หมดปัญหา “มาเฟีย” ด้วยระบบ “บัญชีผู้มีอิทธิพล” ชวนวิเคราะห์ แค่ลงทะเบียนมันจะแก้ได้จริงหรือ? กูรูชี้ “หลักคิดดี” แต่ระวังเป็น “เครื่องมือกำจัดคนเห็นต่าง”
ระวังเป็น “เครื่องมือทางการเมือง”
หลังจากรัฐบาล มีคำสั่งจัดการกับ “ปัญหาผู้มีอิทธิพล” โดยมี “ชาดา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหอก ในการดำเนินการ “ขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล”
ตอนนี้ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย บอกว่า ได้รายชื่อผู้มีอิทธิพลแล้ว กว่า 700 รายชื่อ พร้อมนำเข้าคณะประชุม วันที่ 3 ต.ค. นี้ เพื่อจัดกลุ่มตาม “16 พฤติกรรมเข้าข่ายผู้มีอิทธิพล”
1. นายทุนปล่อยเงินกู้ 2. ฮั้วประมูลงานราชการ 3. หักหัวคิวรถรับจ้าง 4. ขูดรีดผู้ประกอบการ 5. ลักลอบสินค้าหนีภาษี 6. เปิดบ่อนการพนัน 7. ลักลอบค้าประเวณี 8. ลักลอบนำคนเข้า-ออกประเทศ 9. ล่อลวงแรงงานไปยังต่างประเทศ 10. แก๊งต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว
11. มือปืนรับจ้าง 12. รับจ้างทวงหนี้ด้วยการข่มขู่ใช้กำลัง 13. ค้าอาวุธ 14. บุกรุกที่ดินสาธารณะ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ 15. เรียกรับผลประโยชน์บนเส้นทางหลวง 16. ผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
หลังจากนี้ จะลงพื้นที่ พูดคุยกับ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และถ้าไม่เลิกพฤติกรรม จะใช้กฎหมายภาษีเล่นงาน รมช.มหาดไทย ยังบอกอีกว่า คิวต่อไปคือ “เจ้าหน้ารัฐพัวพันผู้มีอิทธิพล”
“บัญชีผู้มีอิทธิพล” มันจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงๆหรือ? “โต้ง” รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูลผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม ม.รังสิตจะมาวิเคราะห์ให้ฟัง
{โต้ง-รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล}
“โดยหลักการดี นะครับ หลักการดีหมายความว่า ต้องการจะจัดการปราบปรามผู้มีอิทธิพล อันนี้ผมว่าดี เป็นนโยบายที่ดี”
แต่ต้องมาดูแนวทางและรายละเอียด “ดร.โต้ง”บอกว่าเพราะมัน อาจถูกให้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการกำจัดคู่แข่งได้ หรือคนที่เห็นต่างตรงนี้เป็น “ประเด็นที่อ่อนไหว”
และก่อนหน้านี้ เราก็เคยนโยบายแนวนี้มาแล้ว ในยุคของ อดีตนายก “ทักษิณ ชินวัตร”ตอนที่ ทำสงครามยาเสพติด ก็มีการขึ้น “บัญชีผู้มีอิทธิพล” แต่ก็เป็นที่วิจารณ์ไปทั่วโลก เพราะเรื่อง “ฆ่าตัดตอน”
“ฉะนั้นผมว่า ตรงนี้ต้องมีความระมัดระวังในการจำแนกรายชื่อ ผู้มีอิทธิพล”
อีกเรื่องต้องนิยาม “ผู้มีอิทธิพล” ใช้ชัดเจน ดร.โต้ง ตั้งคำถามว่า ข้าราชการ นักการเมืองถ้ามีส่วนรู้เห็นหรือมีส่วนรวมในการกระทำผิด “เรา นิยามว่า เขาเป็นผู้มีอิทธิพลด้วยหรือไม่ ?”
“ต้องยอมรับความจริงกันก่อน” ปัจจุบัน อาชญากรรม ส่วนใหญ่ พบว่าเป็นระบบเครือข่าย องค์กร ที่มีข้าราชการและนักการเมืองเข้าไปพัวพัน
“จากข้อมูลการศึกษาวิจัย อย่างต่อเนื่องนะครับ ในประเทศไทยจะมีความเชื่อมโยงกันอยู่ ระหว่าง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ นักการเมือง ที่เอื้อประโยชน์ให้กันในหลายมิติ หรือแม้สร้างเป็นเครือข่าย จากหลักสูตรอบรมต่างๆ”
คำถามคือ ถ้าเรารู้จักกับผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีอิทธิพลคนนั้น เป็นหัวคะแนนให้กับพรรคฝ่ายเรา จะมีการดำเนินการอะไรหรือเปล่า ?
“ผมว่าเป็นประเด็นอ่อนไหว เพราะไม่งั้นแล้วรัฐบาลจะถูกกล่าวหาว่าเป็น ผู้มีอิทธิพลเสียเอง อันนี้เป็นคำถามที่ตั้งไว้นะครับ”
ไม่จริงจังเน้น ”ฉาบฉวย”?
“เมืองไทยต้องยอมรับว่า เรามีระบบอุปถัมภ์ที่ต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เป็นร้อยปีแล้วละครับ ระบบอุปถัมภ์ ส่วนหนึ่งมันก็ดีนะครับ ถ้าพลักดันคนเก่ง คนมีความสามารถ”
ดร.โต้ง กล่าวว่า แต่ที่ผ่านมา “ระบบอุปถัมภ์” ถูกใช้เพียงเพื่อ ผลประโยชน์ เฉพาะกลุ่มแลพพวกพ้องตนเองเท่านั้น ตรงนี้คือปัญหา
“เคยช่วยเหลือกันมา หรือว่าธุรกิจสีเท่าเคยดูแล ทั้งฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ฝ่ายความมั่นคง เพราะก็รู้กันดีว่าราชการงบก็ขาดแคลนหลายส่วน ถูกไหมครับ เหล่านี้จะถูกขึ้น บัญชีผู้มีอิทธิพลไหม ผมว่าตรงนี้ต้องชัดเจน”
ยกตัวอย่างของ “อเมริกา”ในการจัดการกับ องค์อาชากรรม คนที่มีเบาะแสหรือ ผู้เกี่ยวข้องที่ให้ข้อมูล ก็จะถูกกันไปเป็นพยาน หลังจากนั้นมีการปราบปรามอย่างจริงจัง ใช้กฎหมายฟอกเงิน กฎหมายภาษี
“ผมว่าสิ่งเหล่านี้ ผมไม่ค่อยเห็นในประเทศไทย นะครับ เราจะเน้นโยบายแบบฉาบฉวยนะครับ โอเคขึ้นบัญชี ผู้มีอิทธิพลแล้วนะ แต่ว่าการปราบปรามที่จริงจังละ?”
อย่างกรณี “กำนันนก” ซึ่งเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่นแน่นอน แต่ก็ยังไม่เห็นการปราบปราม เครือข่าย ของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น อย่างเป็นรูปธรรมเลย
เป็นธรรม ไม่เลือกข้าง?
ผลสำรวจนิด้าโพลเรื่อง “ผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐ” มีคน 38.93% “ไม่มั่นใจว่า” เจ้าหน้าที่รัฐ จะปกป้องและให้ความยุติธรรมได้เมื่อประชาชนมีปัญหากับ “ผู้มีอิทธิพล”
จากโพลนี้ จึงเป็นคำถามว่า แล้วนโยบายนี้จะเป็นธรรม และไม่เลือกข้างจริงๆหรือเปล่า? ดร.โต้ง อธิบายว่า ไม่แปลกที่สังคมจะตั้งคำถามแบบนี้ เพราะหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในระบบยุติธรรม
“แต่สิ่งที่ต้องทำ ตอนนี้ยังไม่เห็นทำอะไรเลยนะครับ“ ดร.โต้ง พูดว่า การขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล คนก็จะมีคำถามว่า รายชื่อเหล่านี้มาจากไหน? ใครเป็นเคาะว่า คนนี้คือผู้มีอิทธิพล? เป็นอย่างนี้เพราะ คนขาดความเชื่อมั่น
“ปัญหาผู้มีอิทธิพล” เชื่อมโยงกับ ข้าราชการ นักการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ หลายมิติ สิ่งที่ต้องทำเพื่อเรียกคือความเชื่อมั่นคือ ต้องพิสูจน์ว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติ
“สิ่งที่ผมคิดว่า ต้องทำในรัฐบาลนี้เลย ไม่ต้องมาขึ้นรายชื่อผู้มีอิทธิพลหรอกครับ ควรจะต้องดำเนินการสืบสวนจับกุม จากคนกระทำผิดแล้วสาวไปถึงรายใหญ่ที่อยู่เบื้องหลัง ลักษณะแบบ เชือดไก่ให้ลิงดู”
ในการต่างประเทศ ก็มีการ ”ขึ้นบัญชีผู้มีอิทธิพล” เหมือนกัน เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว และก็ค้นพบว่าวิธีการแบบนี้ มันไม่ประสบความสำเร็จ
“หมายความว่า ไม่ต้องไปเน้นขึ้นบัญชี แต่บูรณาการในการจัดการกับคดี โดยเฉพาะคดีใหญ่ๆ ที่เป็นที่สงสัย ของสังคม อันนี้ผมว่าน่าจะเริ่มทำจากพวกนี้ไป”
รัฐบาล ควรเริ่มจากคดีที่ เป็นที่สงสัยของสังคม ทำอย่างจริงจัง แล้วสาวไปเรื่อยๆ โดยไม่สนว่าจะต้องเกี่ยวโยงกับใครหรือข้างใดบ้าง “ผมว่าตรงนี้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดมากกว่า ครับ”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : nidapoll.nida.ac.th
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **