องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับโลกร้อง “สวนสัตว์ทารุณหมูเด้ง” แฟนๆ เดือด เอาตรงไหนมาตัดสิน ก่อเกิด “รถทัวร์สายฮา” ถล่มยับ กูรูสะท้อน นี่แหละผลลัพธ์ “ฐานแฟนเหนียวแน่น” สงสัย การดูแลปัจจุบันโอเคแล้ว จะเรียกร้องทำไม?
“ปั่น” ไม่มีใครเกิน “พี่ไทย”
ตอนนี้จะมีใครฮอตไปกว่าอินฟลูฯ แห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียวอย่าง “หมูเด้ง” อีก ฮิปโปแคระตัวน้อยที่ดังไกลไปทั่วโลก จนกลายเป็นทั้งไวรัล ทั้งมีม จนขยายไปถึงแบรนด์สินค้า ที่เข้าแถวมาจองตัวขอ featuring ด้วย
ตลกร้าย กระแสร้อนๆ นี้ดันไปเข้าตาองค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับโลกอย่าง “PETA”จนต้องออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า นี่เป็นการ “ทรมาน” และใช้ประโยชน์จาก “น้องหมูเด้ง” เกินควร ดังนั้น น้องควรได้ “กลับคืนสู่ธรรมชาติ”
"หมูเด้งสมควรที่จะมีชีวิตอย่างอิสรภาพ ไม่ใช่ต้องถูกกักขัง ไว้เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายตั๋ว”
ไม่รู้ PETA มีลานจอดรถกว้างหรือเปล่า เพราะหลังจากโพสต์ได้ไม่นาน “ทัวร์ไทย” ก็ปักธง เลี้ยวรถไปหาทันที พร้อมคอมเมนต์ปั่นๆ สไตล์คนไทย ด้วยการหยิบเอา “สัตว์” ในแบรนด์ต่างๆ มาแซะเทียบ จนแชร์กันเป็นไวรัล
“ในประเทศไทย เราใช้ ‘กบ’ เป็น ‘กบเหลาดินสอ’ ใช้ ‘เป็ด’ ทำความสะอาดห้องน้ำ และ ‘กระต่าย’เป็นเครื่องขูดมะพร้าว ‘หมูเด้ง’ น่ะ คุณภาพชีวิตดีมากนะ”
อีกรายก็มาฟ้องใต้โพสต์ว่า PETA รู้หรือยังว่า ในไทย “หมู”กับ “ช้าง”เป็นพาหนะยอดนิยมเวลาเดินทาง ถือเป็นการใช้แรงงานสัตว์อย่างทารุณ หมูเด้งโชคดีมากนะ ที่ไม่เจออะไรแบบนี้
ตรงนี้หลายคนก็เห็นด้วย และยังตอบคอมเมนต์นี้อีกว่า “ใช่ เราก็ ‘ขี่ช้างจับตั๊กแตน’ เหมือนกัน” ซึ่งเป็นการหยิบสุภาษิตมาเปรียบเปรย คล้ายเอาฮาให้ฝรั่งงง
และความปั่นแนวๆ นี้ก็ยังไม่หมด มีคนเสริมต่ออีกหลายอย่างเลย ทั้งที่บอกว่า คนไทยเวลาเจ็บคอ จะกิน “ตะขาบ 5 ตัว” บางคนหนักถึงขั้นจับ “เสือ 11 ตัว” มาขังในขวดเหล้า แถมยังเอา “เสือ” มาทำแผ่นแก้ปวดหลัง
{เมืองไทยใจร้าย ใช้ “เป็ด” ล้างห้องน้ำ}
{เจ็บคอเมื่อไหร่ ไทยจับ “ตะขาบ 5 ตัว” กิน}
ซ้ำร้ายยังใช้ “หัวม้าลาย”มาเป็นเครื่องครัวอีก หนักถึงขั้นว่า ไม่รู้ PETA รู้หรือยังว่า ไทยเอา “นกแก้ว” มาทำสบู่ และอีกมากมายหลากสไตล์กวน เรียกได้ว่าแต่ละคอมเมนต์สะท้อน “ความปั่น” ไม่มีใครเกินของพี่ไทยได้เป็นอย่างดีเลย
{“ม้าลาย” ยังโดน ไม่พ้นเป็นเครื่องครัว}
{ประชดหนักมาก ไทยจับ “นกแก้ว” ทำสบู่}
ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ไม่ได้มีแค่คอมเมนต์ปั่นๆ อย่างเดียว มีหลายคอมเมนต์ที่แสดงความไม่พอใจ อาจจะมาจากที่ PETA ใช้คำว่า “ทรมานสัตว์” ซึ่งแฟนๆ หมูเด้งไม่เห็นด้วย จึงลุกออกมาปกป้อง ทั้งหมูเด้งและสวนสัตว์กันอย่างพร้อมเพรียง “น้องเขาอยู่แบบนี้ น่าจะมีความสุขกว่า เอาเขาไปปล่อยอีก”
“ทำอย่างกับสวนสัตว์ เขาทรมานสัตว์ เขาเลี้ยงสุขสบาย สถานที่ศึกษาหาความรู้ เด็กๆ ได้เห็นสัตว์ต่างๆ ได้ง่าย จะให้ไปบุกป่าฝ่าดงเข้าไปดูหรือไง”
ถ้าคุณจริงพอ คนก็พร้อมปกป้อง
หลังทัวร์ตบมุกขบวนใหญ่ ไปลงที่แฟนเพจของ PETA ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ฐานแฟนที่เหนียวแน่น” ของ “น้องหมูเด้ง” ที่ออกมาปกป้องอย่างพร้อมเพรียงกันแบบนี้
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” นักการตลาดชื่อดัง ช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ว่า “กรณีหมูเด้ง คือ Win Mass, Win ใจ Mass”
หมายถึงเมื่อ “ชนะใจ” คนจำนวนมากได้ บวกกับ “พลังโซเชียลฯ”ที่ร่วมเสริม ก็ยิ่งผลักให้เจ้าฮิปโปฯ น้อยตัวนี้ มีฐานแฟนคลับที่ขยายออกไปได้กว้างขึ้นอีก ซึ่งทั้งหมดมาจาก “Personal Branding”
{“ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” นักการตลาดชื่อดัง }
เกิดจากวิธีสร้าง “ฐานแฟนคลับ” ที่หยิบเอา “ตัวตน”มาเป็นภาพลักษณ์ และนำเสนอไปยังผู้คน จนเกิดกลายเป็นความชื่นชอบ รักใคร่ ไปจนถึงคลั่งใคล้
โดยเริ่มจากอย่างแรกคือ การสร้าง “Character” ต่อมาก็ “ใส่เรื่องราวลงไป” จากนั้นก็“หาวิธีเล่า”ที่โดนใจผู้คน และสำคัญที่สุดคือ“การทำซ้ำ”จนเกิดภาพจำและความเคยชิน
“แต่ไม่ได้หมายความว่า (ถ้าทำแบบนี้ทุกครั้ง) จะมีฐานแฟน และคนมาปกป้องแบบนี้นะ(เคสหมูเด้ง)”
“ภาพลักษณ์-ภาพจำ” คือสิ่งที่จะทำให้แฟนๆ ออกมาปกป้อง เวลาเหล่าคนดังหรืออินฟลูฯ มีปัญหา เพราะการที่ใครจะดังได้ ต้องเกิดจากความชื่นชอบ หลงใหล ในภาพที่แบรนด์นั้นๆ สร้างขึ้นมา
“คนจะเกิดได้ มันต้องมาจากการสร้างตัวตนใช่ไหม แต่ตัวตน ถ้าไม่ใช่ตัวตันที่แท้จริงเนี่ย มันจะเป็นบูมเมอแรง หันมาฟันคุณเองนะ”
เห็นได้จากเคสคนดังบนโลกออนไลน์หลายคน ที่ตอนแรกมีฐานแฟนมากมาย แต่เวลาผ่านไป เมื่อตัวตนที่แท้จริงเริ่มเผยออกมา จนแฟนๆ ค้นพบว่าไม่ตรงปก ไม่ตรงกับภาพลักษณ์ที่เคยนำเสนอไว้ จึงเกิดความเสื่อมศรัทธา ท้ายที่สุดผู้คนที่เคยชื่นชอบ ก็ออกมาปกป้องน้อยลงๆ ไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา
แต่กับ “หมูเด้ง” นั้น น้องเป็นสัตว์ ทำให้ภาพที่เราเห็นตามสื่อ มันก็คือตัวตนของน้องจริงๆ และเพราะน้องเป็นฮิปโปฯ หมูเด้งเลยไม่สามารถทำเรื่องเสื่อมเสีย หรือก่อดรามาอะไร จนแฟนๆ หมดศรัทธาได้
“คือคนเรา ต้องมีอะไรที่เรารักอย่างนึงในชีวิต ถ้าเรารักอะไรขึ้นมาสักอย่าง เราจะพยายามทำให้สิ่งที่เรารักเนี่ย มันไร้ราคี ไร้มลทินไปตลอด”
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะกับ “อินฟลูฯ” “ศิลปิน” หรือ “แบรนด์สินค้า” ที่เข้าไปอยู่ในใจคนได้แล้ว ซึ่งในเชิงการตลาดเรียกว่า “Police Brand” คือแฟนๆ จะทำหน้าที่เหมือน “ตำรวจ” คอยจับผู้ร้ายที่จะมาทำลายสิ่งที่พวกเขารัก
“แฟนคลับ” จะออกมาซ้ำเติมหรือปกป้อง ทั้งหมดอยู่ที่ “ภาพลักษณ์” กับ “ตัวจริง” ของคนคนนั้น หรือแบรนด์แบรนด์นั้นว่า ตรงกับหลักฐานที่ถูกกล่าวหาหรือเปล่า
“คุณ real หรือเปล่า คือสิ่งที่คุณสร้าง กับสิ่งที่เป็นตัวตนคุณจริงๆ real หรือเปล่า และคุณต้องไม่ทำอะไรที่ผิดพลาดนะ”
ไม่ต้องห่วง ไทยก็มี “องค์กรพิทักษ์สัตว์”
ต้องยอมรับอย่างนึงว่า ในความเป็นจริง “นักท่องเที่ยว” ไม่ได้ใจดีกับ “หมูเด้ง” ทุกคน เพราะก่อนหน้านี้ก็มีดรามาที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนึง แสดงพฤติกรรมไม่น่ารัก
มีทั้ง “ปาข้าวของ” ไปจนถึง “ราดน้ำ” ใส่น้องหมูเด้ง ขณะที่เจ้าตัวดึ๋งกำลังหลับ เพื่อให้ตื่นขึ้นมาเล่นกับพวกเขา ซึ่งทางสวนสัตว์เอง เคยออกมาจัดการเรื่องนี้ไปแล้ว
ด้วยการ “ติดกล้องวงจรปิด” รอบส่วนแสดง ติดป้ายประกาศ ห้ามทำพฤติกรรมพวกนี้ และหากพบเห็น คนคนนั้นจะถูก “ดำเนินคดี” ตามกฎหมาย
ทุกวันนี้ย้ำว่า ถ้าอยากมาเจอหมูเด้ง ตอนที่ยังไม่เค้ง ยังไม่ชัตดาวน์หลับไป หรือที่เรียกว่าตอนที่ “ยังเด้งอยู่” ทางแฟนเพจ “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง” ก็ออกมาทำตารางเวลา กิจวัตรตั้งแต่ตื่นยันพักผ่อน
ของน้องออกมาไว้แล้วด้วย
หลังจากนั้น ข้อมูลเหล่านี้ก็ถูกแชร์ต่อๆ กันไปในหลายๆ เวอร์ชั่น รวมถึงเวอร์ชั่น Infographics จากเหล่าแฟนๆ รวมถึงสื่อมวลชน ที่ช่วยขยายเรื่องนี้ออกไป
ถามว่าแล้วทำไม PETA ต้องออกมาเรียกร้องประเด็นนี้? ในเมื่อปัจจุบัน ไม่เหลือการปฏิบัติต่อน้องอย่างไม่เหมาะสมแล้ว ดูทุกอย่างจะลงตัวไปหมด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล”เลขาธิการและผู้อำนวยการ สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) ช่วยอธิบายให้ทีมข่าวฟังว่า อาจเพราะ “มุมมองที่ต่างกัน”
{“ดร.สาธิต” ผอ.สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ฯ}
“(องค์กรในบ้าน)เราจะใช้แนวความคิดเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare คือสามารถใช้สัตว์ได้บ้างตามสมควร แต่มนุษย์ก็ควรมีความรับผิดชอบ ในเรื่องศีลธรรม จริยธรรม ในการปฏิบัติต่อสัตว์นะครับ”
แต่ “PETA” จะมองเรื่อง “สิทธิสัตว์” บนจุดยืนที่ว่า “สัตว์ควรอยู่อย่างอิสระ” ไม่ถูกฆ่า ทรมาน หรือเอามาใช้ประโยชน์ เมื่อมองไม่เหมือนกัน จึงได้เห็นการออกมาเคลื่อนไหวอย่างครั้งล่าสุดนี้
หากถามว่า “สวัสดิภาพ” ในการดูแลหมูเด้งดีไหม? ตัวแทนจากสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ย้ำว่า “สวนสัตว์เปิดเขาเขียว”ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก “สมาคมสวนสัตว์และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำโลก” (WAZA)อยู่แล้ว ซึ่งทั่วโลกยอมรับ และไทยเองก็มี “พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์”ช่วยคุ้มครองอยู่ด้วย
“ถ้าเกิดในกรณีนี้ มีการทารุณกรรม หรือจัดสวัสดิภาพไม่สมควรเนี่ยนะครับ ของหมูเด้งเนี่ย ก็มีการฟ้องร้อง ดำเนินคดีในประเทศไทยอยู่แล้ว”
“ดร.สาธิต” มองว่า เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ “ทำงานดีแล้ว” แต่ถ้าจะให้ดีกับทุกฝ่ายมากกว่านั้น ทั้งคนและสัตว์อาจจะต้องลดการสัมผัสตัวสัตว์ให้น้อยลง หรือเพิ่มเวลาให้สัตว์ได้พักผ่อนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “PETA (People for the Ethical Treatment of Animals)”, “PETA Thai”, “TQM อุตรดิตถ์”, “Takabb”, “Parrot Natural”, “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง”, “Pattharawalai Dao”, “P Monsiichaa Than”, “Oat Sornpabhop” และ “Cat Sarochin Sankhao”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **