xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯศรีสะเกษคุมเข้มลอบตัดไม้พะยูง-แฉจ้าง ปชช.เป็นเครื่องมือ “สวมตอไม้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าฯศรีสะเกษ
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ผู้ว่าฯศรีสะเกษ ลั่นคุมเข้มป้องกัน และปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เผยแก๊งลักลอบตัดไม้พะยูง เปลี่ยนรูปแบบการขนย้าย และ “ฟอกไม้” โดยจ้าง ปชช.ในพื้นที่เป็นเครื่องมือ “สวมตอ” อ้างเป็นเจ้าของไม้ เหตุพะยูงเป็นไม้หวงห้ามตาม กม.เฉพาะป่าสาธารณะ ทำให้มีการลักลอบตัดเพิ่มมากขึ้น พร้อมขู่ลงโทษหนักเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง

วันนี้ (29 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้เป็นประธานประชุมคณะทำงานแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ประกอบด้วย นายอำเภอทุกอำเภอ อัยการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ การกระทำความผิดเกี่ยวกับการลักลอบตัดไม้ และผลการดำเนินการจับกุมในพื้นที่ของ จ.ศรีสะเกษ โดยเฉพาะการลักลอบตัดไม้พะยูง ซึ่งมีการลักลอบตัดเป็นจำนวนมากตามแนวชายแดน ไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะทางด้าน อ.กันทรลักษ์ ขุนหาญ และ ภูสิงห์

นายเสนีย์ จิตตเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีการลักลอบตัดไม้พะยูงกันเป็นจำนวนมาก และจับกุมได้บ่อยครั้ง พร้อมได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนย้ายไม้พะยูงออกนอกพื้นที่ต่างจากแบบเดิม ที่เมื่อมีการถูกจับกุมนายทุนก็จะเข้าไปทำการประมูลไม้พะยุงอย่างถูกกฏหมายหรือที่เรียกว่า “การฟอกไม้” แต่จะใช้วิธีการ คือ เมื่อมีการจับกุมเกิดขึ้น ขบวนการลักลอบตัดและขนไม้พะยูงเหล่านี้ จะไปว่าจ้างประชาชนในพื้นที่แสดงตัวเป็นเจ้าของ โดยอ้างว่าไม้พะยูงเหล่านี้ ตัดมาจากที่ดินของตัวเอง

ทำให้การดำเนินการสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดเกิดการล่าช้า และส่วนมากจะหาตัวผู้กระทำความผิดไม่ได้ เนื่องจากว่าในการพิสูจน์จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบ สอบสวนไม้พะยูงที่จับกุมว่า ตัดมาจากต้นตอใด แต่ผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบไม้พะยูงดังกล่าวทั่วประเทศมีเพียง 12 คน เท่านั้น

นายเสนีย์ กล่าวต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ตามแนวชายแดนให้ความร่วมมือกับ ขบวนการลักลอบตัดและขนไม้พะยูง เนื่องจากเม็ดเงินในการว่าจ้างค่อนข้างสูง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการนำไม้พะยูงออกนอกประเทศแล้ว จะทำให้มีมูลค่าอย่างมหาศาล อีกทั้งในการตัดไม้พะยูงนั้น กฎหมายได้กำหนดให้ไม้พะยูงเป็นไม้หวงห้าม เฉพาะในเขตป่าสาธารณะเท่านั้น หากอยู่ในพื้นที่ของประชาชนไม่ ถือว่าเป็นไม้หวงห้ามและผิดกฎหมาย จึงทำให้มีการตัดไม้พะยูงเป็นจำนวนมาก และมีการสวมตอไม้ของชาวบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุม

อย่างไรก็ตาม ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการการป้องกัน และปราบปรามอย่างเข้มงวดและเฉียบขาด เพื่อไม่ให้มีการลักลอบตัดไม้พะยูง ในเขตพื้นที่ของ จ.ศรีสะเกษ และหากมีการจับกุมได้ ให้นำเข้าสู่ขบวนการตรวจสอบ ตามกฎหมาย และสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียกับขบวนการลักลอบตัดไม้พะยูง

“หากพบว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีถึงที่สุด และโทษหนักกว่าประชาชนทั่วไป เนื่องจากว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ไปปฏิบัติในสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมายเสียเอง” นายเสนีย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น