xs
xsm
sm
md
lg

แค่กลับมากินส้มตำได้ก็พิเศษมากแล้ว!! พลิกมุมมอง "คุณหมอรอดมะเร็ง" [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"การที่เราเข้านอนแล้วยังตื่นมาในตอนเช้า ก็ถือเป็นความสำเร็จแล้ว" เปิดใจ “หมอลูกหมู” จากแพทย์หญิงไฟแรง สู่ผู้ป่วย “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 4” แถมเป็นชนิดที่โตไวที่สุด ต่อสู้กับโรคนับ 6 เดือนจนโรคสงบ จนมองเห็นคุณค่า "ชีวิตธรรมดา" ที่เคยมองข้ามเพราะเคยชิน



ไม่ทันเตรียมใจ... เมื่อต้องถอด “เสื้อกาวน์” มาสวมชุด “ผู้ป่วย”

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราก็ยังอยากจะเป็นคนที่เราอยากเป็นอยู่ ในขณะที่เราพอมีกำลังที่จะทำได้ เรารู้สึกว่ามันก็เป็นการต่อสู้ทางนึงเหมือนกัน ตัวโรคมันอาจจะทำให้เราเป็นแบบนี้ แต่เราก็ไม่ได้ยอมแพ้มัน

ถ้าย้อนเวลากลับไปปลอบใจตัวเองในตอนนั้นได้ ก็อยากจะบอกว่าสิ่งที่เราเห็นในกระจก มันไม่ได้เปลี่ยนอะไรในความเป็นเราเลยนะ เรายังเป็นคนเดิมที่เรารู้จัก เรายังเป็นคนที่มีความสามารถ มีศักยภาพอะไรอีกหลายอย่าง

ทักษะต่างๆ ที่เราสั่งสมมาทั้งชีวิตมันไม่ได้หายไปไหน มันไม่ได้หายไปกับเส้นผม คิ้ว ขนตา หรือความสวยงามต่างๆ เรื่องทั้งหมดสุดท้ายมันเป็นเรื่องชั่วคราวค่ะ พอหยุดยาปุ๊บมันก็กลับมางอกใหม่เป็นปกติค่ะ”



“พญ.ณัฐรดา คชนันทน์” หรือ “คุณหมอลูกหมู” วัย 28 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live

ปัจจุบันเธอเป็นแพทย์ใช้ทุน แผนกอายุรกรรม ชั้นปีที่ 3 ที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

แต่ใครจะไปคิดว่าเบื้องหลังรอยยิ้มนี้ เธอเพิ่งผ่านมรสุมลูกใหญ่ของชีวิต คือการต่อสู้กับ “โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” ตลอดระยะเวลารักษาตัวต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน จนมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย...

หมอลูกหมูเล่าว่า ตนเป็นคนที่ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ แต่กลับพบ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ระยะที่ 4” เมื่ออายุ 27 ปี ซึ่งก็ยังไม่ทราบหาเหตุแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร

เหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจ จาก “แพทย์” ต้องเปลี่ยนสถานะมาเป็น “คนไข้มะเร็ง” โดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว



“ต้องบอกก่อนว่ามะเร็งแต่ละชนิดธรรมชาติไม่เหมือนกัน บางชนิดมีการค้นพบว่าสัมพันธ์กับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ กินเหล้า ขณะที่มะเร็งบางชนิดจนถึงปัจจุบันเราก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือมันแค่เกิดขึ้นค่ะ

ตอนที่พบว่าเป็นโรคครั้งแรก เริ่มจากว่าคลำได้ต่อมน้ำเหลืองที่คอด้านขวา หลังจากนั้นก็ลองกินยาฆ่าเชื้อดู เพราะส่วนมากมักจะเกิดจากการติดเชื้อค่ะ กินยาฆ่าเชื้อไปประมาณเกือบๆ เดือนนึงมันก็ยังไม่ยุบ

ตอนที่กินยาแล้วไม่ยุบ รู้สึกว่าเริ่มกังวลเหมือนกัน 1.ต่อมน้ำเหลืองมันโตเร็วมากและมันไม่เจ็บ 2.มันไม่ตอบสนองกับยาฆ่าเชื้อเลย ใจเราก็คิดว่าเป็นอยู่ 2 โรค ถ้าไม่ใช่วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ก็อาจจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ตอนนั้นเราก็ปลอบใจตัวเองว่าอย่างแย่ที่สุดก็เป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลือง ก็แค่กินยา 6 เดือน หรืออาจจะนานกว่านั้นนิดหน่อย

ในประเทศไทย วัณโรคเป็นอะไรที่เจอเยอะมาก แค่เดินไปตามถนนจะพบว่ามีคนที่มีเชื้อวัณโรคแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัวเยอะ แล้วเราเองก็ได้เหมือนกับสัมผัสผู้ป่วยวัณโรคด้วย ก็อาจจะเป็นไปได้

สุดท้ายตัดสินใจไปเก็บชิ้นเนื้อตรวจ ก็เลยเจอว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองค่ะ ปกติทุกอย่างมากจนไม่มีใครเชื่อเลยตอนที่เราไปบอก ปกติคนที่เป็นโรคนี้อย่างน้อยๆ ก็ต้องเคยมีไข้เรื้อรัง มีเหงื่อออกตอนกลางคืน น้ำหนักลดบ้าง เราไม่เป็นอะไรเลยนอกจากก้อนที่คอ พอมันออกมาเป็นมะเร็งจริงๆ ก็ค่อนข้างตกใจ เป็นอะไรที่เราไม่ได้ทำใจ เตรียมใจไว้เผื่อเหมือนกัน”

วินาทีแรกที่ทราบผลชิ้นเนื้อ คุณหมอท่านนี้ยังอยู่ในเวลางานด้วยซ้ำ จากแพทย์ที่เคยไปทำงานเป็นปกติทุกวัน ต้องแอดมิทในฐานะผู้ป่วยมะเร็ง ทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง



“ตอนนั้นทำงานอยู่ค่ะ ดูคนไข้เสร็จกำลังจะกลับบ้าน นึกขึ้นได้ว่าเราไปเก็บชิ้นเนื้อตรวจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ลองเปิดในคอมพิวเตอร์ดูว่าผลมันออกหรือยัง ปรากฏว่าอ่านเจอเป็นผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

ตอนเช้าไปทำงานปกติ ตอน 11 โมงก็ไปเตรียมทำ CT scan ทำเสร็จก็ไปกินข้าวแล้วก็กลับมาทำงานต่อ ประมาณ 3-4 โมง คุณหมอโรคเลือดก็โทร.มาบอกว่า ไม่ต้องไปทำงานแล้ว เดี๋ยวขึ้นไปห้องพิเศษแอดมิทเลย มันเร็วขนาดนั้นเลยค่ะ

ตอนนั้นเราก็ตกใจเหมือนกัน จำได้ว่าแบบ… ร้องไห้ตรงนั้นเลย ตามเพื่อนๆ มา แล้วก็ตัดสินใจโทร.หาคุณหมอโรคเลือด ท่านก็แนะนำว่าใจเย็นๆ ก่อน อาจจะยังไม่ใช่ก็ได้ เดี๋ยวลองไปตรวจเพิ่มเติม หลังจากนั้นก็ได้ไปเอ็กซเรย์ปอด จากที่เราไม่ได้เอ็กซเรย์ปอดเลยมาประมาณปีครึ่ง ก็เจอว่าในเอ็กซเรย์ปอดมันเห็นเป็นก้อนชิ้นเนื้อกลมๆ แถวกลางทรวงอก

ในทรวงอกของเราก็มีต่อมน้ำเหลืองอยู่แล้ว แต่ปกติมันจะไม่โตจนสามารถมองเห็นได้ในฟิล์มเอ็กซเรย์ค่ะ ก็มีเริ่มไอๆ นิดหน่อย รู้สึกว่ามีก้อนขนาดนี้มันควรจะไอซักเล็กน้อย (หัวเราะ) เหมือนไอหลังจากเห็นผลรังสีมากกว่าค่ะ

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีหลายชนิดมาก ชนิดที่เราเป็นคือ Diffuse large B-cell lymphoma เป็นชนิดที่น่าจะโตไวที่สุด หมายความว่าถ้าไม่รักษาเลย มันก็จะมีการโตและลุกลามไวกว่าชนิดอื่น มันเป็นระยะที่ 4 เพราะว่ามีการเจอในอวัยวะนอกต่อมน้ำเหลืองด้วย มันจะมีจุดเล็กๆ ที่ปอดกับที่ตับที่โตขึ้นนิดหน่อย เขาก็สงสัยว่าโรคอาจจะไปตรงนั้นด้วยค่ะ

หลังจากทราบผลชิ้นเนื้อ ก็ต้องแอดมิทเลยหลังจากที่ทำ CT scan เพราะในผลที่อ่านมา มันโชว์ว่าตัวก้อนมันไปกดเบียดพวกเส้นเลือดใหญ่ต่างๆ ในช่องทรวงอกหมดแล้ว ก็เลยต้องเริ่มให้ยาเพื่อลดขนาดก้อนอย่างเร่งด่วนไปก่อน”



การตรวจพบว่าตนเองเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในความคิดของหมอลูกหมูมาก่อน อีกทั้งยังทราบผลโดยที่ยังไม่ได้เตรียมใจ แม้แต่จะรู้สึกเสียใจก็ยังไม่ทันได้ตั้งตัว...

“จริงๆ แล้วขั้นตอนการบอกข่าวร้ายกับคนไข้เป็นสิ่งที่โรงเรียนแพทย์ทุกที่สอน ทุกคนจะได้รับการอบรมมาว่าเราจะต้องเตรียมคนไข้ยังไง เราอาจจะต้องถามก่อนว่าตอนนี้เขาคิดว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเขาอยู่ คิดว่าตัวเองเป็นโรคอะไร และถ้าสมมติทางนี้มันเกิดขึ้นจริงๆ เขาคิดว่าผลลัพธ์ที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นเป็นยังไง และเขาจะมีวิธีเตรียมตัวรับมือซัพพอร์ตยังไง

มันมีสิ่งที่เรียกว่า 5 Stages of Grief หมายความว่าขั้นตอนของความเศร้า 5 ขั้นตอน ที่มันควรจะผ่านไปอย่างปกติ อย่างเช่น การเจอกับความเศร้า อารมณ์โกรธ การต่อรอง จนไปถึงหาวิธีแก้ปัญหา และยุติความเศร้าลงได้ในที่สุด

เรารู้สึกว่าการที่เราผ่านความทุกข์อย่างเป็นปกติตามขั้นตอนแบบนั้น มันน่าจะผ่านไปได้ง่ายกว่า ของเรามันไม่มีขั้นตอนของการต่อรองและการปฏิเสธในใจเลย มันข้ามขั้นตอนพวกนั้นไปหมด ถ้าย้อนเวลากลับไปได้เราจะไม่เปิดดูด้วยตัวเอง จริงๆ แล้วเราเป็นหมอแต่ไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น ที่เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของตัวเองได้ มันก็จะเป็นไปตามขั้นตอนปกติ

ก่อนหน้านี้เป็นคนที่ค่อนข้างจะไม่มองโลกในแง่ดีอยู่แล้ว เราจะนึกถึงผลลัพธ์ที่มันแย่ที่สุดเท่าที่มันจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ แต่การเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มันเป็นอะไรที่เกินความมองโลกในแง่ร้ายของเราจะจินตนาการไปถึง ช่วงแรกก็รู้สึกแย่ค่ะ เป็นอะไรที่ทำใจลำบากพอสมควร ช่วงนั้นเราผ่านมาได้ด้วยการซัพพอร์ตของคนรอบข้างค่ะ”

“มะเร็ง” รู้ไว รักษาหายขาดได้

แม้เธอจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะที่ 4 แต่ก็ยังมีโอกาสรักษาได้หายขาด ซึ่งในระหว่างรักษานั้น เป็นช่วงเดียวกับการระบาดหนักของโควิด-19 ทำให้เวลากว่า 6 เดือน คุณหมอผู้ป่วยมะเร็ง ต้องระมัดระวังตัวอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน

“ตอนแรกแอดมิทเพื่อสังเกตอาการ แล้วก็ให้ยาลดขนาดก้อน หลังจากนั้นประมาณ 3-4 วัน ก็ถูกส่งไปที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อเริ่มยาเคมีบำบัดรอบแรก เดือนนึงจะแอดมิทในโรงพยาบาลประมาณ 5 วันแล้วก็กลับบ้าน 21 วันก็มารับยารอบถัดไป

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมี 4 ระยะเหมือนมะเร็งทั่วไป แต่ส่วนมากเขาจะไม่ใช้ว่าระยะสุดท้าย ระยะทางมะเร็งโรคเลือดมันเหมือนเอาไว้บอกว่า หลังจากนี้จะต้องตรวจติดตามตรงอวัยวะไหน อาจจะมีผลกับการพยากรณ์โรคในระยะยาว

แต่ว่ามันก็ยังเป็นระยะที่สามารถรักษาหายขาดได้อยู่ค่ะ ถึงจะเริ่มต้นด้วยระยะ 4 ก็ตาม มันไม่ได้เหมือนมะเร็งปอด มะเร็งตับที่จะบอกว่าระยะ 4 แปลว่าแพร่กระจายจนไม่สามารถรักษาหายขาดได้



เมื่อก่อนก็ไปทำงานทุกวัน มีความรับผิดชอบ มีหน้าที่เป็นของตัวเอง ถ้าว่างเว้นจากการทำงานเราก็ไปเที่ยวสังสรรค์ พบปะเพื่อน แต่ช่วงที่เราป่วย งานของเราในโรงพยาบาลมันเลี่ยงการเจอกับเชื้อโรคไม่ได้ เราก็เลยไม่สามารถไปทำงานได้

แล้วก็ช่วงที่เป็น เป็นช่วงที่โควิดโอไมครอน-เดลต้าระบาดหนักมากค่ะ เลยแทบไม่ได้เจอเพื่อนเลย ก็ต้องบอกว่าส่วนใหญ่ประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ ก็คือใช้ชีวิตอยู่กับที่บ้าน แล้วก็อยู่คนเดียว

จริงๆ แล้วสิ่งที่ทำให้เราต้องระวังเป็นพิเศษคือการรับยาเคมีบำบัดค่ะ เพราะยาเคมีบำบัดเขาก็จะไปทำลายพวกเซลล์ทุกชนิดที่แบ่งตัวในร่างกาย แต่ว่ามันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เซลล์ภูมิคุ้มกันอื่นๆ มันก็จะโดนทำลายไปด้วย ช่วงนั้นถ้าติดโควิดหรือติดเชื้อใดๆ ก็ตาม เราก็จะมีอาการเยอะแล้วก็รุนแรงกว่าคนอื่น เราก็เลยต้องระวังตัว”

ระหว่างการรักษาตัวนั้น สิ่งที่ต้องระวังอย่างที่สุด คือการป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ

“ทุกอย่างมันขับเคลื่อนไปด้วยความกังวลซะส่วนใหญ่ค่ะ เพราะเราเคยเห็นมาว่าคนไข้ที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี จากยาหรือตัวโรค เวลาเขาติดเชื้อขึ้นมา อาการมันจะรุนแรงมาก อาจจะถึงขั้นต้องนอนในห้อง ICU หรืออาจจะต้องให้ยาหลายๆ อย่าง

เราไม่อยากจะอยู่ในสภาพนั้นเลยถ้าเป็นไปได้ อะไรที่ระวังได้เราก็ระวังทุกทาง เรื่องอาหาร เราก็กินอาหารที่สุกและปรุงสะอาดเท่านั้น เวลาออกนอกบ้านก็คือไม่กินน้ำแข็งเลย เพราะเรารู้ว่ากระบวนการทำน้ำแข็งจริงๆ มันไม่ได้สะอาดขนาดนั้น

เป็นคนที่ชอบกินน้ำแข็งมาก (หัวเราะ) ตอนที่ป่วยจริงๆ ก็กินน้ำแข็งนะคะ แต่เป็นน้ำแข็งที่ทำเองที่บ้าน ทำจากเครื่องผลิตน้ำแข็ง เรารู้ว่าน้ำที่เราเอามาทำน้ำแข็งมาจากน้ำขวดที่มันสะอาด มันไม่ได้เหมือนน้ำแข็งนอกบ้านที่เราไม่รู้ว่าเขาเอาน้ำอะไรมาทำ แล้วก็หลังจากเป็นก้อนน้ำแข็งแล้วเอาไปวางบนพื้นหรือเปล่า น้ำแข็งที่ทำเองมันค่อนข้างเซฟกว่า



[ เน้นอาหารที่ปรุงสุกและสะอาด ]
นอกนั้นก็คือเรื่องของการระวังการติดโควิด มันก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากการหลีกเลี่ยงไม่เจอคน ถ้าจะออกจากบ้านต้องเป็นที่ที่อากาศถ่ายเทมากๆ อย่างเช่น เป็นสวนสาธารณะใหญ่ๆ พวกห้างฯ หรืออะไรที่แออัด เราก็ไม่ไปเลย ถ้าสมมติจะมีคนจะมาเยี่ยมจริงๆ ก็ให้เขาตรวจโควิดมาก่อนว่าเขาไม่เป็นแน่ๆ เขาจะไม่เอาเชื้อมาติดเรา อะไรแบบนี้ค่ะ”

แม้ปัจจุบันอาการของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะอยู่ในสถานะโรคสงบ แต่ก็ยังต้องมีการเฝ้าระวัง และคอยติดตามทุกๆ 3 เดือน

“6 เดือนมันเป็นการรับยาเคมีบำบัดตามแพลนประมาณ 6-8 ครั้ง แล้วแต่การตอบสนองของร่างกายแต่ละคน อันนี้ได้มาทั้งหมด 7 รอบใน 6 เดือน หลังจากนั้นไปตรวจ PET Scan เป็นการสแกนทั่วร่างว่ามีเซลล์ที่เป็นมะเร็งอยู่ในร่างกายเรามั้ย

หลังจาก 6 เดือนมันไม่มีแล้ว ผลเลือดทุกอย่างปกติ ภูมิคุ้มกันกลับมาปกติ ยาเคมีบำบัดไม่ได้รับแล้ว ก็เลยทำตัวปกติ ก็ถือว่าหายค่ะ ตอนนี้กลับมาทำงานปกติเต็มเวลาตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้วค่ะ ประมาณทุก 3 เดือนก็ไปพบคุณหมอโรคเลือด ก็เหมือนกับยังเป็นคนไข้ที่ต้องไปตรวจติดตามอยู่เรื่อยๆ

อย่างที่เคยพูดไปว่ามะเร็งแต่ละอย่างธรรมชาติของโรคมันไม่เหมือนกัน แต่ก็ถูกต้องว่าถ้าเจอเร็ว เริ่มรักษาเร็ว ผลลัพธ์มันก็ดีกว่า ใช้ได้กับมะเร็งทุกชนิดเลย แต่ว่าในส่วนของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การที่จะเจอให้เร็วมันยากมาก เพราะว่าหลายๆ คน รวมทั้งเราเองมันไม่มีอาการ ยิ่งคนอายุน้อยๆ ที่ปกติแทบไม่ได้เข้าโรงพยาบาล ส่วนมากกว่าจะเจอมันก็เยอะแล้ว

แต่เราก็รู้สึกว่าสำหรับมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ต่อให้เราเจอในระยะไหน มันก็ไม่ควรจะไปหมดหวังกับมัน เพราะมันมีทางอีกมากมายที่สามารถรักษาให้หายขาดได้”



และการได้ผ่านการเป็นคนไข้เอง ก็ทำให้อดีตผู้ป่วยมะเร็งรายนี้ เข้าใจคนไข้ด้วยกันมากขึ้น

“เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าคนไข้มะเร็งที่จะนอนโรงพยาบาล เหมือนเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะไกลตัวเรา อยู่ในความรับผิดชอบของเราที่เราต้องดูแลเขา แต่เราก็ไม่ได้เข้าใจเขาซะทีเดียว หรือว่าไม่ได้เข้าใจว่าในแต่ละวันที่เราเดินเข้าไปหาเขา เราควรจะต้องสำรวจดูอะไรบ้าง หรือว่าควรจะดูแลตรงไหนเป็นพิเศษ เราก็อาจจะแค่ดูว่าวันนี้เขากินข้าวได้นะ เขาไม่มีไข้

แต่พอเรามาเป็นคนไข้ซะเอง เรารู้ว่าคนไข้เขาต้องการอะไร ตัวโรคเองชื่อมันก็น่ากลัวอยู่แล้ว การรักษามันก็ค่อนข้างซับซ้อนยาวนาน เขาก็มักจะมีคำถามมากมายที่อยากคุย หรือว่าต้องการกำลังใจจากคุณหมอที่รักษา หลังจากที่กลับมาทำงาน เรารู้สึกว่าเวลาที่เข้าไปหาคนไข้มะเร็ง เรามีเรื่องที่จะคุยกับเขามากขึ้น หรือเรารู้ว่าต้องพูดยังไงเขาถึงจะสบายใจขึ้น

“เราก็ไม่ใช่ว่าไปคุยกับคนไข้ที่เป็นมะเร็งทุกคน แต่มันก็จะมีบางทีที่ไปดูคนไข้ต่างแผนก เขาก็ถามเราว่า ‘ป้าจะตายมั้ยเนี่ยหมอ’ เราก็บอกไปว่า ‘หมอตอบไม่ได้นะสุดท้ายป้าจะตายหรือเปล่า แต่ว่าตอนนี้หมอก็อยากให้ป้าดูแลตัวเองให้ดีก่อน ถ้าป้าดูแลตัวเองให้ดี กินข้าวเยอะๆ ผลการรักษามันก็จะดีขึ้น ป้าก็จะได้รู้สึกสดชื่นขึ้น’ อะไรแบบนี้ค่ะ

เราเชื่อว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ทำงานตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่อยู่แล้ว ทั้งในแง่ของการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ บางครั้งด้วยความที่มันเร่งรีบหรือว่าภาระงานที่มันเยอะ มันก็อาจจะมีบางจุดเล็กๆ ที่เราอาจจะละเลยไปบ้าง อาจจะไม่ใช่จุดที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายต่อชีวิต

แต่เรารู้สึกว่าบางคำพูดหรือบางการกระทำ เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ ให้ผู้ป่วยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคดีขึ้น หรือว่ามีกำลังใจที่ดีขึ้น อาจจะใช้เวลาในการดีลกับผู้ป่วยมากขึ้นไม่กี่นาที ให้เขารู้สึกดีขึ้นด้วยนอกจากการรักษาโรคค่ะ”

ยังเป็นตัวเอง แม้ในวันที่ “ไร้ผม-ขนคิ้ว-ขนตา”

เมื่อถามถึงผลข้างเคียงระหว่างการรับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ในฐานะผู้ป่วยหญิง ความเสี่ยงเกี่ยวกับระบบภายในและการเจริญพันธุ์ ก็เป็นอีกปัจจัยหลักที่ทำให้คุณหมอลูกหมูเกิดความกังวล

“คุณหมอโรคเลือดจะเป็นคนประเมินจากระยะของโรค ตัวลักษณะเซลล์ที่เจอในผลชิ้นเนื้อว่าเราควรจะได้ยาสูตรไหน สิ่งสำคัญก็คือต้องดูว่าคนไข้ร่างกายฟิตพอสำหรับยาเคมีบำบัดสูตรที่แรงหรือเปล่า ต้องชั่งประโยชน์กันระหว่างโอกาสหายขาดเยอะขึ้น แต่มันก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเยอะขึ้น หรือภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเยอะขึ้น

ก็เจอในสิ่งที่ทุกคนที่รับยาเคมีบำบัดจะต้องเจอ ก็คือเรื่องของผมร่วง มันร่วงหมดเลยจริงๆ เริ่มจากผม หลังๆ ก็ขนตา คิ้ว ร่วงเหมือนกัน เพราะว่าพวกเซลล์ผม เซลล์ขนมันก็เป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตแบ่งตัวเร็ว มันก็โดนคีโมไปทำลาย แล้วก็เรื่องอื่นๆ เช่น เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน คิดว่าสำหรับเราเราเจอน้อยค่ะ ถ้าเทียบกับคนอื่นที่เคยได้ยินมา



เป็นคนที่ค่อนข้างจะใส่ใจกับรูปลักษณ์ของตัวเองมากพอสมควร เปลี่ยนทรงผมบ่อย ผมสั้น อยากจะผมยาวก็ไปต่อผม แต่งหน้าหาเทรนด์แต่งหน้าใหม่ๆ ตลอดเวลา พอต้องมาอยู่ในสภาวะที่เราส่องกระจกไปแล้วมองว่า… ใครอะ ดูไม่เหมือนเราเลย ไม่มีผม คิ้วก็ไม่มี ขนตาก็ไม่มี ดูบวมๆ จากที่ได้ยา มันยังเป็นเรื่องที่ยังทำใจลำบากอยู่แล้วค่ะ

แล้วก็มันก็ยังมีความกังวลในเรื่องอื่นๆ ด้วย ยาเคมีบำบัด มันก็อาจจะไปส่งผลกับพวกระบบการเจริญพันธุ์ อาจจะมีโอกาสเข้าสู่วัยทองก่อนกำหนดได้ จากการที่พวกเซลล์ไข่ถูกทำลาย หลังจากรักษาครบ เราจะกลายเป็นวัยทองไปเลยมั้ย ชีวิตนี้จะมีลูกได้อีกหรือเปล่า ประมาณนี้ค่ะ ก็โชคดีที่หลังจากรักษาครบมันก็กลับมาเป็นปกติ”

เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ในช่วงแรกนั้น ก็รับความเปลี่ยนแปลงของตนเอง ที่เกิดขึ้นจากผลของการใช้ยาเคมีบำบัดไม่ได้เหมือนกัน

คุณหมอเล่าต่ออีกว่า เมื่อไม่นานมานี้ ก็เพิ่งได้เข้าร้านตัดผมในรอบ 1 ปี และได้ออกมาเป็นลุคสาวผมสั้นสุดมั่นใจ อย่างที่ได้เห็นกันในตอนนี้



“ช่วงแรกๆ มันทำใจลำบากมากๆ บางทีมองตัวเองตอนไปเข้าห้องน้ำแล้วส่องกระจก บางทีมันก็สะดุ้งทุกครั้งเลยว่า บางทีก็ลืมนึกไปว่าตอนนี้เราอยู่ในสภาพที่ไม่เหมือนเดิม

เราต่อสู้ด้วยการที่ว่า ในเมื่อเราไม่อยากเห็นตัวเองเป็นแบบนี้ เราก็ยังสามารถเป็นแบบอื่นได้ เวลาออกนอกบ้านก็เลือกที่จะใส่วิกผม แต่งหน้าปกติ อาจจะแต่งปราณีตกว่าตอนทำงานด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เพราะว่ามีเวลาเยอะ

ก่อนหน้านี้มันไม่ผมให้ทำค่ะ พอเราหยุดยาเคมีบำบัดไป ผมมันก็กลับมาเป็นปกติ แล้วมันก็เริ่มยาวจนไม่เป็นทรงแล้ว เราก็เลยได้เข้าร้านตัดผมในประมาณช่วงปีนึงที่ไม่ได้เข้าเลย (ยิ้ม)

มันก็เคยมีช่วงที่ยังไม่ป่วย เราก็คิดเหมือนกันว่าการตัดผมสั้นมากๆ มันก็อาจจะสวยดีเหมือนกันนะ แต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องที่ยากว่าลุคมันอาจจะจำกัดหน่อยเวลาแต่งตัว

จนมาถึงวันนี้มันเหมือนกลายเป็นความจำเป็นว่าเราต้องอยู่กับผมแบบนี้ไปก่อน ก่อนหน้านี้เราก็ใส่วิกแต่เรารู้สึกว่าตอนนี้อากาศมันเริ่มร้อนแล้ว ใส่วิกไม่ไหวค่ะ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราอยากจะเป็นตัวของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ให้คนอื่นเห็นด้วย”

ก้าวข้ามฝันร้าย เพราะได้ยาดีรักษาใจ

ในส่วนของสุขภาพกาย เป็นหน้าที่ของแพทย์เจ้าของไข้ในการรักษา ส่วนสุขภาพใจนั้น หมอลูกหมูก็ได้กำลังใจจากครอบครัว เพื่อนๆ และยูกิ น้องหมาแสนรัก เป็นยาดีให้ผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายไปได้

“ทางบ้านเราคุยกันตั้งแต่ผลชิ้นเนื้อยังไม่ออก ตอนแรกคิดว่าลำบากมาก เราไม่รู้เลยว่าเราจะไปบอกพ่อแม่ยังไง เขามีลูกสาวอยู่คนเดียว แล้ววันดีคืนดีลูกมาบอกว่าเป็นมะเร็งเฉยเลย

แต่หลังจากบอกไป พ่อแม่ก็บอกว่า ไม่ว่ามันจะเป็นโรคอะไรหรือมันจะเกิดอะไรขึ้น ยังไงเราก็สู้ไปด้วยกันอยู่แล้ว 3 คน เราก็รู้สึกว่า ไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น เราก็ยังมีครอบครัวที่ยังรักเรา ซัพพอร์ตเราความเป็นลูกคนเดียวมันยิ่งทำให้เราเหมือนต้องสู้ เพราะว่าพ่อแม่เขาก็ไม่มีคนอื่นนอกจากเราแล้ว ยังไงเราก็ต้องรอดไปให้ได้

(สัตว์เลี้ยง) น้องชื่อยูกิค่ะ เป็นไซบีเรียนฮัสกี้ เป็นกำลังใจในแง่ของว่า เราอยากหายเร็วๆ แล้วกลับไปเล่นกับเขา ช่วงที่ให้ยาเคมีบำบัดก็คือแทบจะแตะเขาไม่ได้เลย เพราะว่าน้องหมาเขาไม่รู้หรอกว่าช่วงนี้เรากำลังติดเชื้อง่าย เวลาเล่นถ้าเขาเผลอเล่นแรง เผลองับ เผลอข่วน เราก็อาจจะเสี่ยงติดเชื้อได้


ไซบีเรียนเขาจะไม่รู้กำลังตัวเอง เขาจะเล่นเหมือนคิดว่าเขาเป็นหมาเล็ก แต่ว่าจริงๆ เขาตัวใหญ่มาก ชอบกระโดด ชอบตะกุยใส่ ก็เลยเหมือนกับตลอด 6 เดือนทำได้แค่มองกันเฉยๆ เขาก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเราไม่เล่นกับเขา เราไม่รักเขาแล้วเหรอ เราก็รู้สึกว่า เดี๋ยวจะรีบๆ หาย จะได้กลับมากอดน้องหมาด้วย”

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิตครั้งนี้ แม้จะเป็นบททดสอบที่หนักมากแล้วสำหรับเธอ แต่ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าในอนาคตจะไม่มีอุปสรรคใดอีกรออยู่ ดังนั้นการที่ผ่านด่านชีวิตอันแสนโหดครั้งนี้มาได้ ก็ทำให้หมอลูกหมูรู้จักตนเองมากขึ้นว่า เธอเองก็แข็งแกร่งและไม่ใช่คนที่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ

“คุณพ่อคุณแม่อยู่ข้างๆ ในชีวิตประจำวัน คอยดูแล คอยซัพพอร์ตทุกอย่าง เรื่องการพูดให้กำลังใจส่วนมากจากมาจากเพื่อน เพื่อนหลายๆ คนก็บอกว่า ‘ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับแกก็ตาม แกก็ยังเป็นลูกหมูที่เรารู้จักอยู่ดี แกเป็นเพื่อนฉัน ต่อให้ตอนนี้แกทำงานเป็นหมอไม่ได้ แกก็ยังเป็นคนเจ๋งๆ คนเดิมในแบบที่ฉันรู้จักอยู่ดี ก็รีบๆ รักษา เดี๋ยวไปเที่ยวกัน ไปหาอะไรกินกัน แล้วกลับมาเรียนต่อกัน’ อะไรแบบนี้ค่ะ


เราเคยพูดกับเพื่อนว่า ตรงนี้มันเป็นก้นเหวแล้วหรือยัง คงไม่มีอะไรแย่มากไปกว่านี้แล้ว แต่ว่ามีเพื่อนคนนึงบอกว่า ‘มันก็ไม่แน่หรอก บางทีชีวิตมันก็โยนอะไรไม่รู้เข้ามาใส่เราได้เรื่อยๆ เราก็มีหน้าที่แค่รับมือกับมันไป แต่เราก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเองว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะสามารถรับมือกับมันได้’

มันก็ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วเราก็ไม่ใช่คนที่อ่อนแอนะ เรื่องที่เราผ่านมาเราก็ต้องอาศัยความเข้มแข็งมากพอสมควร เพราะฉะนั้นเราเชื่อว่าถ้าในวันข้างหน้ามีปัญหาอะไรหนักๆ เข้ามา ถึงเราคิดว่าเราผ่านมันไปไม่ได้หรอก แต่จริงๆ เราสามารถทำได้เพราะเราแข็งแกร่งพออยู่แล้วค่ะ”

และสำหรับเพจเฟซบุ๊กพักก้อน” ก็ได้เกิดขึ้น เมื่อราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะนี้มีผู้ติดตามแล้วกว่า 17,000 คน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่แบ่งปันประสบการณ์การรักษาตัว และส่งต่อกำลังใจให้แก่ผู้ที่กำลังต่อสู้กับมะเร็งเช่นเดียวกัน


“เพจ พักก้อน’ เป็นความตั้งใจมาตั้งแต่ตอนอยู่ระหว่างการรักษา ว่าเราอยากจะเก็บบันทึกประสบการณ์ตรงนี้ไว้ เพื่อที่จะได้แชร์ให้คนที่เขาเจอสถานการณ์เดียวกันกับเรา เราอยากจะทำตอนที่เราหายและแข็งแรงเป็นปกติแล้ว การสื่อสารที่มันออกไป มันจะตรงกับจุดประสงค์ของเรามากกว่า มันจะไม่ค่อยมี emotion อะไรมาเกี่ยวข้องเท่าตอนที่เราป่วย

เท่าที่ผ่านมาก็มีคนที่ป่วยหรือว่าครอบครัวของผู้ป่วย ทักมาถามเยอะพอสมควร ก็ได้ให้คำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่เราจะให้ได้ อย่างเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ การกิน การดูแลตัวเอง แล้วก็ให้กำลังใจไปค่ะ

จำได้ว่ามีคุณป้าท่านนึงเพิ่งตรวจเจอมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเหมือนกัน แล้วลังเลว่าจะรักษาดีมั้ย กลัวให้ยาเคมีบำบัดแล้วไม่ไหว ก็เลยได้คุยกันซักระยะนึง สุดท้ายคุณป้าก็บอกว่า ‘ป้าว่าตัดสินใจไปรับยาเคมีบำบัดแล้วกัน เพราะตอนแรกป้าคิดว่าป้าตัวคนเดียว แต่ตอนนี้ป้ามีคุณหมอเป็นเพื่อนแล้ว งั้นป้าไปรักษาแล้วกัน’

เราก็บอกเลยว่าเราเป็นแค่อดีตผู้ป่วยนะ เราเป็นหมอแต่ไม่ได้จบเฉพาะทาง เพราะฉะนั้นการถามอะไรที่ละเอียดมากๆ อาจจะต้องไปคุยกับแพทย์เจ้าของไข้ เราก็ได้แต่ให้กำลังใจว่า ทำในส่วนของเราให้ดีที่สุด ดูแลตัวเองให้ดี สุดท้ายมันจะเป็นยังไงไม่มีใครบอกได้ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำดีที่สุดแล้วค่ะ ก็เลยรู้สึกว่า อย่างน้อยการที่เราทำเพจตรงนี้ขึ้นมา มันก็ช่วยในการให้กำลังใจคนอื่นว่าเขาไม่ได้โดดเดี่ยว และเขาจะได้มีกำลังใจในการรับการรักษาต่อไปค่ะ”


ทำทุกอย่างให้เต็มที่ อย่ารอเงื่อนไข “เพราะชีวิตเป็นความไม่แน่นอน”

“จำได้ว่าสิ่งที่อยากทำมากคือกลับไปทำงาน (หัวเราะ) มันก็จะมีบางวันที่โอ๊ย… วันนี้ไม่อยากไปทำงานเลย เจอแต่ปัญหาเดิมๆ ที่แก้ไม่ได้ ทำให้เราเอากลับมาเครียด แต่พอช่วงที่ป่วยแล้วไม่ได้ทำงาน เรากลับค้นพบว่างานที่เราทำอยู่ มันเป็นงานที่เรารักจริงๆ เราตั้งใจรักษาตัวให้หายเพื่อได้ใช้ชีวิตที่เหลือไปกับงานนี้ ถึงแม้ว่ามันจะเครียดบ้างแต่มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ

เราก็รู้สึกว่ายังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เรายังไม่ได้ทำ ยังมีอีกหลายที่ที่เราไม่เคยได้ไป ช่วงหายแล้วถ้ามีโอกาสก็พยายามเที่ยวให้เยอะขึ้น ไปกินนู่นกินนี่ให้เยอะขึ้น ในตอนที่เรายังแข็งแรง กินได้ ไปไหว เราก็ทำให้เต็มที่

สิ่งแรกที่ชัวร์ว่าแข็งแรงแล้วแล้วรีบไปทำเลยคือไปกินปลาดิบ (หัวเราะ) เพราะเป็นของต้องห้ามเด็ดขาดในช่วงที่ได้รับคีโม ซาซิมิญี่ปุ่นมันเคยเป็นของที่เราชอบกินมาก พอชัวร์ว่าเราแข็งแรง เราก็เลือกร้านซูชิที่เราคิดว่าเราไว้ใจได้แล้วก็ไปกิน

เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าปลาแซลมอนมันอร่อยขนาดนี้ ก็เป็นแค่แซลมอน บ่นแพงบ้าง เลี่ยนบ้าง แต่พอไม่ได้กินเลยมา 6 เดือน เรารู้สึกว่ามันอร่อยมากเลย แล้วก็รอดูว่าตัวเองจะท้องเสียหรือเป็นไข้อะไรหรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นไร ปกติ (ยิ้ม)

ชีวิตเราอาจจะไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย นอกจากการได้ทำอะไรที่เราชอบ โดยที่ไม่ต้องระมัดระวังตัวว่าจะต้องติดเชื้อโรค หรือว่ากินอะไรโดยที่ไม่ต้องมากังวลว่าเราจะท้องเสีย ไข้ขึ้นหรือเปล่า ชีวิตมันอาจจะต้องการแค่นั้นก็ได้

จริงๆ การใช้ชีวิตให้คุ้มมันไม่ใช่จำกัดอยู่แค่การเที่ยวกลางคืนหรืออะไรแบบนี้ มันอาจจะหมายความว่าเรายังไม่ได้ออกไปหาประสบการณ์อะไรหลายๆ อย่าง เมื่อก่อนเราอาจจะกลัวการไปต่างประเทศคนเดียว การลองใช้ชีวิตคนเดียว เดินทางคนเดียว บางทีที่บ้านไม่ว่างไปด้วย เพื่อนไม่ว่างไปด้วย เราก็เลยตัดจบด้วยการไม่ไป ไม่ลอง ไม่ทำ

บางทีเพื่อนนัดกันก็ขี้เกียจไป รถติด ไกล จนถึงวันที่เราแทบจะไม่ได้เจอใครเลยเป็นระยะเวลา 6 เดือน เรารู้สึกว่า การเจอเพื่อนครั้งนึงถึงจะรวมตัวกันได้ไม่เยอะ แต่มันก็เป็นอะไรที่มีความหมาย

เราไม่รู้ว่าการนัดกันครั้งถัดไปจะได้พร้อมหน้าพร้อมตากันแบบนี้อีกหรือเปล่า บางทีมันอาจจะไม่ใช่เรา อาจจะเป็นเพื่อนก็ได้ที่หายไป เรารู้สึกว่าไหนๆ เราก็กลับมาแข็งแรงแล้ว อะไรที่เราอยากทำ ถ้าทำได้ก็คือทำเลย ไม่ต้องรอเงื่อนไขอะไรอีกค่ะ เพราะชีวิตมันก็เป็นความไม่แน่นอนค่ะ”



บทเรียนชีวิต ที่จะไม่กลับไปเรียนซ้ำอีก

หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ขอบคุณโรคร้ายหรืออุปสรรคใดๆ ก็ตามที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเพื่อเป็นบทเรียน แต่สำหรับหมอลูกหมูแล้ว เธอกล่าวอย่างชัดเจนว่า ไม่รู้สึกขอบคุณมะเร็งแม้แต่น้อย มันคือความโชคร้ายที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเธอด้วยซ้ำ แต่เธอก็ยอมรับว่า การป่วยครั้งนี้ ได้ข้อคิดที่ให้เข้าใจชีวิตมากขึ้นเช่นกัน

การเป็นมะเร็งเราไม่รู้สึกขอบคุณมันเลย ก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นความโชคร้ายที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเรา แต่ถามว่ามันสอนอะไรเรามั้ย มันก็เหมือนเป็นเรื่องเรื่องนึงที่ผ่านมาแล้วให้เราได้ตระหนักว่า แล้วหลังจากนี้เราอยากจะมีชีวิตแบบไหน อยากจะใช้ชีวิตแบบไหน มันสอนเราว่า ชีวิตปกติธรรมดาที่เราเคยมีอยู่เดิม ไม่มีอะไรที่แฮปปี้มากมาย แต่แค่นั้นมันก็เป็นชีวิตที่มีความสุขมากแล้วถ้าเทียบกับชีวิตช่วงที่ป่วย

การเดินออกไปปากซอย ไปกินส้มตำ กินโค้กใส่น้ำแข็ง มันเคยเป็นกิจกรรมที่ธรรมดามาก แต่พอเราป่วยแล้วเราไม่สามารถทำแบบนั้นได้ เราโหยหาเรื่องธรรมดาแบบนี้มากๆ เลยรู้สึกว่าในช่วงที่เรายังมีโอกาสที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เราควรจะเห็นคุณค่าของความปกติธรรมดาของชีวิตให้มากขึ้น

เราได้ข้อคิดมาว่า คนเราควรจะมีความสุขให้ง่ายขึ้น ควรจะเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ในวันนี้ให้มากกว่าเดิม เพราะเราไม่รู้เลยว่า วันไหนมันจะเป็นวันสุดท้ายที่เราจะมีชีวิตปกติแบบนี้

ต้องเผื่อใจไว้ตลอดเหมือนกัน เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นระยะไหน โอกาสมากน้อยมันต่างกันแต่มันก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ การกลับมาเป็นซ้ำจริงๆ มันก็ยังมีทางรักษาอยู่ แต่ว่ามันก็เท่ากับเราต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในกระบวนการการรักษาใหม่ เราก็เลยพยายามว่า อยากเจอใครก็ไปเจอ อยากไปไหนก็ไปเลย ไม่ต้องใช้เวลาคิดนาน”



นอกจากนี้แพทย์หญิงวัย 28 ปี ยังเปิดเผยอีกว่า การที่ต้องพักรักษาตัว มีบางช่วงเวลาที่รู้สึกว่าตนเองกลายเป็นคนไร้ประโยชน์ เพราะแต่เดิมนั้นเธอเป็นคนที่ค่อนข้างบ้างาน และตั้งเป้าความสำเร็จในแต่ละวันอย่างชัดเจน

“ธรรมชาติของคนเป็นหมอโดยเฉพาะในแผนกอายุรกรรม ส่วนมากมันเป็นศูนย์รวมของคนบ้างานก็ได้ เพราะตัวเนื้อหาในวิชามันเยอะ และคนไข้ค่อนข้างซับซ้อน เมื่อก่อนความสุขของเรามันขึ้นอยู่กับว่าวันนี้เราทำอะไรสำเร็จบ้าง วันนี้มีคนไข้กลับบ้านได้กี่คน วันนี้ทำหัตถการสำเร็จกี่คน พอทำได้ปุ๊บเราถึงจะรู้สึกว่าวันนี้เราเก่ง เรามีความสุข

เราชินกับการที่ไปทำงานมีอะไรให้ทำทุกวัน ช่วงแรกๆ มันก็เคว้งมาก เรารู้สึกว่าเรากลายเป็นคนที่ไม่มีประโยชน์กับโลกนี้ไปแล้ว ตอนนั้นรู้สึกถึงขนาดนั้นเลย

แต่เราก็กลับมาคิดว่าจริงๆ ตอนนี้ก็แค่มีชีวิตให้รอดไปวันๆ นี่แหละเป็นเป้าหมายที่ใหญ่สำหรับเราแล้ว การที่เราเข้านอนแล้วยังตื่นมาในตอนเช้า อันนี้มันก็ถือเป็นความสำเร็จแล้วนะ มันเป็นผลจากการที่เราดูแลตัวเองดี ไม่ติดเชื้อหรือไม่เป็นอะไรรุนแรงจนตายไปซะก่อน เรารู้สึกว่านี่ไงได้ทำประโยชน์แล้วนะ อย่างน้อยก็ประโยชน์เพื่อครอบครัว เพื่อคนที่รักเรา ก็คือการมีชีวิตอยู่ต่อไป ถ้าเรารักษาตัวเองจนหายได้ เราก็สามารถกลับไปทำอะไรที่เราอยากทำได้

การที่เราอยู่เฉยๆ ช่วงแรกค่อนข้างทรมานใจพอสมควร แต่สุดท้ายเราก็ค่อยๆ พยายามลองดู วาดรูป ดูหนัง หรือว่าหัดทำขนม เราก็รู้สึกว่าบางทีชีวิตคนเราต่อให้มันไม่ได้ productive มันก็ยังเป็นสิ่งที่มีคุณค่านะ เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขไปวันๆ บ้างก็ได้ในบางช่วงเวลา โดยที่ไม่ต้องสร้างผลงานอะไรค่ะ”



[ ผลงานการวาดภาพบางส่วน ]
วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังจากหายป่วยแล้ว คือ work life balance ที่ดีขึ้น รวมถึงการมีเวลาใส่ใจตนเองมากขึ้น ทำให้ค้นพบอีกหนึ่งความชอบใหม่ๆ ขึ้นมาอีกด้วย

“เราก็พยายามเบาๆ ลงบ้างในเรื่องของนอกเวลางาน บางทีต้องบังคับจัดการชีวิตตัวเองเพื่อให้มีเวลาพักผ่อน เรารู้สึกว่ายังไงมันก็เป็นปัจจัยนึงที่สำคัญพอๆ กับการทำงาน วันนี้เราจะอ่านหนังสืออ่านเล่น เราจะดูซีรีส์ เราจะไม่ตอบไลน์เรื่องงาน

มีเป้าหมายเรื่องการเรียนต่อแพทย์ประจำบ้าน เรียนเฉพาะทางค่ะ เตรียมตัวมาตั้งแต่ตอนที่ยังไม่หายป่วย ก็หวังว่าถ้าเราหายขาดแล้วเราก็อยากจะกลับไปเรียนต่อ ตอนนี้ก็คือได้เรียนแล้ว เดี๋ยวเริ่มเรียนเดือนมิถุนาปีนี้ค่ะ

เราก็พยายามหาความชอบของตัวเองมากขึ้น พยายามใส่ใจตัวเองมากขึ้น มันก็มีหลายกิจที่ค้นพบว่าชอบทำแล้วก็ทำได้ดี อย่างเช่นการวาดรูป ช่วงที่เราป่วยไม่รู้จะทำอะไรก็วาดรูปเล่นใน iPad ส่วนมากชอบวาดภาพวิว ภาพดอกไม้ รู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ดีนะ พอหายแล้วเราก็อยากต่อยอดไปเข้า workshop ไปเจอคนที่สนใจอะไรคล้ายๆ กัน อะไรแบบนี้ค่ะ”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย คุณหมอนักสู้โรคร้าย ก็ได้ใช้โอกาสนี้ ฝากกำลังใจและข้อคิดดีๆ ถึงเรื่องของการใช้ชีวิต ที่ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคปัญหาใดๆ ก็ตาม ให้ขอสู้อย่างสุดความสามารถ เพราะสุดท้ายแล้วปลายทางคือการมีชีวิตปกติ นั่นคือสิ่งที่คุ้มค่าและมีความหมายมากที่สุดแล้ว...

“คนเรามันก็มีความโชคร้าย มีปัญหาเป็นของตัวเอง แต่ว่าคนเรามักจะลืมไปว่าชีวิตธรรมดาๆ ตื่นมาออกนอกบ้านไปทำงาน กินข้าวเย็น กลับบ้านมานอน โดยที่หายใจได้ปกติ ไม่มีหายใจเหนื่อย ไม่มีเจ็บปวดตามข้อตรงไหน เขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาไม่ควรจะยินดีกับสิ่งพวกนั้น เพราะมันเป็นเรื่องที่เขาได้รับอยู่แล้ว

แต่ว่าสำหรับคนที่เคยป่วยเป็นอะไรร้ายแรงอย่างเรา เราเคยมีช่วงเวลาที่เราแค่เดินจากตรงนี้ไปหน้าประตูยังแทบไม่มีแรงเลย หรือว่าเป็นช่วงที่เราปวดกระดูกมากจนนอนไม่ได้ แล้วก็มีช่วงที่กินอาหารอะไรก็ไม่รู้รส ไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังเคี้ยวอะไรอยู่ เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่เขามี สิ่งที่เขาเป็น คนที่เขากินข้าวได้ตามปกติ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เขาโชคดีกว่าเรามากๆ แล้ว

เคยมีคำพูดที่ได้ยินมาจากที่ไหนซักที่นึง พูดประมาณว่า บททดสอบที่ท้าทายมันจะถูกส่งมาถึงคนที่สามารถผ่านไปได้เท่านั้น แปลว่า บางทีเราอาจจะเป็นคนที่แข็งแกร่ง จนต้องได้รับบททดสอบที่ยากกว่าคนอื่น แต่ก็ขอให้มั่นใจว่าเมื่อเราได้รับมันมาแล้ว เราก็จะเป็นคนนึงที่จะต้องผ่านมันไปได้

ถึงวันนี้มันจะลำบาก ต้องเจอกับความไม่สบายกายไม่สบายใจหลายอย่าง แต่อยากให้รู้ว่าปลายทาง ซึ่งหมายถึงการกลับมามีชีวิตปกติ มันคุ้มค่าและมีความหมายมาก ก็อยากจะขอให้สู้ค่ะ ดูแลตัวเองให้ดี เรื่องผลการรักษา ถ้าเราดูแลตัวเองดีมันก็มีโอกาสจะออกมาดีมากยิ่งขึ้นค่ะ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





อ่านสัมภาษณ์พิเศษฉบับเต็ม>>> แค่กลับมากินส้มตำได้ก็พิเศษมากแล้ว!! พลิกมุมมอง "คุณหมอรอดมะเร็ง"

สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ : วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “พักก้อน”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น