xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจคนทำงาน “น่าน้อยใจ” นี่หรือการปฏิบัติต่อ “ฮีโร่” ในไทย ค้นตัวเหมือน “ผู้ต้องสงสัย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นักผจญเพลิง” ตัดพ้อ ช่วยดับไฟ แต่ดันกลายมา “โดนค้นตัว” หัวหน้าอาสาบอกไม่แปลกใจ วิเคราะห์เหตุผลเบื้องหลังชัดๆ อะไรทำให้เหล่ากู้ภัยมักกลายเป็น “จำเลยสังคม”!?

ถูกเหมาะรวมเพราะ “ภาพลบ” ที่เคยเกิด

กลายเป็นดรามา เมื่อ “นักผจญเพลิง”รายหนึ่งโพสต์ตัดพ้อ ขณะเข้าไปดับไฟที่เกิดเหตุ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจค้นตัว ใจความว่า “เรามาถึงจุดที่เราเข้าไปดับไฟแล้ว ออกมาต้องถูกค้นตัวกันแล้วเหรอ”

“นี่ก็เข้าใจเจ้าของบ้านนะ พวกเราก็แสดงความบริสุทธิ์ใจ อาชีพที่ไม่เคยมีส่วนได้ส่วนเสีย มีแต่เสียกับเสีย อาชีพที่ทั่วโลกมองว่าคือ ฮีโร่ ในบ้านเรากลับเป็นความหวาดระแวง เป็นผู้ต้องสงสัย เป็นผู้ฉวยโอกาส ”

ในโพสต์ยังระบายต่อว่า ทำงานนี้ไม่ได้คิดถึงเรื่องเงินเลย ขอเพียงคำขอบคุณก็พอใจแล้ว และเข้าใจทุกฝ่าย ตำรวจก็ต้องทำตามหน้าที่ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงยินยอมเพื่อความบริสุทธิ์ใจ

“เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้าใจ แต่แค่มันรู้สึกลึกๆ ว่ามันรู้สึกน่าน้อยใจต่อการมองอาชีพนี้เท่านั้นเอง”



เพื่อให้ได้อีกแง่มุมจากคนในสายอาชีพช่วยเหลือชีวิตผู้คน ทางทีมข่าวจึงต่อสายหา ยอด-อัญวัฒิ โพธิ์อำไพเจ้าของรหัส “นคร 45” หัวหน้ารถกู้ภัยและรองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู ให้ช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และนี่คือเสียงสะท้อนชวนคิด

“พวกเรามีความบริสุทธิ์ใจ และก็เต็มใจอยู่แล้ว ขอตรวจค้นเราก็เต็มใจ เพราะจุดหมายของพวกเราที่ไปที่เกิดเหตุ คือต้องการไประงับเหตุ บรรเทาเหตุ”

แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพที่ออกมาสร้างความสะเทือนใจ ต่อคนที่ทำงานจิตอาสาหลายคน เพราะถ้าเทียบกับภาพลักษณ์ในต่างประเทศแล้ว มองว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือ “ฮีโร่” แต่ในบ้านเรากลับต้องกลายมาเป็น “ผู้ต้องสงสัย”ไปเสียงอย่างนั้น




เมื่อถามว่า เพราะอยู่ในที่เกิดเหตุจึงเหลี่ยงไม่ได้ ที่จะตกเป็น “ผู้ต้องสงสัย” ด้วยหรือเปล่า หรือเพราะมีอคติต่อภาพลักษณ์ของ “อาชีพกู้ภัย” อยู่แล้วเป็นทุนเดิมด้วยกันแน่? ยอดจึงอธิบายว่า กู้ภัยคือหน่วยแรกๆ ที่เข้าไปถึงที่เกิดเหตุ

“เพราะฉะนั้น มันไม่ได้แปลกเลยที่คนจะสงสัย หรือคนที่คิดไปในทางลบ จะมองมาที่กู้ภัยเป็นกลุ่มแรก”

เพราะก็มีภาพลักษณ์และความเชื่อที่ฝังใจคนไทยว่า เหล่ากู้ภัยชอบลักทรัพย์สิน หรือฉวยโอกาสจากเหตุที่เกิดขึ้น จึงมองว่าไม่แปลกที่คนจะคิดแบบนั้น

“พวกเรา (กู้ภัย) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่ไปถึงจุดเกิดเหตุ และก็เป็นหน่วยงานหลักเลยที่อยู่ในพื้นที่ เพราะฉะนั้น คนที่จะสงสัย หรือว่าตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือจะเป็นเป้าหมายให้ที่คนจะคิดไปในมุมลบนี้ มันมีส่วนมากเลยครับ”

                                                                   {ยอด-อัญวัฒิ โพธิ์อำไพ}

โทษหนักลักทรัพย์ = ไล่ออก + เอาผิดตามกฎหมาย

แต่ก็ต้องยอมรับรับว่า เหล่าอาสาไม่ว่าจะเป็น “กู้ภัย” หรือ “ดับเพลิง” เอง ก็เคยมีประเด็นให้เห็นเป็นข่าวกันอยู่ แม้จะเป็นระดับบุคคล แต่ก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร ตรงนี้คิดเห็นอย่างไร?

หัวหน้ารถกู้ภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู บอกว่า ในมูลนิธิมีอาสากว่า 8,000 คน การจะควบคุมดูแลก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่เรื่องการลักทรัพย์เป็นเรื่องใหญ่ของมูลนิธิหลายแห่ง หากพบคนทำผิดคือ “ไล่ออกสถานเดียว”

“และไม่ใช่แค่ออกเท่านั้นนะครับ แจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมายด้วย อันนี้ถือว่าเป็นกฎเหล็ก แล้วของหลายหน่วย หลังจากอาสาสมัครจบในหลักสูตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกู้ชีพ กู้ภัยก่อนจะรับบัตรประจำตัว ก็จะมีพิธีการสาบานตน”

ในกรณีของ “กู้ภัย” ที่มักตกเป็นจำเลยของสังคม เวลามีทรัพย์สินสูญหาย หัวหน้าจิตอาสาท่านนี้บอกว่า คนที่ไปถึงที่เกิดเหตุก่อนไม่ใช้กู้ภัย แต่เป็นคนที่อยู่โดยรอบ การจะฉวยโอกาสต่างๆ เป็นไปได้ยาก

“เขาทำงานโดยมีสายตาประชาชนอยู่นะครับ แต่ที่กู้ภัยถูกเป็นผู้ต้องสงสัยก็คือ เราเป็นคนเอาประสบภัยออกไป เพราะฉะนั้น เราเลยกลายเป็นจำเลย ถูกโจทก์แจ้งให้เป็นจำเลยตลอดเวลา”



และกรณีที่เป็นข่าวดรามาครั้งนี้ แนะนำว่าการเข้าไประงับเหตุในพื้นที่มีทรัพย์สิน ควรถ่ายภาพระหว่างปฏิบัติหน้าที่เอาไว้ เพื่อเป็นหลักฐานล่วงหน้าเมื่อเกิดปัญหา

“สิ่งที่ผมแนะนำพี่น้องกู้ภัยก็คือ มันอาจจะไม่มีใครจะมาถ่ายรูปอะไร แต่ถ้าเป็นวิธีการป้องกันตัวเราเองได้ อยากให้หาคนสักคนในทีม ถ่ายรูป ถ้าเป็นพื้นที่ที่เข้าไป แล้วมันมีทรัพย์สินจำนวนมาก เพื่อป้องกันความบริสุทธิ์ใจของพวกเรา”

และยังพูดประเด็นที่น่าสนใจว่า “กำลังใจ” เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่เหล่านี้ เทียบกับในต่างประเทศแล้ว เขามีเงินเดือนให้เต็มๆ เพื่อตอบแทน ต่างจากในบ้านเราที่ทำงานเสี่ยงกว่า เพราะอุปกรณ์ไม่พร้อมและด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง แถม 80% ยังเป็นอาสาที่ไม่มีเงินเดือน



“ผมบอกได้เลย เพราะว่าอุปกรณ์ของเราไม่ได้มาตรฐานปลอดภัย ไม่ได้งบประมาณของหลวงของรัฐช่วย อาสาสมัครต้องหาซื้อกันเอง
80% เป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้มีเงินเดือน แต่เข้าไปช่วย กลับไม่ได้ถูกยกเป็นฮีโร่ และก็มาเป็นผู้ต้องสงสัย เป็นจำเลยของสังคมแบบนี้”


ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทุกคนให้กำลังใจกันมากกว่า อาสาทุกหน่วยงาน พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ใจ แต่ไม่ก็ยอมรับว่าในบรรดาคนจิตใจดี ยังมี“แกะดำ” ที่แฝงตัวเข้ามาก่ออาชญากรรม หรือฉวยโอกาสอย่างที่ถูกเพ่งเล็งจริงๆ

“พวกเราต้องช่วยกัน ทีมงานทุกคนก็ต้องช่วยกันดูแล และก็ช่วยกันจัดการคนเหล่านี้ ที่ทำให้วงการกู้ภัยเราเสีย”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น