...จ่ายเพิ่มหลักพัน+สอนให้เด็กนั่งจนชิน ดีกว่าคิดว่า "รู้งี้" ในวันที่สายไป...
เป็นอุทาหรณ์ครั้งใหญ่ โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กเล็ก จากอุบัติเหตุเศร้าเมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ของรถกระบะป้ายแดง ที่ขับชนขอบทางด่วนพิเศษ กาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์)
ทำให้ “น้องกันต์” เด็กชายวัย 6 ขวบ ซึ่งเป็นลูกชายคนโตที่หลับอยู่เบาะหลัง กระเด็นทะลุกระจก ตกลงเบื้องล่างด้วยความสูง 50 เมตร กระแทกพื้นเสียชีวิต
สำหรับสาเหตุของอุบัติเหตุนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ของผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์และกองพิสูจน์หลักฐาน ว่าเกิดจากปัญหาของตัวรถหรือสาเหตุอื่นๆ
ขณะเดียวกัน จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของน้องกันต์ ก็ได้นำไปสู่การตั้งคำถามของคนในสังคม ถึงความสำคัญของ “คาร์ซีท”อีกครั้ง
เพราะเมื่อราวกลางปีที่แล้ว บ้านเราได้มีการพูดถึง พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 กำหนดให้ผู้โดยสารอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องนั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย (คาร์ซีท) หากฝ่าฝืนอาจถูกปรับถึง 2,000 บาท
ในตอนนั้น สังคมเกิดข้อถกเถียงต่อกฎหมายดังกล่าวออกเป็น 2 มุม โดยฝั่งแรกมองว่า คาร์ซีท มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะช่วยรักษาชีวิตของเด็กได้หากเกิดอุบัติเหตุ แถมยังได้รับการยอมรับด้านความปลอดภัยจากทั่วโลก
ขณะที่อีกด้าน ให้ความคิดเห็นว่า คาร์ซีท เป็นของสิ้นเปลือง โดยเฉพาะครอบครัวหาเช้ากินค่ำที่มีลูกเล็กหลายคน เพราะสินค้าดังกล่าว มีราคาเฉลี่ยตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ที่กล่าวไว้ในงาน "ม.มหิดลห่วงใยเด็กปลอดภัยเมื่อใช้คาร์ซีท" สะท้อนให้เห็นถึงอันตราย หากเด็กต้องโดยสารรถยนต์ ที่ไม่ได้ติดตั้งคาร์ซีทไว้
"เมื่อรถเคลื่อนตัวมาด้วยความเร็วระดับหนึ่ง เมื่อเปลี่ยนแปลงความเร็วกระทันหัน เช่น 80-100 กม./ชม. เป็น 0 จากการชน เบรก กระแทกต่างๆ ทั้งสิ่งของและคนในรถจะเคลื่อนที่ต่อด้วยความเร็วเท่าเดิม ก็จะเหินทะลุกระจกออกนอกรถ ต้องมีระบบยึดเหนี่ยว ซึ่งรถยนต์ทุกประเภทมีระบบยึดเหนี่ยว ที่เป็นมาตรฐานระบบเดียวคือ เข็มขัดนิรภัย"
แต่เข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ทุกรุ่นทุกประเภท ไม่สามารถใช้ได้สำหรับเด็กที่สูงน้อยกว่า 135 ซม.หรือ 9 ขวบจึงไม่สามารถโฆษณาว่าเป็นรถครอบครัวได้ ตราบใดที่ไม่แนะนำให้มีระบบยึดเหนี่ยวเพิ่มเติม หรือที่นั่งนิรภัย ผู้ขายมีหน้าที่และความรับผิดชอบ หากโฆษณาว่าเป็นรถครอบครัวถือว่าผิด ต้องขอให้หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคลงไปตรวจสอบเรื่องนี้
สำหรับที่นั่งนิรภัยหรือที่นั่งเสริม กรณีเด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ จะเป็นแบบที่นั่งที่หันไปด้านหลังรถ มีระบบยึดเหนี่ยวตัวเด็กและยึดที่นั่งกับตัวรถ อายุ 2-6 ปี จะเป็นแบบหันไปด้านหน้ารถ มีระบบยึดตัวเด็กและยึดที่นั่งกับรถ ส่วนอายุ 4-11 ปี จะมีแบบที่นั่งเสริม ที่ใช้เข็มขัดนิรภัยล็อกเด็กไปพร้อมกับที่นั่ง
ส่วนรถกระบะที่ไม่มีที่นั่งตอนหลัง ถ้านำที่นั่งนิรภัยมาติดตั้งตอนหน้า สามารถติดตั้งได้ แต่จะต้อง ไม่มีถุงลมนิรภัยด้านข้างคนขับ หรือเป็นรุ่นที่ปิดการทำงานได้
เพราะถ้าวางที่นั่งนิรภัยลงไป จะเหมือนแม่อุ้มลูกนั่งบนตัก เมื่อถุงลมระเบิดออกมาจะกระแทกตัวเด็ก ทำให้เด็กบาดเจ็บและเสียชีวิตได้
"การกำหนดให้ใช้คาร์ซีท เป็นกฎหมายแบบละเมิดสิทธิ เป็นการใช้อำนาจเพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่จะต้องไม่เป็นภาระให้ประชาชนด้วย”
“ดังนั้น รัฐจึงได้ลดภาษีนำเข้า ทำให้ราคาในท้องตลาดลดลงต่ำมาก ในระดับมาตรฐานพอใช้ได้ ราคาพันกว่าบาท หากเทียบกับราคารถยนต์แล้วต่างกันมาก แต่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมสนับสนุนประชาชนเข้าถึงมากขึ้น" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า เด็กไทยใช้คาร์ซีท เพียงร้อยละ 3.46 เท่านั้น
ขณะที่ องค์การอนามัยโลก สนับสนุนการใช้ที่นั่งนิรภัยในรถยนต์สำหรับเด็ก ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 70%
ถึงจะมี "กฎหมายคาร์ซีท"ออกมาแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการบังคับใช้
แต่หากครอบครัวไหนติดตั้งไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะห้ามนำรถมาขับ เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูกในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม
ส่วนแนวทางปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยงนั้น สามารถทำได้โดยการขับชิดซ้าย ใช้ความเร็วจำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ควรเข้ามาดูแลในเรื่องของราคาของสินค้าดังกล่าว เพื่อที่ประชาชนจะได้เข้าถึงความปลอดภัยได้มากยิ่งขึ้น และไม่เกิดเหตุสลดตามมาอีก
เรียบเรียง : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **