ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้แทนพระองค์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกฎราชกุมาร เดินทางมามอบถุงพระราชทาน ผ้าห่มกันหนาว 1,200 ถุง ให้แก่ราษฎรสมาชิกโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ศรีสะเกษ ที่เดือดร้อนประสบภัยหนาว
วันนี้ (10 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดศรีสะเกษ ว่า ที่บ้านลำภู ม.4 ต.ใจดี อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ พล.อ.ต.จักรพงษ์ หอมไกรลาศ ผู้แทนพระองค์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และคณะ ได้นำถุงพระราชทาน ซึ่งประกอบไปด้วย ผ้าห่มเครื่องกันหนาว นมอัดเม็ดจิตรลดา เดินทางมามอบให้กับราษฎรในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ที่ประสบความเดือดร้อนจากภัยหนาวของ จ.ศรีสะเกษใน 3 อำเภอ หมู่บ้านนำร่องในโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว
ประกอบด้วย ราษฎรบ้านลำภู ต.ใจดี อ.ขุขันธ์ ราษฎรบ้านนาทุ่ง ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน และราษฎรบ้านตำแย ต.ตำแย อ.พยุห์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,200 ถุง พร้อมทั้งได้ตรวจเยี่ยมผลผลิตชุมชนของราษฎรในโครงการ โดยมี นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายไมตรี อินทุสุต รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ
นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จ.ศรีสะเกษ ได้รับผลกระทบความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่คลุมภาคอีสานตอนล่าง ทำให้สภาพอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิในช่วงกลางคืนลดลง โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเดือน พ.ย.-ก.พ.ของทุกปี ทำให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากอากาศหนาวเย็น ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่ของ จ.ศรีสะเกษ ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งมีฐานะยากจน
ดังนั้น ทางจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ขอความอนุเคราะห์ผ้าห่มกันหนาวจากกองงานพระวรชายา และในวันนี้ พล.อ.ต.จักรพงษ์ หอมไกรลาศ ผู้แทนพระองค์ได้นำถุงพระราชทานผ้าห่ม และนมอัดเม็ดจิตรลดา มามอบให้กับราษฎรจาก 3 หมู่บ้านใน 3 อำเภอ จำนวน 1,200 ถุง ที่เป็นสมาชิกโครงการสายใยรักแห่งครอบครัวในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งทำให้ราษฎรที่ได้รับถุงพระราชทานรู้สึกปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก
สำหรับหมู่บ้านนำร่อง ตามโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ซึ่งพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ได้มีกระแสรับสั่งให้กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินโครงการ โดยมีสำนักงานเกษตรจังหวัดทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน มีการสร้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน ลดการอพยพของแรงงาน ทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีความเข้มแข็ง ลดปัญหายาเสพติดในชุมชน ส่งเสริมในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การทำการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมทางด้านอาหารให้เด็กได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนลดปัญหาทุพโภชนาการ ซึ่งจะทำให้เกิดชุมชนที่มีความสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืน
“ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้มีการดำเนินการขยายไปในทุกอำเภอใน จ.ศรีสะเกษ อำเภอละ 1 หมู่บ้าน ซึ่งจะมีการดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ จนครบทุกพื้นที่ต่อไป” นายเสนีย์ กล่าว