ใครว่าเรื่องไกลตัว!! สะพานกลับรถพระราม 2 ถล่ม พราก 2 ชีวิต อุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่ไม่มีใครอยากให้เกิด ด้านอดีตนายกสภาวิศวกร สะท้อน งานเล็ก-ใหญ่ เสี่ยงหมด แต่มาตรฐานความปลอดภัยการก่อสร้างในไทยมีน้อยเหลือเกิน!!
เกิดบ่อยเกินไป!! อุบัติเหตุจากการก่อสร้างในไทย
“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับมาตรฐานการก่อสร้างและความปลอดภัยน้อยเหลือเกิน จึงเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำซาก อุบัติเหตุจากการก่อสร้างในประเทศไทยเกิดขึ้นบ่อยจริงๆ
สาเหตุที่เกิดขึ้นมองได้ชัดๆ คือ มักจะมีความประมาทบวกกับความไม่รู้ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ใครจะคิดว่าขับรถไปแล้วมีอะไรหล่นลงมาใส่ ที่บางปะกงก็โดนอีก หรือว่าขับรถไปที่มีก่อสร้างรถไฟฟ้าก็หล่นใส่ประจำ
ตั้งแต่ผมทำงานให้ วสท.(วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย) ทำงานให้สภา ไปไม่รู้กี่ที่ก็เจอซ้ำแล้วซ้ำอีก ถ้าเกิดเราย้อนเวลาไปได้ เรื่องพวกนี้มันก็มาจากไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน เอาความเก๋า ความเชื่อ กับเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างมันไม่ได้เลย มันเป็นงานเทคนิค”
“ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ดร.เอ้” อดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live
สืบเนื่องจากกรณีที่สังคมกำลังให้ความสนใจในขณะนี้ กับเหตุการณ์สะพานกลับรถถนนพระราม 2 หน้าโรงพยาบาลวิภาราม จ.สมุทรสาคร ที่กำลังปิดปรับปรุง ถล่มลงมาทับรถยนต์ที่กำลังสัญจรอยู่ เมื่อ 31 ก.ค. 2565 โดยสะพานดังกล่าวมีอายุการใช้งานมาแล้วเกือบ 30 ปี
ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย แบ่งเป็นประชาชนในรถเกิดเหตุเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย และเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงที่กำลังซ่อมแซมถนน ตกลงมาพร้อมแผ่นปูนเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 ราย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้สร้างความหวาดหวั่นให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นอย่างมาก เพราะแค่เพียง ก.ค.ที่ผ่านมานั้น เกิดเรื่องลักษณะนี้มาแล้ว คือ ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @cutiePuddsy โพสต์คลิปวิดีโออุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 พบวัสดุก่อสร้าง คือ ชิ้นส่วนนั่งร้านเหล็กร่วงลงบนถนน ทำให้รถที่ผ่านมาได้รับความเสียหาย 3 คัน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 3 คน
และอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ เมื่อหลังคาด่านเก็บเงินทางด่วน บริเวณด่านบางปะกง มุ่งหน้าพัทยา ได้พังถล่มลงมา แต่เบื้องต้นไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งนี่ยังไม่รวมถึงหลากหลายอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อีกนับไม่ถ้วน ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ที่ดูจะมีน้อยนิดเหลือเกิน...
