“เงินไม่ได้” สาย 1 นาทีโดนเช็กขาด “แต่ให้อยู่ทำงานถึงตี 3!!” ไขข้อสงสัย อะไรทำให้นักศึกษาฝึกงานถูกผู้ใหญ่เอาเปรียบในตลาดแรงงานไม่จบสิ้น
ทำงานฟรี 7 วัน/สัปดาห์
อึ้ง หลังมีการแฉ “ยูทูบช่องดังกว่า 4 ล้านซับฯ” หลอกให้ใช้เด็กฝึกงานกว่า 30 ชีวิต “ทำงานฟรี”เป็นเรื่องราวที่เพิ่งถูกหยิบมาแฉ ผ่านช่อง “บ้านกูเอง”ที่สัมภาษณ์ “อดีตเด็กฝึกงาน”ประจำยูทูบช่องดังช่องหนึ่ง
คลิปเดือดๆ ที่ว่าชื่อ “แฉ!YouTuberหลายล้านซับหลอกใช้แรงงานนักศึกษาฟรี 30+ ชีวิต /ทำงาน 7 วัน เลิกงานตี 3 /ใช้ทำงานนอกช่อง”พร้อมข้อมูลเบื้องลึกหลายอย่างจากประสบการณ์ตรง
อดีตเด็กฝึกงานบอกว่า ช่องดังกล่าวมีพนักงานประจำ รวมผู้บริหารแล้วเพียง 8 คน แต่รับนักศึกษาฝึกถึงกว่า 30 คน หนักกว่านั้น ปล่อยให้เด็กๆ สอนงานกันเอง ทั้งยังกำหนดให้ทำงานหนักถึง “7วัน/สัปดาห์ แม้จะเป็นวันหยุดก็ตาม”
เรื่องของเรื่องคือช่องนี้ถ่ายคลิปเยอะมาก เพราะมีช่องย่อยหลายช่อง ทำให้ 1 อาทิตย์เด็กฝึกงานต้องทำคอนเทนต์ประมาณ 10 เรื่อง
{คลิป “แฉ!YouTuberหลายล้านซับหลอกใช้แรงงานนักศึกษาฟรี 30+ ชีวิต”}
ที่สำคัญ การทำงาน “ไม่ได้ค่าตอบแทนใดๆ”แถมเข้างานสายแค่ 1 นาทีก็จะถูกเช็กขาด และถ้าอยู่ทำงานเกินเวลาก็ไม่มีโอที ซึ่งมีหลายครั้งต้องอยู่ถึงตี3-ตี4
หลังดรามาถูกเปิดโปงได้ไม่นาน ผู้คนก็ไม่ต้องสงสัยกันนานว่าใครคือผู้ถูกกล่าวหา เพาะในที่สุดทางเพจ “The Snack” ก็ได้ออกมาแจกประเด็นที่ถูกแฉว่า หลอกใช้เด็กฝึกงานไว้ว่า บริษัทรับสมัครนักศึกษาฝึกงานเพื่อให้ได้ “เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริง”
ย้ำชัดว่า “ไม่ได้บังคับให้นักศึกษาฝึกงานทำงานล่วงเวลา”แต่ก็พร้อมปรับปรุงวิธีการทำงาน และขอบเขตงานของนักศึกษาฝึกงาน
ถ้าจะมองกันตามความจริงแล้ว ปัญหาเรื่อง “นักศึกษาฝึกงานถูกเอาเปรียบ”มีมานานและไม่เป็นข่าวอีกมากมาย ภูริภัทร ณ สงขลาProject Manage จาก“สมัชชา Intern”กลุ่มขับเคลื่อนสวัสดิการเพื่อนักศึกษาฝึกงาน ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ว่า เพราะอะไรเด็กฝึกงานจึงมักถูกเอาเปรียบ
ก่อนอื่นต้องเริ่มจาก “กฎหมาย”คือ “ระบบการฝึกงาน”ในบางมหาวิทยาลัย นั้นบังคับให้ต้องฝึกเพื่อจบการศึกษา
{ภูริภัทร ณ สงขลา จาก “สมัชชาIntern”}
“แต่หลายที่เองก็ไม่ได้มีข้อบังคับตรงนี้” เมื่อเลือก “ฝึกหรือไม่ฝึกก็ได้” ตรงนี้คือ ช่องโหว่ ที่ทำให้ “ไม่ได้มี กฎหมาย หรือข้อตกลงอะไรมารองรับ”
และบริษัทหรือองค์กร ก็จะบอกว่า “ที่จริงคุณไม่จำเป็นต้องมาฝึก แต่คุณมาฝึกกับเราเอง เพราะฉะนั้น เราก็จำเป็นต้องสนับสนุนเรื่องเงินหรือสวัสดิการขนาดนั้น”
อีกเรื่องหนึ่งคือ “มายาคติ” ที่ว่า “การฝึกงานเพื่อรับประสบการณ์” ยังมีคนในสังคมอีกหลายคนที่คิดว่า แค่ได้ประสบการณ์ก็เพียงพอแล้ว “ไม่เห็นจำเป็นต้องเรียกร้องอะไรมาก”
“ไปขอเขาฝึกงานด้วยซ้ำ ไม่ควรเรียกร้องอะไรมากมาย มันยังมีมายาคติแบบนี้อยู่ค่อนข้างเยอะในสังคม คือฝึกงานเพื่อประสบการณ์เป็นเรื่องจริง แต่บริษัทเองก็ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ จากเด็กเหล่านี้เช่นกัน”
และแน่นอนไม่ใช่ว่า "นักศึกษาฝึกงานทุกคนจะมีคุณภาพ” แต่บริษัทก็มีระบบคัดกรองและมีสิทธิเลือกเช่นเดียวกัน
“ดังนั้น เมื่อองค์กรคัดเลือกเด็กมาแล้ว แปลว่าองค์กรรู้ว่าเขาจะได้อะไรจากเด็กคนนี้บ้าง อยากให้มองว่าเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ไม่ได้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว”
หลากช่องโหว่ให้เอาเปรียบ “เด็กฝึกงาน”
ผู้เชี่ยวชาญชี้ชัดว่า เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นกับ “บริษัทขนาดเล็ก” มากกว่า “บริษัทขนาดใหญ่” เพราะในองค์กรขนาดใหญ่ มีทั้งงบประมาณที่มากกว่า และภาพลักษณ์ที่ต้องรักษา ถ้าดูแลนักศึกษาฝึกงานไม่ดี อาจส่งผลเสียต่อบริษัทได้
ส่วนเหตุผลที่หลายคนยังคงเลือกฝึกงาน “บริษัทเล็ก” อยู่ ทั้งที่มีปัญหาแบบนี้ ภูริภัทรมองว่าไม่ใช่เพราะองค์กรขนาดใหญ่ไม่มีปัญหาเลย แต่แค่มีน้อยกว่า
ทุกคนก็อยากไปฝึกงานกับบริษัทใหญ่ เพราะมีเรื่องชื่อเสียง มีกฎ และสวัสดิการที่ชัดเจน แต่การเข้าฝึกงานในองค์ใหญ่ก็มีการแข่งขันสูง ทำให้หลายคนเลือกฝึกในบริษัทที่เล็กลงมา เพราะเข้าถึงง่าย
และอีกประเด็น “บริษัทขนาดเล็ก” ส่วนใหญ่ มักมีเจ้าของเป็น นรุ่นใหม่ ซึ่งดูแล้วจะมีทัศนคติตรงกันมากกว่า แต่บริษัทมีขนาดเล็ก ทำให้งบประมาณน้อย ไม่ครอบคลุมสวัสดิการเด็กฝึกงาน
“แต่ในอนาคตหากยังเป็นแบบนี้ นักศึกษาอาจไม่เลือกจากขนาดบริษัท แต่มองที่สวัสดิการที่ได้รับ”เพราะอย่าลืมว่าการไปฝึกงาน ก็มีค่าใช่จ่ายทั้งการกินอยู่ ค่าเดินทาง หรือแม้ค่าอุปกรณ์ในการทำงาน
โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง “สุขภาพ” เคยมีเคสหนี่งที่นักศึกษาฝึกงาน ได้รับบาดเจ็บจนพิการ จากการฝึกงานในสถานที่ฝึกงานที่สุ่มเสี่ยงแต่...
“พอเป็นนักศึกษาฝึกงาน มันไม่มีประกันสังคมเข้ามาช่วย ทำให้เขาไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้จากบริษัท ตรงนี้เป็นช่องโหว่ที่นักศึกษาหลายคนเจอ”
หรือกรณีที่ไม่ได้ทำงานในพื้นที่อันตราย อย่างในเคสที่เป็นข่าวก็จะเห็นว่า มีการทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งมันก็ส่งต่อทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพร่างกาย
“ถ้าไม่สามารถให้เป็นเงินได้จริงๆ อย่างน้อยมีประกันเรื่องสุขภาพ คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
การแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่จับต้องได้มากที่สุดคือเรื่อง “กฎหมาย” ทาง “สมัชชาIntern” เคยมีการผลักดัน “พ.ร.บ.ฝึกงาน”เข้าสภาไปแล้ว แต่ก็ถูกปัดตกไป
“เรื่องนี้ควรได้รับการดูแลจากรัฐบาลจริงๆ อยากให้มองว่านักศึกษาฝึกงาน เขาก้าวไปเป็นแรงงานของประเทศชาติ รัฐควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพื่อลดภาระของทั้งนักศึกษาและผู้ประกอบการ”
“นักศึกษาหลายคน ฝึกงานที่ไหน ก็จะทำงานที่นั่น” ซึ่งช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาของบริษัท ในปูพื้นฐานและหาพนักงานใหม่ “ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ดีในการลงทุนกับนักศึกษาฝึกงานครับ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “The Snack”,ยูทูบ @bangueng
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **