“จับเด็กแก้ผ้าแข่งกีฬาสี” นี่หรือกิจกรรมของโรงเรียน พ่องง ผู้ปกครองคนอื่นบอกอย่าคิดมาก “แค่เล่นสนุก ไม่ได้ทำให้อับอาย!!?” นักจิตวิทยาชี้ เรื่องนี้ “เรากำลังสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ให้กับเด็ก”
กิจกรรมที่รับไม่ได้!!
กลายเป็นเรื่องสุดช็อก เมื่อโรงเรียนจับ “เด็กอนุบาล” วัยแค่ 4-5 ขวบ “แก้ผ้า” แข่งกีฬาสี จนคุณพ่อทนไม่ไหว ตั้งคำถามในไลน์กลุ่มโรงเรียน แต่โดนผู้ปกครองคนอื่นแขวะว่า “แค่เล่นสนุก”
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อมีคุณพ่อรายหนึ่งไปโพสต์ปรึกษาในกลุ่มเฟซบุ๊ก “จิตวิทยาเด็กและครอบครัว ปรึกษาเรื่องเลี้ยงลูก” โดยข้อความระบุว่า
“ขอความคิดเห็นครับ กีฬาสีโรงเรียน มันมีแข่งใส่เสื้อผ้าโดยเอาเด็กๆ อายุ 4-5 ขวบ ทั้งชายหญิงขึ้นเวที แก้ผ้าเด็กชายล่อนจ้อน ผู้หญิงเหลือแต่กางเกงใน ต่อหน้าผู้ปกครองอื่นๆ นักการฯ และคนอื่นๆ นับร้อย”
โดยลูกสาวของเขา วัยเพียง 4 ขวบกว่าถูกครูจับขึ้นบนเวทีแทนเด็กอีกคน แล้วก็แอบผ้าของเด็กน้อยออก “เหลือแต่กางเกงใน”โดย “ไม่ได้แจ้งผู้ปกครองถึงกติกาเกมการแข่งขัน”
“ผมจึงไปแสดงความไม่พอใจกับโรงเรียน แต่ไม่ได้หยาบคายนะครับ กลายเป็นว่าผมโดนรุมโดยมีคำว่า “saveครู” เกิดขึ้น ผมงงว่าสรุปผมผิดที่ปกป้องสิทธิลูกที่เป็นเยาวชนเหรอครับ ตอนนี้งงมาก”
หลังจากแสดงความไม่พอใจ ในกลุ่มไลน์ ทางคุณครูก็ได้ออกมาขอโทษแล้ว แต่เรื่องที่น่าตกใจกว่าคือ มีผู้ปกครองของเด็กคนอื่น ตอบข้อความของคุณพ่อท่านนี้ประมาณว่า “เกมเล่นเพื่อความสนุก ไม่ใช่เพื่อให้อับอายซะหน่อย”พร้อมติด #saveครู กันใหญ่
{ ภาพเหตุการณ์วันจัดงานกีฬาสี }
“แค่เล่นสนุก?” ดูเหมือนว่าพ่อ-แม่หลายคงลืมเรื่อง “จิตใจของเด็ก“ ทีมข่าวจึงชวนคุยกับ “เกลล์” อลิสา รัญเสวะ นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลพระรามเก้า ว่า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไรบ้าง?
“เกลล์”มองว่า “เป็นกิจกรรมที่รับไม่ได้”ตามหลักการจิตวิทยา เราจะสอนเด็กว่า “พื้นที่ต้องห้าม” คือ“พื้นที่ใต้ร่มผ้าทั้งหมด” แม้แต่คนในบ้านก็ให้เห็นไม่ได้ การอาบน้ำให้ลูกก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
“เพื่อไม่ให้เด็กสร้างการยอมรับว่า การที่ พ่อ-แม่ อาบน้ำให้เขาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และการที่คนอื่นจะมาจับต้องตัวเขาเป็นเรื่อง ยอมรับได้”
กิจกรรมแบบในข่าวนี้จะสร้าง “การรับรู้ผิดๆ ให้กับเด็ก” ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีความรู้สึกในเชิงบวกหรือลบก็ตาม “เด็กที่รู้ในเชิงบวก”หมายความว่า “เขาสนุกสนานไปกันมัน”เขารู้สึกดีเพราะ “ผู้ใหญ่ชอบ”
{ “เกลล์” - นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลพระรามเก้า }
กลายเป็นว่า เขาจะคิดว่า “การแก้ผ้าต่อหน้าคนอื่นเป็นเรื่องปกติ” และต่อไปเด็กอาจมองว่า การทีเขาถูกเตะเนื้อต้องตัว หรือ ถูกล่วงละเมิดต่างๆ “มันเป็นเรื่องปกติ”
“ถ้าเด็กคนนี้รู้สึกว่า ทำแบบนี้แล้วผู้ใหญ่ยอมรับ นั่นคือบรรทัดฐานที่เด็กสร้างในใจเรากำลังทำให้บรรทัดฐานทางสังคมมันผิดเพี้ยนไป”
ในส่วนเด็กที่มี “ความรู้สึกในเชิงลบ” เพราะ เขาละอายในสิ่งที่ทำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ “ถูกแล้ว” แต่มันกลายเป็นว่า มันเกิดบาดแผลใจ เพราะผู้ใหญ่ยัดเยียดกิจกรรมนี้ ให้เขาเกิดแผลในใจนี้
“แล้วยิ่งเขาหันไปมองผู้ใหญ่สนุกสนานเขายิ่งละอาย” เคสนี้เด็กมีโอกาสมองว่า“ตัวเองเป็นคนไม่ดี” ด้อยค่าตัวเอง เพราะอับอายที่ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้
“จริงๆ ควรมีหน่วยงานทางจิตวิทยา เข้าไปดูแลนะค่ะ ว่าเด็กมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า”
“ผู้ใหญ่” คือ “ผู้กำหนดทิศทาง”
“ประเด็นที่จับเด็กแก้ผ้า ไม่นับว่าเป็นกีฬาด้วยซ้ำ ถ้านึกย้อนกลับไปว่าไม่ใช่เด็ก เป็นผู้ใหญ่แก้ผ้าล่ะ แล้วใส่เสื้อผ้าแข่งกันมันคือกีฬาหรือเปล่า?มันคือสิ่งที่ยอมรับได้หรือเปล่า?”
นี่คือความคิดเห็นของ “เกลล์” นักจิตวิทยา แต่เมื่อถามว่า อะไรทำให้เหล่าผู้ใหญ่เห็นดี-เห็นชอบ กับกิจกรรม เพราะก็มีผู้ปกครองหลายคนมองว่า “มันเป็นการเล่นสนุก”
“ถามว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ถ้าเรามองย้อนกลับไปสัก 15 ปีที่แล้ว ตอนที่มีโซเชียลมีเดียมาแรกๆ เราจะโพสต์หรือคอมเมนต์อะไรจะระมัดระวัง”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป “โซเชียลมีเดีย”เราก็เริ่มนำเสนอเรื่องส่วนตัว หรือมุมส่วนตัวเรามากขึ้น และก็เริ่มเปิดเผยเรื่องที่ไม่ถูกกาลเทศะมากขึ้น จนกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
“เวลาที่เราเห็นคอมเม้นจากเคศนี้ กลายเป็นว่า เสียงข้างมากมองว่า มันเป็นสิ่งที่ตลก เป็นสิ่งที่ทำได้ มันเป็นเรื่องเล็ก จะบอกว่าประเด็นอะไรก็ตามที่เกิดจากเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะพวกเขาคืออนาคตของพวกเรา”
เรามองเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกได้ เพราะผลกระทบที่เกิดกับเด็ก ไม่ว่าเด็กจะชอบหรืออับอายกับเรื่องนี้ มันก็เป็นผลกระทบที่ไม่ดีทั้งสิ้น และ ผู้ใหญ่เองคือ “คนกำหนดทิศทางให้กับเด็ก”
“จริงๆ ในหลายข่าว การที่เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายเพื่อน ทำร้ายตัวเอง ที่มันเกิดขึ้นเนี่ย มันเกิดจากผู้ใหญ่ ที่เราขาดความเข้าใจ ขาดความตระหนักรู้ ถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น”
จากหน้าข่าว เราจะพบว่า เด็กมีแนวโน้มของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ส่วนหนึ่งก็เกิดจากผู้ใหญ่ และ ผู้ใหญ่เองก็ขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดการปัญหา “พอไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร เราก็ปล่อยผ่าน”
สถาบันทางสังคงหลักๆ ที่รับหน้าที่ดูแลเด็ก ณ ตอนนี้คือ “บ้าน” และ “โรงเรียน”ทั้งคู่ต้องเริ่ม ตระหนักได้แล้วว่าตอนนี้ สภาพจิตใจและความคิดของเด็ก กำลังได้รับผลกระทบอย่างจากสังคมที่ ขาดความรู้ความเข้าใจ ในตัวเขา
“พ่อ-แม่” ต้องหาความรู้ใน การเลี้ยงลูกการดูแลเด็กไม่ใช่แค่ การกิน-อยู่-หลับ-นอน เท่านั้น แต่พ่อ-แม่ ต้องรู้ว่า “เราจะสอนอะไรให้เขา อยากให้เขาโตมาเป็นคนแบบไหน”
ส่วนด้านของ “โรงเรียน” การจะให้ นักจิตวิทยาไปประจำทุกโรงเรียนคงเป็นไปไม่ได้ เพราะสาขานี้ก็ยังคงขาดแคลนอยู่ แต่ทางออกที่เป็นไปได้ที่สุดคือ การให้องค์ความรู้ด้านนี้กับคุณครูในทุกโรงเรียน เพื่อนำไปดูแลเด็ก ตรงนี้เป็นไปได้มากว่า
“อย่างประเทศลาว เขาให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กมาก เขาจัดให้การอบรมครูเพื่อให้เข้าใจเด็กที่กำลังดูแลอยู่ เขาเอาผู้ปกครอง ครู มาอบรม โดยการเชิญเราไปเป็นวิทยากร เขาอยากทำให้ทรัพยากรมนุษย์เขามีคุณภาพจริงๆ”
ขนาด “ประเทศลาว” ที่เรามองว่า ด้อยพัฒนากว่า เขายังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะต้องเข้าใจว่า “เด็ก” คือ “รากฐานทุกอย่าง” ไม่ว่าจะเป็น “สังคม” หรือ“เศรษฐกิจ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก ”ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก” , “อบต.นอกเมือง เมืองสุรินทร์” , pantip.com ,X “@RedSkullxxx”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **