xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.จุ๋ง” วิเคราะห์จากประสบการณ์ “เหยื่อเทือกเขาหิมาลัย” 2 รายล่าสุด “แพ้ความสูง-หิมะกัด-เสียชีวิต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิ่งข้ามภูเขาหิมาลัยคนแรกของไทย สะท้อนความหฤโหด “เทือกเขาหิมาลัย” หลังเหตุ 2 นักท่องเที่ยวหญิงชาวไทย เสียชีวิตขณะร่วมทริปวิบาก ย้ำ ต้องฝึกฝนหนัก-รู้ลิมิตร่างกายตนเอง ก่อนพิชิตเทือกเขาที่สูงที่สุดของโลก!!

เส้นทางโหดเทือกเขาหิมาลัย พรากชีวิต 2 หญิงไทย

กลายเป็นข่าวเศร้าข้ามประเทศ เมื่อ MT Everest Today สื่อท้องถิ่นของเนปาล รายงานว่า มีนักท่องเที่ยวหญิงชาวไทย 2 คน อายุ 49 ปี และ 37 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 65 ตามเวลาท้องถิ่น ระหว่างการเดินเขาระยะไกลแบบวิบาก บนเส้นทาง trekking ของภูเขา อันนะปุรณะ (Annapurna) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ประเทศเนปาล

ในขณะเดินทางกลับจากการขึ้นไปถึงทะเลสาบ ทิลิโช (Tilicho) ทะเลสาบที่สูงที่สุดในโลก เหนือระดับน้ำทะเล 4,919 เมตร หญิงไทยทั้งสองรายมีอาการป่วยและได้รับบาดเจ็บ ก่อนจะเสียชีวิตบริเวณตีนเขา เมโสกันโต ลา พาส (Mesokanto La Pass) ที่อยู่บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,200 เมตร


ขณะนี้ร่างของ 2 หญิงไทยได้รับการลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์มายังกรุงกาฐมาณฑุ เพื่อรอการชันสูตรพลิกศพต่อไป และมีรายงานอีกว่า ผู้ร่วมในคณะเดินทางวิบากทั้งหมด 22 คนนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวหญิงอีก 2 คน ล้มป่วยเนื่องด้วยสภาพอากาศหนาวจัดและได้รับบาดเจ็บอีกด้วย โดยทั้งคู่ได้รับการช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเส้นทาง trekking เนปาลนั้น เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่นักผจญภัยต้องการที่จะไปพิชิตกัน นอกเหนือจากความสวยงามของทิวทัศน์เทือกเขาหิมาลัยแล้ว ยังเต็มไปด้วยความอันตรายในทุกก้าวที่เหยียบย่างไป

เกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ ชุมพล ครุฑแก้วหรือ ดร.จุ๋งนายกสมาคมวิ่งเทรลไทย นักวิ่งสายโหดผู้เคยสร้างประวัติศาสตร์ วิ่งระยะทาง 1,600 กิโลเมตร ตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ข้ามประเทศเนปาล ความสูงสะสม 88,000 เมตร ในเวลา 48 วัน เพื่อมาสะท้อนถึงความหฤโหดของเส้นทางสายนี้ให้เห็นภาพ


“จากข่าวเรายังไม่รู้รายละเอียดการเสียชีวิต แต่แน่นอนครับสภาพร่างกายแต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งที่อันตรายคือ อาการแพ้ความสูง Acute Mountain Sickness เวลาเราขึ้นไปที่สูงๆ ความกดอากาศมันต่ำกว่าข้างล่างเยอะ อุณหภูมิต่ำ แห้ง เวลาเราหายใจเข้าไป ความเจือจางของอากาศ ออกซิเจนก็จะเข้าปอดเราได้น้อยลง ก็จะมีอาการต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

เวียนหัว กินข้าวไม่ได้ อาเจียน ถ้าคนที่หนักเป็นแล้วเดินลงไม่ทัน หนักสุดก็มีโอกาสถึงขั้นเสียชีวิตคนท้องถิ่นที่เรียกว่า เชอร์ปาขึ้นไปถ้าเขารู้ตัวจะรีบเดินลงทันที เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง

ขึ้นไปอยู่ที่สูงมีความหนาวด้วย หิมะตกด้วย ก็จะยิ่งหนาวมาก ปลายนิ้วกับปลายเท้าก็เริ่มที่จะขาดเลือด ก็มีอาการที่เราเรียกกันว่า หิมะกัด Frostbite ร่างกายเรามีเลือดไปเลี้ยงเพื่อความอบอุ่นส่วนต่างๆ คือ ปลายแขน ปลายขา นิ้วเท้า แต่ส่วนปลายไปเลี้ยงได้ยาก

อันตรายจาก Frostbite ถ้าเคยเห็นจากภาพทั่วไป ปลายนิ้วจะเริ่มดำ แล้วจะมีอาการปวด ต้องรีบลงมาให้ความอบอุ่น แต่ว่าต้องเป็นขั้นตอน ถ้าทำไม่ดีอาจจะต้องถึงขนาดตัดปลายนิ้วเท้า ปลายนิ้วมือออก ถ้ามันลามมาถึงมืออาจจะต้องตัดมือออก ก็มีโอกาสครับ”


[ จุ๋ง-ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว ]
ความอันตรายไม่เพียงแค่สภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่โหดร้ายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง “อุบัติเหตุ” ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

“ที่ผมไปมันไม่ใช่เส้นทางนักท่องเที่ยว เราข้ามภูเขาไปเรื่อยๆ จากตะวันออกสุดไปตะวันตกสุด แต่ผมไม่แน่ใจว่าในเคสนี้เกิดอะไรบ้าง ดูตามภาพข่าวมันเป็นการเดินตามเส้นทาง trekking มีไกด์นำ

แม้จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยว พอขึ้นไปที่สูงมันก็มีโอกาสที่เส้นทางจะเปลี่ยนได้ตลอด มีหิมะถล่ม เส้นทางพังทลาย เพราะฉะนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุจากเส้นทางที่มันลำบากก็ได้ พอมีอาการไม่ดี มีบาดเจ็บ ก็อาจจะทำให้เดินช้าลง ประสบภัยหนาวได้มากขึ้น ก็คงจะร่วมกันด้วย”

ต้องรู้ลิมิตก่อนพิชิต “เทือกเขาหิมาลัย”

ถามถึงการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะไปพิชิตเทือกเขาหิมาลัย กูรูวิ่งวิบาก เปิดเผยว่า ควรฝึกฝนและค่อยๆ เพิ่มระดับความสูง เพื่อให้ร่างกายชินกับการอยู่กับสภาพอากาศที่แตกต่างจากพื้นราบทั่วไป และแม้จะเดินทางไปกับคณะก็ไม่ควรประมาทโดยเด็ดขาด เพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

“สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมเชื่อว่า คนที่ไปทุกคนได้รับการถ่ายทอด หรือเรียนรู้ว่าจะต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง บางคนกว่าจะไปตรงนั้นได้ ต้องลองขึ้น อย่างประเทศไทย ยอดดอยอินทนนท์ 2,500 เมตร มีอาการอะไรมั้ย จากนั้นอาจจะไปที่ประเทศเพื่อนบ้านสูง 3,000-4,000 เมตร ถ้าเรารู้ตัวก่อนก็จะรู้ว่า เราเป็นคนที่มีความรู้สึกหรืออ่อนไหวกับความสูงแค่ไหน จะได้เตรียมตัวไว้


ก่อนที่จะไปของจริง ถ้าเราได้ไปทดลองก่อน เพื่อให้เรารับทราบตัวเองแล้วก็หาทางแก้ไข ถ้ารู้ว่าแพ้ความสูง เราก็ต้องยิ่งเตรียมเผื่อเวลาในการปรับตัวให้มากที่สุด ต้องปรึกษาแพทย์หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องศึกษาข้อมูลพอสมควร ฝึกซ้อมเพื่อให้ร่างกายเราเคยชินกับสภาพครับ

ในเคสของผมมันไปคล้ายๆ ผจญภัย มันต้องเตรียมไว้ เพราะเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดได้เสมอ แต่ในเคสที่มีคนจัดทริป เขาก็คงจะเลือกเส้นทางที่ค่อนข้างจะปลอดภัยกว่า แต่อย่างที่ผมบอกไป ขึ้นไปสูงขนาดนั้น ธรรมชาติมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันได้ตลอด การที่มีความพร้อมเรื่องของการเอาตัวรอด เพื่อจะหลีกหนีอุปสรรค มันก็จำเป็นอยู่แล้ว

ปกติแล้ว ถ้าคนรู้ตัว ไกด์เขาก็รู้ว่าแต่ละคนพื้นฐานไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเวลาเดินเขาจะค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไป แล้วก็ไปพักค้างคืน ก่อนจะพักค้างคืนก็อาจจะเดินขึ้นเขาใกล้ๆ ที่พัก ขึ้นไป 500 เมตร แล้วก็ลงมา เพื่อปรับความสูง กลับมานอนพักก่อนคืนนึง แล้วก็เดินขึ้นเป็นสเตปไป”


ขณะเดียวกัน แม้เส้นทางจะเต็มไปด้วยอันตรายและอุปสรรค แต่ด้วยธรรมชาติระหว่างทางที่งดงาม ก็อดไม่ได้ที่อยากจะกลับไปสัมผัสอีกสักครั้ง

“ในหิมาลัยมันเป็นประสบการณ์ชีวิตซึ่งเราคงหาโอกาสยาก แม้แต่ประเทศไทย เราไม่มีพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูงมากอยู่แล้ว ยุโรปก็สูงประมาณ 4,000 กว่าเมตร แต่พอเป็นเนปาล ระดับความสูงยอดเขาเอเวอเรสต์ 8,000 กว่า ถ้าทั่วไปจะได้ไปสูงประมาณ 5,000 เมตร มันเป็นเรื่องของคนที่ต้องฝึก น้อยคนมากที่ได้ไป ไปแล้วก็ข้ามเทือกเขา

เวลาเราเดินแล้วข้ามเทือกเขา ไม่จำเป็นต้องข้ามจุดสูงสุด ตรงไหนก็ได้ที่มันเป็นสันเขา เขาเรียกว่า pass ช่องเขา ซึ่งมันเป็นจุดสูงสุดของการเดินทาง ตรงนั้นคือสิ่งที่เราต้องเตรียมตัว ถ้าผ่านไม่ได้เราต้องทำใจว่าต้องลงนะ

แน่นอนว่า ความสวยงามของธรรมชาติ มันมีได้หลากหลาย ไม่ต้องสูงมากก็สวยงามได้ แต่ลักษณะโดดเด่นของเทือกเขาหิมาลัย เราไปทั้งทีเราก็อยากจะเดินข้ามเทือกเขาไปเรื่อยๆ มันได้เห็นวิวที่สวยงาม เวลาเราอยู่ที่จุดสูงสุด เราก็จะเห็นวิวของเทือกเขาที่อยู่ไกลหรือใกล้ได้ชัดเจนมากกว่า ก็เป็นความงดงามที่ทุกคนใฝ่ฝัน เคยไปแล้วก็อยากไปอีกครับ”


สุดท้าย นักวิ่งข้ามภูเขาหิมาลัยคนแรกของเมืองไทย ก็ได้ฝากคำแนะนำถึงนักผจญภัยทั้งหลาย หากรักในกิจกรรมนี้ สิ่งสำคัญคือ อย่าฝืนร่างกายตัวเอง

“อย่างแรก เราต้องศึกษาข้อมูลว่าการจะไปตรงนี้ เราต้องเตรียมพร้อมยังไงบ้าง แต่เราก็รับประกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่า ร่างกายเรามันจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า เราอาจจะมีโรคเฉพาะบุคคล หรือสรีระร่างกายพิเศษกว่าคนอื่นก็ได้ คำว่าพิเศษอาจจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี เราอาจจะฟิตกว่าคนอื่นก็ได้ แต่ถ้าในแง่ลบ เราอาจจะ sensitive กว่าคนอื่น ต้องระวังตรงนี้

แต่คงไม่ใช่การศึกษาอย่างเดียว ต้องทดลองเป็นขั้นๆ ด้วย การไปเดิน ผมคิดว่าถ้าเราเริ่มมีอาการ ต้องบอกกับไกด์ให้ดี ถ้าเป็นไปได้เราสามารถแยกตัวออกมาได้มั้ย มีกลุ่มเร็ว กลุ่มช้า กลุ่มที่พร้อมขึ้นก่อน เขาก็ไปก่อนได้ แต่ถ้าเรามีอาการ ถ้าเราไม่มีความพร้อมจริงๆ หรือมีความกังวลว่าไม่ควรจะไปต่อ เราก็อาจเที่ยวถึงจุดที่ไปได้แล้วก็ลงมาพัก

ไม่ควรฝืน ต้องเป็นขั้นเป็นตอน ผมคิดว่า ก่อนที่เราจะไปถึงระดับ 4,000-5,000 เมตร เราควรทดลองในหลายๆ ที่ก่อนแล้วค่อยยกระดับความสูงขึ้นไป เพื่อให้เราเรียนรู้ที่จะฟังร่างกายตัวเอง เพราะอาการหลายๆ อย่าง คนอื่นไม่สามารถรับรู้ได้

เราจะต้องฝึกฝนและเรียนรู้ที่จะปรับสภาพร่างกายตัวเอง เครื่องมือต่างๆ มันก็ช่วยได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้ร่างกายตัวเองว่าอาการขนาดนี้ใกล้ลิมิตเราแล้วนะ ถึงจุดที่เราโอเคแล้วก็ค่อยๆ เพิ่มลิมิตของความสูงไปเรื่อยๆ ครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพและข้อมูลเพิ่มเติม : MT Everest Today, เฟซบุ๊ก “Jung Chumphol Krootkaew” และ “บันทึกสองเท้า”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น