สรุปดราม่า ยูทูบเบอร์ชื่อดัง แจงคลิปดราม่าขึ้นค่าแรง คนซวยคือผู้ประกอบการ ย้ำ สนับสนุนการขึ้นค่าแรง แต่ต้องทำให้ครบวงจร อีกมุมของนักเศรษฐศาสตร์ แนะมีความเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
กลายเป็นดราม่าสนั่นโซเชียลฯ “ซารต์-ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช” และ “กานต์-อรรถกร รัตนารมย์” ยูทูบเบอร์ชื่อดังช่อง “Bearhug” และเจ้าของธุรกิจชานมไข่มุก และเยลลี่ชื่อดัง ได้ออกมาเผยแพร่คลิปใน TikTok @sunbeary.bearhug ตั้งคำถาม “ทำไมประเทศไทยถึงได้เงินเดือนน้อย?”
ซึ่งเป็นคลิปที่กินอาหารด้วยกันที่ประเทศเกาหลีใต้ แล้วก็พูดถึงเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ทำไมที่ไทยถึงได้น้อย?
ซึ่งซารต์ก็ได้ตอบประเด็นนี้ว่า ขึ้นอยู่กับแหล่งค่าแรงขั้นต่ำ จากนั้นกานต์ ก็เสริมว่า ทำไมถึงจ่ายค่าแรงพนักงานในเงินเดือน 5 หมื่นไม่ได้ ซึ่งซารต์ก็ตอบอีกว่า ถ้าผู้ประกอบการทำแบบนั้นก็เจ๊ง แม้กระทั่งลดลงมาเหลือ 3 หมื่นบาทก็เจ๊ง
จากนั้นกานต์ ก็ถามซารต์ไปอีกว่า ถ้าผู้ประกอบการต้องการต่ายเงินเดือนพนักงานเดือนละ 3 หมื่นบ้าน จะต้องทำยังไง?
“ต้องขายเครื่องดื่มแก้วละ 300-400 บาท ได้วันละ 1,000 แก้ว จ่ายค่าแรงพนักงาน 5 หมื่นบาทได้นะ มันขึ้นอยู่กับว่าค่าแรงตลาดมันเท่าไหร่ ประเทศไทยคนจ่ายค่าชานมได้แค่ 60-70 บาท แพงกว่านี้เขาก็ไม่ดื่ม”
ด้านกานต์ ก็บอกอีกว่า ถ้าอยากจ่ายเงินเดือนพนักงานมากขึ้น ค่า GDP รายได้ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ก็ต้องสูง
นอกจากนี้ ก็มีการโยงไปเรื่องเลือกตั้งว่า ครั้งนี้ นอกจากจะเลือกคนดีแล้ว ก็อยากให้เลือกคนที่นโยบายทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น เพราะถ้าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าไม่มีรายได้เข้าประเทศก็ยาก
“ถ้าคลิปถูกปล่อยช่วงใกล้เลือกตั้ง เราก็ต้องดูด้วยว่า เวลาประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ต้องดูว่าเขาเอาเงินมาจากไหน การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คนที่ซวยคือผู้ประกอบการ วิธีแก้ปัญหาให้อยู่รอดคือ 1. ปลดพนักงานออก 2. ขึ้นราคาสินค้า”
สุดท้ายคุณได้เงินเดือนสูงขึ้น แต่ก็ต้องจ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น เพราะผู้ประกอบการเขาอยู่ไม่ได้ ถ้าทำไม่ครบวงจร มันก็เป็นปัญหาอยู่ดี”
หลังจากคลิปถูกเผยแพร่ออกไป ก็มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา พร้อมทั้งมีการแชร์คลิปออกไปในทวิตเตอร์จนเป็นไวรัล
คนที่ไม่เห็นด้วยก็เข้ามาแย้งกันเพียบ เพราะหลายคนมองว่า ตอนนี้สินค้าทุกอย่าง ราคาเฟ้อไปมากกว่าค่าแรงแล้ว แต่ฐานเงินเดือนยังเท่าเดิม ยังไงก็ต้องขึ้นค่าแรงเพื่อให้ทันเงินเฟ้อ
บางคนแซะว่า ถึงขายชานมแก้วละ 300-400 บาทได้ ผู้ประกอบการเหล่านี้ ก็ไม่คิดจะจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 5 หมื่นบาทอยู่แล้ว
“คนมี mindset แบบนี้ ถึงขายชานมแก้วละ 300-400 ได้ คนพวกนี้จะจ่ายค่าแรงเดือนละ 5 หมื่นเหรอ ที่พูดก็สะท้อนความไม่เห็นใจแรงงานแล้ว รับบทนางสั่งนางสอน บนกองเงินกองทอง จะอ้วก”
“เคยทำงานกับคนอังกฤษที่เป็นที่ปรึกษาบริษัทอะไรแบบนี้ นั่งคุยกันเรื่องค่าแรง แล้วนางก็พูดว่า ถ้าบริษัทจะเจ๊งเพราะขึ้นค่าแรง แปลว่าบริษัทสมควรจะเจ๊งแล้ว เพราะหาทางพัฒนาธุรกิจให้มีกำไรไปมากกว่าการกดค่าแรงไม่ได้ แบบประทับใจ”
นอกจากนี้ มีคนถึงขั้นเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่า ถ้านำเรื่องชานมไข่มุกมาคิด จะพบว่า ชานมไข่มุกไต้หวันแก้วเล็กจะอยู่ที่ราคาประมาณ 95 บาท ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำของไต้หวันจะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาทต่อเดือน
แตกต่างกับไทยที่ชานมไข่มุกแก้วละ 60-70 บาท แต่คนยังได้รับเงินเดือนเพียงแค่ 15,000 บาทเท่านั้น เรียกได้ว่า ราคาของเท่ากัน แต่ค่าแรงต่างกันลิบ
ส่วนบางคนก็มองว่า นี่คือความคิดของคนที่เก่งและฉลาด ฟังแล้วเข้าใจได้ เพราะเป็นความจริงที่เกิดขึ้น
