xs
xsm
sm
md
lg

“เงินก้อนที่ไม่มีวันได้ในไทย” เหตุผลที่ “แรงงานไทย” ยอมเสี่ยงอยู่ต่อในอิสราเอล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


[ต้นฉบับภาพ : AFP]
“แรงงานไทยในอิสราเอล” พื้นที่เสี่ยง “ถึงรู้แต่ก็ไป” ทำไมกัน? ส่วนหนึ่งอยากกลับ แต่ทำไม่ได้ เพราะ “หนี้มันค้ำคอ” เสียงสะท้อนแรงงานไทย โดยเอาเปรียบ แต่ก็ต้องทำ “ไม่งั้นก็ไม่มีอะไรกิน”

“เสี่ยง” แต่ก็ต้องไป

จากการที่ “กลุ่มฮามาส”บุกโจมตี “อิสราเอล” ทำให้รู้ว่ามีคนไทยเข้าไปใช้แรงงานในอิสราเอลถึง25,962 คน และมีแรงงานไทยเสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้ และถูกจับเป็นตัวประกันอีกจำนวนไม่น้อย

แต่คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมแรงงานไทยถึงอยากเข้าไปทำงานในอิสราเอล ทั้งที่รู้ว่าประเทศนี้มีสงครามเกิดขึ้นตลอด และการไปทำงานที่นั่นก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงเอาการอยู่ทีเดียว

จากข้อมูลกรมจัดหางานโครงการ "ความร่วมมือไทย - อิสราเอลเพื่อจัดหางาน"ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่อิสราเอล คิดเป็นเงินประมาณ70,000 บาท ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน ณ ตอนนั้น

                                                        [AFP - MAHMUD HAMS]

ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทางจะมีค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าการตรวจประวัติอาชญากรรม, ค่าหนังสือเดินทาง, ค่าตรวจสุขภาพ, ตั๋วเครื่องบิน, ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

เมื่อเดินทางถึงอิสราเอลแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินให้บริษัทจัดหางานในรัฐอิสราเอลและค่าธรรมเนียมตามโครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอล ซึ่งตามกฎหมายอิสราเอลที่แรงงานต้องเป็นคนจ่ายเองเมื่อไปถึง

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานไทย ระบุชัดว่ารายได้โดยเฉลี่ยของแรงงานไทยที่อยู่ที่นั่น อยู่ที่ราวๆ เดือนละ 55,000 บาทเป็นระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ แรงงานจะเดินทางไปทำงานได้เพียงครั้งเดียว แต่มีระยะเวลา 5 ปี


                                                                {เนม-สหัสวัต คุ้มคง}


“อันนี้พูดกันง่ายๆ เลยนะครับ มันเป็นเรื่องของรายได้ครับ ต้องยอมรับว่าการทำงานในไทยเอง แรงงานจำนวนหนึ่งไม่เห็นอนาคต ที่จะข้ามผ่านความยากจนหรือสร้างฐานะให้ตัวเองได้”

คือคำตอบจาก “เนม” สหัสวัต คุ้มคง ส.ส.ชลบุรี เขต 7 พรรคก้าวไกล กรรมาธิการแรงงาน (กมธ.แรงงาน) เมื่อทีมข่าวถามว่า ทั้งที่รู้ว่าเสี่ยง แต่ทำไมคนไทยจึงยังอยากไปทำงานที่ “อิสราเอล”



                                                      [AFP - MOHAMMED ABED]

เหตุผลหลักๆ คือการไปทำงานที่นั่น คือทางเลือกหนึ่งที่มีรายได้ดีกว่าบ้านเกิดอย่างน้อยก็ยังมีเงินส่งกลับบ้าน 20,000-30,000 บาท/เดือน แม้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานจะสูง แต่หลังหักรายจ่ายแล้ว “สำหรับแรงงานก็เป็นทางเลือก ทำให้เขาได้เงินก้อนกลับมา”

“เมื่อคิดกับรายได้ต่อเดือน แล้วมันเป็นสัญญาที่เวลา 5 ปี ถ้าสมมติได้ส่งกลับมาได้เดือนละ 20,000 ปีหนึ่งก็ 240,000 ใช่ไหมครับ 5 ปีก็เงินเป็นล้านนะครับ”

เรื่อง “คุณภาพชีวิต” ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่ดึงดูด เมื่อเทียบค่าครองชีพในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาในไทยแล้วคือ รายได้ต่ำ ค่าครองชีพสูง ทำให้แรงงานไทย “ไม่มีทางเลยครับที่จะมีเงินเหลือเก็บกัน”

กลับไปจะใช้หนี้ยังไง?

แม้ตอนนี้ทุกคนเป็นห่วงแรกงานไทยในอิสราเอล และรัฐบาลก็พยายามเร่งมือ เพื่อพาคนไทยกลับบ้าน แต่ก็มีแรงงานจำนวนมาก ยังลังเลในการกลับมาประเทศไทย มันเกิดอะไรขึ้น? และนี่คำตอบจากกูรูรายเดิม

“จากการพูดคุยกับแรงงานที่นั่น หลังจากการปะทะ มันก็มีคนจำนวนมากที่ยังไม่อยากกลับ ไม่ได้หมายความว่าไม่อยากออกจากพื้นที่นะ หมายถึงขอไปในพื้นปลอดภัยก่อน เพราะกลัวว่ากลับมาไทยแล้วจะไม่ได้ไปทำงานอีก”

อีกข้อที่ทำให้แรงงานไทย “ลังเลในการกลับบ้าน” คือ ถ้าจะกลับไปทำงานที่อิสราเอลอีกรอบจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางใหม่หรือเปล่า และสุดท้ายหนี้สินที่ยืมมาเพื่อทำงาน ถ้ากลับไทยจะใช้หนี้ยังไง

“ก็เลยเสี่ยง อยู่ที่นู่นดีกว่า อันนี้เป็นเรื่องที่เราได้เสียงสะท้อนมาจากแรงงานที่อิสราเอลโดยตรงนะครับ”

                                                      [AFP - Ahmad Al-Rubaye]

กลายเป็นประเด็นที่ต้องคุยกันว่า แรงงานไทยกังวลเรื่องศักยภาพในการใช้หนี้ของตัวเองมาก ดังนั้นจะเป็นไปได้ไหมที่ทางการไทยควรมีอะไรที่ช่วยผ่อนผัน ลดดอกเบี้ย หรือชะลอหนี้ของพวกเขา “เพื่อสร้างหลักประกันให้เขาอยากกลับมามากขึ้น”

“มันมีประเด็นเรื่องแรงงานไทยที่เข้าไปโดยผิดกฎหมายด้วย ตรงนี้ผมคิดว่าควรจะพักไว้ก่อนว่า เขาลักลอบเข้าเมืองไหม ทำงานถูกต้องตามกฎหมายไหม แต่ว่าที่เราต้องโฟกัสเร่งด่วนคือ การพาคนไทยกลับบ้าน”

ในวิกฤตยังมี “(ฉวย)โอกาส”

ไม่ใช่แค่เรื่องกลัวไม่มีเงินใช้หนี้ หรือกลัวไม่ได้กลับมาทำงานอีกแต่เสียงสะท้อนแรงงงานไทยในอิสราเอล ยังมีเรื่อง “การถูกเอาเปรียบและฉวยโอกาส จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น” ด้วย

โดยหลังจากเกิดเหตุปะทะก็มีการพาแรงงานไทยอพยพออกจากพื้นที่ อ้างว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่กลับถูกพาไปทำงานที่ต่ออย่างไม่สมัครใจไม่ก็ “ฉวยโอกาส”จากภาวะสงคราม “เบี้ยวค่าแรง”

“แรงงานเราไม่เคยผ่านวิกฤตสงครามแบบนี้มา ตอนนี้สภาพจิตใจแย่มาก แล้วก็ไม่ได้พร้อมทำงาน แต่กลับถูกบอกให้ทำงานต่อ ตรงนี้แรงงานสะท้อนมาหนักมาก แต่ว่าเขาก็บ่นว่า ถ้าเขาไม่ทำงาน เขาจะเอาที่ไหนกิน”

ยังมีเรื่อง “ความเป็นอยู่” และ ”การดูแลคุ้มครองแรงงาน”ที่ร้องเรียนมากันเยอะมาก ถึง90% ของแรงงานไทยที่ไปอิสราเอล ซึ่งไปโดยกรมจัดหางานของกระทรวงแรงงาน

                                                             [AFP - MAHMUD HAMS]

“นอกจากว่ากระบวนการส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ ซึ่งปีๆ หนึ่งทำเงินให้ประเทศไม่ต่ำว่า 2 แสนล้านเนี่ย มันควรมีการติดตาม คุ้มครองให้คนไทยได้รับสิทธิคุ้มครองแรงงานอย่างที่ควรจะเป็น”

เราอ่อนเรื่อง “การติดตามและคุ้มครองแรงงาน” แม้แรงงานจะไปทำงานในประเทศที่เจริญแล้วอย่าง สวีเดน ฟินแลนด์ สุดท้าย “แรงงานไทยก็โดนเอาเปรียบ” จากการที่ “กฎหมายของประเทศปลายทางไม่ได้ถูกบังคับใช้”

“ผมคิดว่าไม่มีใครอยากไปอยู่ไกลบ้าน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องรายได้ แรงงานไทยในต่างประเทศเป็นแบบนี้หมด ไปต่างประเทศลำบากมาก แต่ก็ต้องหาเงินมาจุนเจือครอบครัว”

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ภาพ: AFP



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น