xs
xsm
sm
md
lg

BOI คาดแนวโน้มลงทุนเหนือปี 51 ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้มีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – BOI สรุปผลการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนพื้นที่ 8 จว.เหนือตอนบนตลอดทั้งปี 2550 ภาพรวมน่าพอใจ มีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 4,800 ล้าน โดยจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมเพิ่มขึ้น แต่มูลค่าการลงทุนลดลงเล็กน้อย สาเหตุเนื่องมาจากส่วนใหญ่ เป็นการลงทุนของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ใช้เงินลงทุนไม่สูง ส่วนแนวโน้มการลงทุนในปี 2551 ยังเชื่อว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หลังการเลือกตั้งมีการประกาศนโยบายที่ชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันและค่าเงินที่ผันผวน รวมทั้งการแข่งขันที่สูงขึ้น

นางศิริพร นุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยสรุปภาวะการลงทุนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนทั้งปี 2550 ว่า มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำนวนทั้งสิ้น 47 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 44 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 6.82 โดยมีมูลค่าการลงทุนในปี 2550 รวม 4,822.30 ล้านบาท ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 5,224.50 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 7.7 เนื่องมาจากโครงการที่ได้รับรับอนุมัติรายใหม่จำนวน 34 โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมด เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง(SMEs)ไทยหรือเป็นการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์ที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก

สำหรับกิจการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเบา ที่มีมูลค่าการลงทุนรวม 1,788.10 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการลงทุนรวม 1,345 ล้านบาท และอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐาน และมีความสำคัญต่อท้องถิ่น มีมูลค่าการลงทุนรวม 713.9 ล้านบาท

พื้นที่ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังคงเป็นจังหวัดลำพูน จำนวน 20 โครงการ มูลค่าการลงทุน 3,378.50 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดเชียงใหม่ 19 โครงการ มูลค่าการลงทุน 482.40 ล้านบาท และจังหวัดเชียงราย 4 โครงการ มูลค่าการลงทุน 192.70 ล้านบาท

ทั้งนี้ขนาดของการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมในปี 2550 ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนของผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งมีการลงทุนไม่เกิน 200 ล้านบาท ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 41โครงการ หรือคิดเป็นร้อยละ 87 ของจำนวนโครงการที่ได้รับการส่งเสริมทั้งหมด และก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 5,208 คน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 86 ของการจ้างงานทั้งหมดที่มีจำนวนทั้งสิ้น 6,027 คน

ในส่วนของสัดส่วนการถือหุ้นของโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนนั้น เป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งหมด 23 โครงการ โครงการที่ต่างชาติถือหุ้นทั้งหมด 20 โครงการ และโครงการร่วมทุน 4 โครงการ

ขณะเดียวกันผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคเหนือ 1 คาดการณ์แนวโน้มการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในปี 2551 ว่าน่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีโดยดูจากการแสดงความจำนงขอรับการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนผ่านทางสำนักงาน รวมทั้งสถิติความสนใจลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วงปลายปี 2550

ทั้งนี้ เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล และมีการประกาศนโยบายที่ชัดเจนจะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเกิดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และการลงทุนของประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้คาดว่าขนาดการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นโครงการขนาดเล็กและกลางหรือ SMEs เป็นหลัก

ในส่วนของผู้ประกอบการไทย น่าจะเป็นการลงทุนในโครงการด้านเกษตรอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมเบา และกิจการซอฟต์แวร์ ขณะเดียวกันคาดว่าจากภาวะราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นและการสร้างเส้นทางคมนาคมเส้นใหม่ เชื่อมต่อระหว่างจีนตอนใต้กับจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย น่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีการรวมตัว และให้ความสำคัญกับการลงทุนในธุรกิจลอจิสติกส์และการผลิตพลังงานทดแทนมากขึ้น เช่น การผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขณะที่ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติน่าจะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการแปรรูปชิ้นส่วนโลหะ อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมบริการ กิจการซอฟต์แวร์ และธุรกิจโลจิสติกส์

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแนวโน้มการลงทุนในปี 2551 ยังคงมีความเสี่ยงเช่นกัน โดยมีปัจจัยจากความไม่แน่นอนต่างๆ ที่มีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เช่น ปัญหาซับไพรม์ ของสหรัฐอเมริกาที่อาจกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ และมีผลต่อเศรษฐกิจของโลกโดยรวม, ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งค่าเงินบาทที่อาจมีความผันผวน และการแข่งขันที่รุนแรงสูงขึ้นระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ซึ่งผลิตสินค้ากลุ่มเดียวกับประเทศไทย ประกอบกับปัญหาแรงงานในประเทศ อาจทำให้ไทยเสียตลาดหลักและจะมีผลต่อการลงทุนในระยะต่อไป

จากปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ยังมีความเข้มแข็งและความชัดเจนทางการเมืองรวมถึงการทำข้อตกลง FTA กับประเทศต่างๆ ที่มีผลต่อการขยายตลาดใหม่จะเป็นสิ่งที่สนับสนุนการลงทุนในประเทศไทยต่อไปในระยะยาว ตลอดจนส่งผลต่อการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น