“มัมหมีชาวจีน” ต่อไปไม่ต้องถ่อมาถึงไทยแล้ว เพราะมี “หมีเนย” เป็นของตัวเองแล้ว ชาวเน็ตแซวน่ารักไม่เท่าของจริง พร้อมตั้งคำถามแบบนี้ “ละเมิดลิขสิทธิ์” หรือเปล่า?
จีนผุดร่างโคลน “หมีเนย”
“หมีเนย” โดนเข้าแล้ว อินฟูฯ หน้าใหม่ “มาสคอต” ของร้านขนม “Butterbear” ที่กำลังเป็นที่นิยมบนโลกโซเซียลฯ จากความน่ารักสนใส จนดึงดูให้ทั้งไทยและเทศ แห่กันมาชนความน่ารัก กันจน “ห้างฯ แตก”
โดยเฉพาะ “ชาวจีน” ที่ยอมบินข้ามน้ำข้ามทะเล มาหาถึงหน้าร้าน แต่กลับกลายเป็นว่าตอนนี้ บางส่วนอาจไปต้องถ่อมาถึงไทยแล้ว เพราะล่าสุดจีนเองก็มี “หมีเนย” ของตัวเองแล้วเหมือนกัน
เมื่อความต้องของเหล่าแม่ๆ “มัมหมี”ชาวจีนที่มีมากขนาดนี้ “ร่างโคลนหมีเนย” จึงผุดขึ้นทั่วเมืองจีน มีทั้งร่างอ้วน ร่างผอม สารพัดหมีเกิดขึ้นมาเพื่อเลียนแบบ ซึ่งประเด็นเรื่องความน่ารัก หลายคนบอกว่า สู้หมีเนยไม่ได้
แต่ก็มีหมีบางตัวที่ลอกมาเหมือนเสียเหลือเกิน ต่างแค่สีเท่านั้นเอง จนชาวเน็ตไทยให้ฉายาว่า “หมีมาการีน”แม้หลายคนจะบอกว่า สู้ตัวจริงไม่ได้ พ่วงด้วยความรู้สึกไม่พอใจที่ถูกก๊อบฯ หน้าตาเฉย
“แล้วปล่อยให้ต่างชาติละเมิดลิขสิทธิ์หมีเนย จีนก๊อบฯ ไปไม่รู้เท่าไหร่แล้ว” ทั้งที่ไทยพยายามจะขาย Soft Power แต่ปล่อยคนอื่นก็อบฯ ไปทั้งหลายอย่าง
{“หมีมาการีน” ของก๊อบฯ จากจีน}
การเกิดร่างโคลนของ “หมีเนย”ทั่วประเทศจีนแบบนี้ ถือเป็นการ “ละเมิดลิขสิทธิ์” หรือเปล่า? และจะฟ้องได้ไหม? และนี่คือคำตอบจาก “พีท” ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ซึ่งก่อนจะไปตอบเรื่อง “ละเมิดลิขสิทธิ์”หรือเปล่า ทนายรายนี้อยากให้ทำความเข้าใจกับ “กฎหมายทรัพย์สินปัญญา” ที่เป็นภาพใหญ่ก่อน เพราะในรายละเอียดของกฎหมาย ถูกซอยออกมาเป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ“ลิขสิทธิ์” กับ “เครื่องหมายการค้า”
“ลิขสิทธิ์” คือการคุ้มครองงานสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นอัตโนมัติทันที ที่ผู้สร้างเริ่มสร้างผลงานนั้น โดย “ไม่ต้องจดทะเบียน”และจะคุ้มครองไปตลอดชีวิต จนถึงผู้สร้างเสียชีวิตไปอีก 50 ปี
ถ้า “ลิขสิทธิ์” หมดเมื่อไหร่ แปลว่าคนอื่นก็สามารถนำผลงานชิ้น ไปดัดแปลงทำซ้ำได้ ลองมองย้อนกลับที่ “หมีเนย” และ “หมีก๊อบฯ” ที่เกิดขึ้นว่า สรุปแล้ว “ละเมิดลิขสิทธิ์” หรือไม่
{“พีท” ทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมาย}
ทนาย “พีท” ก็อธิบายว่า “ใครๆ ก็วาดหมีได้” อาจจะดูคล้ายกัน เพราะมันคือ “หมี” แต่ในรายละเอียดของการสร้างคาแรกเตอร์ รูปแบบ มันก็จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งทุกคนก็จะได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์ ในแต่ละแบบที่ตัวเองสร้างขึ้นมา
“Butterbear ถามว่า ลิขสิทธิ์มีไหม ถ้าถามผม ส่วนตัวมองว่ามันก็ไม่ได้มีอะไร มันก็แค่เป็นตัวมาสคอต เพราะฉะนั้น มาสคอตที่เป็นรูปหมี ใครๆ ก็ทำได้”
จดทะเบียนหรือยัง ครอบคลุมหรือเปล่า?
หากถามว่า ”หมีเนย” โดน “ละเมิดสิทธิ์” ไหม? คำตอบอาจตกอยู่ที่คำว่า “ไม่” แต่ถ้าเป็นเรื่อง “เครื่องหมายการค้า” มันก็อีกเรื่องนึง เพราะ “เครื่องหมายการค้าเนี่ย ต้องสื่อถึงสินค้าหรือบริการต่างๆ”
เครื่องหมายการค้า หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ “โลโก้สินค้า” ที่สื่อถึงสินค้าและบริการนั้นๆ แล้วอย่างนี้ “หมีเนย” ที่เป็นตัว “มาสคอต” จดเป็นเครื่องหมายทางการค้าได้หรือเปล่า?
“หลักๆ ก็คือตัวโลโก้สินค้าแหละครับ คือเวลาจด มันจดเป็นตัวโลโก้ก่อน เพียงแต่ว่าตัวโลโก้ มันก็จะมีรูปร่างหน้าตาต่างๆ ให้มันเหมือนกับสิ่งที่เราต้องการสื่อ”
แล้วเราถอดจากตัวการ์ตูนบนโลโก้ ให้กลายมาเป็น “มาสคอต” ก็เหมือนกับเจ้ามังกรเขียว “บาร์บีก้อน” ของ “Bar B Q Plaza” ที่เป็นมาสคอตเหมือนกัน และแบรนด์นำไปทำ สติกเกอร์โปรโมต หรือสินค้าอื่นๆ
“มันก็เหมือนกันอะครับ พอเขาไปจดเป็นเครื่องหมายการค้า คนอื่นก็จะเอารูปมังกรเขียวๆ ตัวนี้ไปใช้กับร้านอาหารไม่ได้”
เช่นเดียวกัน ถ้า Butterbear จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว มันมีรูป“หมีเนย” อยู่ในเครื่องหมายการค้านั้น คนอื่นๆ ก็จะเอาไปดัดแปลงหรือทำซ้ำไม่ได้
หากจะตอบคำถามว่า ที่โดนก็อบฯ ไป “ละเมิดเครื่องหมายทางการค้า” หรือเปล่า อาจจะต้องดูว่า “หมีเนย” ได้จดทะเบียนไหม หรือตอนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า มีรูปหมีเนยอยู่ในนั้นหรือเปล่า
ซึ่งถ้าจดทะเบียนแล้ว ไม่ว่า “มาสคอต” ที่ก๊อบฯ หมีเนยไป ต่อให้มีการดัดแปลง เปลี่ยนสี เสื้อผ้า ก็ “ผิดอยู่ดี” แต่มันก็มีรายละเอียดอยู่นิดนึง ถึงจะฟ้องร้องกันได้คือ...
“ต้องเป็นการใช้อย่างเครื่องหมาย(การค้า)นะ หมายถึงว่าเขาเอาไปใช้อย่างเครื่องหมายเหมือนกัน ต้องเอาไปใช้สื่อถึงสินค้าและบริการของเขาเหมือนกัน”
เช่น Butterbear จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ประเภทร้านอาหาร เครื่องดื่ม สมมติมีร้านใกล้กัน ใช้มาสคอตที่คล้ายหมีเนย เพื่อโปรโมตร้านกาแฟ แบบนี้ถือว่าผิด คือกฎหมายเครื่องหมายค้า จะคุ้มครองครอบคลุมสินค้าหรือบริการ ที่จดทะเบียนไว้ รวมถึงสินค้าที่ใกล้เคียงกัน
แต่ถ้ามีคนใช้มาสคอตคล้ายหมีเนย หรือเครื่องหมายการค้าคล้ายๆ กัน บนผลิตภัณฑ์ยาสระผม แบบนี้ก็อาจจะไม่ผิด เพราะไม่จดทะเบียนครอบคลุมไว้
“แต่ถ้าเขาทำเป็นตัวมาสคอต แล้วแต่งเดินเล่นอย่างเดียวของเขา มันก็ไม่ได้ผิดอะไร เคยเห็นใช่มั้ย พวกคอสเพลย์แต่งเป็นตัวการ์ตูนญี่ปุ่น”
“การละเมิดเครื่องหมายการค้า” ต้องการใช้เพื่อ “ประโยชน์ทางการค้า” และที่ยกตัวมาทั้งหมดนี้ เป็นเพียงภายในประเทศ แต่ถ้าเคสของ “หมีเนย” ที่โดนจีนก็อบฯ ไป ก็ต้องไปดูอีกว่า เราได้ขึ้นทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศจีนหรือเปล่า
“เครื่องหมายการค้า มันก็ต้องไปจดแต่ละประเทศเหมือนกันครับ เพียงแต่ว่าการจดในประเทศอื่น เราสามารถจดในกรมทรัพย์สินทางปัญญาของบ้านเราเองก็ได้นะ แล้วเขาก็มีเครือข่ายอยู่”
สรุป ละเมิด-ไม่ละเมิด ทางกฎหมายก็ต้องดูว่า แล้วเราจดทะเบียนหรือเปล่า และถ้าจะฟ้อง ก็ต้องไปดูรายเลียดอีกว่า คนที่เอาไปใช้ ใช้แบบไหน และการจดทะเบียนของเรามันครอบคลุมหรือเปล่า
ดูโพสต์นี้บน Instagram
@livestyle.official ...ฮอตจริงไรจริง จนตอนนี้มี "สารพัดหมี" ผุดขึ้นมา "เลียนแบบ" เต็มไปหมด @butterbear.th... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #หมีเนย #น้องเนย #ด้อมน้องเนย #ด้อมหมีเนย #มัมหมี #มัมหมีน้องเนย #butterbear #หมีมาการีน #ลิขสิทธิ์ #ไวรัล #คลิปไวรัล #ไวรัลTikTok #มาสคอต ♬ เสียงต้นฉบับ - LIVE Style
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟชบุ๊ก “Butterbear.th” ,Tiktok“@baobei4249”, เพจเฟซบุ๊ก “Bar B Q Plaza”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **