เป็นล้าน!!...เลยเหรอพี่ “รถ EV” ตากฝนแค่ 20 นาที แบตเตอรี่พัง แถมไร้วี่แววคนเยียวยา “คนใช้รถไฟฟ้าตระหนกกันเป็นแถบ กังวลหนักมากว่า “ฝนตก-น้ำท่วม” แบบนี้ คันที่ใช้อยู่จะเสี่ยงขิตหรือเปล่า?
เสียเป็นล้าน!! เพราะแค่ตากฝน
“แค่จอดรถหน้าบ้าน ขณะฝนตก สัก15-20 นาที แบตเตอรี่ก็พังแล้ว โชว์รูมเขาบอกมาเสนอราคา ค่าซ่อม เปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมอื่นๆ ต่างๆ นานา เกือบๆ 1.1 ล้าน เชียวนะคะ”
นี่คือเรื่องราวขำขื่นที่เกิดขึ้นจริงกับ เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเรื่องราวของเธอถูกเผยแพร่ผ่านกลุ่มเฟซบุ๊ก “พวกเราคือผู้บริโภค”จนกลายเป็นประเด็นร้อนให้ผู้คนติดตามกัน โดยเฉพาะผู้ร่วมอุดมการณ์เดียวกันคือ “คนขับรถ EV” ทั้งหลาย
ที่น่าช้ำใจกว่านั้นคือ เป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ที่รถของเธอจำต้องจอดเป็นผัก ขยับไม่ได้ แถมยังไร้การเยียวยาจากแบรนด์รถไฟฟ้าอีกด้วย
“เกือบๆ 30 วันแล้วค่ะ ดิฉันยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือให้การบริการรถสำรอง เยียวยาใดๆ ทั้งสิ้น และโชว์รูมผู้กินเงินดาวน์ หรือจากประกันชั้นหนึ่งเลยค่ะ”
{เคสจอดรถไฟฟ้าตากฝน เสียค่าซ้อมเป็นล้าน}
ล่าสุด หลังเรื่องราวทั้งหมดกลายเป็นประเด็นดัง แบรนด์รถไฟฟ้าจึงออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งทางแฟนเพจ “EV Thailandรถยนต์ไฟฟ้า” ได้ออกมาอัปเดตว่า ทาง “เรเว่” บริษัทผู้นำเข้ารถไฟฟ้ารุ่น “BYD Seal” ที่เป็นปัญหา ได้เข้าไปพูดคุยเรียบร้อยแล้ว
“ล่าสุดทางผู้บริหารเรเว่ ได้พูดคุยกับเจ้าของรถ และได้ข้อสรุปแล้ว โดยประกันรับเคลมแล้ว อะไหล่กำลังส่งไปศูนย์บริการ ลูกค้ายืนยัน พอใจแล้ว”
ลองย้อนไทม์ไลน์กลับไป จะพบว่าก่อนหน้านี้ก็มีกรณีคล้ายๆ กัน คือผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเดียวกันนี้ ขับๆ อยู่รถกลับเกิดน็อกกลางอากาศเสียอย่างนั้น
“ขับออกมาจากเซ็นทรัลฯ หลังล้างรถเสร็จ เตือนแบตแดง บอกให้จอดรถภายใน 1 นาที จากนั้นรถนิ่ง เปลี่ยนเกียร์ขับไม่ได้ และดับสนิทเลย ตามรูป เมื่อวานขับลุยผ่านน้ำท่วม ตอนฝนตกประมาณ 1 นาทีค่ะ”
{แค่ล้างรถ กับลุยน้ำท่วม 1 นาที แบตเตอรี่พัง}
หลังจากนำรถเข้าศูนย์ช่างบอกว่า “น้ำเข้าแบตเตอรี่”ทำให้เซลล์แบตเตอรี่เสียหาย จนกลายเป็นคำถามว่า “รถไฟฟ้าแพ้น้ำขนาดนั้นเลยหรือ?”ทีมข่าวจึงต่อสายตรงหา “สุรมิส เจริญงาม”นักทดสอบและผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์ เพื่อไขข้อสงสัยนี้
กระทั่งได้คำตอบว่า รถไฟฟ้า 1 คันจะถูกออกแบบมา เพื่อให้ได้ตามค่ามาตรฐาน “IP67”คือค่าที่รับรองอุปกรณ์นั้นว่า สามารถป้องกันน้ำและฝุ่นได้ระดับเท่าใด “IP67มันจะอยู่ได้ลึก1เมตร นาน30นาที”
“ถามว่า เฮ้ย..ถ้ามันกันได้อย่างนั้นจริงๆ มันควรจะไม่มีปัญหากับตัวแบตเตอรี่ใช่ไหมครับ ถ้าเกิดสมมติรถคันนี้ เป็นไปตามที่เจ้าของรถบอกก็คือ ตัวรถจอดแค่ 15-20 นาที ด้วยระดับที่ไม่ได้ลึกด้วย แค่ขอบล่างของตัวรถ”
ดังนั้น ปัญหาอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ “ขั้นตอนการประกอบ”ทำให้มีอุปกรณ์หรือสิ้นส่วนบางชิ้น ไม่ได้ตามค่ามาตรฐาน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รถไฟฟ้าทุกคันที่เจอสถานการณ์แบบนี้แล้ว รถจะพังทั้งหมด อยากให้มองว่า “เป็นเฉพาะคันนี้ น่าจะไม่ได้มาตรฐาน”
{“สุรมิส”นักทดสอบและผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยียานยนต์}
เคยใช้รถน้ำมัน ไม่เห็นพังอย่างนี้!!
มาเจาะลึกกันว่า สรุปแล้ว “รถยนต์ไฟฟ้า” เจอฝนลุยน้ำท่วมได้หรือเปล่า? กูรูรายเดิมช่วยไขข้อสงสัยเพิ่มว่า ถึงจะมีค่ามาตรฐาน ทนน้ำท่วมตัวรถได้ถึง 1 เมตร แต่ก็ยังสามารถพังได้อยู่ดี
ยกตัวอย่างจากเคสที่เป็นประเด็น สมมติว่าไม่จอดแช่น้ำแค่ 20 นาที แต่เป็นชั่วโมงครึ่ง โอกาสที่รถจะเสียก็มี เพราะรถไฟฟ้าไม่ได้ถูกออกแบบมา ให้สามารถทนการแช่น้ำเป็นเวลานานขนาดนั้นได้
“ถ้าเกิดจอดรถอยู่เจอน้ำท่วม จริงๆ แล้วทนได้เพียงพอต่อการที่จะขยับรถไปหลบในจุดที่ปลอดภัย โดยที่ไม่เสียหาย แต่ถ้าปลอยทิ้งไว้ เสียแน่นอน”
และตัวค่ามาตรฐานที่บอกว่า สามารถทนน้ำลึกได้ 1 เมตร เป็นเวลา 30 นาที จริงๆ แล้วเป็นการทดสอบใน “น้ำนิ่ง” แต่ในสถานการณ์จริงบนท้องถนน ซึ่งรถเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ยิ่งผลักให้น้ำมีแรงดันที่สามารถเข้ามาปะทะเครื่องยนต์ได้
“หมายความว่า ถ้าเจอน้ำท่วมจริงๆ ถ้าไม่สูง วิ่งผ่านเลย ช้าๆ ความเร็วต่ำ (30 กม./ชม.) ถ้าเห็นเป็นทางท่วมยาวๆ เนี่ย กลับรถได้ กลับครับ ไปทางอื่น”
ให้ช่วยวิเคราะห์เหตุผล อะไรทำให้คนไทยมักจะมีปัญหาการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า คำตอบคือส่วนนึงเป็นเพราะ “ความเข้าใจและความเคยชิน” โดยเฉพาะบ้านเราที่เพิ่งเริ่มเปลี่ยนผ่าน จาก “รถยนต์สันดาป” มาเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า”
“คนอาจจะบอกว่า ใช้รถน้ำมัน จอดน้ำครึ่งล้อก็ยังไม่เป็นไรเลย ใช่ครับ แต่ว่าพอคุณเปลี่ยนมาเป็นเทคโนโลยีใหม่ จริงๆ แล้วมันก็จะมีจุดดีและข้อจำกัด”
ส่วนใหญ่แล้ว ผู้ใช้รถส่วนใหญ่มักจะรับข้อมูลเกี่ยวกับรถจาก “โซเชียลฯ” มากกว่า “คู่มือรถ” หรือ “คำแนะนำจากผู้ผลิต” ทำให้ได้ข้อมูลในการใช้งาน และข้อควรระวังของรถไฟฟ้าที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง สลับกันไป
และหากจะตอบคำถามว่า “รถยนต์ไฟฟ้า” สามารถใช้งานในสภาพอากาศแบบบ้านเราได้หรือเปล่า ที่มีทั้ง “ฝนตก” และ “น้ำท่วมขัง” กูรูด้านการทดสอบยานยนต์รายเดิม จึงได้แต่ย้อนให้ฟังถึง “มาตรฐานการวิ่งลุยน้ำ” ที่ควรจะเป็น
“การวิ่งลุยน้ำ” ใน “อเมริกา” หรือ “ยุโรป” จะมีข้อกำหนดว่า จะต้องลุยน้ำได้ในระดับ“15 ซม.” หรือ“20 ซม.” ได้เป็นอย่างน้อย ด้วยความเร็วเท่าไหร่ก็แล้วแต่จะกำหนด นั่นเป็นระดับน้ำบนผิวถนนที่คนทั่วโลกเจอ
“แต่เมืองไทยไปถูกใช้ในส่วนที่เกินlimitมากกว่า ที่ตัวรถถูกออกแบบมา หรือไปใช้ในจุดที่เขาระบุมาให้ระวัง แต่ไม่ระวัง สุดท้ายแล้วมาบอกว่า ทำไมมันขับไม่ได้ ทนไม่ได้ ก็ฉันเคยทำแล้ว มันไม่เป็นไร”
“น้ำท่วม-น้ำขัง” คือ อุปสรรคของคนใช้ “รถEV” ในบ้านเราหรือเปล่า? กูรูรายเดิมตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่า ผู้ผลิตรถคงไม่ปรับเปลี่ยนรถ เพื่อประเทศไทยประเทศเดียว
“เพราะฉะนั้น อาจจะต้องมีจุดที่ต้องระมัดระวังเพิ่ม ก็น่าจะเป็นเรื่องการใช้งาน การศึกษา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ เพื่อให้ได้ในมุมที่มันดี แล้วก็มีประโยชน์“
สุดท้าย เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ กำลังบอกให้ “ผู้ใช้รถEV”ต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้งานไม่ได้ ส่วนเคสที่มีปัญหา น่าจะเป็นเฉพาะอุปกรณ์และรถรุ่นนั้นๆ ไม่ได้เป็นกับรถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...“เมืองไทย ไปใช้ในส่วนที่เกิน limit กว่าที่ตัวรถถูกออกแบบมา”...
>>> https://t.co/uKmdergycF
.
และคลิปนี้จะบอกข้อจำกัดของ “รถยนต์ไฟฟ้า” ที่คนขับอีวี ห้ามละเลย!!
.#รถไฟฟ้า #รถยนต์ไฟฟ้า #EV #EVCar #รถEV #รถยนต์ #ยานยนต์ #น้ำท่วม #น้ำรอการระบาย #น้ำขัง #ฝนตก pic.twitter.com/iKME3w6cEL— livestyle.official (@livestyletweet) June 13, 2024
@livestyle.official ...“เมืองไทย ไปใช้ในส่วนที่เกิน limit กว่าที่ตัวรถถูกออกแบบมา”... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #รถไฟฟ้า #รถยนต์ไฟฟ้า #EV #EVCar #รถEV #รถยนต์ #ยานยนต์ #น้ํารอการระบาย #น้ําท่วมขัง ♬ original sound - LIVE Style
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก “Rainy Cham”, “Dear OoDearoo” และแฟนเพจ “EV Thailandรถยนต์ไฟฟ้า”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **