้งขยะ นายก อบจ.เสนอให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหาร แต่ถูกคัดค้านจากกลุ่มสมาชิก อบจ.
จากการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชลบุรี สมัยสามัญ สมัยแรก ครั้งที่ 1 ประจำปี 2551 ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายภิญโญ ตั๊นวิเศษ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี ได้มีญัตติขอความเห็นชอบในการให้เอกชนเช่าศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาบริการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเสนอขอความเห็นชอบจากสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อพิจารณาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อไป
สำหรับโครงการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมจังหวัดชลบุรี เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นจำนวน 626 ล้านบาท โดยในช่วงแรกนั้นได้ว่าจ้างให้ภาคเอกชนทดลองบริหารงานเป็นเวลา 18 เดือน แต่การดำเนินการในช่วงดังกล่าวมีปัญหาและอุปสรรค เนื่องมาจากไม่มีผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะ และขาดความคล่องตัว ในเรื่องเครื่องจักรในการดูแลและซ่อมบำรุง
นายภิญโญ กล่าวต่อว่า หลังจากที่มีปัญหาและอุปสรรคอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ทาง อบจ.ได้สั่งระงับและปิดศูนย์ดังกล่าว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 26 แห่ง ต้องหาที่กำจัดและทิ้งขยะกันเอง เพราะศูนย์ไม่สามารถดำเนินการได้ นอกจากนั้น ทาง อบจ.ได้ใช้งบประมาณในการดูแลและกำจัดขยะปีละประมาณ 30-40 ล้านบาท จึงมีความคิดเห็นเพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการจัดการทั้งหมด
สำหรับการดำเนินการจะให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารนั้น จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลชุดหนึ่งเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วความโปร่งใส ในเรื่องระยะเวลาในการให้สัมปทาน,ค่าตอบแทนที่จะได้รับ เพราะหากปลอ่ยไว้เช่นนี้จะสร้างปัญหาและผลกระทบต่อประชาชนในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรีอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่มีสถานที่รองรับขยะ ที่เพิ่มปริมาณอย่างต่อเนื่อง
นายภิญโญ กล่าวต่อว่า หลังจากเสนอมติในที่ประชุมสภา อบจ.ไปแล้ว โดยในที่ประชุมส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบที่จะให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการ เพราะหวั่นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนและท้องถิ่น ซึ่งในความเป็นจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมาจะเป็นผู้ดูรายละเอียดให้ทั้งหมดว่าชอบธรรมหรือไม่อย่างไร ซึ่งหากหวั่นจะได้รับผลกระทบก็กำหนดรูปแบบให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แต่ครั้งนี้ทางสภาชิก อบจ.ไม่ให้ความเห็นชอบแต่อย่างไร ดังนั้น ทางภาคเอกชนไม่สามารถเข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะทำให้ขยะล้นเมืองอย่างแน่นอน
ด้าน นายสัมฤทธิ์ พงษ์วิรัตน์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เขตอำเภอศรีราชา กล่าวว่า การให้ภาคเอกชนเข้ามาบริหารจัดการนั้น ทางตนหวั่นจะส่งผลกระทบและสร้างปัญหาต่อประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เนื่องจากเมื่อภาคเอกชนเข้ามาบริหาร ก็หวังแต่เพียงผลกำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้น อัตราการจัดเก็บหรือให้บริการกำจัดขยะ คงต้องปรับขึ้นอย่างแน่นอน
ที่ผ่านมา ทาง อบจ.ใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า 600 ล้านบาท และค่าดูแลรักษา ปีละ กว่า 30 ล้านบาท และขณะนี้ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ ซึ่งทำไมไม่ซ่อมบำรุง เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้ตามปกติ เพราะถือว่าเป็นโครงการนำร่องและและเป็นหน้าตาของจังหวัดชลบุรี ที่มีศูนย์กำจัดขยะรวมเป็นแห่งแรกของประเทศ และเป็นโครงการช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเล็กๆ ในพื้นที่ด้วย ที่ไม่มีที่กำจัดขยะ