xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 5 โรดแมปเปลี่ยนประเทศ ‘กสว. หรือ R&D แห่งชาติ’ (Cyber Weekend)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไทยเตรียมแจ้งเกิด! เปิด 5 โรดแมปเปลี่ยนประเทศของ ‘กสว.’ หรือคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ดัน GDP-เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศ

ในโลกของเศรษฐศาสตร์ การทุ่มเงินลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของแต่ละประเทศเป็นตัวบอกอนาคตในแง่เศรษฐกิจได้ชัดเจนว่าใครจะปังหรือใครจะพังได้เลย อย่างประเทศอิสราเอล มีการลงทุนในสัดส่วน 5.56% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในปี 64 ส่วนเกาหลีใต้ที่ไม่ยอมน้อยหน้าลงทุนไป 4.93% และญี่ปุ่นที่ 3.30% ทิ้งห่างไทยลิบลับเพราะลงทุนแค่ 1.21% ของ GDP เท่านั้น

รัฐบาลจึงออกแอ็กชัน และตัดสินใจว่า ประเทศเราต้องมีทิศทางชัดเจนเรื่องนี้สักที จึงเป็นที่มาของ ‘กสว.’ หรือชื่อเต็มๆ ว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลภาพรวมของการวิจัยของประเทศ เมื่อปี 2563 ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี และสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ซึ่งประกอบด้วยกรรมการที่เป็นรัฐมนตรีอีก 11 คนจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยล้วนๆ

***ผุด ‘ชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่’ ตอบโจทย์ประเทศ

และล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้ง ‘ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล’ อดีตปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2566 ให้เป็นประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กสว. คนใหม่ ทั้งนี้ เพื่อฉุดกระชากลากงานวิจัยไทยให้ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างอนาคตให้ประเทศ ทำให้ทุกคนมั่นใจว่า การวิจัยไม่ใช่เรื่องของนักวิจัยคนเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน

‘ประเทศจะไปต่อได้ งานวิจัยและนวัตกรรมต้องสัมพันธ์กับความต้องการในประเทศ ที่ผ่านมา หลายคนมักพูดว่าการวิจัยมักจะเน้นไปที่ความสนใจส่วนตัวของนักวิจัยมากกว่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ซึ่งนักวิจัยไทยนั้นเก่งมาก แต่ความสามารถเหล่านี้จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และเชื่อมโยงกับเรื่องสำคัญของประเทศได้อย่างไร นั่นยังคงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ’ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

จากการหารือร่วมกันของ ‘กสว.’ เบื้องต้นจึงมีแผนจัดทำ ‘ชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่’ 5-10 เรื่อง ที่จะตอบโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศและต้องเห็นผลจริงตั้งแต่ระยะสั้นจนถึงระยะยาว ดีที่สุด คือ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามทิศทางของสังคม เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่หวัง

***แก้ ‘ฝุ่นพิษ’ เห็นผลใน 2 ปี

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ยกตัวอย่าง เรื่องที่ 1 แก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผล ซึ่งต้องมีงานวิจัยที่เจาะลึกถึงที่มาของฝุ่นที่แท้จริง เพื่อสังคายนาทั้งระบบนิเวศ หนึ่งในวิธีการ คือ ปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก และพัฒนาพันธุ์พืชเพื่อลดการเกิด รวมถึงปรับปรุงเครื่องจักร และเครื่องยนต์ในโรงงาน เพื่อให้มีการปล่อยมลพิษน้อยลง

เมื่อฝุ่นได้ปล่อยออกมาแล้ว มีการใช้เทคโนโลยีทันสมัย เช่น การใช้ดาวเทียมและเซ็นเซอร์ภาคพื้นดินในการตรวจสอบและจัดการกับปริมาณให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่งสภาวะอากาศและภูมิศาสตร์ก็มีบทบาทสำคัญในการควบคุมปัญหานี้

‘ปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่ละพื้นที่แตกต่างกัน อย่างในภาคเหนือ มักเกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้น การเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก หรือหาพันธุ์พืชใหม่ที่ไม่ต้องเผา จึงเป็นกลยุทธ์หลักในการลดฝุ่น แต่ขณะที่ กทม. ช่วงเช้ามาจากรถยนต์ ทำให้การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีส่วนในการจัดการ แต่ทั้งนี้ ต้องทำให้ไทยยังคงสภาพผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 10 ของโลก และดีขึ้นจากอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนวิถีการใช้รถยนต์ที่ต้องพึ่งพาน้ำมันหันมาใช้รถไฟฟ้า เพื่อลดค่าใช้จ่ายและสร้างรายได้ให้ประเทศไปด้วย ดังนั้น งานวิจัยและพัฒนาจึงสำคัญ คาดว่าใช้เวลาอย่าง 2 ปี จะเห็นผลได้ชัดเจน’ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

***ต่อยอดใช้ 5G สุดล้ำ ‘การแพทย์-เกษตร’

เรื่องที่ 2 ต่อยอดการใช้งาน 5G เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์มากที่สุด ทางการแพทย์ จากจุดเด่นที่มีค่าความหน่วงต่ำ (Low Latency) ช่วยให้การผ่าตัดทางไกลทำได้จริง ซึ่งโรงพยาบาลศิริราชเริ่มแล้ว หมอกับหุ่นยนต์ทำงานร่วมกันได้อย่างลงตัว ทั้งยังช่วยตรวจสอบประวัติการรักษาและการใช้ยาได้ทันที ป้องกันการใช้ยาที่ไม่เข้ากันได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะกินยาแล้วแพ้หนักขึ้นอีกต่อไป

ส่วนภาคการเกษตร ด้วยเซ็นเซอร์และโดรนที่บินได้สูง สามารถพยากรณ์ได้ทุกวัน เพิ่มความแม่นยำขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราสามารถทราบได้ว่า ฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนในจังหวัดระยองจะออกผลมากี่ลูก หรือข้าวพันธุ์ไหนจะให้ผลผลิตเท่าไร ช่วยให้เราเตรียมตัวล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ลดปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ให้ระบบเซ็นเซอร์เตือนเรื่องการเฉี่ยวชนได้อย่างรวดเร็วทันใจ ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

***พึ่งเทคโนฯ อัปเกรดคุณภาพชีวิต

เรื่องที่ 3 ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เพื่อสู้กับโครงสร้างประชากรปัจจุบันที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สวนทางอัตราการเกิด ทำให้จำนวนคนทำงาน ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติลดลงตามไปติดๆ ดังนั้น จึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ ไม่เพียงเน้นการดูแลสุขภาพเมื่อเจ็บป่วย แต่รวมถึงการดูแลเชิงป้องกัน สร้างโอกาสในการทำงานที่เหมาะสม และสนับสุนุนการมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลวิจัยเพื่อสนับสนุน เพราะที่ผ่านมา ทั่วโลกพยายามอย่างหนัก แต่ไม่มีประเทศใดที่อัตราการเกิดลดลงแล้วกลับมาเพิ่มขึ้นได้

เรื่องที่ 4 สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านชีวภาพเพื่ออาหาร โดยการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการสร้างอาหารและสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าโภชนาการสูง นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาด้านโภชนาการที่ไม่เพียงพอและปัญหาสุขภาพที่มาจากการกินอาหารไม่ดี เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญในสังคมไทยและทั่วไปในโลกในตอนนี้

***นักวิจัยเข้าถึงระบบ ‘Tracking System'

เรื่องที่ 5 พัฒนาระบบติดตามความคืบหน้าสำหรับนักวิจัย หรือ Tracking System เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กระบวนการขอทุนวิจัยเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และโปร่งใส เอื้อต่อการติดตามขั้นตอนต่างๆ ของการขอทุนวิจัย ตั้งแต่การยื่นข้อเสนอ ไปจนถึงการได้รับการอนุมัติหรือปฏิเสธ ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้นักวิจัยทราบถึงสถานะปัจจุบันของข้อเสนอทุนวิจัย ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใดของกระบวนการ

หากข้อเสนอทุนวิจัยได้รับการอนุมัติ ระบบจะแจ้งให้นักวิจัยทราบว่าได้รับทุนสนับสนุนแล้ว ในทางตรงกันข้าม หากข้อเสนอไม่ได้รับการอนุมัติ ระบบจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้ข้อเสนอไม่ผ่าน พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพิจารณาและการให้ผลตอบรับ นอกจากนี้ ระบบยังเปิดรับข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นจากนักวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการและสิ่งที่ควรจะปรับปรุง เพื่อให้ระบบนี้สามารถตอบสนองความต้องการของนักวิจัยได้อย่างดียิ่งขึ้น

‘ทั้งหมดนี้เป็นการวิจัยเพื่อหาความรู้ใหม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดนวัตกรรม หรือเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และนำไปปรับใช้ให้ตอบโจทย์คนไทยมากขึ้น สำคัญที่สุด คือ เกิดสปิริตของกระบวนการ และบอกทิศทางภาพรวมงานวิจัยของประเทศได้อย่างถูกต้อง โดยปีแรก กสว.ตั้งเป้าดำเนินงานชุดโครงการวิจัยขนาดใหญ่ใน 5 เรื่องสำคัญเร่งด่วนก่อน ในวงเงินงบประมาณปี 67 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ จำนวน 19,500 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนปีถัดไปจะเพิ่มอีก 5 เรื่อง จนสุดท้ายมีทั้งหมด 10 เรื่องที่ประเทศต้องดูแล’

ทั้งนี้ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ หวังว่า การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาจะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างพื้นฐานของนวัตกรรมและการแข่งขันที่ยั่งยืนสำหรับไทยในอนาคต ภายใต้ข้อจำกัดของจำนวนนักวิจัยไทย ที่โดยเฉลี่ย ประเทศพัฒนาแล้วมีนักวิจัยมากถึง 80 คนต่อประชากร 10,000 คน หรือคิดเป็น 0.8% ของประชากรทั้งหมด แต่ไทยมีนักวิจัยเพียง 15 คนต่อประชากร 10,000 คน ต่างกันถึง 5 เท่า ดังนั้น การลงทุนในการศึกษาเพื่อเพิ่มจำนวนนักวิจัยจึงสำคัญไม่แพ้กัน

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล สําเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง จากคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิ ‘อานันทมหิดล’ เพื่อศึกษาต่อในประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกาโดยได้รับปริญญาเอก ด้านวิทยาภูมิคุ้มกันระดับโมเลกุล จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และระดับหลังปริญญาเอกด้านอณูชีววิทยา จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 60

ส่วนการศึกษาในด้านการบริหารได้รับประกาศนียบัตรชั้นสูงด้านการบริหารงานภาครัฐและกฎหมายมหาชน และด้านการกำกับดูแลกิจการสําหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของรัฐวิสาหกิจและองค์การมหาชนจากสถาบันพระปกเกล้า ประกาศนียบัตรสําหรับผู้บริหารระดับสูงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Director Certification Program จากสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD)

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมชั้นนําของประเทศและในระดับนานาชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และวิทยาภูมิคุ้มกัน ได้รับรางวัลสําคัญทางวิชาการทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยได้รับพระราชทานรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น และรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับรางวัล ASEANYoung Scientist and Technologist Award ของภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันเป็นภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสภา

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ปฏิบัติงานเป็นอาจารย์แพทย์ที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ตั้งแต่ พ.ศ.2543 และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ตั้งแต่ พ.ศ.2559 และมีประสบการณ์ด้านการบริหารทั้งในส่วนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยดํารงตําแหน่งผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ใน พ.ศ.2551-2559 และเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ใน พ.ศ.2559-2563 และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ใน พ.ศ.2563 โดยเกษียณอายุราชการใน พ.ศ.2566 ในด้านการต่างประเทศ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ได้รับเลือกเป็นประธานสมาพันธ์นาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชียท(พ.ศ.2557-2559) และเป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมการนานาชาติทั้งในระดับอาเชีย เอเปก ประชาคมยุโรป และองค์การระหว่างประเทศต่างๆ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาวิชาการของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์


กำลังโหลดความคิดเห็น