ขณะที่ทางด้านของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้กล่าวถึงอุบัติเหตุครั้งนี้ ว่า อาจเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ หรือ Human error ซึ่งก็ต้องรอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ โดยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และให้รายงานกลับมาภายใน 14 วัน
ล่าสุด กรมทางหลวง ได้เปิดช่องทางพิเศษถนนพระราม 2 ให้รถวิ่งสวนทางขาออกกรุงเทพฯ 1 ช่องจราจร ระบายรถที่ติดยาวเหยียดหลังเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว และสั่งถอดคานสะพานกลับรถที่เหลือออกก่อนทั้งหมด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.เอ้ สะท้อนว่า แม้โครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่จะมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่ก็ต้องได้รับการซ่อมบำรุงอย่างเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งต้องให้ความสำคัญรอบด้าน ทั้งตัวโครงสร้าง ผู้ที่เข้าไปซ่อมบำรุง และที่ลืมไม่ได้เด็ดขาด คือ การกันพื้นที่โดยรอบให้เรียบร้อย
[ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ]
“โครงสร้างคอนกรีตสำเร็จอยู่ได้เป็นร้อยปีครับ แต่ไม่ใช่หมายความว่าร้อยกว่าปีจะปล่อยไป มันต้องมีการซ่อมบำรุงตามมาตรฐาน มีระยะการดูแลอยู่ บังเอิญตรงนี้ที่เขาทำเพราะทางกลับรถคนใช้เยอะ ทางโค้งมันมีการเสียดสีเวลาเลี้ยว ยางล้อรถมันเสียดสีกับผิวทาง ผิวทางมันก็ร่อน เขาก็อยากจะทำใหม่ เผอิญรื้อไปรื้อมาคานข้างล่างมันหล่นลงมา
กรณีพระราม 2 อันดับแรก ถ้ามีการซ่อมแซมโครงสร้างจะต้องปิดถนน ต่อมามาตรฐานเขาบอกเลยว่า วิธีการที่คนจะขึ้นไปที่มีความสูง นี่มีคนตกลงมาเสียชีวิต ข้างล่างก็ตายข้างบนก็ตาย แสดงว่าคนทำงานข้างบนไม่มีอุปกรณ์เกี่ยวเลย
เท่านั้นไม่พอ มาตรฐานในการซ่อมแซมโครงสร้างที่เป็นคอนกรีตสำเร็จ เป็นสะพานแบบนี้ควรจะทำอะไรก่อน 1-2-3 ก่อนที่จะรื้อพื้นออก ควรจะมีค้ำยันมั้ย ไม่ใช่รื้อพื้นออกแล้วไม่มีค้ำยัน คานอาจจะพลิกได้
ปัญหาของประเทศไทย คือ เราไม่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานการก่อสร้างและมาตรฐานความปลอดภัยเลย แต่ก็ใช่ว่าในต่างประเทศจะไม่เกิด Human error เกิดขึ้นได้ทุกที่ครับ เนื่องจากมาตรฐานเรื่องทาง เรามักจะนำมาจากอเมริกาเป็นส่วนใหญ่ ยุโรปบ้างก็มี หรือแม้แต่ญี่ปุ่นก็มาตรฐานสูง หน่วยงานที่ทำเกี่ยวกับเรื่องถนนต่างๆ ก็มีมาตรฐานอยู่”
งานเล็กงานใหญ่ ความปลอดภัยต้องมาก่อน
แม้ในตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่ทำให้สะพานกลับรถดังกล่าวพังถล่มลงมา ตอนนี้จึงมีเพียงสมมติฐานเบื้องต้นที่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป
“ตรงนี้ยังไม่มีใครรู้ได้ ข้อมูลที่ได้ก็เป็นข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศ จากคำบอกเล่า รวมทั้งคลิปวิดีโอ เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสมมติฐานเบื้องต้น กรมทางหลวงบอกว่าเวลารื้อพื้นถนนที่ทับคานทั้ง 5 ตัวออก น้ำหนักกดทับมันหายไปอาจจะเกิดการเคลื่อนตัวได้ กรมทางหลวงยังให้ความสำคัญกับเรื่องของความชื้น ฝน อาจจะไปเพิ่มน้ำหนัก ก็เป็นไปได้
ประเด็นที่วิศวกรหลายๆ คนเห็นรูป ตอนที่เอาพื้นออกไปมันไปทำร้ายความมั่นคงของโครงสร้าง โดยเฉพาะคานตัวสุดท้ายที่มีกำแพงกันหล่นติดอยู่ ซึ่งกำแพงมันสูง แต่ก่อนมีพื้นคอยดึงอยู่ พอไม่มีพื้นเชื่อมยึดแล้วมันก็พลิกหัวคะเมนได้เลย
เช่นเดียวกัน ก็ยังมีอีกสมมติฐานบอกว่า ถนนพระราม 2 รถสิบล้อวิ่งเยอะ ทางที่ห้อยอยู่มันอาจจะได้รับแรงสั่นสะเทือน มีการเขย่าจากการใช้รถเยอะไปหมด ซึ่งทางตรงนั้นไม่มีพื้นคอยค้ำด้วยแล้วก็ยิ่งเสี่ยงครับ
และสุดท้าย มีสมมติฐานที่ว่า มีไฟไหม้ช่วงปี 47 มันอาจจะทำร้ายคานตรงนั้นมาแล้วก็ได้ หรือคานมันอยู่มานาน อาจจะมีการเสื่อมสภาพก็ได้ ทำให้ทุกอย่างมาบรรจบกัน สุดท้ายมันก็พลิกหล่นลงมา เป็นสมมติฐานที่ต้องพิสูจน์ไปทีละข้อ”
นอกจากนี้ อดีตนายกสภาวิศวกร ยังให้ข้อมูลถึงวิธีหาสาเหตุการพังทลายของทุกโครงสร้าง โดยแบ่ง 4 ขั้นตอนตามมาตรฐาน
“เมื่อมีเหตุพังทลายเรื่องโครงสร้างใดๆ คนรับผิดชอบมีดังต่อไปนี้ 1. เจ้าของงาน 2. ผู้รับเหมาก่อสร้าง 3. ผู้ควบคุมงาน แต่ถ้าวิเคราะห์ลึกลงไป วิธีการที่จะดูว่าการพังทลายของโครงสร้างมันมาจากไหน นี่คือ หลักการทางด้านนิติวิศวกรรม ดู 4 ข้อก็จะหาคำตอบได้
ข้อที่ 1 กรณีนี้มันซ่อมแซม แต่เวลามีอะไรพังถ้าเกิดระหว่างการก่อสร้าง ออกแบบถูกมั้ย ถ้าวิศวกรออกแบบคำนวณผิด สร้างไปก็พัง จากที่ตรงนี้ต้องใช้เสาเข็มขนาดนี้ดันใช้เสาเข็มขนาดเล็ก ใช้คานเล็กเกินมันก็พัง
แต่ถ้าเกิดเขาออกแบบถูก ให้มาข้อที่ 2 การก่อสร้าง ยกตัวอย่าง ผู้รับเหมาได้ใส่เหล็ก 20 เส้น ตามที่บอกมั้ย หรือใส่แค่ 10 เส้นแล้วเหล็กก็บางกว่ามาตรฐานมันก็พัง ถ้าออกแบบถูก ก่อสร้างผิด มันก็พังได้เหมือนกัน
แต่ถ้าเกิดออกแบบถูก ก่อสร้างถูก มาข้อที่ 3 ยกตัวอย่าง เขาออกแบบตึกแถวให้พักอาศัยแต่ดันไปเปลี่ยนเป็นโรงงาน เอาเครื่องจักรมาไว้ชั้น 2 ชั้น 3 ก็พังได้ หรือออกแบบถนนให้รถปกติ ดันมีรถบรรทุกน้ำหนักเกินถนนก็พัง คือ ใช้งานผิดประเภท
แต่ถ้าเกิด 1-2-3 ทำถูกหมด มาดูข้อที่ 4 คือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ออกแบบยังไงเจอพายุฝนเป็นปีๆ น้ำท่วม ดินถล่ม หรือไฟไหม้ ก็พังได้เหมือนกัน
ในกรณีที่พัง ออกแบบไม่เกี่ยว เพราะออกแบบมานานแล้วมันอยู่ได้ มาข้อ 2 แล้วล่ะว่าวิธีการก่อสร้างมันมีปัญหาอะไรหรือเปล่า หรือข้อ 4 ฝนตกหนักมั้ย อาจจะเป็นปัจจัยก็ได้ ก็ต้องไปดูกันที่รายละเอียดครับ”
ท้ายที่สุดนี้ ในฐานะวิศวกร ดร.เอ้ ก็ได้ฝากถึงคนทำงานในสายงานเดียวกัน ทุกงานก่อสร้างต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตทั้งตนเองและประชาชนมาเป็นอันดับแรก
“อยากจะฝากว่า พวกเราอาชีพวิศวกรหรืองานช่าง ไม่ใช่ก็จะมาทำได้ เราเป็นช่างเพราะเราเรียนมาตามหลักวิศวกรรมให้ดูมาตรฐาน เพราะฉะนั้นแล้วอยากจะบอกถึงคนทำงานก่อสร้างทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่ ทำตามมาตรฐานการก่อสร้างและความปลอดภัย เหมือนวิศวกรในประเทศอื่นๆ ที่เขาพัฒนา
งานทุกงานก็มีความเสี่ยง ความเสี่ยงนี้อาจจะไม่ได้เสี่ยงเฉพาะประชาชน อาจจะเสี่ยงถึงชีวิตท่านก็ได้ ก็ขอเตือนท่านทุกคนว่าจะปฏิบัติหน้าที่การก่อสร้าง ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่า ไฟฟ้า เครื่องกล โยธา เคมี อะไรก็แล้วแต่ ขอให้ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “กรมทางหลวง”, “ตำรวจทางหลวง” และ “ประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **