ศูนย์ข่าวศรีราชา - สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เตรียมดันโครงการ “จันทบุรี นครแห่งอัญมณี” ที่เกิดในรัฐบาลทักษิณให้รัฐบาลใหม่พิจารณา หลังสะดุดยาวกว่า 1 ปี เหตุรัฐบาลขิงแก่ไม่มีนโยบายสนับสนุนอย่างจริงจัง พร้อมฝากความหวังรัฐบาลใหม่เห็นความสำคัญและผลักดันงบประมาณตกค้างเกือบพันล้านบาท เพื่อให้โครงการลุล่วง ชี้เป็นโครงการดีที่จะยกระดับคุณภาพอัญมณีไทยและส่งเสริมบุคลากรให้ก้าวสู่ระดับสากล รวมทั้งยังจะก่อให้เกิดการสร้างแบรนด์พลอยไทยอย่างเป็นรูปธรรม
นายภูเก็ต คุณประภากร เลขานุการสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เผยว่าการดำเนินงานตามโครงการ “จันทบุรี นครแห่งอัญมณี” โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทักษิณตั้งแต่ปี 2548 แม้ในวันนี้จะสะดุดไปบ้างหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนทำให้งบประมาณเกือบพันล้านที่ถูกกำหนดไว้ เพื่อดำเนินงานตามขั้นตอนต่างๆ หยุดชะงัก แต่การจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์และพัฒนาอัญมณี ที่จะมีทั้งห้องแล็บวิเคราะห์และวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของพลอยไทยยังคงดำเนินไป
ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้าที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากโครงการผู้ว่าฯ CEO จำนวน 50 ล้านบาท และงบจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจนทำให้การก่อสร้างในวันนี้ลุล่วงไปแล้วกว่า 50% โดยใช้พื้นที่สนามมวยเก่าของเทศบาลจันทบุรี บนถนนอีสเทิร์นเป็นที่ตั้ง
ตามแผนงานศูนย์แห่งนี้จะต้องใช้งบประมาณอีกกว่า 150 ล้านบาท เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือ รวมทั้งครุภัณฑ์ต่างๆ แต่ในวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าหลังก่อสร้างศูนย์แล้วเสร็จจะนำงบประมาณจากส่วนใดมาใช้ในการจัดซื้อเครื่องมือ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลขิงแก่ภายใต้การนำของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่มีนโยบายสนับสนุนโครงการดังกล่าว จนทำให้การจัดสรรงบประมาณต่อเนื่องไม่เกิดขึ้น
“แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จนทำให้โครงการชะงักไปบ้างแต่ก็คาดว่ารัฐบาลใหม่น่าจะเห็นความสำคัญของโครงการนี้ และสมาคมก็เตรียมที่จะนำรายละเอียดทั้งหมดของโครงการเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อผลักดันให้เกิดการสานต่อ เนื่องจากเป็นโครงการดีที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพการเจียระไนพลอย และการผลิตอัญมณีที่มีคุณค่าออกสู่ตลาดทั้งในต่างประเทศ”
โครงการ “จันทบุรี นครแห่งอัญมณี” ถูกนำเสนอโดยกลุ่มนักธุรกิจและสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ต่อคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดจันทบุรีในปี 2548 และได้รับความเห็นชอบพร้อมจัดตั้งคณะทำงานโดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในสมัยนั้นเป็นผู้ดูแล ซึ่งที่ผ่านมามีการอนุมัติงบผู้ว่าฯ ซีอีโอ งบองค์กรปกครองส่วนท้อง ถิ่นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์อัญมณี
ส่วน GEM BANK ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสถาบันการเงินในโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการเพิ่มทุนจัดซื้อวัตถุดิบให้แก่ผู้ผลิตนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทำวิจัย แต่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองงบประมาณต่างๆ ในการพัฒนาโครงการนี้ก็หายไป ขณะที่คณะทำงานบูรณาการเพื่อพัฒนาอัญมณี ที่ดูแลโดยกรมส่งเสริมการส่งออก ก็เรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องน้อยลง เหตุสำคัญอาจเป็นเพราะผู้ดูแลคงต้องการให้เกิดการประชุมใน ช่วงเวลาที่เหมาะสม
ขณะที่การกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการวัตถุดิบ เพื่อสร้างแบรนด์พลอยไทยในโครงการ “จันทบุรี นครแห่งอัญมณี” เพื่อสนับสนุนการส่งออกเครื่องประดับอัญมณีให้ได้ 2 แสนล้านในปี 2009 โดยปัจจุบันแม้โครงการนี้จะยังไม่เกิดขึ้น แต่คณะทำงานบูรณาการเพื่อพัฒนาอัญมณี ก็มีแนวทางที่ชัดเจนในการผลักดันยุทธศาสตร์นี้ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพียงแต่รอให้มีรัฐบาลใหม่ที่มีความชัดเจนในการทำงานมากขึ้นเท่านั้น
อนึ่ง โครงการจันทบุรี นครแห่งอัญมณีมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าอัญมณีไทย โดยเฉพาะการผลิตและเจียระไนพลอยในจังหวัดจันทบุรี ให้ก้าวสู่สากล และมีเป้าหมายที่จะสร้างแบรนด์ “พลอยไทย” เพื่อเปิดตลาดต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายการส่งออกอัญมณีให้ได้ถึง 2แสนล้าน ในปี 2009
หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การจัดทำโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จำนวน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีทุนในการจัดซื้อวัตถุดิบ โดยกำหนดให้มีการจัดตั้ง GEM BANK เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนของผุ้ประกอบการ โดยมอบหมายให้สำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ร่วมกับสถาบันการเงินและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณาและดำเนินโครงการ
นอกจากนั้น ในแผนงานยังมีการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์และพัฒนาอัญมณี เพื่อสร้างกลไกการแปลงพลอยไทยเป็นทุน ด้วยบริการตรวจวิเคราะห์และออกใบรับรอง รวมทั้งยังสร้างมูลค่าพลอยไทยด้วยการค้นคว้าพัฒนาต่อยอดความรู้ และภูมิปัญญาไทย ภายใต้งบประมาณดำเนินการกว่า 200 ล้านบาท และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นผุ้เสนองบประมาณ ซึ่งดูเหมือนว่าโครงการนี้จะมีความคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากได้รับงบประมาณสนับสนุนทั้งจากผู้ว่าฯซีอีโอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการก่อตั้งแล็บและศูนย์วิเคราะห์คุณภาพพลอย
ส่วนโครงการพัฒนาบุคลากรด้านอัญมณี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแผนงานที่หยุดชะงัก ได้ถูกกำหนดให้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการสร้างแบรนด์พลอยไทย โดยโครงการนี้มีงบ ประมาณในการดำเนินการประมาณ 10 ล้านบาท และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเป็นผู้วิจัย และเสนองบประมาณต่อรัฐบาล
โครงการสุดท้ายที่ต้องหยุดชะงักไป ก็คือ การพัฒนาตลาดและพิพิธภัณฑ์พลอยไทย เพื่อสร้างกระบวนการสร้างมูลค่าและให้แบรนด์พลอยไทยเป็นสมบัติของชาติ โดยโครงการนี้ได้กำหนดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่หลากหลาย อาทิ การผลิตสื่อประชา สัมพันธ์เผยแพร่แบรนด์สินค้า การจัดทำศูนย์ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งศูนย์บริหารจัดการพิพิธภัณฑ์พลอยไทย
โครงการนี้ได้มอบหมายหอการค้าไทยเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ร่วมกับเอกชนภายใต้งบประมาณกว่า 400 ล้านบาท และยังขอให้มีการสนับสนุนงบประมาณจังหวัดแบบบูรณาการในเบื้องต้นจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการศูนย์รวมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จแล้วอีกด้วย