“เขาพระวิหาร-โขน-มวยไทย” เป็นเหตุให้ทั้ง 2 ประเทศขัดแย้งและบาดหมางกัน จากปมวัฒนธรรมระดับชาติ สู่เรื่องเล็กๆ ชวนวิวาทแม้กระทั่ง “สูตรไก่ KFC” เรื่องนี้จะไปจบตรงไหน กูรูช่วยวิเคราะห์
กัมพูชา-ไทย ทำไมชอบทะเลาะกัน?
โซเชียลฯ “กัมพูชา” เดือด เมื่อ “KFC กัมพูชา” โพสต์ขายไก่ทอดสูตรใหม่อย่าง “SAN THAI CRUNCH” หรือ “ไก่ทอดสูตรไทย” ทำเอาชาวเน็ตขแมร์บางส่วนร้อนขึ้นมาทันที่
โดยเจ้าไก่ทอดสูตรไทยที่มีปัญหานี้ ทางKFC กัมพูชา บอกว่า มันเป็นไก่ทอดสูตรใหม่ คลุกเคล้าเครื่องเทศสไตล์ไทย และยังโฆษณาอีกว่า
“ไก่ทอดสูตรใหม่จากKFCที่มีรสเค็ม หวาน เปรี้ยว เผ็ดน้อย คลุกเคล้าครบรส รสชาติใหม่จากKFC “SAN THAI CRUNCH”ปรุงสดใหม่ด้วยแป้งทอดHot & SpiceและโรยThai Spice Medleyเพิ่มความอร่อยจนอดใจไม่ไหว!”
พอขึ้นชื่อว่า “สูตรไทย” เท่านั้นเอง ก็เกิดเสียงวิจารณ์กันสนั่น บ้างก็ว่า “ลาก่อน เคเอฟซีกัมพูชา”หรือไปถึงขั้น “อย่าเอามาขาย มันช่างน่ารังเกียจ ควรสนับสนุนผลิตภัณฑ์เขมร”
ลองมาย้อนดูกันชัดๆ ว่า ไทยและกัมพูชามีประเด็นดราม่าเรื่องวัฒนธรรมกันบ่อยครั้งแค่ไหน ก่อนหน้านี้ก็เป็นประเด็น “มวยไทย-กุนขแมร์”ที่เคยวิจารณ์กันเผ็ดร้อนว่า ใครก็อบฯ ใครกันแน่ เพราะต่างฝ่ายก็เคลมว่า ประเทศตัวคือ ต้นฉบับวิชามวย
ย้อนไปไกลกว่านั้น “โขน”เองก็เคยมีประเด็นเถียงกันระหว่าง2ชาติว่าใครคือ “ต้นฉบับ” ดราม่าเกิดขึ้นเมื่อไทยเราเตรียมเสมอกับทาง “องค์กรยูเนสโก” (UNESCO ) ให้โขนเป็น “มรดกทางวัฒนธรรมของไทย”
ทันทีที่ข่าวรู้ไปถึงหูชาวเน็ตกัมพูชา ดราม่าก็เดือดในtwitter(X)หนักมาก โดยต่างแห่ออกมาแสดงความไม่พอใจ ยืนยันว่า โขนคือศิลปะของชาวเขมร และไทยนั่นแหละที่ก๊อบฯ ไป
แต่เรื่องนี้ก็จบลงด้วยที่ทาง “ยูเนสโก” ขึ้นทะเบียนให้ “การแสดงโขนในประเทศไทย” หรือ “Khon, masked dance drama in Thailand” เป็น มรดกทางวัฒนธรรมของไทย ในที่สุด
ทีมข่าวจึงชวน สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ช่วยมาวิเคราะห์ว่า อะไรทำให้ไทยกับกัมพูชา มักเกิดประเด็นดราม่าเรื่องวัฒนธรรมกันบ่อยครั้ง?
คำตอบที่ได้คือต้นเหตุของความยัดแย้งนี้มีหลายอย่างมาก แต่จุดเริ่มต้นที่ใหญ่และชัดเจนที่สุดคือ กรณีพิพาทเรื่อง “เขาพระวิหาร“ระหว่าง ไทย-กัมพูชา
“แล้วทำไมจึงเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา ก็เมื่อไทยกับกัมพูชาเกิดสิ่งที่เรียกว่า รัฐชาติสมัยใหม่ หรือNation Stateขึ้นมา มันจึงสิ่งหนึ่งตามมาคือ เขตแดน”
เมื่อเกิด “รัฐชาติ”สิ่งที่ต้องสร้างนอกเหนือจาก “เขตแดน”คือ การสร้างสิ่งที่คนในชาติมีร่วมกันอย่าง ความรักชาติฉะนั้น การเกิดรัฐชาติมันมาพร้อมกับ “ลัทธิชาตินิยม”และนี่คือจุดเริ่มต้นของความยัดแย้ง
{“สมฤทธิ์” นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์}
“ทำให้คนทั้ง 2 ฝ่ายมองเห็นแต่ความต่าง คือคุณเป็นเขมร คุณเป็นคนไทย แต่เขาไม่มองเห็นความเหมือน ซึ่งทั้ง2ชาติมีร่วมกัน”
“ชาตินิยม” บดบังความเป็น “เครือญาติ”
กูรูด้านประวัติศาสตร์รายเดิมบอกว่า เราสร้างความแตกต่างทั้งเรื่อง “เชื้อชาติและสันชาติ”ขณะที่สิ่งที่เรามีความเหมือนและสำคัญมาก แต่เรากลับมองไม่เห็นคือ “วัฒนธรรมร่วม”
ในมุมของประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ “อาณาจักรสยาม” จนมาเป็น “ประเทศไทย”ต้องยอมรับว่า วัฒนธรรมส่วนหนึ่ง เราก็ได้รับอิทธิจาก “ขอม” หรือ “เขมรโบราณ”
“หมายความว่า เราก็เอามาจากเขา เขาก็เอามาจากเรา ก็แค่นั้นเอง ถ้าเราเข้าใจตรงกัน เราก็น่าจะเป็นประเทศ ที่เป็นเครือญาติทางวัฒนธรรม แต่ปรากฏว่า มันเป็นสงครามทางวัฒนธรรม แย่งชิงกันเป็นเจ้าของ”
ยกตัวอย่างการ “นุ่งโจงกระเบน” ที่เราบอกว่าเป็น “ชุดไทย” ทั้งที่ “จงกระเบน” เป็นภาษาเขมร คือคำว่า “จง” แปลว่า ผูกหรือเหน็บ “เบน” แปลว่า หาง คือ “การนุ่งผ้าที่พันเป็นหางแล้วเอามาเหน็บไว้”
ต้องทำความเข้าใจว่า “วัฒนธรรม” ก็เหมือน “อากาศ” มันไหลไปมาหากันตลอดเวลา มันเป็นสิ่งที่ไม่มีพรมแดน เพียงแต่ว่าเราชอบบอกว่านี้เป็น วัฒนธรรมไทยแท้-เขมรแท้ “มันไม่มีครับ เป็นมายาคติทั้งนั้น”
มายาคติเหล่านี้เกิดจาก“กับดักชาตินิยม” ซึ่งจะทำให้คนรู้แค่ว่า “ชาติของเราดีที่สุด” และมายาคติที่ตามอีกอย่างคือ ประเทศไทยมีแต่คนไทย ในความจริงเชื้อสายของเราทั้ง จีน ลาว เขมร และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเราเข้าการประสมประสาน พหุวัฒนธรรมเหล่านี้ เราจะก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้
“ถ้าเราติดกับดักชาตินิยมเมื่อไร เราจะข้ามไม่ได้ เพราะมันจะเห็นแต่ความแตกต่าง ของกันและกัน”
ภาพใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ “ดราม่า”
แต่พักหลังเราเริ่มเห็นบ่อยๆ ว่า กัมพูชามักจะก่อประเด็นดราม่ากับไทย หรือเขากำลังจะปลุกนโยบายชาตินิยมขึ้นมาอีกครั้งหรือเปล่า? สมฤทธิ์ จึงช่วยอธิบายการเมืองในกัมพูชาให้ฟัง
“ผมเชื่อว่าประเด็นชาตินิยม เป็นประเด็นใหญ่ที่พรรคCPPของ สมเด็จฮุน เซน ใช่ในการหาเสียงมาตลอด ผลงานที่ใหญ่สุดของเขาคือ การปราบเขมรแดง ทำให้คนกัมพูชาชื่นชมมาก”
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การจะอ้างผลงานเดิมก็ไม่สามารถทำได้แล้ว “พรรคประชาชนกัมพูชา(CPP)” ก็เปลี่ยนนโยบายไปในทางชาตินิยมมากขึ้น
“ทุกครั้งที่จะมีปัญหาทางการเมือง สิ่งที่เขาจะเล่นมันไม่มีอะไรหรอก นอกจากจะเล่นกับประเทศไทย ซึ่งมันอันตรายมาก แล้วเราไม่ควรจะเล่นด้วย”
สมฤทธิ์ บอกว่า ตอนนี้ยังถือว่าโชคดีที่ มันยังคงเป็นแค่กระแสดราม่าโซเชียลฯ แต่ถ้ามากกว่านั้น แน่นอน มันจะกระทบกับทั้งการท่องเที่ยว และการเมืองระหว่างประเทศ หรืออาจร้ายแรงกว่านั้น
“เพราะฉะนั้นเรื่อง ชาตินิยมมันอันตรายมาก สิ่งเหล่านี้ควรจะร่วมแก้ไข ชาตินิยมจะทำให้มนุษย์เกลียดชังกัน และนำไปสู่การเข่นฆ่า ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี”
ทางออกของประเด็นปัญหา “การแย่งชิงเชิงวัฒนธรรม” ว่าอะไรเป็นของใคร คือการสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน และควรต้องทำในระดับรัฐบาล
“ถ้าเรายังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ แล้วเราจะเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างไร ประเด็นนี้มันใหญ่ไปถึง การเมืองระดับภูมิภาค”
ในทุกวันนี้สังคมกำลังตื่นตัวเรื่อง “ความหลากหลาย” “พหุสังคม” “พหุวัฒนธรรม” ซึ่งเรื่องพวกนี้ มันควรถูกใส่ไว้ใน “หลักสูตรการศึกษา” และต้องเริ่มสอนกันตั้งแต่ระดับมัธยม
“เพื่อจะให้เราเห็นว่า เรานั้นไม่ได้อยู่โดดเดียว เรานั้นมีผสมผสาน มีการหยิบยืม จากคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องของ วัฒนธรรม ครับ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก” Somrit Luechai” “KFC Cambodia”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **