คนไทยกว่า 40% กำลังเจอกับ “อาการนอนไม่หลับ” ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่น่าห่วงคือไม่ใช้แค่ผลกระทบเรื่องการนอน แต่คือความเสี่ยง “โรคจิตเวช”!!
เพราะสังคมมัน “เครียด”
จากสถิติของกรมสุขภาพจิต เมื่อปี 63 พบว่า คนไทยราว “19 ล้านคน” กำลังประสบปัญหาเรื่อง “การนอนไม่หลับ” และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้คิดเป็น 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะ “กลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน”
แน่นอนว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง เพราะคนที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง/วัน จะเสี่ยงเป็น “โรคอ้วน” ด้วย “ฮอร์โมนเลปติน”ฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกอิ่มทำงานลดลง
แต่ไปเพิ่ม “ฮอร์โมนเกรลิน” ฮอร์โมนที่กระตุ้นความหิว ผลักให้คนนอนน้อยอยากอาหารมากขึ้น แถมยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังอย่างเบาหวาน, ความดัน, ภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือด
ที่สำคัญ “การนอนน้อย” ทำให้ระบบฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลแค่สุขภาพกาย แต่กระทบไปถึง “คอร์ติซอล” หรือฮอร์โมนความเครียดที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลถึงสุขภาพจิต จนเป็นที่มาของอารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ไปจนถึงซึมเศร้าได้
โดยอาการนอนไม่หลับนั้น มีระดับของมัน คือ “นอนไม่หลับชั่วคราว” เกิดจากการเปลี่ยนชีวิตประจำวัน ไม่คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม
ต่อมาคือ “นอนไม่หลับระยะสั้น” ซึ่งมักเกิดขึ้นน้อยกว่า 3 เดือน สาเหตุจากความเครียด หรือการกินยาที่มีผลต่อการนอน
และระดับสุดท้ายคือ “นอนไม่หลับเรื้อรัง”ติดต่อกันมากกว่า 3 เดือน หรือเป็นปีซึ่งอาจมาจากผลของยาที่ใช้รักษาโรคทางร่างกายหรือจิตใจ แต่สาเหตุที่พบมากที่สุดมาจาก “โรคทางจิตเวช”
ชวนคุยกับ นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัยแพทย์จิตเวชศาสตร์ จากโรงพยาบาลสมิติเวช ว่าภาวะการนอนไม่หลับของคนไทย เพิ่มขึ้นจริงหรือเปล่า และมันเป็นเพราะอะไรกันแน่ จึงได้คำตอบที่ว่า...
“นอนไม่หลับแบบทั่วไป เพิ่มขึ้นแน่นอน”โดยคุณหมออธิบายว่า การนอนไม่หลับ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.การนอนไม่หลับทั่วไป ที่มีสาเหตุไม่ชัดเจน อาจมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่ยังไม่เป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต
“ตารางชีวิตที่ไม่เหมือนสมัยก่อน เลิกงาน เจอรถติด กว่าจะกลับถึงบ้าน 4-5 ทุ่ม ทำให้การนอนผิดปกติจากสมัยก่อน”
{นพ.โยธิน ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์}
ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป มีความเครียดเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คนมีอาการนอนไม่หลับแบบทั่วไปเพิ่มขึ้น แต่ในทางการแพทย์ การนอนไม่หลับที่ถือว่าเป็นปัญหาคือ “โรคนอนไม่หลับรื้อรัง” ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต
ยิ่ง “เรื้อรัง” ยิ่งเสี่ยงป่วย “จิตเวช”
“อาการนอนไม่หลับเรื้อรัง” สวนใหญ่มักมาจาก “อาการทางจิตเวช” ใช่หรือไม่?เกี่ยวกับเรื่องนี้นพ.โยธิน อธิบายไว้ว่า อาการนี้มักมีต้นเหตุของโรคอยู่เบื้องหลัง อย่าง..
“โรคมะเร็ง เขาจะเจ็บปวดตลอดเวลา เวลานอน เขาก็จะเจ็บปวด มันก็นอนไม่ได้ คนสูงอายุบางคนที่เป็นโรคติดเชื้อ การกินยาบางอย่าง ก็จะทำให้มีผลต่อการนอน”
ถามว่าอาการทางจิตทำให้เกิดโรคนอนไม่หลับเรื้อรังหรือไม่ คุณหมอบอกว่า “ครึ่งต่อครึ่ง” แต่ส่วนใหญ่คิดว่ามาจากโรคทางกายมากกว่า เช่น โรคชรา, โรคอ้วน
แต่ “อาการนอนไม่หลับ” หรือ “ขาดการนอนที่ดี” ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คนเป็น “โรคทางจิตเวช” ได้ การจะดูว่าการนอนของเราดีหรือเปล่า ต้องดู 2 อย่าง คือ “ระยะเวลาการนอน”และ“คุณภาพในการนอน”
“หนึ่ง เราดูที่ปริมาณว่า คนคนนั้นเป็นแบบไหน ถ้าเป็นคนที่short sleeperเขานอน 6 ชั่วโมงก็อิ่มแล้ว แต่ถ้าเป็นlong sleeperต้องนอน 10 ชั่วโมง ระยะการนอนแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงถือว่าไม่พอ”
ที่สำคัญ ระยะเวลาการนอนอย่างเดียวไม่พอ เราต้องดูด้วยว่าหลับลึกไหม ผ่อนคลายหรือเปล่า ถ้านอน 8 ชั่วโมง แต่หลับๆ ตื่นๆ นั่นก็ถือว่าไม่ดี
เพราะ “การนอนที่ไม่ดี” จะทำให้เกิดฮอร์โมนความเครียดออกมา และถ้าพุ่งสูงในระยะเวลานานติดต่อกัน จะทำให้เกิดโรคอย่างความดัน เบาหวาน และหลากโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกมากมาย
“มันมีโอกาสที่ถ้านอนไม่หลับนานๆ จะผลต่อเซลล์สมองบางจุด ทำให้มันเหี่ยวลง ในบางคนแค่ไม่กี่สัปดาห์ ก็อาจเกิดความรู้สึกหดหู่ได้ จะมีความเสี่ยงจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง”
ตัวแปรสำคัญคือ “ถ้าตัวคนไข้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคทางจิตเวช” อยู่แล้ว หรือคนปกติที่เจอความเครียดตลอดเวลา บวกอาการนอนไม่หลับเรื้อรังเข้า โอกาสที่จะเป็นโรคทางจิตเวชก็จะเสี่ยงมากขึ้น
“มีหลายงานวิจัยที่บอกว่า คนปกติ ถ้าป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับนานๆ มีโอกาสจะป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้ ไม่ว่าจะเป็นวิตกกังวล ย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า หรือว่าถึงขั้นเป็นโรคจิตได้”
วิธีสังเกตตัวเองว่า ถ้าเกิดปัญหา 3 อย่างนี้ขึ้นแล้ว จากอาการนอนไม่หลับ ให้รีบมาพบแพท์ทันที คือ 1.ทำให้เกิดปัญหาทางกายและจิตใจ 2.มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน และ 3.สูญเสียความสามารถในการทำงาน
“ถามตัวเองก็ได้ว่า มันก่อให้เกิดปัญหากับร่างกายและจิตใจหรือเปล่า ถ้านอนไม่ได้แล้วทุกข์ทรมาน อันนี้เป็นปัญหา ไม่ต้องรอ แค่ข้อ 1 ปรากฏก็มาหาหมอได้เลย”
ถ้านอนไม่หลับติดต่อกันอย่างน้อย 4 วันต่ออาทิตย์ จะถือว่าเป็น “อาการนอนไม่หลับ” ที่เป็นปัญหาและควรพบแพทย์ทันที ส่วนคนที่นอนไม่หลับเพราะพฤติกรรมตัวเอง แต่ยังไม่เกิดปัญหากับชีวิตนั้น “แล้วแต่คนไข้ ถ้าอยากจะปรับเมื่อไหร่ ก็ค่อยมาโรงพยาบาล”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : dmh.go.th,thaihealth.or.th,hhcthailand.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **