วิเคราะห์ผ่านสายตา “นักอาชญาวิทยา” เอาไงดีกับ “กฎหมายเยาวชน จากคดีโหด 5 เด็กเหี้ยม ฆ่าหญิงชราโยนศพทิ้งน้ำ ยิ่งขุดยิ่งผุดเหยื่อเพิ่มอีกเพียบ!!
เอายังไงดีกับ “กฎหมายเยาวชน”
กลายเป็นคดีสะเทือนขวัญเมื่อ “5 เยาวชน”ก่อเหตุฆาตกรรม “ป้าบัวผัน”หญิงเร่รอนสติไม่ดี ด้วยการ “ทุบหัว แล้วนำไปโยนทิ้งบ่อน้ำ” นอกจากการกระทำที่ “โหดเหี้ยม”แล้ว เรื่องที่น่าตกใจคือ “อายุของกลุ่มคนร้ายเพียงแค่ 13-16 ปี”เท่านั้นเอง
ทำให้สังคมตั้งถามว่า ถึงเวลาเลิกหยิบเรื่อง “อายุ” มาเป็นข้ออ้าง แล้วให้อาชญากรรับโทษเท่าผู้ใหญ่แล้วหรือยัง? ในสังคมออนไลน์อย่าง X(Twitter) จึงผุด #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ขึ้นมา
ทีมข่าวต่อสายหา “โต้ง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี ประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิต ให้ช่วยวิเคราะห์ผ่านมุมมองกูรูในเรื่องนี้
“ดร.โต้ง” เล่าว่า “เรื่องการปรับเกณฑ์อายุของ เด็กและเยาวชน” มีการพูดกันมาก่อนหน้าคดีนี้แล้ว ตั้งแต่เหตุกราดยิงที่พารากอน ที่ผู้ก่อเหตุเป็นเพียงเด็กอายุ 14
ตามกฎหมายไทย “เด็ก” คือ บุคคลอายุยังไม่เกิน 15 ปี บริบูรณ์ “เยาวชน” คือ บุคคลอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ “ซึ่งโทษที่จะได้รับก็แตกต่างกัน”
เรื่อง “อายุ” ก็เห็นว่า ควรจะกำหนดคำว่า “เด็ก”ให้ลดลงมา “จาก 15 ปี อาจให้เหลือเพียง 12 ปี”หมายความว่า ถ้าผู้กระทำผิดอายุ 12 ปีขึ้นไป “ก็จะไม่ถูกมองว่าเป็น เด็ก”และจะได้รับโทษแบบ เยาวชนหรือแบบผู้ใหญ่ “นี่ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยได้”
“แต่ยังไงก็ตามในเรื่องของ เกณฑ์อายุ ผมว่ามันเป็นแค่มิติเดียว ในการแก้ปัญหาเรื่อง เด็กและเยาวชนกระทำความผิด เพราะพูดถึงเรื่องโทษถูกไหมครับ พอแก้เกณฑ์อายุจะได้รับโทษที่สูงขึ้น พูดง่ายๆ”
การปรับแค่เกณฑ์อายุ มุมหนึ่งถ้าผู้กระทำผิด อายุ 11 ปี 11 เดือน 29 วัน ก็ยังถือว่าเป็น “เด็ก”คำถามคือเราจะต้องปรับเกณฑ์อายุลงกันอีกหรือเปล่า?ฉะนั้นแล้ว เราต้องดูประเด็นต่อมาควบคู่กันไปด้วยคือ “พฤติการณ์แห่งคดี”
หมายความว่า ถ้าคนก่อเหตุเป็นเด็ก ต้องดูว่า มีการเตรียมการ วางแผนไว้หรือไม่ พฤติกรรมที่ก่อทารุน โหดเหี้ยมเกินกว่า เด็กและเยาวชน ปกติหรือเปล่า
อย่างคดีนี้ ที่มีการ ทำร้ายหญิงไร้ทางสู้อย่าง ป้าบัวผัน มีการตีตัว จนนำศพไปทิ้งน้ำ ลักษณะการฆาตกรรมที่โหดร้ายทารุณ อันนี้เรียกว่า มีการวางแผน ซึ่งก็มีเวลาในการจะยับยั้งชั่งใจ มีเวลาในการตัดสินใจ
{ “โต้ง” - ดร.กฤษณพงค์ นักอาชญาวิทยา }
พฤติการณ์แห่งคดีเหล่านี้ ต้องเอาพิจารณาด้วยว่า “น่าจะต้องรับโทษแบบผู้ใหญ่หรือไม่” อาจผ่านกรรมการที่ประกอบด้วยผู้เชียวชาญ นักกฎหมาย นักอาชญาวิทยา แล้วก็มาลงความเห็นกัน จากนั้นก็เสนอความเห็นต่อศาล
เรื่องนี้ต้องมองลึกกว่า “กฎหมาย”
แต่กระแสตอนนี้ผู้คนกำลังคิดว่า กฎหมายเยาวชน กำลังคุ้มครองไม่ให้คนกระทำผิดได้รับโทษ จนเกิน #ยกเลิกกฎหมายเยาวชน ขึ้นมา แล้วในมุมของนักอาชญาวิทยาอย่าง ดร.โต้ง คิดยังไงกับเรื่องนี้?
“ต้องบอกว่า ในหลักสากลทั่วโลกเลย เขามองตรงกันว่า เด็กและเยาวชนเนี่ย เป็นวัยที่ยัง อ่อนประสบการณ์ ความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล แตกต่างจาก ผู้ใหญ่”
และยิ่งอยู่ใน วัยคึกคะนอง อยากรู้อยากลอง เพราะงั้น “เขาอาจพลาดทำผิดไปบ้าง”ฉะนั้น ลักษณะการลงโทษ เด็กและเยาวชน ควรเป็นลักษณะ การให้โอกาส เพื่อแก้ไขฟืนฟู ดัดนิสัยหรือพฤติกรรม
แต่อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ รุ่นแรง โหดร้าย “เกินกว่า” เด็กและเยาวชนปกติอย่างเหตุกราดยิง หรืออย่างคดีของป้าบัวผัน สังคมก็ต้องกลับมามองแล้วว่า เราจะตั้งบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีเหล่านี้อย่างไร
คนมองว่า “กฎหมายเยาวชนมีช่องโหว่”ทำให้ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ ตามผลกรรมที่ตัวเองก่อ นักอาชญาวิทยาได้ให้ความเห็นกับประเด็นนี้ว่า...
“ต้องบอกอย่างนี้ว่า กฎหมาย ไม่สามารถจะปิดช่องโหว่ของคนในสังคมได้ตลอดเวลาหรอก เขาถึงมีการแก้ไข กฎหมายอยู่เรื่อยๆ ไงครับ เพื่อเปลี่ยนแปลงทันยุคทันสมัย”
เรื่องก็วนกลับที่สังคม มองปรากฎการณ์ในการเกิดอาชญากรรมแต่ละครั้งยังไง ถ้าเรามองแล้วว่าแบบนี้กฎหมายมีปัญหา ก็ต้องแก้กฎหมาย “แต่กฎหมายก็เป็นแค่ มิติเดียวในการแก้ปัญหานี้”
“กฎหมายเนี่ยจะพูดถึงแต่การลงโทษถูกไหมครับ เพราะเราเชื่อว่ายิ่งโทษแรงโทษสูง ก็จะทำให้คนเกิดความกลัวในการกระทำผิด”
แต่ในมุมของนักอาชญาวิทยา บทลงโทษ เป็นแค่วิธีหนึ่ง ในการป้องกันการกระทำความผิด การจะแก้ปัญหานี้ เราคงต้องมองลึกลงมากกว่านั้น ต้องตั้งคำถามว่า อะไรทำให้เขาทำแบบนั้น เติบโตมาอย่างไร ถูกเลี้ยงดูมาแบบไหน
“ตอนที่เขาเริ่มมี พฤติกรรมก้าวร้าว ชอบใช้ความรุนแรง ทำร้ายคนอื่น พฤติกรรมเหล่านี้ ทำไมไม่ได้รับการแก้ไข ล่ะครับ”
พฤติกรรมเหล่านี้ที่ เด็กกำลังเริ่มเบี่ยงเบนออกจากสังคม หากไม่ถูกแก้ไข ก็จะพาไม่สู่การละเมิดกฎหมาย และถ้าพฤติกรรมที่ละเมิดกฎหมาย ยังไม่ถูกแก้ไขอีก ความรุนแรงในการละเมิดกฎหมายก็จะเพิ่มขึ้น จนมาเป็นคดีอย่างที่เราเห็น
ดร.โต้ง บอกว่า เราต้องมองทั้งในเชิงของคนก่อเหตุ เชิงของนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมิติของสังคม ด้วย เพราะปัจจัยที่ทำให้คนกระทำผิดมี 2 ปัจจัย
คือ “ปัจจัยภายใน” หมายถึง ปัจจัยของบุคคลนั้น เขาคือใคร ถูกเลี้ยงดูมาอย่างไร วัยเด็กถูกกระทำอะไรมาบ้าง ส่วนเรื่อง “ปัจจัยภายนอก” คือสภาพสังคมที่โตมา การศึกษาขัดเกลาเขามาอย่างไร
“ปัญหาเด็กหรือเยาวชนก่ออาชญากรรม” นั้นต้องเริ่มตั้งคำถามที่มากกว่าแค่แง่กฎหามาย ต้องถามว่าเราดูแลทั้งคุณภาพชีวิตของเด็ก ได้เพียงพอหรือเปล่า การศึกษา การอบรมเลี้ยงดู ไม่เขาก็จะโตมาเป็นปัญหาของสังคม
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **