xs
xsm
sm
md
lg

ต้านโกง-หยุดเหลื่อมล้ำ-ไร้นายทุนหนุนหลัง!! “รสนา” เธอคือม้านอกสายตา แห่งผู้ว่าฯ กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “รสนา” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ชูแนวคิด “ต้านโกง-ลดความเหลื่อมล้ำ-กระจายอำนาจ-ประชาชนมีส่วนร่วม” เผยอิสระตัวจริง ไม่มีกลุ่มทุนหนุนหลัง!!

ม้านอกสายตา อาสาหยุดโกง

“แม้ว่าดิฉันอาจจะเป็นม้านอกสายตาของสื่อใหญ่ ผลโพลต่างๆ ผู้หญิงมาสมัครแล้วจะได้หรือไม่ได้อย่างไร แต่ดิฉันคิดว่า สิ่งที่สำคัญ เราเชื่อมั่นว่า ประชาชนคนกรุงเทพฯ เขาอยากได้คนที่เป็นอิสระตัวจริง มาเป็นผู้แทนของเขา

ดิฉันเองประกาศตัวมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่า เป็นผู้สมัครอิสระที่จะไม่มีกลุ่มทุน หรือพรรคการเมืองอยู่ข้างหลัง เพื่อว่าเราจะได้สามารถเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ดิฉันไม่เคยเป็นนอมินีของใคร ไม่ว่ากลุ่มทุน หรือพรรคการเมือง แต่ถ้าเป็นนอมินี ดิฉันจะเป็นนอมินีของประชาชน”

“รสนา โตสิตระกูล” อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นักรณรงค์เพื่อสิทธิผู้บริโภค และล่าสุด กับการเป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 7 วัย 68 ปี กล่าวกับผู้สัมภาษณ์

ในเวลานี้ อีกเรื่องราวที่สังคมกำลังให้ความสนใจ คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 โดยจะเป็นการเลือกตั้งใหม่ในรอบ 9 ปี มีผู้สมัครทั้งสิ้น 31 คน แบ่งเป็นชาย 25 คน และหญิง 6 คน



หนึ่งในผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่า แม้ตนเองจะถูกมองว่าเป็นม้านอกสายตาในการชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ ครั้งนี้ อีกทั้งยังลงสมัครในนามอิสระ ไม่มีกลุ่มทุน หรือพรรคการเมืองหนุนหลัง

แต่จากผลงานที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการต้านทุจริตระดับประเทศ และการได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.กทม. ในปี 2551 ด้วยคะแนนสูงที่สุดในประเทศไทย เธอหวังว่า ชาว กทม. จะมอบโอกาสเธอได้เข้าไปทำงาน

“สิ่งที่เราทำมาตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา เราทำงานเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ตั้งแต่เรื่องของการที่ดิฉันร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ ในกลุ่มผู้บริโภค ต่อสู้ในการทุจริตตั้งแต่หลังต้มยำกุ้ง 1,400 ล้าน แล้วเรายุติได้สำเร็จ และเป็นครั้งแรกที่ประชาชนสามารถตรวจสอบ ทำให้อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข ถูกยึดทรัพย์และติดคุกในที่สุด

ต่อมากรณีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯที่จะมีการแปรรูป ตอนนั้นนักวิเคราะห์ประเมินว่า มูลค่าของกิจการนี้ 3.4 ล้านล้าน เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ในที่สุด เราสามารถที่จะยุติการแปรรูป กฟผ.ได้สำเร็จ ก็เป็นความสำเร็จร่วมกันขององค์กรและดิฉันด้วย

ตอนนี้ต้องบอกว่า หมดเวลาราชการ มีแต่เวลาราษฎร ดิฉันเห็นว่า ถ้ามีการหยุดการโกงได้ กทม.เปลี่ยนแน่นอน แล้วถ้าหยุดการโกงจาก กทม. ไปสู่การหยุดการโกงทั้งประเทศ ประเทศไทยเปลี่ยนแน่นอน”

ลดความเหลื่อมล้ำ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม

ผู้สมัครหมายเลข 7 ผู้นี้ กล่าวต่อ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานครในขณะนี้ คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำ โดยยกกรณีใกล้ตัว อย่างเรื่องการเดินทางบนท้องถนน ที่ไม่ได้เอื้ออำนวยความสะดวกให้คนทุกกลุ่มในสังคม

“ดิฉันคิดว่า ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของ กทม.คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำออกมาในหลายรูปแบบ เราควรจะสนใจในเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เป็นเรื่องที่สำคัญมากอย่างหนึ่งที่เราจำเป็นต้องคิด ใน กทม.มีคนหลากหลายประเภท คนพิการ มนุษย์ล้อ หรือคนพิการทางสายตา คุณจะไปมีแต่สะพานข้ามถนนอย่างเดียว มันอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะเวลาจะขึ้นสะพานข้ามถนน คนสูงอายุ คนท้อง คนบาดเจ็บ คนที่ทีน้ำหนักมากก็ข้ามลำบาก

ถนนที่เป็น Universal design (อารยสถาปัตย์ หรือ การออกแบบเพื่อทุกคนในสังคม) มันต้องทำให้ทุกๆ คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม เขาได้เดินทางด้วยความสะดวกปลอดภัย เราต้องให้คนเหล่านี้ที่เป็นผู้ใช้งานจริงมาร่วมกันคิด เพื่อที่จะให้คนที่มีปัญหาทางกายภาพในแต่ละทาง จะต้องสามารถที่จะเดินทางได้”



และการที่จะเข้าถึงปัญหาได้ดีที่สุด คือ การให้ประชาชนผู้รับรู้ปัญหา เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข

“เมื่อหลายอาทิตย์ก่อน ดิฉันได้มีโอกาสเจอกลุ่มนักขี่จักรยานที่เขาทำ bike map ของเขาเอง กลุ่มคนขี่จักรยานเขาจะรู้ แต่คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ เขาไม่ได้มารอรัฐบาล หรือ กทม.มาตีเส้น

ถ้าสมมติ กทม.ไปร่วมมือกับคนเหล่านี้ ทำ mapping การขี่จักรยานทุกเขต ทำแอปร่วมกัน และถนนที่ปลอดภัยควรจะให้มนุษย์ล้อเข้ามาคิดด้วย จุดไหนที่ไม่สะดวก ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ขาดไฟ ทำเส้นทางจักรยาน เราสามารถเข้าไปทำ เพราะเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้อยู่แล้ว ถ้าคนรู้ว่าเดินทางอย่างนี้ได้ มันอาจจะส่งเสริมให้คนขี่จักรยานนอกเหนือจากการเดินเท้า”



รสนา อธิบายต่อว่า หากลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนได้ ก็อาจส่งให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ถูกแก้ไขไปด้วย

“เราต้องพยายามส่งเสริมให้มีการเชื่อมต่อให้ครบถ้วน ถ้าเราสามารถประสาน ล้อ-ราง-เรือ ได้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจจะสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายพวกนี้ให้มันลดลงได้ เช่น อาจจะมีตั๋วเดือน ตั๋วนักเรียน ตั๋วคนสูงอายุ

เราจะลดภาระให้ประชาชน ไม่ใช่รีดเงินจากประชาชน ในแง่ของความเหลื่อมล้ำ เราจะเห็นว่า คนที่รวยก็รวยมาก ในขณะที่คนจนโดยเฉพาะช่วง 3 ปี ที่เราอยู่กับวิกฤตการณ์โควิด คนตกงานเยอะ และส่งผลกระทบไปถึงค่าครองชีพ ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ครอบครัวคนรายได้น้อย ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมากมาย เราจะลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพื่อเราจะลดหนี้

ต่างประเทศเขาพูดกันถึงเรื่องของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เขาพูด การบริโภคของเราจะต้องไม่ใช่การเอาอนาคตของลูกหลานเรามาบริโภคด้วย สิ่งนี้ดิฉันว่ามันเป็นความรับผิดชอบของคนรุ่นเรานะคะ เราอยากจะส่งมอบอนาคตที่ดีให้กับลูกหลานในรุ่นต่อไป สิ่งที่เวลานี้มันเกิดขึ้น การที่เรามีหนี้ การที่เรามีความยากจนเหลื่อมล้ำ เราจะแก้ไขได้ยังไง ดิฉันคิดว่าถ้าเราแก้ไขระดับ กทม.ได้ เราจะแก้ไขระดับประเทศได้”

กระจายอำนาจ 50 เขต 50 ล้าน

ในส่วนของการบริหารงานนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.หญิงรายนี้ วิเคราะห์ว่า ต้องกระจายงบในการแก้ไขปัญหา ให้แต่ละพื้นที่เป็นผู้จัดการ เพราะหากใช้การแก้ไขปัญหาแบบเดียวกันกับทุกเขต อาจจะเป็นการแก้ที่ไม่ตรงจุดและสิ้นเปลืองมากกว่า

“ดิฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเขตๆ ปัญหาต่างๆ มันจะเห็นชัดเจนขึ้น ในแต่ละพื้นที่เขาก็จะมีปัญหาของเขา เช่น ถนนพัง หลอดไฟแตก ไม่มีพื้นที่สวนสาธารณะ ผอ.เขตโดนประชาชนด่าอยู่ทุกวันว่าขออะไรก็ไม่ได้ เท่าที่ดิฉันฟัง คุณมีภารกิจให้เขาเต็มไปหมด แต่คุณให้เงินเขาปีละ 2-3 ล้าน กว่าจะไปของบอีกปีนึง ของก็ทรุดลงมากกว่าเดิม

การกระจายอำนาจ ไม่ใช่กระจายแต่ปาก ต้องกระจายงบด้วย เพราะฉะนั้นใน 50 เขตของ กทม. ดิฉันกำหนดไว้เลยว่าต้องกระจายงบลงไปเขตละ 50 ล้าน เป็นการเริ่มต้นก่อน ถ้าเราเอาทั้งหมดแล้วคิดแบบเดียวกัน เสื้อโหลของคุณเขาอาจจะใส่ไม่ได้ การตัดเสื้อให้มันเหมาะกับรูปร่างของแต่ละคน หรือแต่ละพื้นที่มันก็เป็นเรื่องจำเป็น



ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณ ได้บอกเล่าปัญหาของเขา และเข้ามามีส่วนแก้ไข ซึ่งอาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาในภาพรวมก่อน เช่น การเดินทาง ถนนหนทาง ฟุตปาทคนเดินแล้วตกท่อ หรือเดินถนนทางม้าลายและโดนชน มีระบบที่จะมาป้องกันมั้ย”

สุดท้าย เธอกล่าวว่า หากตนเองได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็อาจเปรียบได้กับการหัวหน้าแม่บ้าน มีทีมงานที่เข้ามาช่วยกันพัฒนาและแก้ไข เพื่อที่บ้านหลังนี้ จะเป็นบ้านที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

“ถ้าเราจะไปบอกว่า ผู้ว่าฯ 1 คน กับรองผู้ว่าฯ 4 คน จะไปแก้ปัญหาหมด เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่ในพื้นที่เขาจะรู้ปัญหาของเขาดีที่สุด และจะต้องเข้าไปดูในแง่ว่า เราจะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชนได้ยังไง



การบริหารงานท้องถิ่น ถ้าเราทำเป็นการกระจายอำนาจ คุณจะเบาแรง และเป็นข้อพิสูจน์ว่า คุณไม่ได้ต้องการหวงอำนาจไว้ที่ตัว เพื่อที่จะทำโครงการอะไรก็ตามที่จะหาเศษหาเลย เพราะการที่คุณอยู่ในที่สว่าง ประชาชนรับรู้ คุณโกงยากนะ การที่คนโกงกันได้เพราะอยู่ที่มืด

ที่จริงดิฉันทาบทามทางอดีตผู้ว่าฯ สตง. ขอให้มาเป็นกรรมการอิสระ เพื่อการตรวจสอบในเรื่องของงบประมาณ ว่า งบประมาณนี้ใช้การได้ มันคุ้มค่า มันเหมาะสม ทุกคนจะได้สบายใจ ไม่ใช่ว่าส่งไปแล้วไปงุบงิบทำอะไรกัน การที่เขาจะกระจายงบประมาณแล้ว เราต้องมีการตรวจสอบด้วย เพื่อให้ทุกคนมั่นใจ เพื่อให้ชีวิตของคนในแต่ละเขตได้รับการดูแล

ดิฉันเป็นหัวหน้าแม่บ้าน ถ้าเลือกดิฉัน เราเป็นทีมแม่บ้าน ดิฉันจะกำหนดทิศทางว่าทำอย่างนี้ แล้วให้ประชาชนมาช่วยกันคิด เข้ามามีส่วนร่วมทำให้เมืองมันดีขึ้น มันน่าอยู่ขึ้น แล้วเป็นบ้านสำหรับทุกๆ คน”

สัมภาษณ์ : รายการ “คนเคาะข่าว” ช่อง News1
เรียบเรียง : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เพจเฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น