กรมรางหารือผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าทุกระบบถอดบทเรียนเหตุผู้โดยสารลื่นล้มตกบันไดเลื่อนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสุรศักดิ์ ย้ำมาตรการจัดระเบียบจำนวนผู้โดยสารบนสถานีและการใช้งานบันไดเลื่อนป้องกันเหตุซ้ำรอย
วันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานการประชุมหารือระหว่างกรมการขนส่งทางรางกับผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (AERA1) เพื่อถอดบทเรียน กรณีเกิดเหตุมีผู้ลื่นล้มตกบันไดเลื่อนทางขึ้น บริเวณทางเข้า-ออกหมายเลข 3 ของสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสุรศักดิ์ (S5) ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 เวลา 18.38 น.
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการจัดงานครบรอบการก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย 170 ปี ซึ่งมีการแสดงคอนเสิร์ตของนักร้อง 3 วงดนตรี โดยมีนักเรียนและศิษย์เก่าเดินทางมาร่วมงานจำนวนมาก โดยงานเสร็จสิ้นเวลา 18.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมได้ทยอยเดินทางกลับโดยใช้บริการรถไฟฟ้าจำนวนมาก
ต่อมาได้มีฝนตกลงมา ทำให้คนเบียดเสียดกันขึ้นบันไดเลื่อนรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสุรศักดิ์เพื่อเดินทางกลับบ้านและหลบฝนจำนวนมากกว่าปกติ จากนั้นมีคนลื่นล้มก่อนที่บันไดเลื่อนจะสุดทางด้านบน ทำให้เกิดการล้มทับคนที่กำลังขึ้นสู่ด้านบนลงสู่ด้านล่าง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย โดยมีอาการบาดเจ็บ เช่น แผลถลอก ฟกช้ำ และมีผู้บาดเจ็บบริเวณส้นเท้า
ภายหลังเกิดเหตุ BTS ได้ปิดให้บริการบันไดเลื่อนดังกล่าวชั่วคราว และจัดให้มีการดำเนินการตรวจสอบจากทางฝ่ายช่างบริษัทซ่อมบำรุงบันไดเลื่อน
เบื้องต้นมีรายงานจากฝ่ายช่าง พบว่าบันไดเลื่อนไม่ได้เกิดเหตุขัดข้อง โดย BTS แจ้งว่าได้เข้าดูแลผู้บาดเจ็บ พร้อมทั้งประสานรถพยาบาล มูลนิธิกู้ภัยนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลในทันที และยินดีที่จะดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถอดบทเรียน โดยในกรณีที่มีการจัดกิจกรรมใกล้บริเวณสถานีรถไฟฟ้าที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก เช่น การจัดชุมนุม การจัดแสดงคอนเสิร์ต กิจกรรม Countdown ปีใหม่ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้มีประชาชนมาใช้บริการที่สถานีรถไฟฟ้าจำนวนมาก ขอให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าจะต้องมีการประสานข้อมูลเกี่ยวกับเวลาจัดกิจกรรมและเวลาเลิกกิจกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ที่สถานีนั้น ตามจุดต่างๆ เพื่อบริหารจัดการ ตั้งแต่ก่อนขึ้นบันไดเลื่อน และมีการติดต่อสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพบว่าผู้โดยสารเริ่มหนาแน่นบนสถานี ต้องมีการจัดกลุ่มและลำดับการให้บริการ (group release/crowd control) โดยคำนึงถึงจุดคอขวดต่างๆ (bottleneck) เพื่อลดความหนาแน่น ตั้งแต่ชั้นพื้นดิน สู่ชั้นจำหน่ายตั๋ว และบนชั้นชานชาลา (platform) ไม่ให้เกิดเหตุผู้ใช้บริการขึ้นบันไดเลื่อนจนหนาแน่น และติดขัดจนไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนตัว (passenger flow) ได้
ทั้งนี้ กรณีจำเป็นที่เห็นว่าจะไม่สามารถบริหารจัดการบริเวณบันไดเลื่อนได้ หรือผู้โดยสารจำนวนมากหรือมีผู้พักคอยบนสถานีเนื่องจากฝนตก ให้พิจารณาจำกัดการใช้งานบันไดเลื่อน และแนะนำให้ผู้ใช้บริการขึ้นบันไดปกติที่อยู่ใกล้เคียงแทน รวมทั้งจัดให้มีการประกาศประชาสัมพันธ์บริเวณสถานี ให้ผู้ใช้บริการทราบหากเกิดความหนาแน่น
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางขอให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบถึงการใช้บันไดเลื่อนอย่างปลอดภัยด้วย เช่น ไม่ผลักหรือหยอกล้อ งดเล่นโทรศัพท์ ผู้ปกครองดูแลเด็ก ระวังชายกางเกงและกระโปรง จับราวบันได ระมัดระวังการสวมใส่รองเท้ายางและปลายเชือกรองเท้า
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางรางจะได้จัดทำประกาศแนวทางป้องกันเหตุดังกล่าว และติดตามการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป