xs
xsm
sm
md
lg

เตรียม 7 พันล้าน!! แพลนควบสายด่วน “1669” รวม “191” แล้วโปรโมตจนคนจำได้เพื่อ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เตรียมยุบ “1669 สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน” รวมกับ “191” ? คนวิจารณ์ ยุบเพื่อ? หวั่นติดต่อยาก ล่าช้ากว่าเดิม คนหน้างานบอก “แยกแบบเดิมดีกว่า” รวมกันแล้ว 191 รับไหวเหรอ?

รอดำเนินการ “ยุบ 1669” !!

เตรียมจ่อ ยุบ “1669 สายด่วนเจ็บป่วยฉุกเฉิน” ไปรวมกับ “เบอร์ 191” แม้ตอนที่ยังไม่เกิดขึ้น และเบอร์ 1669ยังสามารถติดต่อได้ตามปกติ แต่กระแสการยุบรวมครั้งนี้ ก็คำให้หลายคน เกิดความกังวลมากมาย

การควบรวมสายด่วน 1669 ให้เปลี่ยนมาใช้สายด่วน 191 ร่วมกับตำรวจ ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้ทำTOR(เงื่อนไขโครงการ)ไปแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง จะใช้งบประมาณ “7 พันล้านบาท” ในการเปลี่ยนแปลงระบบ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ออกมาบอกว่า ความกังวลของประชาชนที่ว่า หากรวมสายกันแล้ว จะเกิดความล่าช้า ในการติดต่อแจ้งเหตุนั้น ย้ำว่าไม่ต้องกังวล



“เมื่อสายด่วน 191 วางระบบหรือเซตระบบเรียบร้อยแล้ว ในหลักการรวมสายด่วน 1669 กับ 191 สพฉ.มีเป้าหมายคือ การรวมนั้นต้องไร้รอยต่อ และประชาชนต้องปลอดภัย”

พร้อมยืนยันว่า ขั้นตอนการแจ้งและประสานงานรถพยาบาลต้องจบภายใน 2 นาที และต้องไปถึงที่เกิดเหตุไม่เกิด 6 นาที รวมทั้งหมด 8 นาที เพราะฉะนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวล

และยังบอกอีกว่า ข้อดีของ 191 คือ แสดงหมายเลขโทรศัพท์ พร้อมตำแหน่งที่โทร ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยขั้นตอนหลังจากควบรวม คือโทรเข้า 191 แล้วเจ้าหน้าที่จะทำการกรองเพื่อโอนสายไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง

แต่จากข้อมูล มีการโทรเข้าสายด่วน 1669 อยู่ 6 ล้านครั้ง/ปี ส่วน 191 อยู่ที่ 5 ล้านครั้ง/ปี หากรวมกันน่าจะมีสายโทรเข้าราว 11 ล้านครั้งต่อปี คงไม่แปลกที่คนจะกังวล และกลายเป็นที่วิจารณ์กันในโลกออนไลน์



ผู้ใช้Twitter(X) ก็ออกมาโพสต์ว่า “ยกเลิก 1669 ทำไปเพื่ออะไร กว่าจะโปรโมทแบรนด์ 1669 ให้ติดหูคนได้ขนาดนี้” หรืออีกคนก็วิจารณ์ “1669 คือเบอร์เดียวที่ผู้คนรู้สึกว่าพึ่งพาได้จริงๆ ส่วน 191 กว่าจะโทรติดน่าจะตายก่อน”

และในFacebookก็ตั้งคำถามถึง “งบประมาณ” ในการควบรวมหลังนี้ว่า ต้องใช้งบถึง “7 พันล้านบาท”เลยหรือ? “แค่ยุบ 1669 มารวม 191 ใช้งบ 7 พันล้าน นี่นับศูนย์ผิดเปล่าเรา มันค่าอะไรนักหนาเนี่ย”และยังมีคนแสดงความกังวลว่า จะต้องเกิดความล้าช้าและวุ่นวายแน่ๆ หากมีการยุบรวมกันของ 2 เบอร์นี้




191 จะรับไหวเหรอ?

ทีมข่าวจึงต่อสายหา “ยอด” อัญวัฒิ โพธิ์อำไพเจ้าของรหัส “นคร 45” หัวหน้ารถกู้ภัยและรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู ว่าคนหน้างาน คิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้

“ถ้ามารวบกันบางที่ 191 เขาจะรับไหวเหรอ?”

“ยอด นคร45” ตั้งถามที่น่าสนใจว่า “8 นาทีต้องถึง”นั้นทำได้จริงๆหรือเปล่า? ทุกวันนี้ทั้ง 2 เบอร์ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 นาที กว่าจะถึงที่เกิดเหตุ ปัญหามันอยู่ที่ “การบริหารและการประสานงาน”

อีกเหตุผลหนึ่งทุกวันนี้ เบอร์ 191 รับแค่เหตุฉุกเฉิน คนยังติดต่อได้ลำบาก ก็ควรแยกกัน 1669 ก็รับเฉพาะเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉิน 191 ก็เป็นเหตุด่วนเหตุร้าย อย่างเดิมจะดีกว่า

                                                              {ยอด-อัญวัฒิ โพธิ์อำไพ}

“ถ้ารวมกันด้วยความห่วงใยนะครับ เราบอกเลยว่า จะยิ่งล่าช้าลงกว่าเดิมครับ ปริมาณงานมันจะเท ไป191 อย่างเดียวไงครับที่นี้”

“หัวใจสำคัญ” ของงานนี้คือ “ความเร็ว” เมื่อรับแจ้งเหตุแล้ว ต้องส่งทีมช่วยเหลือไปให้ถึงโดยเร็วที่สุด ถ้าติดต่อ 191 เขาก็ต้องโอนสายไปที่ระบบการแพทย์อยู่ดี

“ซึ่งจริงๆ แล้ว 1669 เขาสายตรงถึงระบบการแพทย์ของทุกจังหวัด”



อีกอย่างหนึ่ง บุคลากรของ 1669 เขามีความรู้สามารถบอก “วิธีดูแลและปฐมพยาบาลเบื่องได้”
ถ้ามีผู้ป่วยหรือคนโทรมาแจ้งเหตุ ”เขาจะให้วิธีดูแลคนไข้เบื้องต้นได้ แนะนำได้ดีกว่า ตำรวจแน่นอน”

อีกเรื่องหนึ่ง เราใช้งบประมาณมากมาย ในการรณรงค์ ให้คนรู้ว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินโทร 1669” จนตอนนี้คนทั่วประเทศรู้จักเบอร์นี้กันหมดแล้ว “กว่าจะทำได้มันก็ ไม่ใช้เรื่องง่ายนะครับ”



มีเรื่องอยากให้แก้ไข มากกว่าเปลี่ยนเบอร์

แต่ปัญหาจริงๆที่ “ยอด นคร45” อยากจะสะท้อนคือ ในกรุงเทพฯ และนครบาล ตอนนี้โรงพยาบาลปลายทาง ที่ต้องส่งตัวผู้ป่วย โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ “รับคนไข้ยาก”

ทุกวันนี้ อาสาสมัคร ต้องปฐมพยาบาลรอ อยู่บนรถ ในที่เกิดเหตุ บางครั้ง 10 นาที หนักๆ ก็เป็นครึ่งชั่วโมง แต่ยังออกจากจุดเกิดเหตุไปได้ “เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปส่งโรงพยาบาลไหน อันนี้เป็นเรื่องวิกฤที่หนักมากครับ”


 


“ซึ่งทุกวันนี้คือ โรงพยาบาลปลายทางไม่พร้อมรับผู้ป่วยนะครับ อาสาสมัครก็เลยต้องเอาไปโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งบางครั้งอยู่ไกลกว่า”

ยอดพูดในฐานะ “ผู้ปฏิบัติโดยตรง” อยากให้เน้นเรื่อง การประสานงาน การรับแจ้งเหตุแล้วส่งเจ้าหน้าที่ ไปถึงผู้ป่วยให้เร็วสุดมากกว่า และที่สำคัญคือ เพิ่มโรงพยาบาลที่พร้อมรับผู้ป่วยให้เพียงพอ

“อยากให้เขาปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับเรื่องของ โรงพยาบาล ถ้าเป็นเจ็บป่วยฉุกเฉินนะครับ โรงพยาบาลปลายทาง ควรจะมีเพียงพอลองรับ”

ยอด เสริมว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องความรวดเร็ว ดีกว่าอดีตเยอะ แต่ว่า กว่าจะรับแจ้งเหตุ กว่าจะประสานงาน ใช้เวลารวม 15 นาที “15นาทีเนี่ยเขาไปถึงไหนแล้ว ผมอยากให้เน้นเรื่อง การปฏิบัติควบคู่กับการรับแจ้งเหตุด้วย”



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ก้าวไกลไปด้วยกัน”,“ปรีชา วัชระนัย”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น