xs
xsm
sm
md
lg

พ่นเสียงร้อง จาก ‘เด็กสลัม’ สู่ ‘แร็ปเปอร์’ แปลงความฝันชุมชนคลองเตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ด้วยข้อจำกัดที่ถูกขีดเส้น “เด็กสลัม” โดนสังคมกดทับความเหลื่อมล้ำแค่ถนนกั้น ผ่านมุมมอง “แร็ปเปอร์คลองเตย” ที่หวังเสียงร้องสร้างการเปลี่ยนแปลง และถูกเล็งเห็นปัญหาที่ซุกซ่อนไว้ พร้อมผลักดันตัวเองในวงการฮิปฮอป สร้างตัวตน-มุ่งสู่ความฝัน แสดงจุดยืนผ่านเสียงเพลง




‘แร็ปเปอร์’ ผู้แสดงจุดยืนผ่านเสียงเพลง


“ผมเชื่อว่าเพลงมันจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เพราะเราเห็นกันอยู่แล้วว่าไม่ว่าเป็นเพลงแนว hip hop หรือเป็นเพลงแนวอื่นๆ ที่เราพบเจอในสังคมทุกวันนี้ คนจะเปิดเพลงฟังกันในทุกๆ วัน ไม่มีคนไหนไม่ฟังเพลง อาจจะมีแต่อาจจะน้อย

เพราะฉะนั้น เพลงสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ทุกๆ วัย ผมเชื่อว่าเพลงมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ก็เพราะว่ามันสามารถเข้าถึงคนได้นี่แหละ คนเข้าถึงได้หลายๆ เพลง มันก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เท่านั้น แต่อยู่ที่ message”


“บุ๊ค-ธนายุทธ ณ อยุธยา” หรือ Elevenfinger วัย 20 ปี เด็กหนุ่มที่เกิดและเติบโตในชุมชนคลองเตย ที่ค้นพบตัวเองว่าเกิดมาเพื่อเป็นแร็ปเปอร์ จึงได้ทุ่มเทมุ่งความฝันหมดหน้าตัก และวางเดิมพันอนาคตของตัวเองในเส้นทางนี้ ซึ่งเขาการันตีรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากชมรมวิจารณ์บันเทิงมาแล้วอีกด้วย

ล่าสุดเปิดระดมทุนโปรเจกต์งานศิลปะเพลงแร็ป สะท้อนสังคมผ่านบุคคลหลากอาชีพ เช่น คนไร้บ้าน, คนติดยา, สาวขายบริการ, นักเรียนในชุมชนแออัด

วันนี้เขาจะมาเล่าถึงความภาคภูมิใจของความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบให้ฟังว่า กว่าจะมีวันนี้ได้ต้องผ่านการฝึกฝน ต่อสู้กับความฝันของตัวเอง และบทพิสูจน์ในเส้นทางแห่งนี้ จนเป็นหนึ่งในศิลปินที่ใช้งานศิลปะสะท้อนผ่านบทเพลงการทำงานอย่างตรงไปตรงมา


“ผมรู้สึกว่ามันค่อนข้างยากครับ ซึ่งเทคนิคแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป แต่ในส่วนของผม ผมรู้สึกว่าถ้าเราชอบ แล้วเรารักมันด้วยจิตวิญญาณของเรา ผมรู้สึกว่าเดี๋ยวมันจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับตัวเราเอง ซึ่งผมเป็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว

ผมฟัง hip pop มาตั้งแต่เด็กๆ ตั้งแต่ประถมแล้ว ผมจึงรู้สึกว่าสิ่งนี้ผมอยู่กับมันมาตลอด แต่ว่าเราไม่ได้ฝึกมัน ไม่ได้เรียนรู้จากมัน พอเราเรียนรู้จริงๆ เราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่เป็นเรา คือความเป็นเรา

แล้วมันทำให้ผมรู้สึกว่าผมไม่ได้รู้สึกว่าผมเก่ง หรือว่าแตกต่างจากคนอื่นเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ผมเป็น ก็คือฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ ตลอด

ตั้งแต่เด็ก ผมเป็นเด็กที่อยู่ร้านเกม ชอบเล่นเกม แล้วสมัยก่อนมี youtube ซึ่งหลายๆ คนเข้าไปร้านเกม หลายๆ คนก็อาจจะฟังเพลง หลายๆ คนอาจจะเปิดคลิปดู แต่สำหรับผม ผมเป็นคนที่ชอบเล่นเกมไปด้วย และชอบฟังเพลงแร็ปไปด้วย

เวลาผมเล่นเกม ผมก็อาจจะแร็ป freestyle แร็ปสด เล่นกับเพื่อนๆ ในร้านเกม ผมก็เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว มันเลยทำให้เทคนิคการแร็ปของผมอาจจะเร็ว อาจจะแร็ปได้หลายๆ รูปแบบเพราะว่าผมชอบในทุกๆ รูปแบบ และผมว่าทุกๆ รูปแบบค่อนข้างมีเอกลักษณ์ ผมเลยฝึกทุกอย่างที่เป็นแร็ป ฝึกทุกอย่างแม้กระทั่งการแต่งกลอน

[เซตภาพถ่าย ชุมชนคลองเตย หนึ่งการ support จากโปรเจกต์ระดมทุน]
ผมรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้หลายๆ คนจะมีเทคนิคแตกต่างกันออกไป ซึ่งเราพยายามทำให้สิ่งนั้นมันเข้ากับวิถีชีวิตเรามากที่สุด กินก็เป็นเพลง นอนก็เป็นเพลง ใช้ชีวิตอยู่กับเพลง แล้วมันจะสามารถอยู่กับเราได้ และเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเพลงได้

ผมเป็นคนที่ไม่มีพรสวรรค์เลยดีกว่า ผมร้องเพลงก็ไม่เพราะครับ เมื่อก่อนผมเป็นคนขี้อายมาก แต่ผมมีพรแสวงอย่างหนึ่ง คือ ผมเป็นคนชอบอะไรจะหมกมุ่นกับสิ่งนั้นๆ อย่างเช่นผมชอบเพลง ก็จะเอาลำโพงเข้าไปห้องน้ำ บางครั้งก็เอาไฟเข้าไปติด จัดคอนเสิร์ตเล่นในห้องน้ำ เปิดเพลงในห้องเรียน สนใจใส่แต่หูฟัง

หรือแม้แต่ตอนที่ผมเล่นฟุตบอล ผมก็หมกมุ่นกับการเล่นฟุตบอลมากๆ ชอบอะไรผมก็จะหมกมุ่นกับสิ่งนั้น ผมคิดว่าคนเราถ้าชอบอะไร เราพยายามเอาวิถีชีวิตของเราไปสอดคล้องกับสิ่งที่เราชอบ ซึ่งมันไม่ยากเลยถ้าเราพยายาม อย่างเช่นเราชอบเพลง มันก็จะอยู่ทุกที่ เราก็ได้ยินเพลงมาทุกๆ วัน

แต่ว่าวันที่เราไม่สนใจ เราก็ไม่เห็นค่าเพลง ว่าทุกที่ก็มีเพลง เราไม่ได้ยินมันเลย แต่พอวันนี้คุณเลือกที่จะมีความฝันเป็นนักดนตรี มีศิลปินแล้ว คุณต้องเห็นค่าเพลง เพลงมันอยู่รอบๆ ตัว นั่นแหละคือสิ่งที่สวยงาม

ถ้าเราเห็นค่าเพลง ชอบเสียงดนตรีเมื่อไหร่ เราก็สามารถใช้ชีวิตให้มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของเราในประจำวันได้ง่ายๆ”





“ศิลปะ เป็นสิ่งที่อิสระที่สุดในโลก”



“ในอุตสาหกรรมเพลงไทยจะพูดถึงเรื่องความรัก ซึ่งการพูดถึงเรื่องปัญหา ความฝัน มันน้อยที่เพลงเหล่านี้จะถูกกล่าวถึงในตลาดอุตสาหกรรมเพลงไทย เพราะว่าอาจจะเป็นเพลงใต้ดินอยู่ ซึ่งรอวันนั้น วันที่เพลงที่พูดถึงประเด็นไม่ใช่เรื่องของประเด็นหลัก หรือเรามาฟังกันในทุกๆ วัน ถูกพูดถึงมากขึ้น

ผมว่าสังคมมันจะเปลี่ยนไปอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะเพลงมันสามารถเข้าถึงทุกคนได้ แต่แค่ message ตอนนี้มันอาจจะไม่ตรงรึเปล่า

ผมรู้สึกค่อนข้างแย่ครับ ไม่ใช่เพลงอย่างเดียว แต่หลายๆ อย่าง ถ้าผมทำออกไป แล้วรู้สึกว่าผมโดนปิดกั้น หรือว่าโดน Censer ผมรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง เพราะว่าอย่างแรกเลยสำหรับผมรู้สึกว่าศิลปะเป็นสิ่งที่อิสระที่สุดในโลก

สำหรับต่างประเทศเขาไม่ค่อยมีการปิดกั้นศิลปะเท่าไหร่ เขาเปิดโอกาสให้เพลง หรือว่างานศิลปะวิพากษ์วิจารณ์ทางสังคม วิพากษ์วิจารณ์ใครก็ได้ วิพากษ์วิจารณ์คนที่เป็นบุคคลสำคัญของประเทศนั้นก็ได้ เพราะมันคืออิสระในการวิพากษ์วิจารณ์

แล้วศิลปะเป็นสิ่งที่อิสระที่สุด อย่างที่ผมได้บอกไป แต่กับประเทศของเรา มีการปิดกั้น มีการ Censor ความจริง หรือปัญหาสังคมต่างๆ ที่สอดแทรกลงไปในงานศิลปะ แต่กลับถูกปิดกั้น

ผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะมันคือศิลปิน แต่คนกลับปิดกั้นมัน มันบอกชัดว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือใครก็แล้วแต่ ที่พยายามปิดกั้นไม่ต้องการให้ปัญหาเหล่านี้ถูกพูดถึง มันยิ่งตอกย้ำเข้าไปอีกว่าปัญหานี้มันมีจริง

ผมรู้สึกว่าศิลปะมันไม่เขยิบไปไหน เพราะศิลปะเราถูกปิดกั้นทางความคิด ปิดกั้นทางทัศนคติมากเกินไป และตัดสินกันมากเกินไป บ้านเราชอบเอามาตรฐานตัวเองไปตัดสินมาตรฐานของคนอื่น ชอบเป็นกันแบบนั้น”






ความฝันราคาแพงของ “แร็ปเตอร์คลองเตย”


แววตาของเขาเต็มไปด้วยความฝันตลอดบทสนทนาที่คุยกัน ต้องยอมรับว่าพลังของเพลง hip hop สร้างพลังอันแรงกล้าว่าเส้นทางนี้จะนำพาไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า และไม่ใช่เรื่องง่ายในการเป็นแร็ปเปอร์ที่ประสบความสำเร็จ

“การออกกำลังกายมีส่วนสำคัญมากๆ เพราะก่อนที่ผมจะทำเพลง ผมเป็นนักกีฬาฟุตบอลมาก่อน และเป็นนักกีฬาว่ายน้ำมาก่อน มันทำให้ปอดและร่างกายของผม ค่อนข้างที่จะโอเค และลมหายใจค่อนข้างที่จะยาวนิดหนึ่ง

พอโตมา ผมก็เล่นฟุตบอลมาเรื่อยๆ จน ม.ปลายมาแร็ป ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันค่อนข้างสำคัญ เพราะว่าสำหรับสไตล์ผม จะเป็นค่อนข้างดุดันและใช้พลังเยอะ มันค่อนข้างสำคัญในการใช้เสียง

แต่บางคนอาจจะใช้คีย์เสียงต่ำๆ หรือว่าสไตล์ของแต่ละคน แต่จริงๆ เรื่องของการออกกำลังกาย และเรื่องสุขภาพ มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่แล้วในเรื่องของการเป็นศิลปิน เพราะว่าถ้าร่างกายสำคัญ จิตใจโอเค มีความสุข เพลงมันก็สามารถแต่งออกมาได้ดี”


ที่ผ่านมาเขาจึงพยายามคิดหาวิธีต่อยอด และสร้างสรรค์ผลงาน แม้เวลาจะพัดพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่เขามากแค่ไหน รวมทั้งท่ามกลางแรงกดทับของสังคมที่ต้องแลกอะไรไปมากมาย…

“ผมเป็นแร็ปเปอร์ประมาณ 6-7 ปีครับ จริงๆ ตอนแรกผมรู้สึกว่าผมชื่นชอบตัว culture ของ Hip pop ก่อน เพราะว่า culture มีความสวยงาม มีมนต์ขลัง และผมรู้สึกว่ามันเข้ากับความเป็นอยู่ที่ผมเจอในทุกๆ วัน

เช่น เรื่องการแต่งตัว เรื่องความเป็นแก๊ง ความเป็นมนต์ขลังของเพลง ความเป็น old school สมัยก่อน ผมรู้สึกว่ามันเข้ากับความเป็นผมดี และมันเข้ากับสิ่งที่ผมเป็นอยู่จริงๆ คือแวดล้อมของชุมชน แวดล้อมของสลัม และสิ่งรอบๆ ข้างที่มันเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ที่มันค่อนข้างอันตราย มีผู้คนหลากหลาย แหล่งเสื่อมโทรม ยาเสพติด

ผมรู้สึกว่าเราควรจะหยิบนำเรื่องตรงนี้ ทั้งเรื่องที่ดี และไม่ดีก็แล้วแต่ นำมาเล่าใส่ในเพลง เป็นทั้งข้อคิด เป็นทั้งกระบอกเสียง เป็นทั้งคำเตือนให้กับคนที่เข้ามาฟัง เป็นเพื่อน หรือเป็นหลายๆ อย่างให้คนที่เขาเข้ามาฟัง ว่าจริงๆ แล้ว hip pop มันไม่ได้มีเฉพาะคนรวยอย่างเดียว

มันมีของคนรากหญ้าด้วย ที่สะท้อนเสียงของความเป็นอยู่ของเขา การทำงานของเขา หรือการใช้ชีวิตของเขา เป็นบทเพลงที่พวกคุณอาจจะมองข้ามไป ซึ่งก็อยากให้พวกคุณหันมามองว่า บทเพลงของรากหญ้าเป็นยังไง เขาเรียกร้องอะไร ต้องการอะไร”


แน่นอนว่าการทำตามความฝัน เขาต้องพยายามต้องทุ่มเทมากกว่าคนอื่น อันเนื่องมาจากต้นทุนชีวิตที่มีไม่เท่ากัน เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่ยังคงพยายามค้นหาและค้นพบเรื่องราวชีวิต และสนุกกับสิ่งที่ทำในทุกๆ วัน

“มีช่วงที่คิดเพลงไม่ออก คือผมก็จะคิดกับตัวผมเองว่าเพลงมันก็เหมือนกับบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่ต้องบังคับมัน วันหนึ่งคุณอาจจะเขียนได้ท่อนเดียว วันหนึ่งคุณเขียนได้สองท่อน แค่ปล่อยตามเวลา เราไม่จำเป็นต้องเขียนเสร็จภายในวันเดียว

บางเพลงผมก็ไม่ได้เขียนเสร็จภายในวันเดียว ผมใช้เวลา 1-2 วัน หรือเป็นอาทิตย์ก็มี มันก็แล้วแต่คน ผมว่ามันก็เหมือนจิ๊กซอว์ที่แต่ละคนอาจจะตามหาชิ้นส่วนที่ขาดหายอยู่ ท่อนนี้มันอาจจะขาดหายไป แล้วเราอาจจะแต่งไม่ได้ อนาคตเราอาจจะไปเจอชิ้นส่วนนั้นๆ แล้วเราอาจจะเอามาใส่ และอาจจะเป็นเพลงที่สมบูรณ์แบบก็ได้

ผมก็เชื่ออย่างนั้น แล้วผมก็ไม่ได้เครียดมากกับการแต่งเพลง เพราะเพลงมันไม่ควรเครียดครับ แต่บางประเด็นมันอาจเครียด ซึ่งต้องขอเตือนว่าอย่าเครียดมาก เราพยายาม enjoy กับการแต่งเพลงดีกว่า เพราะว่าถ้าเราเครียดมากเกินไป เราจะรู้สึกว่ามันปวดหัว แล้วเราก็ไม่อยากทำมัน

กว่าที่ผมจะมีชื่อเสียง คนรู้จัก ก็นานครับ เพราะก่อนหน้าที่จะปล่อยเพลงก็มีการทำความเข้าใจ และทำความรู้จักวัฒนธรรม hip hop อย่างชัดเจน ฟังเพลงศิลปินคนอื่นๆ ประมาณหนึ่ง

แต่ช่วงที่มีคนรู้จัก คือช่วงที่ปล่อยเพลงแรก ซึ่งเป็นเพลงที่ทำเกี่ยวกับคลองเตย พูดถึงเรื่องราวในชุมชน น่าจะเป็นใบเบิกทาง และเป็นการปลุกประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการพูดถึงปัญหาในสังคม และพูดถึงปัญหาในชุมชน ทำให้คนได้รู้ว่าในชุมชนมันมีอย่างนี้

ทำให้ได้เห็นปัญหามันเกิดอย่างนี้ มันเป็นปัญหาที่ตัวโครงสร้าง มันมีหลายอย่างที่คนข้างนอกไม่รู้เกี่ยวกับคลองเตย เกี่ยวกับชุมชน แล้วตรงนี้ผมรู้สึกว่าเราอยากจะเล่ามันออกไปให้ผู้คนข้างนอกรู้ว่าจริงๆ แล้วในคลองเตยมันมีอะไรมากกว่าที่คุณคิดกัน”





ฝ่าคำบูลลี่ “เด็กสลัม-ไอ้ 11 นิ้ว”



สิ่งหนึ่งที่แร็ปเปอร์รายนี้มักจะย้ำเสมอก็คือ เขาไม่ชอบ “ตัดสิน” ใคร เพราะเข้าใจดีว่าคนเราทุกคนต่างมีบางสิ่งบางอย่างซุกซ่อนอยู่ในจิตใจ ยังมีสิ่งที่อยากฟันฝ่าไปให้ได้ เช่นเดียวกับตัวเขาเองที่มีบาดแผลจากการถูกตัดสิน หรือถูกทำร้ายจิตใจทางคำพูด ถูกครอบด้วย ‘เด็กสลัม’, ‘ไอ้ 11 นิ้ว’

“เจอมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ก่อนเป็นแร็ปเปอร์อีก ตั้งแต่เป็นช่วงเรียนอยู่ โดนคำว่า ไอ้ 11 นิ้ว เพราะผมเป็นคนที่มี 11 นิ้ว เหมือนชื่อแร็ปที่ชื่อว่า Elevenfinger เลย ซึ่งผมก็โดนบูลลี่มาตั้งแต่เด็กๆ

ผมรู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้ ตั้งแต่ผมออกจากระบบการศึกษา ผมก็รู้สึกว่าปัญหาการบูลลี่มันก็ยังมีอยู่มาตลอด ทั้งในโรงเรียนหรือว่าในระบบสังคมก็ดี ซึ่งเราไม่สามารถปฏิเสธ และต้องยอมรับเลยว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเจอ

และมันไม่เคยถูกแก้ไข ซึ่งถ้าเรามัวแต่รอว่าใครจะมาแก้ไข หรือใครจะมาเปลี่ยนแปลงมัน มันก็ไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องเริ่มจากตัวเราเอง ตัวเราบูลลี่ใครอยู่รึเปล่า ตัวเราทำให้ใครรู้สึกแย่รึเปล่า

บางคนพูดมาใส่ผม หรือว่าบางคนพูดใส่คนอื่น อาจจะไม่รู้ว่าเขาต้องแบกความรู้สึก หรือว่าคำพูดนั้นเอาไว้ และเก็บไปคิดต่อรึเปล่า หรือว่าเขาไปทำร้ายตัวเองรึเปล่า เราไม่สามารถรู้ได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องระวังเรื่องการพูดจา

และเรื่องการสื่อสารต่อคนที่รับฟังเรา ว่าคนที่เรารู้จัก คนที่อยู่ใกล้ตัวเรา เราจำเป็นที่ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ให้อยู่ในสังคมนี้ได้”





ความเจริญ-ความฝัน...ห่างกันแค่ถนนกั้น!!


อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น เขาทุ่มเทมุ่งความฝันหมดหน้าตัก จาก ‘เด็กสลัม’ พรแสวงของเขา พัดพาสู่การสร้างสรรค์ผลงานเพลง จนเป็นหนึ่งในศิลปินที่ใช้งานศิลปะสะท้อนสังคม

เขายังเปิดมุมมองถึงการบอกเล่าในชุมชนคลองเตยที่ถูกนำเสนอผ่านเพลง 'Klong Toey My City' ที่มีสไตล์โดดเด่นจนมีสื่อจากประเทศแคนาดาให้ความสนใจ โดยเป็นตัวแทนพูดเรื่องความฝันและปัญหาของระบบการศึกษาผ่านภาพยนตร์สารคดี ‘School Town King’ ซึ่งได้รับรางวัลภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจากงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 29 และรางวัลจากรางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง ประจำปี 2563 โดยรับชมได้ทาง Netflix

ที่พาไปสำรวจชีวิต ความรู้สึก และความฝันได้อย่างน่าสนใจ และพาไปถึงการตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา ความเป็นอยู่ในปัจจุบัน





“สิ่งรอบตัวและสิ่งที่ผมเจอในทุกๆ วัน การที่ผมเดินออกจากซอย หรือว่าตั้งแต่สมัยไปโรงเรียน ตั้งแต่ที่เรียนอยู่ เราพบเจออะไร เพราะว่าผมเป็นคนที่เรียนอยู่เอกมัย เรียนอยู่ในย่านที่เจริญย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ เลย แล้วบ้านผมอยู่ในชุมชนคลองเตย

ผมได้สัมผัสระหว่างคลองเตย กับเอกมัย เดินทางไป-กลับ จนทำให้ผมเห็นความเหลื่อมล้ำได้อย่างชัดเจนเลยว่า คลองเตยและเอกมัยมันค่อนข้างต่างกันมาก ทำให้ผมเห็นเลยว่าโรงเรียนในเอกมัยกับโรงเรียนในคลองเตยค่อนข้างต่างกัน

เด็กที่โน่นก็ไม่เหมือนเด็กที่นี่ วิถีชีวิตที่เอกมัยมีรถเก๋งเยอะ รถติดแออัด ในชุมชนจะค่อนข้างต่างกันออกไป เลยทำให้ผมเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือว่าปัญหาเรื่องการศึกษาที่ผมเจออยู่ทุกวัน ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้รับการแก้ไขเลย

ผมก็รอดู ผมก็ให้โอกาสระบบการศึกษาอยู่ ไม่ใช่ว่าผมจะพูดหรือตัดสินระบบการศึกษาเลยว่าไม่ดี ผมเจอมาแล้ว 6-7 ปี มันไม่เปลี่ยนแปลง ผมรู้สึกว่าถ้าไม่มีใครออกมาพูดประเด็นนี้ หรือนำประเด็นนี้ที่ถูกซุกใต้พรมมานาน ออกมาพูด ออกมาโต้เถียงกัน เมื่อไหร่จะมีการเปลี่ยนแปลงสักที”


ทว่า แนวคิดของบุ๊คอาจจะถูกใจ หรืออาจไม่ถูกใจใครหลายๆ คน แต่ถ้าเราเปิดใจ ลองทำความเข้าใจ ก็อาจทำให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งความเหลื่อมล้ำ ระบบที่ล้าหลัง ซึ่งไม่เพียงทำลายความฝันของเยาวชน แต่ยังเป็นอุปสรรค กดทับสังคม

“ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก เหมือนเป็นปัญหาที่เจอทุกๆ วัน แล้วสิ่งที่แย่ที่สุด คือเราพยายามที่จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ หรือพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้า แต่เมื่อเราออกจากประตูบ้าน เราก็เจอแต่ปัญหาเดิมๆ มันไม่เคยเปลี่ยนไป หรือไม่เคยลดน้อยลง ซึ่งอันนี้คือความน่าเศร้าของการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมคนไทยมากๆ

คือการที่เราพยายามที่จะจบปัญหานี้ แต่เราก็ไม่สามารถหลีกหนีมันได้ มันไม่เคยน้อยลงเลย เป็นเพราะอะไรผมก็ไม่รู้

ผมรู้สึกว่าเวลาผมเดินทางไป-กลับ ระหว่าง 2 ย่าน (เอกมัย-คลองเตย) นี้ทุกๆ วัน แล้วผมเห็นความเหลื่อมล้ำระหว่างถนนกั้น

ถนนกั้นฝั่งหนึ่งเป็นสลัม อีกฝั่งหนึ่งเป็นย่านที่เจริญแล้ว มันเห็นชัดมากเพียงแค่ถนนกั้นเองครับ ไม่ได้ห่างกันเยอะแต่ว่าความเหลื่อมล้ำมันค่อนข้างที่จะแตกต่าง ความเหลื่อมล้ำมันสูงมากจริงๆ คือแตกต่างระหว่างย่านคนมีเงิน ย่านธุรกิจกับย่านในชุมชน แหล่งเสื่อมโทรม”


เสียงสะท้อนจากผู้ชายวัย 20 ปี ส่งเสียงร้อง มองเห็นถึงปัญหาเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก เปรียบเสมือน ‘แค่ถนนกั้น’ ที่อยากให้การศึกษา โอกาส การโดนกดทับ และถูกมองข้ามทางสังคมของคนในสลัม ถูกเปลี่ยนแปลง สามารถเข้าถึงเท่าเทียมกัน

“ในชีวิตของผม คือปัญหาที่เจอมาโดยตลอด ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของคนรอบๆ ตัว แต่ส่วนตัวของผมเองปัญหาที่เจอมาก็เป็นปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่ เอาจริงๆ ผมเป็นคนที่เข้าถึงสิทธิในการศึกษาได้อย่างครบถ้วน แต่ผมเป็นคนเลือกที่จะไม่รับมันเอง ผมเลือกที่จะทำตามความฝันของผม

แต่กับหลายๆ คนที่เขาอยากเข้าระบบการศึกษา แต่ระบบไม่เอื้อต่อเขา หรือว่าเขาอาจจะไม่มีเงินเรียน ผมมองว่าควรจะมีโอกาสให้คนได้เรียนฟรีแบบมีคุณภาพ ทุกคนไม่มีใครไม่อยากเรียนหรอก แต่เรียนแล้วเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้อะไร เรียนแล้วเขารู้สึกว่าหลายๆ อย่างมันบีบรัดเขาเกินไป ไม่เอื้อต่อความฝัน

บางคนอยากเป็นนักร้อง แต่ทางโรงเรียนไม่มีชุมนุมนักร้อง เขารู้สึกว่าไม่เข้ากับเขา รู้สึกว่าไม่เป็นสิ่งที่เขาพยายามเป็น หลายๆ คนอยากเรียนหมด แต่มันไม่เอื้อให้เขาเป็น ไม่เอื้อต่อสิ่งที่เขาอยากทำ เพราะฉะนั้นระบบต้องเอื้อให้กับคนที่เขามีความฝันและอยากจะเป็น

คนในชุมชนมีหลายๆ คนที่มีความฝัน มีความสามารถเยอะ มีคนอยากเป็นนักฟุตบอล มีคนอยากเป็นนักร้อง นักดนตรีมากๆ แต่ว่าพวกเขาแทบจะไม่มีสักคนที่จะไปถึงความฝันของเขาได้เลย ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เก่ง แต่ว่าระบบหรือว่าโครงสร้างสังคมมันแบ่งแยกคนกันอย่างชัดเจน

ลองเอาคนที่มีเงิน มีทุนทรัพย์ ที่มีเงินไปเรียนฟุตบอล มีเงินไปจ้างโค้ชมาเตะแข่งกับเด็กในชุนชน ผมว่าเด็กในชุมชนก็ชนะ ผมไม่ได้อวย แต่ว่ามันเป็นเรื่องจริง มันไม่ต่างกันเลย ทั้ง 2 อย่างมันเป็นเรื่องฟุตบอลหมด แต่ทำไมเด็กในชุมชนมันเก่งกว่า ทั้งที่อุปกรณ์กีฬาพวกเขาไม่มี โค้ชก็ไม่มี สนามกีฬาก็แทบจะไม่มี

แต่เป็นเพราะการผลักดัน และแรงผลักดันสิ่งรอบๆ ตัว สภาพแวดล้อมมันผลักดันให้พวกเขาต้องสู้มากกว่าคนอื่น เขาก็เหลือเพียงแค่โอกาส ถ้ามีโอกาสเขาก็จะไปได้ไกลเหมือนกับผมเหมือนกัน”


ยิ่งไปกว่านั้น น้ำหนักความฝันกลับถูกกดดันจากรอบข้าง ตั้งแต่ครอบครัวไปจนถึงระบบการศึกษา… สุดท้ายแล้วเมื่อโตขึ้น ความคิดที่ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา ทำให้เขาอยู่ได้กับสิ่งที่ตัวเองรักต่อไป และหวังว่าบทเพลงที่ผ่านการใช้สิ่งที่พบในชุมชนคลองเตย ปลุกฝันเป็นตัวตนของเขา จากฝันร้ายสะท้อนการเปลี่ยนแปลง

“การต่อสู้กับความฝันมันไม่ง่ายตั้งแต่เริ่มแล้ว เพราะว่าบางคนเขามีเงิน ...เขาอาจจะไปเช่าสนามฟุตบอลเตะกับเพื่อนก็ได้ บางคนเขามีเงิน เขาอาจจะไปเรียนร้องเพลง ไปเรียนเตะฟุตบอลกับโค้ชกับใครก็ได้

แต่เด็กในชุมชน เขาไม่ได้มีเงินอย่างนั้น เขาก็ต้องเน้นพรแสวงเอา ฝึกซ้อมเอา ซึ่งเขาขาดเพียงแค่โอกาส ถ้าเขามีโอกาสผมคิดว่าคนที่มองเห็นจะโชคดีมากๆ เพราะเด็กในชุมชนเก่งไม่ต่างกันเลย

สำหรับคนที่กำลังมีความฝัน และกำลังตัดสินใจที่จะทำตามความฝัน ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ คือผมเข้าใจในความตั้งใจ และเส้นทางที่ทุกคนได้เลือก ผมเคยผ่านในจุดที่ต้องเลือกที่จะต้องอะไรสักอย่างหนึ่งมามากเหลือเกิน จนนับครั้งไม่ได้เลย

และทุกครั้งที่ผมเลือกมันจะหนักใจเสมอ และค่อนข้างยากเสมอ เพราะมันต้องเสียสิ่งหนึ่งไปเสมอ อย่างเช่นผมเลือกเป็นแร็ปเปอร์ ผมเลือกออกมาทำเพลง ผมก็ต้องเสียเรื่องการเรียนไป

ผมเลือกมาเป็นแร็ปเปอร์ ผมก็ต้องเสียเรื่องฟุตบอลไป ต้องเลิกเล่นไป ผมก็ต้องเสียใจกับการต้องเสียสิ่งนั้น แต่ผมได้กลับมา อย่างแรกคือ ความเป็นตัวเอง

อย่างที่สองเราได้ลงมือทำ อย่างที่สาม เราเลือกเอง ไม่มีใครมาเลือกให้เรา สิ่งนี้ที่เราต้องภูมิใจกับมัน แต่เราไม่จำเป็นต้องเสียดายว่าสิ่งที่เราทิ้งไปมันมีราคาแค่ไหน เรารู้สึกภูมิใจกับมันดีกว่า ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ มันมีราคาขนาดไหน มันมีค่าแค่ไหน ค่าของเราประเมินไม่ได้ เพลงของเราประเมินไม่ได้ สิ่งที่เราทำประเมินไม่ได้”





ครอบครัวแตกแยก-ความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่เคยเข้าถึง!!?



