“เป็นอาชีพที่ทรงเกียรติ เพียงแต่ระบบมันแย่” คือเหตุผลหลักของการทำจดหมาย ยื่นขอลาออกของดาบตำรวจชื่อดัง “จอนนี่มือปราบ” ที่เรียกว่า สะเทือนวงการสีกากี อดีตตำรวจพูดเป็นเสียงเดียวว่า ระบบองค์กรนี้ หลายครั้งผลักให้ คนดีไม่มีที่อยู่
** มีฝีมือ แต่ “หมดใจ” **
จบลงแล้ว 25 ปี บนเส้นทางอาชีพผู้พิทักษ์ของประชาชน ของ “จอนนี่มือปราบ” (ด.ต.ยุทธพล ศรีสมพงษ์)นายตำรวจชื่อดัง ที่ประกาศขอลาออกเรียบร้อยแล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่า ระบบมันขัดต่ออุดมการณ์ของการทำงาน
ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมา เขามุ่งมั่น ช่วยเหลือผู้คนจากปัญหายาเสพติด แต่กฎหมาย ระบบระเบียบต่างๆ
กลับไม่เอื้อต่อการทำงาน
สุดท้าย เลยเหลือแค่คำทิ้งท้ายบอกลา ที่โพสต์ฝากเอาไว้ผ่านเฟซบุ๊ก “ตะลึงกรุง จอนนี่มือปราบ” ซึ่งมีผู้ติดตามสูงถึงกว่า 5 ล้านเอาไว้ว่า…
“ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานคงอยู่ตลอดไป ลงแบบสง่า โคตรภูมิใจ ผมลาออกจากตำรวจแล้วนะครับ”
{“จอนนี่มือปราบ” (ด.ต. ยุทธพล)}
ถ้าย้อนไทม์ไลน์กลับไป จะพบว่ามือปราบชื่อดังรายนี้ เคยออกมาพูดถึงประเด็นเรื่องการลาออกมาสักระยะแล้ว
ซึ่ง พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ก็เคยออกมาแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า จอนนี่น่าจะอึดอัด จากสภาพแวดล้อม และวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นอยู่
“นิสัยตำรวจ แม่งไม่ชอบให้ใครเก่งกว่า ไอ้จอนนี่ พอไปทำท่าเก่งว่า อะไรเก่งกว่า แม่งด่ามั่ง แขวะมั่งน่ะครับ แล้วไอ้จอนนี่ ดังกว่าสารวัตร ดังกว่าผู้กอง ดังกว่าผู้กำกับอะ นายก็หมั่นไส้ เพื่อนร่วมงานก็อิจฉา มันก็คงอึดอัดใจนะครับ
มันก็อย่างงี้ละครับ ไอ้(ตำรวจ)น้ำดี มันอยู่ไม่ค่อยได้หรอก ลาออกกันเยอะนะครับ”
แน่นอนนี่ไม่ใช่เคสแรก ที่ตำรวจหมดศรัทธาในระบบ จนต้องเลือกลาออกมาเอง ย้อนกลับไปสัก 2 ปีที่แล้ว “ส.ต.อ.ชัยพัฒน์ บุญทิม” ผู้บังคับหมู่งานป้องกันและปราบปราม สภ.เมืองสุพรรณบุรี ก็ยื่นใบลาออก ด้วยเหตุผลที่ว่า หมดศรัทธาในระบบราชการตำรวจเหมือนกัน แต่เป็นประเด็นเรื่องการปกป้องคนผิด
โดยระบายไว้ว่า คนทำงานสุจริตไม่มีใครสนใจ ทำเอาผู้บังคับบัญชาของที่นั่น ต้องสั่งสอบสวนหาข้อเท็จจริงกันยกใหญ่ จากประเด็นเดือดครั้งนั้น ที่ทำให้ภาพลักษณ์ตำรวจเสียหายไม่น้อย
{“ส.ต.อ.ชัยพัฒน์” ผู้หมดศรัทธาจนลาออก}
หรือจะเป็นเคสของ “ด.ต.เลอศักดิ์ นนท์ขุนทด” เมื่อปี 67 ก็ช่วยสะท้อนอะไรๆ ได้พอๆ กัน เขาคือตำรวจสายสืบสวนที่ทำงานมา 19 ปี แถมเคยได้รับรางวัล “ข้าราชการตำรวจสายสืบสวน ที่ปฏิบัติหน้าที่ดีเด่น”
แต่สุดท้ายกลับโดนสั่งย้าย ให้ไปทำงานที่เขาไม่ถนัด อย่าง “งานสายตรวจ” จนกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ให้ตัดสินใจลาออก พร้อมตัดพ้อเอาไว้ว่า หมดความอดทน และหมดศรัทธา ในการบริหารงานขององค์กรตำรวจ
{“ด.ต.เลอศักดิ์” ทำมา 19 ปี จนทนระบบไม่ไหว}
** “ระบบ” ไม่เอื้อ ต้องเอาใจ “นาย” **
แต่การหยิบบางเคสมายกตัวอย่าง แล้วเหมารวมว่า สะท้อนภาพรวมระบบที่ล้มเหลว อาจไม่มีน้ำหนักเท่ากับ
ตัวเลขการลาออกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผ่าน “โครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล”ในแต่ละปี ซึ่งการออกโดยสมัครใจเหล่านี้ ตัวอดีตเจ้าหน้าที่สีกากี จะยังมีสิทธิ์ได้รับรับเงินบำนาญอยู่
ถามว่าตัวเลข 3 ปีล่าสุด ตั้งแต่ปี 65 ถึง 67 บ่งบอกอะไรได้บ้าง? ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ ยอดสมัครใจลาออกที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปี 2565 อยู่ที่ 975 คน มาที่ปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 1,273 คน กระทั่งปี 2567 ปีล่าสุดที่มีข้อมูล พุ่งสูงขึ้นอีกเป็นจำนวน 1,407 คน
ส่วนสาเหตุหลักๆ ที่ระบุเอาไว้ ก็มีทั้งปัญหาสุขภาพ เรื่องส่วนตัว รวมไปถึงปัญหาตัวองค์กร เกี่ยวกับเรื่องนี้ อดีตตำรวจอย่าง “โต้ง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูลรองอธิการบดี ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ให้
โดยระบุว่า ภายในองค์ตำรวจมีหลายเรื่องมากๆ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะระดับผู้ปฏิบัติงานอึดอัด เริ่มตั้งแต่ระบบการสั่งงาน ที่ตำรวจไทยมี “นาย” เยอะมาก คือมีทั้งนายระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด ซึ่งนายเหล่านี้เอง ที่เป็นคนระดมสั่งงาน
หลายครั้งส่งให้งานกองพร้อมๆ กัน จนผลักให้โรงพักแห่งนึง ต้องทำงานล้นมือ เพื่อสนองนโยบาย และเอาใจนายแต่ละระดับ
ไหนจะมีเรื่องการสนับสนุนกำลังทรัพย์ ให้แก่เจ้าหน้าที่อีก ที่ไม่พร้อมหลายอย่าง
จนนายตำรวจหลายรายต้องออกเงินเอง ไม่ว่าจะเป็น การเติมน้ำมันให้รถสายตรวจ แม้แต่เรื่องระเบียบทรงผม ที่เคร่งครัดเกินไป สวนทางเรื่องจำเป็นอื่นๆ ที่ควรเข้มงวดจริงจัง
“ที่บอกเข้มข้นเกิน เช่นเรื่องไรดีอะ ทรงผม สมมติอย่างนี้นะครับ แต่ขณะที่เคยเข้มข้นไหม กับตำรวจที่เขาน้ำมันเติมรถไม่พอ เคยเข้มข้นไหม กับตำรวจที่ทำไม่ถูกต้อง ทุจริตอะไรอย่างนี้ เคยไหม เพื่อนๆ ได้แต่มองดู ทำอะไรไม่ได้”
{“ดร.กฤษณพงค์” นักอาชญาวิทยา ม.รังสิต}
** “โยกย้าย-เลื่อนยศ” ไร้ความเป็นธรรม **
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญ ที่เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายของตำรวจหลายๆ นาย ก็คือ “การเลื่อนยศ” และ “การโยกย้าย” ที่บ่อยครั้งไม่ได้ดูที่ผลงาน แต่ขึ้นอยู่กับการหนุนของผู้ใหญ่ ดูว่าใครเป็นลูกรัก
ทำให้ตำรวจหลายนาย แม้ทำงานดี แต่กลับไม่ก้าวหน้าในอาชีพ เพียงเพราะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดนาย โดยเฉพาะตำรวจน้ำดี ที่ทำถูกต้องทุกอย่าง แต่อาจไม่ถูกใจผู้ใหญ่ ผลที่ได้คือการโดนดองยศ ไม่ก็โดนย้าย ให้ไปประจำอยู่ที่ไกลๆ
ผลักให้ตำรวจดีๆ หลายนายถอดใจ เพราะรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่างที่ ดร.โต้ง เล่าประสบการณ์ตรงของตำรวจรุ่นพี่ให้ฟังไว้ว่า...
มีรายนึงไปบุกจับปืนเถื่อน แต่จับโดนตอ เจอแหล่งของนักการเมืองใหญ่รายนึง ผู้ใหญ่ในองค์กรเลยขอให้ปล่อยตัว แต่ตำรวจนายนี้ไม่ยอม ผลสุดท้ายก็ต้องโดนสั่งย้าย สะท้อนสภาพการทำงานแบบกลืนไม่เข้า คายไม่ออก จนเจ้าหน้าที่หลายนาย เลือกลาออก เพราะทนไม่ไหวกับระบบอีกต่อไป
“คือต้องยอมรับว่าอาชีพตำรวจเนี่ย โดยเฉพาะสายปฏิบัตินะครับ ทำงานที่มีความเครียดอยู่แล้ว มากกว่าอาชีพอื่นประมาณ 2 เท่า เท่าที่มีการเก็บข้อมูลมานะครับ
ทำให้ตำรวจส่วนนึงที่รู้สึกมีช่องทาง มีเส้นทางที่จะสามารถจะไปได้ นอกเหนือจากการรับราชการตำรวจ
พูดง่ายๆ นอกเหนือจากการกินเงินเดือนตำรวจอย่างเดียว ก็จะเลือกที่จะลาออก ไปเดินเส้นทางของตัวเองใหม่
ด้วยระบบงานของตำรวจ และโครงสร้างเนี่ย ที่ยังไม่สอดคล้อง ไปตามหลักสากล คือยังไม่มีการเติบโต พัฒนาอย่างเป็นมืออาชีพ หรือมีหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “ยุทธพล ศรีสมพงษ์”, “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **