xs
xsm
sm
md
lg

ผิดตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรก!! หยุดยาวสะท้อน “ความพังหมอชิต 2” ขาดทุนจนถูกละเลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



​“สงกรานต์” คนแห่ขึ้นรถ “หมอชิต2” เพิ่มขึ้น 10% แต่จากประเด็นความ “พัง” ยังเป็นที่วิจารณ์อยู่เรื่อยๆ นักวางแผนการขนส่งบอก เรื่องนี้สะท้อน “ระบบขนส่งสาธารณะ” ปัญหาที่มักถูกละเลย

สะท้อนการสนับสนุน “ที่ไม่ชัดเจน”

​“กระทรวงคมนาคม” คาดสงกรานต์ปีนี้คนจะเข้าใช้บริการ “หมอชิต2” มากขึ้นถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาเฉลี่ย “วันละ 70,000 คน” เตรียมเพิ่มรถและจำนวนเที่ยวรถ ให้เพียงพอกับความต้องการแล้ว

มองย้อนกลับไปเมื่อไม่นานมานี้ จะเห็นว่า “หมอชิต 2” เคยมีประเด็นเรื่อง “ความทรุดโทรม” ที่หลายคนตั้งคำถามทั้ง “บันไดเลื่อนเสีย” “ไม่มีลิฟต์โดยสาร” “ชานชาลาไม่มีแอร์” ส่งให้เกิดคำถามว่า ที่แห่งนี้มีความพร้อมในการให้บริการประชาชนหรือเปล่า?

แต่เรื่องนี้ทาง ระพิพรรณ วรรณพินทุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ได้ออกมาให้เหตุผลเอาไว้แล้ว

โดยอธิบายว่า หมอชิต 2 มีการปรับปรุงให้เกิดความปลอดภัยมาโดยตลอด เรื่อง “บันไดเลื่อนปิด” เพราะ ไม่สามารถหาอะไหล่มาซ่อมแซมได้ ​​​​​​​​​ส่วน “ระบบสาธารณูปโภค” อย่างจุดดับเพลิง และเครื่องปรับอากาศประจำอาคาร สามารถใช้ได้จุด และห้องปฐมพยาบาลก็เปิดให้บริการตลอด

ทั้งยังชี้แจงว่า ปัญหานี้เกิดจาก “การเดินทางขนส่งระหว่างเมือง” ได้รับความนิยมน้อยลง บวกกับสถานการณ์ “โควิด-19” ทำให้ บขส. “ขาดทุนถึง 3 ปีซ้อน”


​โดยหลังจากถูกกระแสสังคมวิจารณ์หนักเรื่องความทรุดโทรม จึงเกิด “แผนปรับปรุงหมอชิต 2 ระยะเร่งด่วน” โดยมีข้อมูลผ่านสื่อว่า ใช้งบประมาณกว่า 7 ล้านบาท ส่วนเรื่อง “บันไดเลื่อน” ล่าสุดถูกรื้อถอนออกไปแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ออกมาบอกว่า “หมอชิต 2 แห่งใหม่” ต้องเสร็จในรัฐบาลนี้ โดยเร่งศึกษาการรวมขนส่งทุกสาย ทั้งสายเหนือ-ใต้-ตะวันออก ให้เชื่อมต่อกันเพื่อความสะดวก

โดยจะปรับปรุงสถานีหมอชิต 2 ให้มีสภาพที่ดีขึ้น พร้อมกับดำเนินการ “ย้ายหมอชิต 2” ไปอยู่ใกล้ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อ)” ซึ่งเรื่องการศึกษารายละเอียดและการออกแบบ มอบหมายให้ บขส.เป็นคนดำเนินการ


ชวนคุยกับ รศ.ดร.สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ อาจารย์พิเศษ หลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าจากประเด็น “ความทรุดโทรมของ หมอชิต 2” จึงได้ผลสะท้อนในแง่มุมที่น่าสนใจ

โดยช่วยวิเคราะห์ว่า “มันสะท้อนถึงปัญหาการเงิน”ซึ่ง บขส. ออกมาบอกว่า เขาขาดทุนอยู่ 3 ปีติด แต่ให้มองในภาพใหญ่ มันคือ “ระบบเงินสนับสนุนขนส่งสาธารณะของเรา ที่ไม่ชัดเจน”

[????“รศ.ดร.สมพงษ์” นักวิชาการด้านการวางแผนการขนส่ง]
“ขนส่งสาธารณะ” ส่วนใหญ่ “ขาดทุน” ปัญหาหนึ่งของขนส่งระหว่างเมือง คือ “รถเที่ยวเปล่าเยอะ” จะเห็นว่า ขาเข้าเมืองคนเต็ม แต่ขาออกเมืองไม่มีคน ทำให้ต้องตีรถเปล่ากลับสถานีนอกเมือง บริการกำไรยาก​

ในต่างประเทศเลยมีนโยบาย “เงินสนับสนุนขนส่ง” ส่วนใหญ่ก็มีจาก “ภาษีน้ำมัน” แต่ในบ้านเรา ไม่มีนโยบายทางการเงิน ในการสนับสนุนขนส่งสาธารณะ ว่าจะอุดหนุนเท่าไหร่ รูปแบบการเดินทางไหน


ระบบพื้นฐานที่ “ถูกมองข้าม”

​ นอกจากเรื่อง “ความทรุดโทรม” แล้ว “การเชื่อมต่อ” ระหว่างสถานีขนส่งหมอชิต 2 กับสถานีขนส่งอื่นๆ อย่างรถไฟ และรถไฟฟ้า ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ ดร.สมพงษ์ มองว่า “ผิดตั้งแต่กระดุมเม็ดแรกแล้ว”

ระบบขนส่งสถารณะที่ดี ต้องเชื่อมต่อกันอย่าง “ไร้รอยต่อ” ดังนั้น ขนส่งอย่าง รถไฟและรถโดยสาร ก็ควรอยู่ใกล้ๆ กัน แต่ “หมอชิต 2” ตั้งอยู่เขตจตุจักร ส่วน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อยู่เขตบางซื่อ เห็นว่า รัฐบาลมีไอเดียที่จะ
ย้ายให้มาอยู่ใกล้กัน แต่.. “ทำไมเราไม่เอามาอยู่ใกล้ๆ กันตั้งแต่ต้น”

นักวิชาการด้านโลจิสติกส์ ท่านนี้ยังเสริมอีกว่า นี่เป็นปัญหาเรื่อง “การออกแบบ” ระบบขนส่งต้องออกแบบให้ คนสะดวกที่สุดในการต่อรถ หรือเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง




นอกจากเรื่อง “การเชื่อมต่อ” ปัญหาที่มาพร้อมกันคือ “ค่าโดยสาร” เพราะเวลาเราต่อรถครั้งหนึ่ง ก็ต้องเสียเงินเพิ่ม ทำให้ค่าบริการขนส่งบ้านเราแพง ​​​​​​​แน่นอนว่าขนส่งสาธารณะ ไม่สามารถให้บริการแบบไม่ต้องต่อรถได้ แต่เราสามารถสร้างโครงสร้างการเดินรถ และค่าโดยสารให้สัมพันธ์กันได้

ปัญหาขนส่งสาธารณะนั้น ถูกละเลยมาตลอด กูรูรายเดิมบอกว่า เรามักให้ความสนใจกับระบบขนส่งระดับบน อย่างรถไฟฟ้า “แต่เรามักจะลืมการดูแล รถขนส่งสาธารณะระดับล่างอย่าง รถเมล์”

ซึ่งมันคือระบบพื้นฐาน เพราะในความเป็นจริง คนนั่งรถเมล์มากกว่ารถไฟฟ้าเสียอีก และรถไฟฟ้าเอง เข้าถึงพื้นที่ของเมืองแค่ 30% เท่านั้น พร้อมตั้งคำถามกับนโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”

นโยบายที่ทำเพื่อคนกรุงเทพฯ แต่ภาษีที่เอามาเป็นเงินอุดหนุนนโยบายนี้ ไม่ใช่ภาษีของคนกรุงเทพฯ อย่างเดียว “เราเอาเงินตรงนี้ ไปพัฒนาขนส่งสาธารณะต่างจังหวัดดีกว่าไหม?


ต้อง “รื้อ” โครงสร้างใหม่ทั้งหมด

​อีกภาพหนึ่งที่เราจะเห็นได้ชัดทุกครั้ง เมื่อถึงวันหยุดยาวอย่าง “ปีใหม่” หรือ “สงกรานต์” คือ ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการอย่างเนืองแน่นเพื่อกลับบ้าน ปัญหาความแออัดนี้ จะแก้ไขได้หรือเปล่า?

​ “อันนี้เป็นปัญหาที่ยากจริงครับ เพราะเราไม่สามารถเตรียมรถให้พอในช่วงแออัดได้ ถ้าเตรียมรถมากขนาดนั้น ช่วงเวลาอื่นรถก็จะไม่ได้ใช้ มันเป็นธรรมชาติที่เราหนีไม่ได้”

​แต่คำถามคือ “เราเตรียมความพร้อมไว้หรือเปล่า?” เช่น สถานที่มีความพร้อมจะรองรับคนจำนวนมากได้ไหม หรือตารางรถจัดยังไง มันอยู่ที่การวางแผน

​“เรามีข้อมูลสถิติไหม มีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือยังว่า มันจะมีคนเท่าไหร่ แล้วเราก็เตรียมสถานที่ ปรับปรุงให้มันไม่เสีย”

​เรื่องที่จะลดภาระของหมอชิต 2 ลงไปได้คือ “การเพิ่มขนส่งสาธารณะ” อย่าง “รถไฟรางคู่” ที่ไปถึงตามต่างจังหวัด แต่อีกคำถามที่สำคัญคือ “เมื่อมีรถไฟไปถึงแล้ว จะต่อรถกลับบ้านยังไง?”


“ขนส่งต่างจังหวัด” เองก็มีปัญหาอย่างมาก “เพราะทุกอย่างมาจากส่วนกลาง” ทำให้ต่างจังหวัด ไม่สามารถบริหารเรื่องคุณภาพของขนส่งได้

อาจารย์ยกตัวอย่างต่างประเทศ ในแต่ละเมืองจะบริหารขนส่งกันเอง โดยใช้ภาษีจากเมืองนั้นมาบริหาร ทำให้แต่ละเมืองสามารถตัดสินใจได้เองว่า จะใช้เงินอุดหนุนเท่าไหร่ และอุดหนุนส่งขนสาธารณะประเภทไหน

จากประเด็น หมอชิต 2 รศ.ดร.สมพงษ์ บอกว่า เราต้องเริ่มมองภาพปัญหาขนส่งสาธารณะแบบภาพรวมได้แล้ว ไม่ใช่แค่ใน กรุงเทพฯ หรือแค่เป็นจุดๆ นักวางแผนการขนส่งท่านกล่าวว่า

“ผมยังไม่เห็นใครพูดเลยว่า จะปฏิรูปทั้งหมดนี้ยังไง เราไปแก้เฉพาะหน้าเป็นจุดๆ ไป ยังไม่มีใครลุกขึ้นมาบอกว่า จะปฏิรูประบบขนส่ง ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด”

หากอยากจะหลุดจากปัญหาทั้งหมดของระบบขนส่งสาธารณะ แนะว่าต้องมาคุยเรื่องโครงสร้างระบบการเงิน และการให้บริการกันใหม่ จากนั้นจึงจะสามารถออกแบบระบบให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : pmuc.or.th




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น