xs
xsm
sm
md
lg

ดุดันไม่เกรงใจใคร!! “กฤตย” นักลงเสียงระดับโลก เสียงสร้างเงิน-เฉลี่ยงานละแสน [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “นักลงเสียงโฆษณา” โชว์ความสามารถถ่ายทอดอารมณ์เสียงพากย์เป็นไวรัล “ดุดันไม่เกรงใจใคร” จนคนดูทะลักหลักล้านภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง พร้อมสะท้อนอาชีพ “ศิลปิน” ที่ไม่เคยได้รับการเห็นค่า แต่เป็นฟันเฟืองในงานระดับโลก






เปิดเบื้องหลัง “ดุดันไม่เกรงใจใคร”


“ดุดันไม่เกรงใจใคร...” นาทีนี้ต้องยกให้!! เรียกได้ว่าชาวสังคมออนไลน์ฯ คงไม่มีใครไม่รู้จัก กับสุดยอดไวรัลโฆษณารถยนต์ ‘Ford Ranger Raptor (ฟอร์ด เรนเจอร์)

โดยเจ้าของเสียงคุ้นหูนี้คือ "กฤตย-สุขวัฒก์"  หรือ KRITTONE นักลงเสียงโฆษณา ผู้ที่ใช้เสียงถ่ายทอดอารมณ์และจินตนาการสู่ผู้ฟัง จนทำให้เกิดกระแสฮิต มีคนทำคลิปเลียนแบบเสียงมากที่สุดในตอนนี้ ส่งให้วันนี้เขากลายเป็นผู้มีอิทธิพลในวงการเสียง และทำให้แบรนด์รถดังกล่าวเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

และเมื่อโลกออนไลน์อย่างแอปพลิเคชันต่างๆ ได้เป็นเหมือนใบเบิกทางให้กฤตยได้กล้าออกมาเปิดตัวเอง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น ของการเข้าสู่วงการ TikTok มีคนติดตามกว่า 8 แสนคนของหนุ่มคนนี้

ซึ่งใครจะรู้ล่ะว่า ในเส้นทางชีวิตของนักลงเสียงโฆษณาไฟแรงผู้อยู่เบื้องหลังเสียงในโฆษณา 68 ประเทศทั่วโลก ก็มีชีวิตดุดัน ไม่ต่างจากเสียงที่เปล่งออกมาของเขาเลย


“จะมีคนหนึ่งใน TikTok ชื่อว่า Bew and Pleng เขาชอบล้อเลียนผมอยู่แล้ว พอเขาทำวิดีโอของเขาขึ้นมา ว่าเขาเจอรถกระบะ และมีอีกคนหนึ่ง เขาก็จะพูดฟอร์ดเรนเจอร์แรปเตอร์กลางถนน

ผมก็เห็นอันนี้สองสามวิดีโอ ซึ่งตอนแรกคนจะใช้คำว่าวิดีโอที่ล้อเลียนผม ผมก็เลยทำวิดีโอหนึ่งที่เป็น Top วิดีโอที่ล้อเลียนผมมาด้วยกัน ผมก็เอา 2-3 วิดีโอที่ผมคิดว่าตลกที่สุด แล้วผมก็เขียนไปว่าผู้หญิงคนนี้เป็นโรคบริดจสโตน เพราะเขาเจอฟอร์ดที่ไหน เขาต้องพูดว่าดุดันไม่เกรงใจใครที่นั่น 

ก็เลยมีคนทำต่ออีก ซึ่งตอนหลังจากคำว่าล้อเลียน มันกลายเป็นคำว่า cover จนมันเยอะ จนแบบคนไม่รู้เลยว่ามันมาจากไหนด้วยซ้ำ 

ผมก็เลยอัปโหลดคลิปที่ผมลงเสียงโฆษณาตัวนี้เดี่ยวๆ อีกทีหนึ่งใน TikTok จริงๆ คลิปนี้มีอยู่แล้ว ที่แฝงเอาไว้ในวิดีโอของผม เหมือนเป็นตัวอย่างว่าพอผมลงเสียงโฆษณาเป็นแบบนี้นะ แต่มันไม่มีเดี่ยวๆ ผมก็เลยอัปโหลดเดี่ยวๆ เลย

แล้ววันนั้น 3 ชั่วโมง ก็ได้ 3 ล้านวิวครับ เพราะหลายๆ คน คือไม่รู้เลยว่าที่คนไปตะโกนดุดัน เพื่ออะไร ก็เลยถือว่าเป็นอะไรที่แปลกใจอยู่ ไม่ได้กะว่ามันจะมาถึงจุดนี้ 

หลายคนจะรู้จักผมจากจุดนั้น แต่ว่าจริงๆ คือก่อนหน้านั้นมันก็มีคนกลุ่มหนึ่งแล้วที่รู้ว่าผมทำอะไร แต่มันก็ดี เพราะมันจะทำให้ทุกคนรู้จักผม”


ด้วยความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งน้ำเสียงที่แข็งแรง กล้ามแขนหนักแน่นในเสื้อสีเขียวที่นั่งอยู่ตรงหน้าผู้สัมภาษณ์นั้น เรียกได้ว่าสร้างปรากฏการณ์ทำให้สังคมหันมาสนใจอาชีพขายเสียงมากยิ่งขึ้น 

“ผมไปเดินมอเตอร์โชว์กับเพื่อนๆ นักแสดง 2-3 คน แต่กลายเป็นมีคนมาถ่ายรูปผม มากกว่ามาถ่ายรูปกับนักแสดงที่ไม่เคยเจอมาก่อน จำได้ว่าเดินได้มากสุดคือ 8 ก้าว ก่อนที่จะหยุดถ่ายรูปกับใคร

แล้วผมไปนครนายกมา 2 วันก่อน ไปถ่ายรายการ แค่ไปหยุดที่ปั๊มน้ำมันก็มีคนรู้จัก แล้ว พอไปในป่าเป็นโรงแรมเรา ที่เราไปตอน 5 ทุ่ม ตอนนั้นไม่มีใครอยู่แล้ว มีแค่ 1 คนที่เอากุญแจมาให้เราตอนนั้น

เขาก็ทักว่าใช้ฟอร์ดเรนเจอร์ใช่เปล่า ทำให้เรารู้สึกว่าทุกคนรู้จักว่าผมเป็นใคร เขาอาจจะไม่ follow ผม แต่เขาก็รู้แล้วว่าคนนี้เป็นนักลงเสียง ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ดี เพราะก่อนหน้านั้นหลายคนจะไม่รู้จักว่านักลงเสียงคืออะไรด้วยซ้ำ 

สิ่งที่ผมทำ ผมก็รู้สึกว่าผมโปรโมตอาชีพของผมไปในตัว มันไม่ได้เกี่ยวว่าโปรโมตตัวเอง เพราะผมมีงานเยอะอยู่แล้ว คือผมถือว่าผมไม่ได้พยายามโปรโมตตัวเองอยู่ ตอนที่เข้ามาใน TIKTOK คือผมต้องการโปรโมตสายอาชีพของผม

เพราะว่าในสายงานของผม ผมเชื่อว่าหลายคนรู้จักผมอยู่แล้ว แต่ผมต้องการให้คนทั่วไปรู้จักว่านักลงเสียงคืออะไร เพราะผมรู้สึกว่าในประเทศไทยนักลงเสียงพอไม่มีคนรู้จัก ก็จะไม่ค่อยมีคนเห็นว่าเราก็เป็นศิลปินเหมือนกัน

อย่างเรื่องราคา เรามีคำว่าลิขสิทธิ์ในภาษาไทย แต่ไม่เคยคุยเรื่องลิขสิทธิ์เลย จ่ายทีเดียวจบหายไปเลย อย่างเช่นคนที่อยู่หน้ากล้อง เมืองไทยจะมีคำว่าเบื้องหน้าเบื้องหลังแต่ไม่รู้ว่ามีเพราะอะไร แต่ถ้าคุณเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโฆษณาคุณก็จะได้เงินค่อนข้างจะเยอะ

แล้วก็จะใช้ 1 ปี-2 ปี ก็จะมีการคุยกัน แต่สำหรับงานลงเสียง ไม่มีใครคุยกันเลยว่าต้องใช้ระยะขนาดไหน จะใช้กี่ประเทศ ผมก็อยากให้คนเห็นว่าเราก็เป็นศิลปินเหมือนกัน ก็ช่วยทำอะไรให้มันยุติธรรมหน่อย”





“ภูมิแพ้” อุปสรรคหลักที่ฝ่าฟัน



“โรคภูมิแพ้จริงๆ คือ ผมเป็นแต่เกิดอยู่แล้ว บางวันที่กินอะไรที่ไม่ถูกกับเรา เจออากาศไม่ค่อยดีอย่าง PM 2.5 ทำให้หลอดลมตีบ เพราะมันบวมจากข้างใน ฉะนั้นจะหายใจค่อนข้างจะยาก พอทำงานก็จะเหนื่อยหน่อยครับ

ต้องฉีดยากระตุ้นภูมิแพ้ ยาที่เราแพ้ใส่เข้าไปในเส้นเลือด ก็จะหนักอยู่ มันก็เหมือนเรากำลังจะตายทุกวัน ดังนั้นมันทำให้เราเหนื่อยตอนทำงาน เพราะเราต้องหายใจทำงาน มันก็แปลก และตลก ที่ผมต้องเป็นคนที่ทำงานที่ต้องใช้การหายใจ แต่หายใจยาก มันก็เป็น challenge หนึ่งที่ต้องเจอ

แต่ตอนที่ผมลงเสียงก็เสียงเหมือนเดิม แต่ว่ามันแค่เหนื่อยกว่าเดิม เพราะออกซิเจนเข้าไปได้น้อยหน่อย
ส่วนบ้านหมุนผมตอบคอมเมนต์เยอะใน Tiktok และตัดวิดีโอก็จะต้องตัดเสียงด้วย ดังนั้นไฟเข้าไปในตา ซึ่งตาติดกับสมอง พอเข้าไปเยอะๆ บางทีมันก็ทำให้เกิดไมเกรนได้ แล้วอาการต่อมาของผมคือบ้านหมุน”






ตัวตึง “เสียง” จุดขายสินค้าระดับโลก


แล้วอะไรที่ทำให้เขาตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางลงเสียงโฆษณามากว่า 12 ปี คงไม่ใช่เหตุผลแค่เพียงชอบแน่ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมาเอาดีด้านการขายเสียง ทว่า สิ่งที่เซอร์ไพร์สเราเข้าไปอีก คือการที่ได้รู้ว่าแรงบันดาลใจ เกิดขึ้นจากการเข้าไปฝึกงาน

“ตอนนั้นฝึกงานอยู่ แล้วพี่ที่ฝึกงาน ชื่อว่าพี่จีจี้ที่เขาดูแลเรา เขาให้ลองลงเสียง แต่กลายเป็นว่าผมไปลงเสียงงานที่เขาเอาไป pitch เสียงโฆษณาพอดี

แล้วลูกค้าคือ ปตท. เขาบอกว่าอยากได้เสียงเดิมที่คุณ pitch โฆษณามา อยากได้เสียงนั้นเลย ก็เลยได้ไปลงเสียงจริงครับ ตอนนั้นพอไปลงเสียงจำได้ว่า 5-6 คำ ได้ 2 หมื่นบาท ผมก็เลยมองว่านั่นเป็นงานของเรา

คือ ต้องบอกว่าตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย ไม่ทราบว่าตัวเองอยากจะทำอะไร แค่ทราบว่าไม่อยากทำงานอยู่ในออฟฟิศ

ถามว่าเคยไหม ก็เคย เคยไปทำทีหนึ่ง ไปทำงานแล้วไปกินข้าวเที่ยงที่ตลาด แล้วกลับมาทำงานต่อ อันนี้ก็เคยลองแล้วมันไม่ใช่สไตล์ของเราเอง ก็เลยคิดว่าเป็นงานอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่อยู่ในออฟฟิศ ซึ่งงานนี้ผมก็ไม่ได้อยู่ในออฟฟิศ อยู่ในสตูดิโอแทน”

[ตัวอย่างงานลงเสียงอินเตอร์]
แน่นอนว่า โอกาสคงไม่เข้ามาหาถ้าไม่เปิดช่องไว้ ตอนนั้นทำให้เขาได้รับโอกาสจากลูกค้าในบริษัทที่เข้าไปฝึกงาน ซึ่งเมื่อถามกฤตยถึงเอกลักษณ์ตัวตน ที่สร้างอรรถรสผ่านเสียงพากย์จนทำให้ได้รับงานพากย์มานี้คืออะไร และในบรรทัดต่อจากนี้คือคำตอบของเขา ที่เปรยออกมาอย่างตรงไปตรงมา 

“ในคาแรกเตอร์ของผมจะได้ลงเสียงผลิตภัณฑ์ที่ค่อนข้างจะแมนๆ ดังนั้นจะมาทางพวกรถที่เป็นกระบะ แล้วตัวฟอร์ดเป็นกระบะที่ถือว่า hi-end ที่สุดในรถกระบะต่างๆ ราคาก็แพงตามนั้นด้วย ก่อนหน้านี้ก็มี 2-3 คน ที่เราคุยโทรศัพท์ด้วย แล้วเขาบอกว่าเสียงดีนะ หรือว่าตอนที่เราอยู่มหาวิทยาลัย แล้วเราพรีเซ็นต์งานหน้าห้อง มีคนบอกว่าเสียงมึงเท่นะ แต่มันก็แค่นั้น มันก็แค่คน 2 คน สุดท้ายเราจะคิดว่าเสียงเราเท่ดีหรือไม่ดี มันพูดยาก เพราะว่าเสียงของเราเป็นเสียงที่ได้ยินทุกวัน มันเป็นเสียงที่น่าเบื่อที่สุด ดีไม่ดีมันขึ้นอยู่กับลูกค้า ขึ้นกับคนฟัง”


กว่าจะเป็นคนที่ใครๆ อยากเห็นหน้า อยากรู้จักเขามากที่สุดอย่างวันนี้ และมีรายได้เข้าอย่างต่อเนื่อง หากย้อนกลับไปไม่ใช่เรื่องง่าย

“คือตอนแรกผมจะมีงานค่อนข้างจะน้อยหน่อย กว่าจะมีลูกค้าเพิ่มมันยาก พอทำงานกับ ปตท. เขาก็พาเราไปที่สตูดิโอนี้เราลงเสียง สตูดิโอนั้นก็รู้จักเรา แต่บางทีเขาอาจจะเปลี่ยนสตูดิโอ

ฉะนั้นอีกสตูดิโอก็รู้จักเรา พอสตูดิโอนี้รู้จักเรา ลูกค้าของเขาบอกอยากได้เสียงแบบนี้ สตูดิโอนั้นเขาก็อาจจะเอาเสียงของเราไปขาย สตูดิโอนั้นก็ปิดไป ก็ไม่มีคนรู้จักเราแล้ว มันเลยใช้เวลานานมากกว่าที่ทุกๆ สตูดิโอจะรู้จักเรา

แล้วลูกค้าทุกคนจะรู้จักเรา เพราะว่าพอเป็นงานเสียง ถ้าเราไปดูโฆษณาบนโฆษณาเก่าๆ บน YouTube มันจะมีจะขึ้นมาว่า 3… 2… 1… กลมดำๆ แล้วบางทีมันจะมีขึ้นมาว่า Director คือใคร นักแสดงคือใคร เอเยนซีไหนที่เป็นคนผลิตตรงนี้

แต่มันจะไม่มีชื่อนักลงเสียงคือใคร ไม่มีใครมองเราเป็นศิลปิน ดังนั้นถึงแม้คนจะชอบผลงานของเราใช่ไหมครับ เขาก็อาจจะไม่ทราบว่าเราคือใคร ได้ยินแต่เสียงในทีวี โฆษณาตัวแรกของผมออกช่อง 3 ทั้งประเทศเลย แต่ไม่มีใครทราบว่าเสียงที่อยู่ในโฆษณานี้มันคือใคร”




ฝ่าเบื้องหลัง ไทย VS ต่างประเทศ ให้ค่าที่เงิน!!


อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ากฤตยเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของงานโฆษณาอีก 68 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการตีโจทย์ และการสื่อสารผ่าน “เสียง” ของไทยและต่างประเทศมีความแตกต่างกัน

“ในต่างประเทศจะต้องออดิชันเพื่อได้งาน เพราะการแข่งขันมันสูง บางทีเราไม่ได้รับโอกาสที่จะออดิชันด้วย ถ้าเราไม่ได้อยู่เอเยนซีตัว Top

ผมอยู่กับบริษัทเอเยนซีใน LA มันก็จะมี Trailer หนัง หรือเกมที่เขาจะส่งมา เขาจะเลือกคนที่เขาคิดว่าน่าจะเหมาะกับตรงนี้ ดังนั้นหัวหน้าเอเยนซีต้องเลือกเราก่อน

อย่างล่าสุดผมต้องไปลงเสียงออดิชันให้เกมยิงปืนอันหนึ่ง ที่ค่อนข้างจะดังมาก ลงเสียงไปก็จะมีรอบแรก รอบสอง เขาก็จะมาบอกว่าเราติด Top 5 หรือเปล่า กี่หมื่นเหรียญก็ว่าไป

มันมีการออดิชันเยอะกว่า เป็นการทำงานฟรีบ่อยกว่า แล้วงานก็จะได้น้อยกว่า จะได้งาน 1-2 ต่อเดือน แต่ได้ทีละเป็นแสนๆ 

แต่กลับของไทยเราอาจจะได้น้อยกว่า แต่ทุกครั้งที่เราเข้าสตูดิโอ มันคือเป็นการทำงานที่เราได้เงิน ได้ค่าตอบแทน มันก็มีข้อดีข้อเสียของมันครับ

สำหรับผมถึงแม้ค่าตอบแทนในประเทศไทยค่อนข้างจะน้อยกว่า ความเครียดมันก็จะน้อยกว่าด้วย เพราะว่าถ้าเราออดิชันไป 100 ครั้งต่อเดือน แล้วเราได้แค่ 1-2 งาน มันคือการเฟลซ้ำๆ แล้วไม่เฟลทีหนึ่ง มันก็จะเป็นความเฟลทุกวัน เลยมองว่าแบบนี้ก็โอเค

ในเมืองไทยเราไม่ต้องแคส เพราะว่าโฆษณาเขาจะเลือกจากตัวอย่างงานของเรา ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ดีกว่า การแคสติ้งมันต้องใช้เวลา บางทีใช้เวลา 10 ครั้งต่อวัน เหมือนเราทำงานฟรี

แต่ในเมืองไทยลูกค้าเลือกตัวอย่างของเรา มันหมายความว่าเราไม่มีอะไรที่จะทำได้เลย ที่จะไปดีกว่าคนอื่น หรือแข่งกับคนอื่น

เพราะไม่ใช่เรา 2 คน นั่งอ่านสคริปต์อันเดียวกัน แล้วใครออกมาดีกว่า อันนี้คือการแข่งขัน รูปแบบนั้นถือว่ามีคู่แข่ง แต่ส่วนนี้มีคนมาดูตัวอย่างเสียง แล้วก็เลือกเอาไปเลย มันขึ้นอยู่กับโชค”


นอกจากเรื่องเงินที่แตกต่างในมูลค่า อีกทั้งในต่างประเทศจะให้ความสำคัญในงานตัวศิลปิน เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจจะไม่รู้ในอาชีพนี้คือ การลงเสียงโฆษณานั้นจะไม่มีการเตรียมตัวมาก่อน เพราะการผลิตโฆษณาสักตัวนั้นจะค่อนข้างเป็นความลับ จึงทำให้ไม่สามารถรู้สคริปต์ได้ก่อนวันอัด 

“ถ้าเป็นเมืองไทย เอเยนซีเขาจะติดต่อห้องเสียงสตูดิโอ แล้วขอตัวอย่างทุกครั้งก่อนที่เขาจะทำโฆษณา เพราะฉะนั้นสตูดิโอก็จะทำงานเหมือนเป็นโมเดลลิ่งให้เราไปด้วย สตูดิโอเขาอัดเสียง และเป็นเหมือนโมเดลลิ่งด้วย

ถ้าเรารู้จักกับสตูดิโอหลายๆ ที่ มันก็เหมือนเรามีโมเดลลิ่งหลายๆ ที่ ที่รอ present เราอยู่ ถ้าเป็นของต่างประเทศ คือเอเยนซีคือเอเยนซี สตูดิโอคือสตูดิโอ ดังนั้นเอเยนซีก็จะพยายามคุยราคาให้เราดีที่สุด แล้วเขาก็จะเก็บเปอร์เซ็นต์ไปเลย ส่วนเมืองไทยเขาจะไม่มีมายุ่งกับรายได้ที่เราได้ 

ในเมืองไทยถ้าเป็นการลงเสียงเราคุยกันเป็นหลักหมื่น แต่ถ้าเป็นอเมริกาก็คุยเป็นหลักหมื่นเหมือนกัน แต่เป็นหมื่นเหรียญ มันแตกต่างกว่า 30 เท่าเลย

รายได้มันพูดยาก บางวันจะเป็น 80,000-90,000 บาท แต่ถ้าแสนหนงก็จะเหนื่อยหน่อยแต่ก็มี บางงาน 1 แสนกว่าก็มี แต่หลักๆ แล้วธรรมดาก็จะได้วันละ 3-4 งาน ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ว่าจะเป็นงานยาว หรืองานสั้น ถ้าเป็นงานยาวที่มีหลายตัว เช่น แคมเปญที่มี 5-6 ตัว มี 15-30 วิฯ งานนั้นก็จะได้เยอะหน่อย 

ดังนั้นผมพูดยากว่าเดือนหนึ่งได้รายได้เท่าไหร่ วันหนึ่งได้เท่าไหร่ แต่ผมก็โชว์อยู่ใน TikTok ว่าแต่ละงานจะหนักประมาณนี้

สมมติเราเป็นคนที่พอใจกับเงิน 2 หมื่นต่อเดือน เรารับงาน 2 งานต่อเดือน มันก็โอเคเหมือนกัน เพราะว่าตอนที่ผมเด็กๆ ตอนนั้นจบจากมหาวิทยาลัย เขาน่าจะได้ประมาณ 15,000 ต่อเดือน ซึ่งผมก็รู้สึกว่าถ้าผมทำงานแค่ลงเสียงแค่ 1 อัน อาจจะได้มากกว่านั้นก็ได้

ถ้าเราพอใจกับตรงนั้น มันก็แค่นั้น ถ้าเราอยากได้งานเยอะหน่อย มันก็หนักหน่อย เพราะต้องไปหลายสตูดิโอต่อวัน”





พากย์เสียงสุดแปลก!! …ยินดีต้อนรับสู่คุก/b>



“งานที่แปลกที่สุด เอาจริงๆ มันมีเยอะเลย เพราะว่าผมทำงานตอนนี้คุยกับลูกค้าอยู่ 68 ประเทศ มันมีงานทุกแบบเลย แต่ว่าอันที่ผมจำได้รู้สึกแปลกๆ ก็ เป็นงานลงเสียงให้กับคุกในประเทศไทยนี่แหละ เป็นภาษาอังกฤษคือพอชาวต่างชาติเข้ามาใช่ไหม ประเทศเขาอาจจะมีอาหารให้กินมีห้องแอร์ดีๆ อยู่

เราก็อธิบายเขาฟังว่าโอเคแบบ ยินดีต้อนรับสู่คุกของเรา คุณอาจจะต้องโดนใช้แรงงานนิดหนึ่ง ถ้าครอบครัวคุณอยากมาเจอ ต้องทำอย่างนี้ ถ้าอยากมีอาหารกิน ก็ต้องทำอย่างนี้”






เสียงบันดาลแรง ช่วยเหลือคนไร้งาน!!


ด้วยความที่กฤตยเป็นคนที่เคยผ่านความยากลำบาก และเป็นหัวหน้าครอบครัวการอัดคลิปเสียงผ่านช่องทาง TikTok ของเขานั้น ยอมรับว่าการเช็กคอมเมนต์เป็นสิ่งที่สำคัญ ในการทำคอนเทนต์ และพูดคุยกับผู้ติดตาม ทำให้เขาเล็งเห็นถึงอาชีพมีส่วนในการช่วยเหลือสร้างรายได้ให้คนไม่มีงาน

“คือจะมีคนคอมเมนต์มาใน TikTok ของผมว่ามีปัญหาต่างๆ ดูแลผู้ป่วยอยู่ที่บ้านแล้วต้องการรายได้เพิ่ม ผมอยากเป็นนักลงเสียง ผมก็โอเค ถ้าเขาขอมาอย่างนี้ ผมก็ต้องจัดการให้

ผมไม่ได้อยากจะมาเป็นครูสอน แล้วคิดเงินคนเพื่อที่มาเรียน เพราะผมไม่ได้คิดว่าผมเป็นคนที่สอนเก่งนะครับ ตอนแรกผมก็ตอบว่าผมไม่ได้สอน

มีคนมาบอกให้สอนในการลงเสียงเยอะมากใน TikTok แต่ผมก็ปฏิเสธมาตลอด จนเจอแม่ชีคนหนึ่ง ที่เขาบอกว่าเขาบวชชีเพื่อที่จะดูแลคุณแม่ของเขาที่เป็นแม่ชีเหมือนกัน เพราะคุณแม่เขาต้องฟอกไตทุกวัน เลยต้องมีงานทำ


คือถ้าสึกออกไปแล้ว ก็อยากจะมีงานทำ ที่ทำได้ที่บ้าน ผมก็เลยมีความคิดว่าขอมาแบบนี้ ผมก็ต้องจัดการให้ ต้องบอกว่าผมไม่ได้เป็นคนสอนเก่งนัก ผมก็เกณฑ์เพื่อนๆ นักลงเสียงอีก 10 กว่าคนมาช่วยกันสอนใน class นี้ เราก็เปิดรับ 5 คนที่เป็นคนธรรมดา กับ 5 คนที่อาจจะมีกรณีพิเศษ อย่างเช่นดูแลใครอยู่ที่บ้าน ดูแลครอบครัว หรืออาจจะไม่สบาย บางคนเป็นมะเร็ง

ผมรู้ว่างานนี้มันสำคัญสำหรับคนที่ไปทำงานประจำไม่ได้ เพราะว่าคุณแม่ผมเองโดนรถชน ตอนผมอายุ 20 ผมไม่ได้อยู่กับพ่อ

ถ้าผมไม่มีงานแบบนี้ อย่างการลงเสียง ไปรับงานตรงนั้นตรงนี้ กลับบ้านได้ มันจะเป็นชีวิตที่ค่อนข้างลำบากกว่านี้เยอะ

ก็รู้สึกว่าอยากจะให้สกิลนี้ไปกับคนอื่นๆ ที่เขาต้องการจริงๆ เพราะว่าเขาไม่สามารถไปทำงานนอกบ้านได้”



เกิดเสียงบันดาลแรงสร้างรายได้ มองอาชีพในมุมมองใหม่ “ก็มีหลายคนที่ได้เริ่มได้งาน แล้วมีบางคนที่ไม่ได้เข้า workshop แต่ว่ามันจะมี 5 คนใช่ไหมที่เรารับเป็นใครก็ได้ อีก 5 คนคือคนที่มีกรณีพิเศษ ไม่ว่าเขาจะดูแลตัวเองป่วยอยู่ที่บ้าน หรือดูแลผู้อื่น แต่เราก็เลือกเก่งที่สุดจากทั้ง 2 กลุ่มนี้มา ซึ่งอย่างที่บอกไปถ้าเขามี skill ประมาณ 90% อยู่แล้ว เราช่วยแนะนำได้ภายในวันนั้น เราก็จะเชิญมา

บางคนถ้าเก่งสุดยอด 100% เลย อย่างนี้เราก็ไม่ได้เชิญมา เพราะเราก็รู้สึกว่าเราอาจจะไม่มีอะไรให้เขา เขาแค่ต้องไปทำเดโมของตัวเอง หาสตูดิโอทำ

คือบางคนก่อนที่จะได้เข้า workshop ของผมด้วยซ้ำ เขาก็ได้งานด้วย เพราะคนเห็นเขามาดูเอ็ต หรือบางคนเห็นเขาพยายามลงเสียงโฆษณาเป็นตัวอย่างใน TIKTOK ตัวเอง เห็นเกิดขึ้นแบบนี้เยอะ แล้วลูกค้าเข้ามาทางนั้นเลยก็มีครับ

สุดท้ายมันก็เกี่ยวกับการโปรโมตตัวเองด้วย ให้คนรู้ว่าเสียงของเราเป็นแบบนี้ จำเราได้ หลายคนคิดว่าคุณต้องมีพรสวรรค์ คุณต้องมีเสียงอะไรพิเศษรึเปล่า

คือผมมีเสียงแบบนี้ ผมก็ได้งานที่ผมได้ แต่เสียงแบบอื่นๆ มันก็จะเหมาะกับงานแบบอื่น เช่น ให้ผมไปบทบาทอะไรที่มันไม่ได้เหมาะกับเสียงผม ผมก็ไม่ใช่คนที่เหมาะที่สุดสำหรับบทนั้น”


ท้ายที่สุดแล้วแม้ลูกค้าจะตัดสินใจเลือกเสียงมาใช้ในโฆษณา แต่ก็ไม่ได้แปลว่าการเป็นนักอาชีพลงเสียงนั้นจะไม่เกิดขึ้นกับทุกคนที่พยายามฝึกฝน และมุ่งมั่นไม่หยุดพัฒนาเช่นเขาคนนี้

“หลายคนจะคิดว่าเราต้องไปเรียน จริงๆ มันไม่ต้องไปเรียนเยอะแยะ เราแค่ลองทำตามแบบโฆษณาที่เราเห็นดู แต่ว่าเป็นตัวของเราเอง เป็นเสียงของเราเอง

และถ้าลูกค้าเขาเห็นว่าเราเข้ากับ product ของเขา หรือว่าโฆษณาตัวนั้นๆ ของเขาที่กำลังทำอยู่ เขาก็จะจ้างเราไปเองครับ
วิธีฝึกเสียงที่ดีที่สุด คือดูนักลงเสียงคนอื่นๆ เขาลงเสียงยังไง เพราะบางทีเราเจอบรรทัดนี้แล้วในสไตล์ของเรา เราอาจจะลงแบบนี้ แต่เราไม่รู้ว่าคนอื่นเขาลงยังไง เขาเน้นคำไหน เขาใส่อารมณ์ที่คำไหน เพื่อที่จะได้ดูความแตกต่าง

