xs
xsm
sm
md
lg

เจาะคอนเสิร์ตยุคดิจิทัล “BLACKPINK Metaverse” กับหลากศิลปินระดับโลก “ใกล้ชิด-เหมือนจริง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวบลิงค์ถูกใจสิ่งนี้!! แชร์สนั่น BLACKPINK กับ “คอนเสิร์ตใน metaverse” ประสบการณ์ดูคอนเสิร์ตแนวใหม่ “อยู่หน้าจอ-ไม่ต้องเดินทาง-สนุกกับเพื่อนได้-ใกล้ชิดศิลปิน” ด้านกูรูสื่อดิจิทัล เผย อนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีจะช่วยจากความรู้สึกเสมือนจริง ใกล้เคียงความรู้สึกจริงมากขึ้นไปอีก!!

“คอนเสิร์ตเสมือนจริง” ศิลปินปรับตัวทั่วโลก

ตามหน้าฟีดในโลกโซเชียลฯ ตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ หันไปทางไหนก็เต็มไปด้วยภาพสาวๆ BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปแดนกิมจิ ในลักษณะของ avatar หรือ กราฟิกที่ถูกสร้างขึ้นใช้แทนบุคคลในโลกเสมือนจริง

โดยเฉพาะภาพของสาวลิซ่า สมาชิกชาวไทยในวง ที่กำลังควบบิ๊กไบค์ท่ามกลางบรรยากาศราวกับอยู่ในโลกอนาคต ได้ถูกพูดถึงเป็นจำนวนมาก โดยภาพดังกล่าวมา virtual music video เพลง “Ready For Love” ที่เป็นการร่วมงานกับ PUBG Mobile บริษัทผลิตเกมชื่อดัง



[ virtual music video เพลง “Ready For Love” ]
และล่าสุด เกิร์ลกรุ๊ปวงนี้ ก็ได้มีการจัดคอนเสิร์ต BLACKPINK : THE VIRTUAL คอนเสิร์ตบน metaverse หรือโลกเสมือนจริง ในเกม PUBG Mobile ผ่านการแสดงจาก avatar ของสมาชิกในวงทั้ง 4 คนไปหมาดๆ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

กระแสข่าวที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่สร้างความตื่นเต้นให้แก่ชาวบลิงค์ BLINK (ชื่อเรียกแฟนคลับ BLACKPINK) เท่านั้น หากแต่ยังดึงดูดความสนใจจากผู้คนทั่วไป ให้เข้ามาทำความรู้จักกับคอนเสิร์ตสุดล้ำในครั้งนี้อีกด้วย!!


[ คอนเสิร์ต BLACKPINK: THE VIRTUAL ]
สำหรับ “metaverse” คือ สถานที่เสมือนจริง ที่นำคนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยองค์ประกอบจะมีส่วนของเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ reality technology ประกอบด้วย AR (Augmented Reality), VR (Virtual Reality) และ MR (Mixed Reality) มีการยืนยันตัวตนของแต่ละคน เพื่อที่จะสามารถเข้าไปข้างในโลก metaverse เพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับ avatar ที่เป็นคนจริงๆ และ avatar ที่เป็นปัญญาประดิษฐ์

และจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกนั้น ก็เป็นปัจจัยแรกๆ ที่เร่งให้เทคโนโลยีเหล่านี้เติบโตเร็วขึ้นและมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้น หลายๆ กิจกรรมถูกนำมาไว้ใน metaverse





ไม่เว้นแม้แต่กิจกรรมทางดนตรีอย่าง “คอนเสิร์ต” ซึ่งก่อนหน้าคอนเสิร์ตของสาวๆ BLACKPINK นั้น ก็มีศิลปินระดับโลกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น The Weeknd, Ariana Grande,Travis Scott, Justin Bieberฯลฯ พากันจัดคอนเสิร์ตในโลกเสมือนจริงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ มาแล้ว

หรือแม้แต่ศิลปินไทยเองก็ไม่น้อยหน้า อย่างวง Coconut Sunday ที่จัดคอนเสิร์ตในรูปแบบของ metaverse ผ่านแพลตฟอร์ม Decentraland ถือว่าเป็นวงดนตรีไทยวงแรกที่ทำการแสดงผ่านโลกเสมือนจริง



[ วง Coconut Sunday ]

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ ดร.ก้องเกียรติ หิรัญเกิด อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาวิชาออกแบบสื่อดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตศาลายา และผู้เชี่ยวชาญด้าน Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ด้านวิชาการและการศึกษา อุปนายกสมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย มาช่วยวิเคราะห์ถึงการจัดคอนเสิร์ต metaverse ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปัจจุบัน

“ตอนนี้อุตสาหกรรมใน metaverse ทั่วโลกแบ่งเป็นหลักๆ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1. การแพทย์ 2. การทหาร 3. การศึกษา 4. ด้านการท่องเที่ยว และ 5. ความบันเทิง ถ้าจะพูดถึงคอนเสิร์ตมันก็อยู่ในอุตสาหกรรมความบันเทิง



[ ดร.ก้องเกียรติ หิรัญเกิด ]
ถ้าจะสังเกตช่วงโควิด ทุกอุตสาหกรรมจะถูกผลกระทบเรื่องโควิด ปิดกิจการไป ประสบปัญหากันทั่วหน้า แต่จะมีอย่างนึงที่เติบโตเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 10 เท่า คือ เกมและแอนิเมชัน ซึ่งก็เป็นส่วนประกอบนึงที่อยู่ภายใน metaverse

จริงๆ แล้วการจัดคอนเสิร์ตเสมือนจริงมันมีก่อนหน้า BLACKPINK ต่างประเทศเขาทำมาแล้ว เป็นลักษณะของ VR เข้าไปปุ๊บเราจะเห็นสภาพแวดล้อมเสมือนจริง คล้ายๆ กัน เพียงแต่ว่าเราจะเห็นตัวนักร้องเขาร้องอยู่ แล้วตัวเรายืนแถวๆ นั้น แต่ว่าเราไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนที่อยู่ข้างๆ

เวลาเราไปคอนเสิร์ตเราก็อยากจะยืนคุยกับเพื่อน อยากเต้นกันเพื่อน ตอนนี้ metaverse เองสามารถที่จะรองรับและให้อนุญาตให้เรามีปฏิสัมพันธ์ พูดคุยหรือว่าติดต่อกับคนที่อยู่รอบๆ ตัวเราที่เข้าไปร่วมคอนเสิร์ตใน metaverse ได้



ถามถึงความจำเป็นของการมีอุปกรณ์เสริมเพื่อเข้าถึงการชมคอนเสิร์ต ทางด้านของกูรูสื่อดิจิทัลกล่าวว่า ไม่จำเป็น แต่หากใช้อุปกรณ์เสริมก็ช่วยเพิ่มอรรถรสในการดื่มด่ำกับบรรยากาศมากยิ่งขึ้น

“ถ้าหากว่าเรายึดตัวเทคโนโลยีเป็นหลัก มันไม่จำเป็นในการที่เราจะต้องมีอุปกรณ์ในการสวมใส่ เพราะหลักคือการที่เรานำเอาคนจำนวนมากเข้าไปอยู่ร่วมกันในสภาวะแวดล้อมเสมือนจริง อาจจะใช้งานผ่านตัวหน้าจอ PC ก็ได้ เราสามารถคลิกเมาท์ไปรอบๆ ก็เห็นคนอื่นด้วย มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น มีการยืนยันตัวตน มันก็ตอบโจทย์ตามเทคโนโลยีแล้ว

แต่ถ้าเรามาโฟกัสในเรื่องของการใช้งาน ความรู้สึกของผู้มีส่วนร่วม อันนั้นจำเป็นที่เราจะต้องมีตัวแว่นตาที่จะสวมใส่เพื่อให้รู้สึกถึงการที่เราย้ายตัวตนไปอยู่ตรงนั้น นั่นคือ พื้นฐานของการใช้ตัว VR หรือ virtual reality คือ การดึงเอาคนที่ยืนตรงนั้น เขาจะรู้สึกถึงการวาร์ปไปอีกที่นึง รู้สึกถึงการมีตัวตนของเขาอยู่อีกที่นึง ไม่ใช่ที่อยู่ในปัจจุบัน”

เปิด ข้อดี-ข้อด้อย

เมื่อให้ อ.ก้องเกียรติ อธิบายถึงข้อดีของคอนเสิร์ตบน metaverse เขาวิเคราะห์ว่า ปัจจุบัน metaverse ล้ำหน้าไปมาก แม้แต่ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นจากคนที่เสียชีวิตไปแล้วก็สามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องคำนึงถึงหลักจริยธรรมเป็นสำคัญ

“ประโยชน์มีหลากหลายด้านอยู่ที่มิติการมอง จริงๆ แล้ว metaverse สามารถทลายข้อจำกัดเรื่องของ physical ตอนนี้เองมีดรามาเข้าเกาหลียาก โดน ตม.ปฏิเสธ อยากจะไปดูคอนเสิร์ตที่นู่นที่นี่ ค่าตั๋วแพง ช่วงนั้นไม่ว่าง metaverse ก็จะช่วยทลายข้อจำกัดด้านร่างกายของเรา เรื่องสถานที่ที่เราจะเข้าไป เรื่องการเดินทางหรือเวลาในการเดินทาง

ตัว metaverse มันมีทั้งปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน ปฏิสัมพันธ์กับปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถสังเคราะห์เสียงออกมาใกล้เคียงกับเสียงมนุษย์ หรือใกล้เคียงกับเจ้าของเสียงจริงๆ ที่เป็นมนุษย์แต่อาจจะเสียชีวิตไปแล้วหรือแก่มากแล้ว ก็สามารถที่จะเนรมิตขึ้นมาใหม่

แม้กระทั่งเทคโนโลยีตัวนึงเขานำมาเลียนแบบ แต่เป็นลักษณะการดึงเอาลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้วกลับมา ก็ค่อนข้างที่สะเทือนใจ ซึ่งบางครั้งในการทำวิจัยเหล่านี้ เราต้องดูเรื่องของความรู้สึกและจริยธรรมในมนุษย์ด้วยครับ”



แต่จะมีข้อดีอยู่มาก แต่ขณะเดียวกัน คอนเสิร์ตบน metaverse ก็ยังมีจุดด้อยที่ผู้ทำงานด้านเทคโนโลยีต้องพัฒนาต่อ

“ผมมองว่าไม่ได้เป็นข้อเสีย แต่มันเป็นข้อด้อยในเรื่องของ feeling ที่มันไม่ได้ แต่มันก็ได้มาซึ่งความปลอดภัยในปัจจุบัน ในเรื่องของสถานการณ์การติดเชื้อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝีดาษลิง โควิดที่มันประดังเข้ามา

แต่ข้อด้อยอีกตัว คือ ถ้าหากว่าในกรณีที่เราจะใช้แว่นตา VR ใส่เข้าไปแล้วไปอยู่ที่นู่น มันจะมีข้อจำกัดเรื่องของ frameless ของตัวแว่น ภายในมันจะมีจอภาพเล็กๆ ติดกับลูกตา บางครั้งคอนเทนต์รวมถึงความละเอียดต่างๆ ของภาพที่ถูกส่งมา คนแต่คนรับได้ไม่เท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น บางคนใส่แว่น 5 นาที ก็ไม่ไหวแล้ว เขาเรียกว่าเป็น motion sickness พอใส่ปุ๊บจะรู้สึกเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน มีผลกับบางคน

คนส่วนใหญ่จะสามารถใช้งานได้โดยไม่มีผลกระทบประมาณ 20 นาที แต่เราไปโฟกัสจริงๆ คอนเสิร์ต 20 นาทีมันไม่ได้ ถ้าเราใช้งานเกินกว่า 20 นาที มันอาจจะทำให้เราเกิด motion sickness หลังจากเราถอดแว่นออกมาแล้ว สายตาจะล้า จะปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนเกิดขึ้นได้ถ้าเราใช้เป็นเวลานาน อันนี้ผมมองว่าเป็นข้อด้อยด้านเทคโนโลยีครับ”



สุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อดิจิทัล วิเคราะห์ถึงทิศทางของคอนเสิร์ตบน metaverse ไว้ว่า ในอนาคตจะมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ความรู้สึก ‘เสมือนจริง’ ให้เข้าใกล้ความรู้สึก ‘จริง’ มากขึ้นอย่างแน่นอน

“ปัจจุบันมีเรื่องของการปรับรูปแบบต่างๆ เพื่อที่จะทำให้รู้สึกถึง immersive มากขึ้น ไม่ใช่ว่าพัฒนาแต่เรื่องของแว่นเท่านั้น ยังมีการพัฒนาแว่นเพื่อที่จะให้มันมีความละเอียดมากขึ้น จนถึงขั้นเท่ากับการมองเห็นด้วยสายตาเปล่า ในอนาคตก็คงจะมีการพัฒนาต่อไป

ไม่ใช่แค่การพัฒนาตัวแว่นเท่านั้น มีการพัฒนาเรื่องของถุงมือ ชุด รองเท้า ซึ่งพอใส่ครบชุดแล้วเข้าไปสู่ metaverse เราจะรู้สึกได้ทั้งหมดเวลามีการสัมผัสตัวกัน หยิบของขึ้นมาเราสามารถรู้สึกถึงความแข็ง ความนุ่มของวัตถุชิ้นนั้นได้ด้วย ปัจจุบันนี้อยู่ในห้องแล็บและทำได้แล้วแต่ยังไม่เป็นโปรดักส์เท่านั้นเอง

ต่อไปในอนาคตถ้ามันมาครบ ทั้งสูท ทั้งถุงมือ ทั้งแว่น ทั้งรองเท้า ผมเชื่อว่า ความรู้สึกจะเหมือนกับเราไปอยู่ตรงจุดนั้นจริงๆ โดยที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างอยู่ที่บ้านหรืออยู่ในคอนเสิร์ตครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : PUBG MOBILE, Epic Games, Wave, Travis Scott, Coconut Sunday และ Jayne Alexander



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น