xs
xsm
sm
md
lg

แฉช่องโหว่!! “กุญแจมอเตอร์ไซค์ไขครอบจักรวาล” ดอกเดียว-คนละคัน-ขโมยได้ไม่สิ้นสุด [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าตกใจ!! “กุญแจ” มอเตอร์ไซค์รุ่นเดียวกัน คนละคัน แต่เสียบด้วยกันได้ และนี่คือ เทคนิคการป้องกันแบบง่ายๆ เพื่อไม่ให้รถของเรา กลายเป็น “รถสาธารณะ” ของใครต่อใคร



มีดอกเดียวไขได้ครอบจักรวาล

เกิดบ่อยเป็นประจำทุกปีกับเหตุการณ์รถหาย ยิ่งมอเตอร์ไซค์ยิ่งแล้วใหญ่ เดินเข้า สน. แจ้งความกันเป็นว่าเล่น เช่นเดียวกับอย่างเคสล่าสุด ที่เกิดขึ้นกับแม่ค้าข้าวเหนียวไก่ทอด จ.สงขลา ที่รถหายแม้กระทั่งจอดขายไก่ทอดไว้ตรงหน้าร้าน เมื่อสอบสวนพบว่า ไม่ได้เป็นการขโมยรถ แต่เป็นการขับรถไปผิดคัน

เนื่องจากรถทั้งสองคันเป็นรุ่นเดียวกัน ต่างกันแค่สีเบาะกับทะเบียน ด้วยความเร่งรีบทำให้ไม่ได้สังเกต และขับกลับบ้านไป หลังเกิดเหตุก็ได้มีการนำรถมาคืน พร้อมขอโทษ จึงไม่ติดใจเอาเรื่องเอาราวกัน



[ เคสล่าสุดเสียบกุญแจรถสลับคัน ]
นอกจากเคสรถหายโดยที่ผู้ก่อเหตุไม่ได้เจตนาแล้ว ยังมีกรณีตั้งใจขโมยด้วย อย่างเคสนี้เกิดขึ้นที่ข้างร้านกาแฟร้านหนึ่งใน จ.ลำปาง ผู้ก่อเหตุได้ใช้กุญแจดอกเก่า เสียบไขรถผู้เสียหายแล้วขับหนีไป

เมื่อตรวจสอบพบว่า ผู้ก่อเหตุขโมยจริง เห็นรถจอดอยู่ จึงนำกุญแจดอกเก่าตัวเองมาลองเสียบ ดันบิดเข้ากันได้แล้วขับขโมยไป ซึ่งหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบว่ากุญแจกับรถ เป็นคนละยี่ห้อกัน

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายเคสที่ขโมยกันไปง่ายๆ จากการใช้กุญแจยี่ห้อเดียวกัน และกุญแจคนละยี่ห้ออีกด้วย เช่น จอดซื้อของที่เซเว่นฯ แป๊ปเดียว ออกมาหาย, เสียบกุญแจไว้ ลงไปซื้อของกลับมาหาย, หายแบบเผลอๆ ก็มี เช่น เพิ่งก้าวเท้าลงจากรถ โจรขโมยขับหนีทันที ฯลฯ

เมื่อมีข่าวเรื่องรถหายเกิดขึ้น ทำเอาผู้ใช้รถเกิดคำถามอย่างหนัก ว่า รถหายนั้นอาจไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อีกต่อไป จะซื้อรถมาสักคันต้องโดนถูกขโมย แค่มีกุญแจรุ่นเดียวกันดอกเดียว ก็สามารถทำอะไรกับรถก็ได้ ไหนความปลอดภัย?



[ “สุนทร” กูรูเรื่องกุญแจรถ ]
สุนทร น้อยบุญมา รองประธานช่างเชี่ยวชาญจักรยานยนต์ นายกสมาคม Malaysia Thailand Rider Club ให้ข้อมูลว่า กุญแจรถมอเตอร์ไซค์สามารถเสียบด้วยกันได้ทุกยี่ห้อ เจาะจงยี่ห้อไม่ได้ บางครั้งต่างยี่ห้อก็เสียบกันได้ เพราะเขี้ยวคล้ายกัน แต่ไม่ใช่ว่ากุญแจหนึ่งดอก จะสามารถไขได้ทุกคัน

ถึงจะเป็นรุ่นเดียวกัน แต่คนละคัน ก็สามารถขับด้วยกันได้ เพราะต่างกันนิดเดียว คือ ตรงเขี้ยว โดยธรรมดากุญแจรถจะมีอยู่ 2 เขี้ยว ฝั่งซ้ายและขวา ตรงเขี้ยวมีรอยหยักไม่ลึกมาก จึงง่ายต่อการบิดกุญแจเข้ากัน

ส่วนมอเตอร์ไซค์ทั่วไป เขี้ยวฝั่งขวาจะอยู่ต่ำกว่าฝั่งซ้าย ดูไม่เรียบและไม่เสมอกัน เขี้ยวของแต่ละยี่ห้อไม่ต่างกันมาก ทั้งความยาว และเบ้าของกุญแจ ซึ่งมีความยาวไม่เกิน 2 นิ้ว ที่รอยหยักกุญแจอยู่ที่ 2-3 ซม. ทำให้เสียบไขได้ไม่ยากเย็น แต่ถ้าเป็นบิ๊กไบค์ จะใช้ระบบสแกนคอมพิวเตอร์ เมื่อกุญแจหายจะไม่สามารถขโมยได้



[ เขี้ยวกุญแจรถมอเตอร์ไซค์ฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ]
“ในเรื่องความปลอดภัย รถมอเตอร์ทั่วไปจะป้องกันการขโมยยากครับ ถ้าจะทำให้รถปลอดภัย ต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้น ปัจจุบันกุญแจดอกเดียวสามารถใช้ทำทุกอย่างในรถมอเตอร์ไซค์ ทั้งสตาร์ท ทั้งล็อก ทั้งเปิดใต้เบาะ แต่กุญแจเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำให้รถหายนะ เพียงแค่อย่างน้อยๆ ทำให้ไม่ต้องใช้เวลานานในการสตาร์ทรถแค่นั้น”

มอเตอร์ไซค์รุ่นทั่วไปใน 20 ปีก่อน มีการล็อกรถอยู่ 2 ส่วน คือ ล็อกที่ใต้แผงคอรถกับล็อกที่ใต้เบาะ ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะใช้กุญแจดอกเดียวกันในการไข แต่ปัจจุบันพัฒนาเปลี่ยนการล็อกคอรถและใต้เบาะ ให้เป็นล็อกที่ส่วนเดียวแทน เพราะสะดวกแถมประหยัดเวลาอีกด้วย

“จุดประสงค์หลักที่ทำกุญแจออกมา ก็เพื่อจุดระเบิดเครื่องยนต์ ทำให้เกิดการเปิด-ปิด สวิตช์รถ และช่วยล็อกคอรถ ซึ่งกันขโมยได้แค่ส่วนหนึ่ง แต่ผมว่ากุญแจอย่างเดียวมันกันไม่ค่อยได้เท่าที่ควร ควรซื้อตัวล็อกคอรถมาเพิ่ม”

เจ้าของ “HONDA” กลุ่มที่ต้องระวังที่สุด!!

ปัจจุบันคนไทยซื้อมอเตอร์ไซค์กันน้อยลงกว่าปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งกรมขนส่งทางบกเผยข้อมูลสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ในปี 2563 ว่า มีเพียง 1,681,437 คัน น้อยลงกว่าปีที่ผ่านมาถึง 10.40% เนื่องจากเจอสถานการณ์โควิด-19

แต่ถึงผู้คนจะซื้อรถกันน้อยลง สถิติการหายของรถกลับไม่ลดลงตาม เมื่อเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรม รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เผยข้อมูล ว่า มีจำนวนรถหายทั้งหมดถึง 16,840 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 4,874 คัน และ มอเตอร์ไซค์ 11,966 คัน



[ ข้อมูลสถิติการจดทะเบียนรถใหม่ 63 ]
นอกจากจำนวนสถิติรถที่หายกันเป็นว่าเล่นแล้ว คือ ยี่ห้อของรถ ยี่ห้อที่ถูกหิ้วบ่อยสุด แน่นอนว่า ต้องเป็นแบรนด์ที่เป็นที่ต้องการของตลาด โดยแชมป์อันดับหนึ่งที่ผู้ใช้ควรระวังมากที่สุด คือ Honda เจ้าของแชมป์แห่งการหายตัว

พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 หัวหน้าชุดปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำตรวจแห่งชาติ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ “คุยให้จบข่าว” ถึงการโจรกรรมรถ ว่า ช่วงเทศกาลรถจะหายเยอะกว่าปกติ


[ “พล.ต.ต.ไตรรงค์” พูดถึงเคสมอเตอร์ไซค์หาย ]
ยิ่งช่วงสงกรานต์จะหายเยอะกว่าเทศกาลอื่น จากข้อมูลสะสมในช่วงปี 2556-2563 มีรถมอเตอร์ไซค์หายในช่วงเทศกาลทั้งหมด 1,882 คัน และได้คืน 488 คัน

รถส่วนใหญ่ที่หายไปแบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ 1. ขโมยไปดัดแปลงทะเบียนแล้วนำส่งขายทั้งคัน มีนำส่งขายตลาดต่างประเทศ ส่วนมากรถที่ส่งนอกประเทศ จะส่งขายเป็นคันๆ 2. ขโมยไปถอดชิ้นส่วนขาย

นอกจากนี้ หัวหน้าชุดปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำตรวจแห่งชาติ ยังได้แนะนำการป้องกันและวิธีรู้ทันโจรว่า ถ้าเกิดเหตุรถหายอย่าตกใจ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดและรีบแจ้งตำรวจโดยเร็ว หรือโทร. 1192 ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรม รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เป็นศูนย์โดยตรงรับแจ้งรถหายและสกัดจับแก๊งขโมยรถทันที



พฤติกรรมของผู้ใช้เองก็เป็นส่วนสำคัญในการเสริมให้รถถูกขโมยได้ง่ายขึ้น โดยสถิติอันดับหนึ่ง คือ ผู้คนชอบเสียบกุญแจคาไว้ที่รถและไม่ล็อกคอ จึงง่ายต่อการถูกขโมย

ทั้งนี้ เทคนิคการทำให้โจรต้องยอมแพ้และถอยหนีไป คือ การล็อกคอรถ ปกติทั่วไปการล็อกคอจะหักมาด้านซ้าย ให้เปลี่ยนหักคอมาล็อกฝั่งขวาแทน เพราะโอกาสในการขโมยจะยากกว่ากันหลายเท่า

“ผู้ขับขี่รถไม่ควรที่จะลืมล็อกคอรถ ควรซื้ออุปกรณ์ป้องกันรถไว้เล็กน้อย แค่นี้รถจะปลอดภัย และที่สำคัญนะครับห้ามจอดรถในที่เปลี่ยวไร้ผู้คนเด็ดขาด”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : มัลลิกา เหลาเกตุ
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : www.dlt.go.th, fb.com/mitrthambp, แฟนเพจ “ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”, ยูทูบ “workpoint 23” และยูทูบ “ช่อง 8”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น