แล้วเราจะได้รู้ว่าบรรทัดที่เราคิดว่ามันต้องลงแบบนี้ จริงๆ แล้วมันลงแบบอื่นก็ได้ ถ้าเรารู้หลายเทคนิค รู้หลายสไตล์ มันก็จะทำให้เรามีไอเดียได้เยอะขึ้น เวลาเราได้ไปทำงานของเราเองครับ”


ท้อไม่ได้!! … “ครอบครัว”= แรงผลัก



หลายคนคิดว่าทำงาน อาจจะมีความเบื่อ แต่ว่าต้องบอกว่างานของผมไม่จำเจ เพราะว่าทุกงานมันแตกต่างกันหมดเลย ทุกงานมันเป็น product คนละแบบ ทุกงานเหมือนเป็น challenge ใหม่ๆ ให้เราได้ทำ

ซึ่งมันเลยไม่มีความจำเจ บางทีมีความจำเจแค่เราได้คุยกับลูกค้า แล้วลูกค้าเขาอาจจะไม่ได้เก่งนัก ส่งสคริปต์นี้มา แล้วเราอ่านแล้ว เขาบอกให้แก้ให้หน่อย แล้วผมก็ไม่มีเวลาจะแก้ เพราะว่าคิวมันค่อนข้างจะเยอะ

แม่ผมโดนรถชน ส่วนผมก็ไม่สบายไป ตอนนั้นผมก็ยังเด็กอยู่ แม่ทำงาน ผมยังไม่ทำงาน ตอนนั้นอยู่มหาวิทยาลัยอยู่ ซึ่งมันถามว่ามันท้อไหม มันก็ท้อ ที่จะเห็นคุณยายมาช่วยเลี้ยงดูแม่ เพราะผมจะได้ไปมหาวิทยาลัย

คือบางทีผมรู้สึกว่าอยากอยู่กับแม่ช่วยยาย เพราะคุณแม่กำลังจะหัดเดินใหม่ โดยเฉพาะคุณยายผมอายุเยอะแล้ว ผมยังมีแรง อยากไปอยู่ตรงนั้น แต่ว่ามันจะยากตรงที่ต้องไปเรียน เพราะวันหนึ่งผมต้องทำงานแล้วเลี้ยงดูทุกคน

เหมือนรู้สึกว่าไม่ได้ช่วยยาย แล้วต้องมาทำอะไรแบบนี้ ซึ่งพอเรามีเพื่อนๆ มหาวิทยาลัย เขาก็จะไปเที่ยวกัน ไปโน่นนี่นั่น ถ้าเราไปเราก็จะรู้สึกไม่ค่อยดี เราไปเที่ยว

เราไม่มีสิทธิ์ที่จะ enjoy เพราะว่า mission ของเรา ต้องหาเลี้ยงครอบครัว เลยไม่ได้มีความสุขเยอะนัก คือเราไม่มีสิทธิ์มีความสุข

ผมสู้อยู่ทุกวันครับ คือจะเครียดช่วงแรกๆ ถ้าไม่มีงาน เงินเราก็จะน้อยกว่า แต่สมัยนี้ถ้าคุณยายบอกว่าอยากกินอันนี้ แต่ไม่ได้ซื้อ เพราะประหยัดเงิน ผมก็โอนให้ 1 แสน อยากใช้เท่าไหร่ก็ใช้ ขอแค่อย่ากินของที่ไขมันสูง เพราะความดันจะขึ้น หวานน้อยๆ และเค็มน้อยๆ แต่ไม่ต้องประหยัด เพราะอายุเท่านั้นแล้ว ผมรู้สึกว่าไม่อยากให้ต้องมา save เงิน

ผมเลยรู้สึกดีที่เป็นลูกชาย หลานชาย ที่ทำให้คุณแม่คุณยายได้ และนี่คือสาเหตุที่ผมไม่หยุดทำงานเลย หรือคิดที่จะไปเที่ยว เพราะเรามีหน้าที่อยู่ที่เราต้องทำครับ”












สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม @Krittone, TikTok @krittone และเฟซบุ๊ก “Krit Tone Sukawat”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น