xs
xsm
sm
md
lg

“เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป” สนับสนุน “โขนเด็กรุ่นจิ๋ว” สืบสาน-ต่อยอดโขนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป ตอกย้ำพันธกิจส่งต่อมรดกวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติอีกครั้ง กับ “โครงการสืบสาน ต่อยอด คงอยู่ ศิลปวัฒนธรรมไทย” ด้วยการให้การสนับสนุนงานสืบสาน ต่อยอด “โขนเด็กรุ่นจิ๋ว” อันเป็นสมบัติของชาติ สาขานาฏศิลป์ให้คงอยู่ และเป็นที่ประจักษ์กว้างไกลในระดับสากล โดยมอบโอกาสแห่งการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนผู้เรียนโขน รวมถึงทรัพยากรบุคคลวงการโขนไทย ผ่านทางสถาบันเอกชนการละคร ณ AP Academy Lab อาคารเลค รัชดา เมื่อเร็วๆ นี้

“โขน” มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ผสานไว้ทั้งศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงหลากหลายแขนง ทั้งวรรณศิลป์ คีตศิลป์ นาฏศิลป์ หัตถศิลป์ ศิราภรณ์ ภูษาพัสตราภรณ์ ถนิมพิมพาภรณ์ ได้หลอมรวมกันด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากร ระยะเวลาความทุ่มเทกายใจของผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย จนเกิดเป็นเอกลักษณ์แห่ง “สุนทรียะ” ในการแสดงอันทรงคุณค่า สง่างาม กอปรรวมไว้ด้วยความประณีตวิจิตรตระการตา จนได้รับการกล่าวขวัญถึง ไม่เพียงในหมู่ผู้ชมชาวไทย
หากยังเป็นอัตลักษณ์แห่งวัฒนธรรมไทยที่จดจำประทับใจไปในระดับโลก

อีกทั้ง “โขน” ยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรก ที่องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO)
ขึ้นทะเบียนประกาศให้เป็นตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative list of intangible cultural heritage of humankind) โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษ ว่า “Khon, masked dance drama in Thailand” เมื่อ พ.ศ. 2561 อีกด้วย


นายวิษณุ สุชาติล้ำพงศ์ กรรมการบริหาร เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป กล่าวว่า “นับเป็นความภูมิใจของเอพี ไทยแลนด์ ที่ได้ร่วมสืบสานการแสดงโขน มรดกทางนาฏศิลป์อันทรงคุณค่า ประณีต และงดงามของชาติ เราขอชื่นชมและให้การสนับสนุนสถาบันเอกชนการละครที่สืบสานและต่อยอดมรดกวัฒนธรรมของชาติให้คนไทยทุกคนได้ภาคภูมิใจ ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่เราดำเนินธุรกิจ เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป ให้ความสําคัญกับการพัฒนาและส่งเสริมด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เรามีเป้าหมายสำคัญในการสืบสาน ต่อยอด คงอยู่’

ศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติคู่สังคมไทยและสังคมโลกอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินงานใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านแรก "สืบสาน" ด้วยการสร้างสรรค์โครงการ หรือกิจกรรมใหม่ เพื่อร่วมยกระดับศิลปวัฒนธรรมไทยให้ก้าวไกล โดยยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์
อัตลักษณ์ และคุณค่า ด้านที่สอง "ต่อยอด" ด้วยการเข้าร่วมสนับสนุนการดําเนินงานของหน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยและเผยแพร่ออกไปให้กว้างไกล และด้านที่สาม "คงอยู่" คือ การร่วมกันสร้างสรรค์งานกับพันธมิตร
โดยจับมือกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสืบสานและต่อยอดต่อโครงการที่มีอยู่ให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน”

อาจารย์พุทธิชัย โชติประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสถาบันเอกชนการละคร กล่าวว่า “โขนไทยได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2552 และได้ผ่านการพิจารณา ของคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลของยูเนสโก ขึ้นบัญชี ‘Khon, masked dance drama in Thailand’ (การแสดงโขนในประเทศไทย) เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2561 การร่วมแรงร่วมใจของภาคส่วนต่างๆ

การเข้ามามีส่วนร่วมของภาคเอกชน เช่น เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป คือพลังสำคัญในการสืบสาน ‘โขน’ ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทยที่มีความสง่างามให้คงอยู่ เป็นการสนับสนุนที่มีคุณค่าแก่คนทำงานอยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังให้มีพลังมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ด้านนาฏศิลป์โขนมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก ยกย่อง
อย่างกว้างขวาง และดำรงอยู่เป็นสมบัติของชาติได้สืบไป”

“โดยส่วนตัวติดตามการแสดงโขนพระราชทานมาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นศาสตร์และศิลป์ชั้นสูงที่ได้พัฒนา ผสานเทคนิคสมัยใหม่เข้าไปในการแสดง ทำให้โขนพระราชทานในแต่ละปีมีความร่วมสมัย สง่างาม ตระการตา นับเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ การฝึกหัดโขนได้ให้อะไรกับผู้เรียนมากมาย โดยเฉพาะด้านระเบียบวินัย ฝึกการเป็นผู้นำและผู้ตาม มีร่างกายที่แข็งแรง มีสมาธิที่ดี ได้ความเพียร
ความอดทน เนื่องจากเวลาใส่หัวโขน เราจะไม่สามารถมองเห็นภาพกว้างได้ จึงจำเป็นจะต้องอาศัยสมาธิ ไหวพริบ และความวิริยะอุตสาหะในการฝึกฝนอย่างหนัก
จนสามารถแสดงได้อย่างงดงามเป็นที่ประทับใจของผู้ชม ซึ่งเอพี ไทยแลนด์
กรุ๊ป และบริษัทในเครือ จึงเข้ามาให้การสนับสนุนโขนไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชน รวมถึงคนไทยทุกคนได้สัมผัส เข้าชม ชื่นชมและภาคภูมิใจกับโขนไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ” นายวิษณุกล่าว

กิจกรรมนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สืบสาน ต่อยอด คงอยู่ ศิลปวัฒนธรรมไทย” โดย เอพี ไทยแลนด์ กรุ๊ป ด้วยความมุ่งมั่นและความพร้อมที่จะใช้ทรัพยากรขององค์กรที่มี เพื่อเสริมสร้างการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมไทยได้อย่างรื่นรมย์เป็นสุข
อีกทั้งเพื่อร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อให้ผู้คนทุกรุ่น ทุกวัย ได้รับทราบ เข้าใจ ตระหนักถึงคุณค่า และร่วมกัน “ส่งต่อ สืบทอด และคงอยู่ซึ่งมรดกวัฒนธรรมของชาติ” ให้ยั่งยืนอย่างเต็มภาคภูมิ