ล่าสุด ยูทูบเบอร์ชื่อดัง พ่วงตำแหน่งเจ้าของธุรกิจชานมแบรนด์ดังที่อยู่ในคลิปที่กำลังเป็นดราม่าอยู่ตอนนี้ ก็ได้ออกมาขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น ที่ทำคลิปสื่อสารออกมาไม่ดี จนสถานการณ์กลายเป็นแบบนี้
พร้อมย้ำว่า สนับสนุนการขึ้นค่าแรง แต่ต้องทำให้ครบวงจร และไม่ได้พาดพิงถึงพรรคใด เพราะคลิปทำล่วงหน้า 2 เดือน
“หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเราไม่สนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ความจริงคือ เราสนับสนุน เพราะทุกวันนี้ค่าครองชีพมันเกินค่าแรงขั้นต่ำไปมากๆ แล้ว
อีกอย่าง บริษัทเรามีการจ่ายเงินเดือนเกินค่าแรงขั้นต่ำไปมากแล้ว เพราะรู้ว่ามันไม่พอสำหรับค่าครองชีพของพวกเขา ส่วนคลิปที่ทำออกมานั้น คือ ทำมาเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่มีนโยบายอะไรออกมา ไม่ได้ตั้งใจจะแขวะพรรคการเมืองไหน
เจตนาที่ทำคลิปคือ ต้องการให้คนดูคิดเลือกพรรคโดยดูเจตนารมณ์และวิธีของเขา เช่น ถ้าจะขึ้นค่าแรง เขาจะขึ้นยังไง และจะขึ้นเมื่อใด แก้ความเหลื่อมล้ำยังไง แก้การผูกขาดยังไง ตนไม่อยากให้ใครหลงนโยบายประชานิยม จึงพูดไปแบบนั้น
สุดท้ายก็กลับมาจุดเดิม ถ้ารัฐบาลแก้ปัญหาไม่ครบวงจร ปัญหาก็ยังคงมีอยู่ดี เช่น ขึ้นค่าแรง แต่ไม่มีนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้อยู่รอด สุดท้ายเขาก็ต้องขึ้นราคาสินค้า แล้วประชาชนก็จ่ายค่าสินค้าแพงขึ้น”
เป็นที่ถกเถียงกันอยู่ตลอด สำหรับค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย เพราะปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 328-354 บาท ซึ่งหลายคนมองว่า น้อยมากถ้าเทียบกับค่าครองชีพ
“รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ” อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำไว้ว่า ถ้าปรับค่าแรงขั้นต่ำจาก 328-354 บาท ขึ้นเป็น 600 บาท ในช่วงปี 66-70
ซึ่งเฉลี่ยปรับขึ้นปีละ 50 บาท ถือว่าหนักสำหรับผู้ประกอบการ หรือนายจ้างบางกลุ่ม ที่มีรายน้อยเดือดร้อนแน่นอน แต่ถ้าเศรษฐกิจดี “จีดีพี” โต 5% การปรับขึ้นค่าจ้างปีละ 50 บาท อาจจะไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลหน้าคือจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจดี
อีกมุมของนักเศรษฐศาสตร์ “รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงไว้ว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำมีความเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นแบบขั้นบันได
“หากพิจารณาตามหลักมาตรฐานสากลแล้วนั้น การขึ้นค่าแรงในไทย แรงงาน 1 คน ดูแลคน 3 คน จะต้องขึ้นไปถึง 712 บาท ต้องเป็นค่าจ้างเพื่อชีวิตที่ไม่ใช่เพียงชีวิตคนทำงานเท่านั้น
อีกทั้งการขึ้นค่าแรง อยากให้ตั้งคำถามกับบริษัทใหญ่ๆ หรือบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย ทำไมประเทศอื่นๆ ที่ไปตั้งบริษัทสามารถจ้างแรงงานสูงๆ ได้ แต่ทำไมพอมาจ้างแรงงานไทยถึงจ่ายไม่ได้ รัฐบาลต้องมองในเรื่องนี้ร่วมด้วย”
สอดคล้องกับ “ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยบอกไว้ว่า แรงงานไทย มีค่าครองชีพมากกว่าค่าแรงที่ได้รับ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องขึ้นค่าแรงงานให้แก่แรงงานไทย แต่ต้องขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะถ้าขึ้นทันทีจะเกิดผลกระทบหลายภาคส่วน
“การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น สามารถเป็นไปได้ แต่ต้องขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากหากขึ้นทันทีจะมีผลกระทบเกิดขึ้นมากมาย และการขึ้นค่าแรง ไม่ใช่มองเฉพาะเรื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง แต่ต้องมองส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย
อย่างในอดีต มีการเพิ่มค่าแรง เพื่อให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น แต่สุดท้ายค่าครองชีพก็ขึ้นมากกว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้น ต้องสร้างโมเดลที่ทำให้ทุกคนยิ้มได้ และการขึ้นค่าแรงควรเป็นแบบไตรภาคี รวมถึงรัฐบาลต้องทำให้กำลังซื้อของประเทศฟื้นตัว”
ขอบคุณภาพ : TikTok @sunbeary.bearhug
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **