xs
xsm
sm
md
lg

สละเงินล้าน!! หยุดสับขาบนรันเวย์ สู่หญิงแกร่งสุดเท่ “รับเหมา-ก่ออิฐ-ฉาบปูน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“การเป็นนางแบบมันมีจุดจบของมัน แต่การทำธุรกิจมันไม่มีจุดจบ...” เปิดใจ “มู่-พิมพ์ณัฐชยา” อดีตนางแบบรันเวย์ พลิกชีวิตสู่หญิงแกร่ง "งานก่อสร้าง" ก่ออิฐ-ฉาบปูน-เชื่อมเหล็ก-ปีนขึ้นหลังคา สารพัดงานสายปูน ในเส้นทางที่มองว่าสุดแสนอันตราย!!




พลิกชีวิต “นางแบบ” สู่ “งานปูน”


“พี่ว่าประสบการณ์ชีวิต สุดท้ายแล้วต่อให้สวยขนาดไหน มันก็ใช้ความสวยมาทำงานไม่ได้อยู่ดี คืองานมาจากความสามารถ มาจากสมองล้วนๆ ไม่ว่าจะสวยหรือไม่สวยมันก็ทำอะไรก็ได้...”


จากชีวิตที่รุ่งโรจน์ในวัยรุ่น “มู่-พิมพ์ณัฐชยา สงวนไว้” กลับต้องพลิกผันเพราะช่วงวัยที่เติบโต และการผลัดเปลี่ยนของวงการ "นางแบบ" จนต้องห่างหายจากเวทีแคตวอล์กไปในที่สุด ในช่วงระหว่างรอยต่อของการค้นหาตัวเอง โชคดีที่ความไม่หยุดพัฒนาตัวเอง จนเธอค้นพบงานที่ท้าทาย เบนเข็มสู่การเป็น "ช่างก่อสร้าง" สุดเท่

“จริงๆ การก่อสร้างมันก็มีจุดที่ทำให้เราได้มองอะไรหลายๆ อย่าง ได้เรียนรู้หน้างานอะไรหลายๆ อย่าง มันจะมีอุปสรรคตลอดเวลา ยิ่งถ้างานต่อเติมอุปสรรคยิ่งเยอะมาก เพราะเราไม่รู้ว่าช่างเดิมเขาทำไว้แบบไหน เขาทิ้งอะไรไว้บ้าง 

ถ้าช่างเดิมเขาทิ้งงานเอาไว้ไม่ดี เราต้องไปต่อจากเขา บางทีเราต้องแก้ทั้งหมด รันทั้งหมด คือมันก็ทำให้เราแข็งแรงมากขึ้น ทำให้เราดูงานเป็น และทำให้เรารู้สึกว่า ถ้ามันอย่างนี้ ต่อจากตรงนี้เราต้องดูถัดไปอีกว่าในท่อเขาฝังเอาไว้ดีไหม ยาแนวไว้แนวไหน คือมันทำให้เราเก่งขึ้น พี่ว่ามันท้าทายดี”


อดีตนางแบบเบอร์ต้นๆ ของวงการบันเทิงวัย 51 ปี เล่าย้อนถึงการค้นพบเสน่ห์ในวงการก่อสร้าง ที่เธอทำงานหนัก โดยไม่ได้สนคำสบประมาทของคนอื่น แม้รายได้และความสบายจะน้อยลง แต่กลับได้ความสุขมากขึ้น

“ก่อนหน้านี้พี่ทำโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ขายโต๊ะเก้าอี้ให้กับร้านอาหาร ทำในเวย์ของตกแต่งมากกว่า พอเราเริ่มจากการตกแต่ง เขาก็ถามว่าทำสิ่งนี้เพิ่มได้ไหม ต่อเติมตรงนี้เพิ่มได้ไหม จริงๆ ทำไม่เป็น แต่ก็บอกว่าทำเป็นไว้ก่อน

เพราะพี่ก็คิดว่าคนเราก็มีสองมือเหมือนกัน มันก็ต้องทำได้ ก็เลยรับแล้วก็ทำเสร็จ แล้วเราใส่ใจในงานทุกงาน มันเหมือนพอเราทำไม่เป็น เราก็ยิ่งเรียนรู้ เพื่อจะให้ออกมาดีที่สุด เพราะเราก็กลัวออกมาไม่ดี

พอทำได้ปุ๊บ แล้วมันเป็นร้านอาหาร คนเห็นว่า design สวย ทำงานดีก็ถามว่าช่างที่ไหน เขาก็บอกต่อๆ กัน แล้วพี่ก็กลายเป็นทำมาเรื่อยๆ จนในที่สุดแล้วคนบอกทำบ้านให้หน่อยได้ไหม

พี่ก็เลยไปเรียนถอดแบบบ้าน พยายามเรียนรู้ ดูจาก Youtube ถอดแบบ เขียนโปรแกรม จนทำได้ ก็เลยเริ่มทำมาตลอด จนตอนนี้รับสร้างบ้านเป็นหลัง”


จากความชอบที่มีในตอนนั้นนำมาสู่ความรักที่ทำให้เธอได้ฝึก จนทำเป็นงานได้สำเร็จ แม้มีอุปสรรคในแรกเริ่มของการลงมือทำ แต่สุดท้ายความพยายามและความอดทนที่มี ก็พาเธอมาถึงตรงนี้ได้ ซึ่งใครจะรู้ล่ะว่าเธอไม่ได้จบจากสายอาชีพนี้เลย

“พี่จบปริญญาโทการเมืองการปกครองที่รามฯ จริงๆ แล้ว ตรงนี้เวลาที่พี่ทำ คือเราต่อจากบริษัทอีกทีหนึ่ง บริษัทก็จะเขียนแบบ ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ บริษัทเขาจะเขียนแบบ เซ็นแบบเรียบร้อย เราแค่ทำตามแบบที่เขาเซ็นมา แล้วก็จะมีวิศวะเข้ามาตรวจตลอดเวลา

สมมติเราเริ่มทำงานโครงสร้าง วิศวกรก็เริ่มมาทำงาน ว่าสเปกเหล็กได้ไหม สเปกของความลึกได้ไหม คือตรวจงานอยู่ตลอด

คือ บริษัทเขาจะมีแบบมาให้เรียบร้อย แล้วในใบที่เขาเป็นใบเขียนแบบมา เขาจะมีทุกอย่างเลย เราแค่อ่านเป็นเท่านั้นเอง ส่วนมากผู้รับเหมาทั่วไป ถ้าบางคนเขาไม่ใช่วิศวะเขาอ่านไม่เป็น เขาก็จะมีการผิดสเปก บางทีตรงนี้เป็นเหล็กตรงนี้

ทั้งๆ ที่เป็นชั้นเดียวกัน แต่ว่าเหล็กคนละสเปกเดียวกัน คือเราต้องอ่านออกให้หมด เพราะเวลาเขามาตรวจจะต้องแก้รื้อ”




สารพัดคำดูถูก ที่ท้าให้เธอต้องฝ่าฟัน!!


“ตอนที่ทำแรกๆ ก็ช่วยเขา ก็อยู่ตรงนั้นประมาณเดือนหนึ่งค่ะ ก็ช่วยเขามาตลอด 1 เดือน หลังจากนั้นพี่ก็เริ่มงานเอง รับงานเอง คือ พอพี่ทำอะไรเป็น พี่ก็ทำเลย

เริ่มจากตัดสินใจว่าทำนะ แล้วเราก็ทำเลย พี่ไม่มีแพลนของตัวเอง ไม่มีแพลนส่วนตัวว่าทำอะไร คือ รู้สึกว่าอยากทำอะไรพี่ก็ทำเลย อยากเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยนเลย”


ระยะเวลากว่า 10 ปีที่หญิงแกร่งผู้รับเหมาก่อสร้างได้มีประสบการณ์เรียนรู้ อยู่ในเส้นทางแห่งนี้ เธอเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจกับการล้มลุกคลุกคลานผ่านประสบการณ์ในการออกไซต์งานครั้งแรก

“ครั้งแรกที่ออกงานก็เป็นงานที่พัทยา พี่ตัดสินใจทำงานก่อสร้างครั้งแรก ดันรับพร้อมๆ กัน 3 งาน แล้วมันก็ต้องวิ่งงาน แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พี่รับงานมา แล้วพี่ก็เหมือนมีทีมที่เขาทำรับเหมาอยู่แล้วด้วย ทำแล้วเราก็เรียนรู้งานจากเขา

คือ พี่คนที่เขารับงานให้พี่ เขาก็สอนทำทุกอย่าง เขาฉาบปูนอะไร พี่ก็อยากช่วย พี่เป็นคนไม่อยู่นิ่ง คือ เขาทำยังไง เราอยากรู้  แล้วเขาก็สอน 

เขาก็เริ่มจากการจับมือเราทำ สอนเราทำ ...ทำไฟทำยังไงมันยากไหม การต่อไฟ เราก็ถามเขา แล้วเราก็เริ่มจากการช่วยเขาเล็กๆ น้อยๆ แล้วพอเราเข้าใจเราก็เริ่มทำเองได้

การเชื่อมเหล็กเราก็เริ่มจากการถาม ว่าทำยังไง เพราะแรกๆ เราเชื่อมไม่เป็น เชื่อมไม่ติด กลับมานอนเจ็บตา แล้วเราเป็นคนพยายาม พรุ่งนี้มาทำอีก


แต่ตอนที่เจ็บก็มีความรู้สึกว่าไม่เอาแล้ว ถอย ไม่ไหว หลับตาไม่ลงเลย เพราะว่ามันเหมือนมีทรายอยู่ข้างในตา มันแสบมาก เราก็จะไม่ยุ่งกับตรงนี้อีกเลยเพราะว่ามันทรมาน

พอวันรุ่งขึ้นเขาทำอีก เราก็อยากทำเพราะมันหายเจ็บแล้ว ให้พี่สอนใหม่ แล้วก็ทำเรื่อยๆ จนทำได้ และนำมาทำเป็นงานตัวเองได้

พี่คิดว่างานพวกนี้ ถ้าเกิดเราต้องมาแก้ หลังจากที่เขาทำเสร็จแล้ว เราต้องโทรศัพท์ไปตามเขาอีกเหรอ ณ ตอนนั้นเรายังไม่มีช่างเป็นของตัวเอง มีความคิดว่าเราต้องแก้เองได้ ไม่อย่างนั้นลูกค้ามีปัญหาแล้วต้องแก้ ต้องโทร.ไปตามเขาแล้วเมื่อไหร่จะมา เราก็ลองทำดูให้มันเป็น แล้ววันหลังจะได้ทำเองได้ ก็เริ่มจากตรงนั้น และทำมาเรื่อยๆ”


การเรียนรู้ ที่จะเป็นผู้นำที่ดีนั้น ถึงแม้ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้แค่เพียงข้ามคืน แต่เธอเชื่อหากมีความตั้งใจ และพร้อมเปิดใจในการเรียนรู้พื้นฐานต่างๆ จะนำพางานสำเร็จ

“งานก่อสร้างที่ทำ คือดูแบบ ดูหน้างาน รับงาน ติดต่อลูกค้า คิดเงิน ก่อ ฉาบ เชื่อม ดูลูกน้อง ซื้อของ

จริงๆ แล้วแรกๆ ที่ทำ คือ เริ่มจากที่เราทำงานเล็กๆ ก่อน สมมติว่าเป็นร้านค้า ร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ มันก็เป็นโครงสร้างที่ไม่ได้ใหญ่เท่าบ้าน เป็นชั้นเดียว เราก็เริ่มจากการทำงานเล็กๆ ก่อน แล้วเริ่มศึกษามันว่า ถ้าเราทำแบบนี้มันจะแข็งแรงไหม

แต่มันก็มีเทคนิคจากการทำโต๊ะ เก้าอี้ของเราอยู่แล้ว ว่าเราต้องทำยังไง ทำแบบไหนถึงจะแข็งแรง เราก็ศึกษาในอินเทอร์เน็ตด้วย แล้วก็ดูวิธีการเขียน เวลาวิศวกรเขาเขียนแบบมาของแต่ละที่”


เรียกว่าเป็นความท้าทายของชีวิต นอกจากการนำพาธุรกิจให้เติบโต นั่นคือ การเป็น "ผู้นำหญิง" หนึ่งเดียวในวงการปูน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าวงการก่อสร้าง ธุรกิจของหนัก อิฐ หิน ดิน ทราย รวมไปถึงปูน ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่บริหารงานโดยผู้ชายเป็นหลัก

ด้วยสังคมมองว่างานเหล่านี้อันตราย และไม่เหมาะกับ ‘ผู้หญิง’ ในฐานะผู้มีประสบการณ์เธอเปิดใจให้ฟังว่า แม้เราจะเป็นผู้หญิงในวงการปูน แต่มองในความเป็นผู้หญิงมีความได้เปรียบ คือ ความละเอียดของการทำงาน

“พี่เชื่อว่าต้องลงมือทำด้วยนะ แต่พี่ค่อนข้างโชคดี เพราะว่าลูกน้องพี่ส่วนมาก คือ จะเป็นกันเองเหมือนพี่น้องอยู่ด้วยกันมานาน เป็นลูกน้องที่เขาเข้าใจเรา ไว้ใจเรา

อาจจะเป็นเพราะเราทำงานเองด้วย เขาก็เลยรู้สึกว่าเราก็เต็มที่ แล้วยิ่งเราทำงานเอง ลูกน้องยิ่งขยัน เพราะว่าเราไม่หยุด เขาไม่กล้าหยุด แต่ถ้าเกิดเราไม่ทำ เราแค่นั่งเฝ้าเขา เที่ยงเขาก็นอน บ่ายเขาก็ลุก คือ ทำตามเวลา

เที่ยงครึ่งพี่ทำงานแล้ว มันจะนอนไหม มันก็นอนไม่ได้ มันนอนได้แต่มันก็รู้สึกลึกๆ ในใจ ว่าเจ๊ขึ้นไปอยู่บนหลังคา กูจะนั่งอยู่ข้างล่างเหรอ เขาก็ต้องขึ้น

มันไม่ได้กดดันนะ แต่พี่เป็นคนที่อยากให้งานมันเสร็จเร็วๆ อยากทำงานให้จบๆ บางทีแดดร่มเราอยากขึ้นก็ขึ้นไปเลย เพราะเดี๋ยวบ่ายโมงแดดมาแล้ว เราก็ร้อน


ก็เพราะว่าความที่เราเป็นผู้หญิง เวลาเราไปสั่งเขาแล้วเขาเป็นผู้ชาย บางคนก็อายุมากกว่าเรา คือเขาทำงานมีประสบการณ์กว่าเรา เขาเลยรู้สึกว่าเขาไม่อยากฟัง ไม่เชื่อ แต่ว่าสำหรับพี่ พี่ทำเป็นทุกอย่าง พี่เชื่อมได้ พี่ก่อได้ พี่ฉาบได้ พี่ทำเป็นทุกอย่าง

เพราะฉะนั้นงานที่เราทำเป็น เราสามารถบอกเขาได้ว่าเหตุผลอะไรที่เราต้องให้เขาทำแบบนี้ เหตุผลอะไรที่เราบอกให้เขาผสมปูนอย่างนี้ เพราะว่าพอเราทำงานเป็น เขาก็จะไม่กล้าเถียง เขาก็จะฟังเรา เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเราทำได้

แต่ถ้าเกิดเราทำไม่เป็น เขาก็จะรู้สึกว่า มึงทำไม่เป็น แล้วมึงมาเถียงมาใช้เรา แต่พี่ไม่มีปัญหาเรื่องพวกนี้

มันเป็นที่คนมองมากกว่า เพราะว่างานมันเหนื่อย แต่ว่าเอาจริงๆ ที่พี่เจอมาฉาบปูนสวยๆ เก่งๆ  งานก่อเนี้ยบๆ  งานผู้หญิงทำ งานสี งานขัด ส่วนมากจะเป็นงานผู้หญิง แล้วผู้หญิงทำงานเนี้ยบกว่าผู้ชาย เพราะความละเอียดอ่อนผู้หญิงมันมากกว่าผู้ชาย

แต่ว่าบางทีมันอาจจะต้องปีนที่สูง ต้องเสี่ยง ร้อน ผู้หญิงส่วนมากไม่ชอบทำ เพราะว่ามันร้อนมันเหนื่อย อย่างพี่ทำจนตัวดำ ฝ้าเต็มหน้า คือ มันเหนื่อยจริงๆ นะ

มันเหนื่อย มันร้อน ทำแล้วมันไม่สามารถลงมาได้จนกว่างานจะเสร็จ แล้วทำแบบนี้ทุกวัน พี่ก็เหนื่อย พี่ก็อยากเลิก พี่ก็รู้สึกว่ามันเป็นงานที่หนักเกินไปสำหรับผู้หญิง

บางทีแบกหาม คนไม่ทำเพราะว่าต้องยกปูนหนักๆ ขึ้นไปเป็นลูก ต้องแบก ต้องคนปูน แค่ปูนลูกหนึ่ง คนกระบะเดียวก็จะเป็นลมแล้ว”




หนีงาน-เทลูกบ้าน = มิจฉาชีพในคาบช่าง?


ก่ออิฐฉาบปูน เชื่อมเหล็ก ปีนขึ้นหลังคาตากแดด สารพัดงานที่เธอคนนี้ทำได้ไม่ต่างจากคนงานของเธอเอง แน่นอนว่าการมาทำงานด้านก่อสร้าง คงไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้ โดยจะต้องมีความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ รวมถึงจรรยาบรรณวิชาชีพ

หากถามถึงปัญหาที่มักจะพบส่วนใหญ่ในปัจจุบันในฐานะผู้รับเหมามองว่า คือ “มิจฉาชีพในคาบช่าง”

“ทำงานไม่เสร็จ รับเงินแล้วก็หนี ส่วนมากเขาจะได้เงินไม่ครบอยู่แล้ว เพราะว่าถ้าเกิดเขาทำงานไม่เสร็จ ถึงสุดท้ายเงินไม่ครบ แต่อยู่ที่เจ้าของบ้านคุยกันยังไง เจ้าของบ้านบางคนก็ใจดีและไว้ใจ เขาเบิกเท่าไหร่ก็ให้เบิก


ส่วนมากช่างจะมีปัญหาบ้านโดนยึด รถจะโดนยึด ไม่มีรถจะมาทำงาน คือ ปัญหาจะเยอะ ช่างคนนี้จะตัดปัญหาไปเลย  อย่าไปจ้าง เพราะถ้าจ้างแล้วปัญหาตามมา เราต้องจ่ายเงิน advance ให้เขาล่วงหน้า

สุดท้ายรับรองได้เลย คือ 99.99% เขาทำงานไม่เสร็จ เพราะปัญหาเขาเยอะ เหมือนลูกน้องพี่เหมือนกัน ถ้าเป็นลักษณะนี้ เจ๊เบิกเงินล่วงหน้าหน่อย ผมติดค่าเช่าบ้าน ก็เลือกที่จะไม่จ้าง คือจะไม่จ้างคนประเภทนี้เลย

เรารู้สึกว่าเขา manage ตัวเองไม่ได้ ถ้าเขา manage ได้ ขยันทำงานทุกวัน ค่าจ้างเขาพอจ่ายทุกอย่างอยู่แล้ว เขาต้องรู้อยู่แล้วว่าเขาได้เงินเดือนละเท่าไหร่

พวกนี้ค่าแรงวันละ 600-700 บาท เดือนนึงก็ได้ค่อนข้างเยอะ บางทีบางงานเขาได้เยอะกว่าเราอีก สุดท้ายสรุปจบงานอาจจะได้แค่ 20,000-30,000 บาท แต่ถ้าเกิดเราตีเป็นรายวันเขา เขาได้เงินมีเป็นแสนเลยนะ เยอะกว่าเรามาก

แต่ว่าบางทีได้เยอะ เขาก็ใช้เยอะ พวกนี้ชอบดื่มเหล้า ชอบทำอะไรที่ทำให้เงินมันหมดไป ดื่มเหล้า เล่นการพนัน สุดท้ายมันก็ไม่มีเงินจ่ายค่ารถ ไม่มีเงินจ่ายค่าบ้าน

แล้วก็มีที่เขารู้สึกว่าเราเอาเปรียบ ทำงานได้เงินตั้งเยอะ เราให้เขาแค่เป็นรายวันเอง ก็อยากไปรับเหมาเอง แต่เขาลืมไปว่าการรับเหมา เป็นการที่เอาตัวเราเองเข้าไปการันตีงานลูกค้าเหมือนกัน มันยากเหมือนกัน”


ปัญหานี้มักเกิดให้เห็นบ่อยครั้ง และมีทุกยุคสมัย จนเป็นปัญหาหลักของผู้รับเหมาที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ สำหรับหญิงผิวสีน้ำผึ้งได้บอกเล่าให้ฟังว่าใช้จรรยาบรรณวิชาชีพในการดูแลลูกบ้านทุกหลัง ที่เธอพร้อมใจดูแลเปรียบเสมือนบ้านของตัวเอง

“จริงๆ มีสัญญาค่ะ เราก็เอาสัญญามาคุยกัน คือ ถ้าเกิดเราจะจ้างใคร เราจะเซ็นสัญญา ยึดบัตรประชาชนเขา และเซ็นสัญญาให้เขาเลยว่า เราจะจ่ายงวดนี้เท่าไหร่ ทำอะไรเสร็จแล้วจ่าย พอโครงสร้างเสร็จเราจะจ่าย 10%

หลังโครงสร้างเสร็จเราจ่ายอีกกี่เปอร์เซ็นต์ คือ ทำทุกอย่างตามเปอร์เซ็นต์ไปเลย ถ้าเกิดงานไม่จบตามเปอร์เซ็นต์ คือ ยังไม่จ่าย ก็ไม่ต้องเสี่ยงที่จะโดนโกง

ถ้าปัญหาที่เกิดจากเรา เรารับผิดชอบ 100% แต่ถ้าเป็นปัญหาที่เกิดจากตรงอื่น ก็มาคุยกันว่า ...อย่างเป็นเพราะว่ารอยต่อมันเป็นอย่างนี้ มันทำให้โครงมันทรุด

แล้วมาคุยกันอีกทีหนึ่งว่าเราจะทำยังไง จะตัดรอยต่อแล้วแก้เฉพาะของเราไหม คือก็ต้องมาคุยกันตั้งแต่แรก แต่จริงๆ เวลาพี่ทำงาน พี่ก็จะคุยตั้งแต่แรกเลยว่า ถ้าเกิดเป็นต่อเติมจะไม่ joint (ร่วมกัน) กับบ้านหลังเดิม คือตัด joint ทิ้งเหมือนทำใหม่ กั้นโฟมทำคนละส่วน”


นอกจากนี้ เธอได้แนะแนวทางรับมือกับผู้รับเหมาที่ขาดความรับผิดชอบ หรือเลือกกินกำไรลูกค้า โดยไม่สนใจผลเสียต่องาน

“ส่วนมากที่เขาทำงานตรงนี้จริงๆ เขาจะไม่ทำกันนะ เพราะว่าสุดท้ายแล้วเป็นผลเสียต่อคนทำงาน....เหมือนเหล็กเราบอกว่า เราใช้เหล็กขนาด 4 มิลฯ พอถึงเวลาเราใช้แค่ 3 มิลฯ แต่คือมันก็ตั้งมาเป็นเหล็กเท่ากัน แต่เราไม่เห็นขนาดความบางของเหล็ก คือราคามันก็ลดลงไปเยอะ แต่เรากับลูกค้าถ้าคุยกันแล้ว ลูกค้าก็ต้องคอยดูด้วยว่าเขาใช้เหล็กเท่าไหร่

แต่ส่วนมากถ้าพี่จะส่งงาน คือ ทุกวันก่อนจะเทปูนก็จะถ่ายรูปให้ดูก่อนว่าวางเสร็จแล้วนะ เหล็กประมาณนี้ สเปกนี้นะ ลูกค้าตรวจเสร็จ พรุ่งนี้เทแล้วนะ ถ้าจะมาตรวจหน้างานก็มาตรวจได้

หรือว่าถ้าดูจากรูป ดูตรวจสอบเขาก็จะซูมดูรูปว่าตอนนี้เขาใส่เหล็กไปเท่านี้ เสร็จแล้วเขาก็เทเลย เราไม่ได้เทแล้วส่งว่าเรียบร้อยแล้ว เพราะทุกขั้นตอนจะส่งให้เจ้าของบ้านดูตลอด”




หมดเวลา 15 ปี อาชีพนางแบบ!!


“ชีวิตเปลี่ยนเยอะนะ จากอาทิตย์หนึ่งต้องออกไปรับประทานข้าวกับเพื่อน ไปสังสรรค์ ไปงานเปิดตัวสินค้าสวยๆ หลังๆ คือตัดงานสังคมออกไปหมดเลย แล้วเหลือแต่งานของตัวเอง

แต่เจอเพื่อนๆ นางแบบบ้าง มันก็มีที่เราไม่อยากไป เพราะเรารู้สึกเราไม่สวย แล้วไปเจอแต่คนสวยๆ รุ่นน้องที่แต่งตัวเริ่ดมาก แต่เราไม่โอเค เราก็รู้สึกบ้าง แต่ว่าพอดีรุ่นน้องหรือเพื่อนๆ ที่เป็นนางแบบค่อนข้างน่ารัก เวลาเขาเจอเราทุกครั้ง เขาก็จะเหมือนเดิม เขาจะไม่มานั่งรู้สึกว่าเราไม่สวย...”


อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เธอเดินสายถ่ายแบบทั้งในและต่างประเทศ เป็นที่รู้จักกันดีในวงการ “นางแบบ” เบอร์ต้นๆ ที่มีรายได้หลักล้านต่อเดือนที่ผู้จัดต่างคว้าตัว

จากความสำเร็จในวันนั้น โอกาสมากมายวิ่งเข้าหาเธอ ไม่ว่าจะด้านแฟชั่น การเดินแบบ หรือการแสดง จนปรากฏตัวตามสื่อไม่น้อย

“เป็นนางแบบมา 15 ปี ตอนนี้ไม่ได้ทำเลย ตอนนั้นเดินแบบ 3-4 งาน ถึงขั้นต้องวิ่งงาน เจ้าของงานต้องรอ งานสุดท้ายเป็นงานมอเตอร์ไซค์ตลอด คือมีงานทุกวัน และมีงานละคร งานถ่ายแบบ ถ่ายแฟชั่นหนังสือมีทุกวันอยู่แล้ว


ก็ถือเป็นตัวท็อปๆ เพราะอย่างพี่เจี๊ยบสยามบันเทิง พี่ต้อยแอคเนอร์ คือลงหน้า 1 ให้บ่อยมาก เกือบทุกเดือน

ช่วงที่พี่ทำงาน เป็นช่วงพี่คาร่า พลสิทธิ์ คือเป็นนางแบบรุ่นใหญ่เลย พี่นาตาชา เปลี่ยนวิถี ที่เคยเดินและถ่ายด้วยกัน แล้วก็มาเรื่อยๆ จนถึงช่วงหลังๆ จะเป็น โย ยศวดี, ออร์แกน ราศี คือทำตั้งแต่รุ่นเดียวกัน จนรุ่นลูกค่ะ

ตอนที่ได้เป็นนางแบบ พี่เดินครั้งหนึ่ง 8,000-12,000 บาท วันหนึ่งก็ประมาณ 3 งาน ถ่ายแฟชั่นก็ได้ 30,000-100,000 บาทต่อครั้ง ก็แล้วแต่ ได้มากสุดวันหนึ่งประมาณ 40,000-50,000 บาท ถ้างานพีกสุดๆ เดือนหนึ่งน่าจะได้ 7 แสน-1 ล้านค่ะ”




แต่ในวันที่เธอเติบโตขึ้นทั้งการเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ประสบการณ์การทำงาน การเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เส้นทางสายนี้ยังมีพื้นที่สำหรับเธอเสมอ ซึ่งใครจะคิดล่ะว่า หญิงวัย 51 ปีคนนี้ กลับให้คำตอบแก่ทีมผู้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า รู้สึกอิ่มตัว มองว่าความสวยงาม และเส้นทางอาชีพไม่มีความจีรังยั่งยืน

“เราก็รู้สึกประสบความสำเร็จในอาชีพของเราพอสมควร เพราะว่าพี่งานก็ค่อนข้างเยอะ ตอนเป็นนางแบบก็รู้สึกว่ามันไม่เหมือนดารา เพราะเป็นนางแบบก็จะรู้จักแค่เฉพาะคนในวงการเท่านั้น ก็จะมีคนที่เรียกเราไปทำงาน คือ พี่ตือ (สมบัษร ถิระสาโรช) ที่เขาเอ็นดูเรา ใช้งานเรา

คนที่เป็นนางแบบเขาจะวางเกรดเอาไว้เป็นเกรด A เกรด B เราแค่ได้ขึ้นมาเกรด B เราได้เดินกับโมเดล เราก็รู้สึกว่ามันโอเคมากๆ แล้ว


เพราะว่าการที่เราขึ้นไปโมเดลได้มันก็ยาก แต่พี่ค่อนข้างโชคดีที่เดินที่ไทยด้วย และสิงคโปร์ด้วย พี่รู้สึกว่าสำหรับเรามันก็โอเค

ถามว่าจุดอิ่มตัวไหม คือหลังๆ มันมีการประกวดเยอะ มีการประกวดแฟชั่น มีการประกวด Top model, Super model เยอะแยะมากมาย คนที่ประกวดเหล่านั้น คือในวงการรู้อยู่ว่าถ้าติด 1 ใน 10 เขาต้องหางานให้ หางานป้อน

ก็จะมีพวกเอเยนซี ก็จะเอาเด็กเหล่านี้มาป้อนงาน คือไม่ได้ดูเรื่องของราคา เท่าไหร่ก็ได้ อาจจะไม่ได้แพงเท่าที่พี่เดิน แต่เด็กเขาต้องมีงาน ต้องได้รับงาน เพราะฉะนั้นงานมันก็เริ่มราคาลดลง พองานราคาเริ่มลดลงมันก็จะมีผลต่อพวกเรามีงานน้อยลง เพราะเราเรียกแพง


เรารู้สึกว่าทุกอย่างมันเริ่มเยอะขึ้น คนเริ่มแสดงออกมากขึ้น การแสดงออกของคนเริ่มไม่เหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนนางแบบน้อย มีเท่านี้คือเท่านี้ หลังๆ คนรุ่นใหม่เยอะมาก จนเรารู้สึกว่าเราก็ต้องถอย เพราะเราเห็นรุ่นพี่ในวงการหลายๆ คน สุดท้ายจุดจบเขา เราไม่ได้สวยตลอดไป เราจะมาบอกว่าเราเป็นนางแบบ เราจะต้องเป็นตลอดชีวิตมันไม่ใช่

เราก็ต้องหางานที่มันมั่นคง เพราะสมัยก่อนอาชีพนี้ไม่ได้เป็นอาชีพที่มั่นคงเลย ถ้าลูกใครทำอาชีพนี้ คือมันไม่โอเค คนที่ทำจะรู้ว่าได้เงินเยอะ แต่การได้เงินเยอะก็ไม่ได้ไปตลอดชีวิต มันก็จะมีจุดจบของมัน แต่การทำธุรกิจมันไม่มีจุดจบ มันไปเรื่อยๆ ต่อไปถึงลูกถึงหลานได้ค่ะ วิธีคิดพี่เลยเปลี่ยน พี่รู้สึกว่าเรามาหาอะไรทำที่เราพอจะเรียนรู้มันได้ค่ะ”


จากสาวสปอตไลต์ส่องหน้า สู่งานที่พลิกผัน ต้องใช้แรงกาย ความสามารถ ต้องตากแดดตากลม จนทำให้ความสวยงาม สภาพผิวของเธอแปรเปลี่ยน มู่ยอมทิ้งอาชีพนางแบบที่เธอบอกไว้ว่าเป็นอาชีพที่เธอชอบ และสนุก แต่ไม่ใช่อาชีพที่ยั่งยืน หรือทำให้เธอได้จับเงินล้านได้ตลอดไป

“เอาจริงๆ พี่ไม่ได้สนใจตรงนี้เลย ไม่รู้ว่าคุ้มไหม แต่ถ้ากลับมาดูทุกวันนี้ พี่ว่ามันไม่คุ้ม แต่ถ้าถามว่าจะแลกกับประสบการณ์ หรือความรู้ที่เราได้มันก็คุ้มนะ

เพราะถ้าเราไปเรียน เราก็ไม่รู้ว่าเรียนไปแล้วจะเป็นไหม แต่นี่เราเรียนแล้วทำเงินได้ ทำอาชีพได้ด้วย แล้วเราเรียนรู้โดยที่เราไม่เสียเงิน เรียนรู้จากประสบการณ์มันได้อะไรมากกว่าที่เราไปเรียนที่โรงเรียนด้วยซ้ำ พี่มองว่ามันก็แลกกัน มันก็โอเอยู่นะ”


ตลอดการให้สัมภาษณ์ ไม่แปลกใจเลยว่า เธอมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะคำตอบที่ได้เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย ทั้งความรักในทุกอาชีพ การต่อสู้ การไม่ยึดติดที่ซ่อนตัวอยู่ในแต่ละบรรทัด ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เพียงเราเคารพตัวเอง ศรัทธาในสิ่งที่ทำ ซึ่งไม่เพียงแต่หน้าเก๋ๆ มีเอกลักษณ์โดดเด่นแล้ว ยังแฝงไปด้วยความจริงใจ รวมทั้งเธอคนนี้ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค

“คนที่ไม่รู้จักเรา มองเราแบบไหน หรือว่าพูดถึงเราแบบไหน พี่ไม่สนใจ พี่ไม่แคร์คำพูดของใครอยู่แล้ว เพราะพี่รู้ตัวเองดีว่าเงินรายได้ทั้งหมดมันเป็นของเรา แล้วเราเป็นคนใช้ ต่อให้เราไม่มี เงินเขาก็ให้เราไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าตัวเราเองเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าเราต้องทำอะไร

ถ้าเราอยากทำ เราก็ทำเลย ไม่ได้ไปสนใจคำพูดใคร แล้วมันจะเป็นอย่างนี้ไหม แล้วมันจะเป็นอย่างนั้นไหม ก็มันยังไม่ทำเลย แล้วเราจะรู้ไหม ถ้ามันเป็นขึ้นมาจริงๆ สมมติว่ามันทำแล้วไม่ได้ หรือว่ามันต้องปิด หรือว่ามันเป็นดวงให้เป็นอย่างนั้น มันก็ช่วยไม่ได้ เราก็ทำอย่างอื่น มันไม่แปลก


แต่พี่มองว่ายังดีกว่าเราไปเป็นลูกน้องคนอื่น ซึ่งคนที่มองเราเป็น หรือพูดแบบนั้น ตัวเขาเองก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จ เพราะคนที่คิด หรือมองคนอื่น โดยที่ยังไม่ได้ดูตัวเอง คือคนที่เขาไม่ได้สนใจตัวเอง แต่เขาสนใจคนรอบข้าง

คนที่สนใจแต่ตัวเอง แล้วไม่สนใจคนรอบข้าง เขาจะสนใจแต่ความสำเร็จของตัวเอง เขาก็เลยประสบความสำเร็จ แต่คนที่เขามัวแต่มองว่าคนนั้นเขาทำอะไร คนนี้เขาทำอะไร คนโน้นเขาเป็นยังไง โดยที่ตัวเองยังไม่รู้ตัวเองเลย เพราะว่ามันมีเวลาว่างเยอะ แต่ถ้าคนทำงานมันจะไม่มีเวลาว่างมองใครเลย

เพราะพี่ก็เคยเป็น ทุกอย่างเคยเป็นหมดแหละ เราก็เคยสนใจคนอื่นมาก่อน คนนี้เขาทำอะไร ทำไมเขาขายดี อันนี้ก็คือการสนใจคนอื่น แต่เราอาจจะไม่ได้ไปบูลลี่เขา หรือไปว่าเขา แต่เราสนใจความสำเร็จของเขาว่า เขาทำยังไงถึงจะสำเร็จ

เพราะความสำเร็จของพี่เอง พี่ก็มองจากคนอื่น ที่บางคนอาจจะอายุน้อย ทำไมเขาถึงเก่งจังเลย ทำไมเขาถึงประสบความสำเร็จ แล้วเราก็เอาประสบการณ์ของเขา ที่เขาประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวมาใช้กับตัวเรา”











สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ "ผู้หญิงกับงานช่าง by มู่"



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น