“ชีวิตผมเปลี่ยนไปในเรื่องของการทำงาน แต่ว่าการใช้ชีวิตผมเหมือนเดิม ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก ถึงจนวันนี้ชีวิตผมก็เหมือนเดิมเลย เจอใครผมก็ทัก เจอพี่ เจอเพื่อนผมก็ทักเหมือนเดิม ไม่มีว่าผมดังแล้วจะเปลี่ยน ผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ผมก็ใส่เสื้อบอล เดินในชุมชนเหมือนเดิม

เอาจริงๆ ครอบครัวผมค่อนข้างโอเค ไม่ได้รวยมาก แต่ว่าพออยู่พอกิน เพราะว่าบ้านผมเป็นคนใช้เงินประหยัดเลยอยู่กันมาได้

แต่ว่าครอบครัวก็มีปัญหาเรื่องการแตกแยก เพราะผมเป็นคนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก พอโตมาแม่ผมเสียชีวิตไป และได้มีโอกาสมาอยู่กับพ่อ ซึ่งมันก็เป็นปัญหาแล้วส่งผลมาถึงวันนี้ คือเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างที่พูดไม่ถูก แล้วรู้สึกแย่

เอาจริงๆ ผมอยากให้อยู่กันครบมากกว่า ซึ่งผมอยากให้ครอบครัวผม ครอบครัวคนอื่นอยู่กันครบๆมากกว่า ซึ่งครอบครัวอื่นๆ ในชุมชนลำบากกว่าครอบครัวผมเยอะแยะ บางครอบครัวแตกแยก ไม่มีบ้านเลยก็มี

บางคนนอนอยู่บ้านเพื่อนอย่างเดียวก็มี บางคนไม่มีโอกาสได้เรียน บางคนไม่มีโอกาสได้ทำงาน บางคนสู้ชีวิตแทบตาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเต็มไปหมด ผมเจอทุกๆ วัน ออกจากบ้านก็เจอแล้วกับปัญหาต่างๆ

จริงๆ สลัมมีดีๆ มีบ้านเป็นปูน ซึ่งมันก็ไม่ได้ต่างจากที่อื่น แค่สภาพแวดล้อมมันแออัดเฉยๆ คนเลยมองว่าเป็นอย่างนั้น จริงๆ คนที่นี่ก็เหมือนคนทุกที่ครับ ด้วยความที่คนอยู่เยอะ คนแออัด เลยดูว่ามันวุ่นวาย จริงๆ แค่สภาพแวดล้อมมันแออัด จริงๆ มันไม่ได้มีอะไร

สำหรับเพลงที่ผมพูดถึงสลัมเอาจริงๆ เรื่องความเป็นอยู่มันไม่ได้ดีขึ้น แต่ปัญหามันถูกพูดถึงมากขึ้น อย่างแรกเลยมันทำให้คนที่มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา อย่างน้อยได้มีความสนใจมากขึ้น แล้วในที่นี้ใครจะลงมาแก้ปัญหาต้องดูกันอีกทีว่าใครจะจริงใจที่จะมาแก้ปัญหา

แต่สิ่งสำคัญที่เราได้เริ่มมัน และวิถีชีวิตของพวกเขาก็ยังคงดำเนินต่อไป เขายังทำงานหาเช้ากินค่ำต่อไป ต่อสู้ในชีวิตของพวกเขาต่อไป ผมเพียงแค่อยากให้ระบบหรือหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างมันเอื้อต่อทุกๆ คนมากกว่านี้ เอื้อต่อคนที่ทำงาน เอื้อต่อคนที่ทำความฝัน เอื้อต่อคนที่อยากจะทำในเส้นทางของตัวเอง มีสวัสดิการที่ดีที่รองรับเขาได้ ทำให้พวกเขากล้าตัดสินใจมากกว่านี้ และกล้าตัดสินใจกล้าทำความฝันมากกว่านี้”









สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Thanayut Naayutthayar”, แฟนเพจ“Elevenfinger”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น