xs
xsm
sm
md
lg

“ต้นตีนเป็ด” กลิ่นปีศาจในคราบไม้มงคล!! ประโยชน์มากมาย แต่พ่ายแพ้ต่อความเหม็น?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลมหนาวมาทีไร กลิ่น “ต้นตีนเป็ด” ก็ตลบอบอวลจนกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ชาวโซเชียลฯ แนะให้ตัดทิ้ง เพราะไม่ไหวกับกลิ่นเหม็นของต้นไม้ฉายา “ปีศาจ”

กลิ่นเหม็น จนได้รับฉายา “ต้นไม้ปีศาจ”

หน้าหนาวทีไรเป็นต้องมีประเด็น “กลิ่นของต้นตีนเป็ด” กลายมาเป็นปัญหาระดับชาติ คอมเมนต์ถกเถียงกันวุ่น “คนหอมก็มี คนเหม็นก็มา”

ความเห็นจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง พูดถึงกลิ่นหอมอันชวนหลงใหลของ “ดอกตีนเป็ด” ว่า เป็นเอกลักษณ์สุดพิเศษอย่างหนึ่งเมื่อเข้าสู่หน้าหนาว



“กลิ่นหอมดี เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งบอกว่าฤดูหนาวกำลังจะเข้ามาเยือน บวกกับมีความทรงจำดีๆ ในตอนที่ดอกตีนเป็ดบาน ทำให้กลิ่นหอมขึ้นไปอีก แต่ละปีของช่วงนี้ก็จะมีความสุขเป็นพิเศษ”

ในขณะที่คอมเมนต์ส่วนใหญ่กลับสวนกระแส เพราะมองว่า “ดอกตีนเป็ดมีกลิ่นเหม็น” จนบางคนถึงขั้นเรียกร้องให้มีการถอนราก-ถอนโคนกันเลยทีเดียว







“เวียนหัวมาก กลิ่นหลอกหลอนทุกเย็น ขอให้มาตัดที่ กทม. ด้วย ทั้งริมถนน สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ขุดออกมา ถอนรากถอนโคลนไปเลย ได้โปรดเห็นใจ เชื่อว่า คนไม่น้อย ไม่โอเคกับกลิ่นนี้”

และยิ่งเป็นที่ฮือฮากันมากขึ้นไปอีก เมื่อล่าสุด มีข่าวออกมาว่า หนุ่มคนงานรับจ้างตัดต้นไม้ ขึ้นไปตัดต้นตีนเป็ด เป็นลมสลบคาต้น บริเวณลานจอดรถที่บิ๊กซี จ.เชียงราย คิดว่าเหม็นแค่ไหน ถามใจดู?



[ ข่าวคนงานรับจ้างตัดต้นไม้ แล้วสลบคาต้น ]

หรือนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนถึงกับพูดกันว่า ต้นตีนเป็ด นี้ เป็นที่มาของฉายา “ต้นไม้ปีศาจ” อย่างที่ ทาง แฟนเพจ “Drama-addict” ซึ่งเป็นเพจดังที่นำเสนอประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ได้ออกมาสรุปว่า ฉายานี้มาจากคนท้องถิ่นในประเทศอินเดีย

เกิดจากความเชื่อที่ว่า พอช่วงโพล้เพล้ หรือช่วงหัวค่ำจะเป็นเวลาของภูตผีวิญญาณ แล้วต้นนี้มันจะส่งกลิ่นจัดๆ ออกมา ในช่วงนั้นพอดี จึงนำมาเชื่อมโยงกันเป็นชื่อ “ต้นไม้ปีศาจ” และเกิดเป็นตำนานมาตั้งแต่ตอนนั้นโดยปริยาย

ตัดทิ้งไม่ได้ เพราะถือเป็นไม้มงคล

หันกลับมามองในมุมคนไทย กลับให้ฉายา “ไม้มงคล” ด้วยความเชื่อที่ว่า “ต้นตีนเป็ด” หรือ “พญาสัตบรรณ” สามารถส่งเสริมเกียรติยศ และชื่อเสียงของผู้เป็นใหญ่ในบ้าน รวมถึงทำให้คนเคารพนับถือ เห็นได้จากคำว่า “พญา” ที่แปลว่ายิ่งใหญ่

ด้วยความหมายที่ดีเช่นนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้พระราชทานให้เป็น “ไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรสาคร” และถือกันว่าเป็นไม้มงคลตั้งแต่นั้นมา



[ เป็นไม้มงคล ให้ร่มเงา ]

นอกจากนี้ ประโยชน์ของต้นตีนเป็ด ก็ยังมีมากมาย ชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า ต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ นั้น เป็นไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ใหญ่ โตเร็ว มีคุณค่าทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพสูง

ที่สำคัญ สามารถผลิตก๊าซออกซิเจน และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ได้ปีละหลายร้อยตัน และยังเป็นไม้เบิกร่องที่แผ่กิ่งก้านสาขาออกไป เพื่อให้ร่มเงากับไม้อื่นๆ ได้เติบโตอย่างสมบูรณ์

“ประโยชน์ของต้นตีนเป็ด มีมากกว่าโทษ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ถ้าหากจะตัดต้นตีนเป็ดทิ้งไป”


[ “ชีวะภาพ” อธิบดีกรมป่าไม้ ]

แต่เมื่อคนที่แพ้ต้นตีนเป็ดเป็นจำนวนมากออกมาเรียกร้อง จึงเกิดเป็นประเด็นที่ทำให้หลายๆ พื้นที่ ได้สั่งตัดต้นตีนเป็ดทิ้งไป อย่าง จ.มหาสารคาม ภาคิน ติระพงศ์ไพบูลย์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม เพิ่งได้มีคำสั่งให้ตัดต้นตีนเป็ดทิ้งแล้วในบางพื้นที่ เหตุเพราะทนต่อคำร้องเรียนของชาวบ้านไม่ไหว

หลังจากเริ่มมีการตัดทิ้ง เพื่อยุติกลิ่นเหม็นนั้น รองอธิบดีกรมป่าไม้ ให้คำแนะนำว่า ให้คิดดีๆ ก่อนตัด เพราะต้นตีนเป็ดนั้นออกดอกเพียงแค่ไม่ถึงครึ่งเดือน อยากให้อดทนกับกลิ่น เพราะถ้าหมดช่วงฤดูหนาวไป ก็จะไม่มีกลิ่นมากวนใจต่อไปแล้ว

“ถ้าบ้านไหน หรือพื้นที่ใดทนกลิ่นไม่ไหวจริงๆ ให้แจ้งไปที่ กรมป่าไม้ ทางเราจะนำทีมไปทำการขุดล้อมต้นตีนเป็ดออกไปไว้ในที่ที่เหมาะสมให้ เพราะการนำไปไว้ในที่ที่เหมาะสมย่อมดีกว่าการตัดทิ้งให้เสียเปล่าอย่างแน่นอน”

ไม่ใช่อาการแพ้ แต่เรียก “ภาวะทนไม่ได้”

จากคอมเมนต์ของชาวโซเชียลฯ ที่ออกตัวว่าเดือดร้อนในเรื่องกลิ่นของต้นตีนเป็ดหลายราย อ้างว่า มีอาการแพ้ เวียนหัว แสบจมูก หนักสุดคือ ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจด้วยอาการแน่นหน้าอก และทางผิวหนังด้วยอาการมีผื่นขึ้นตามร่างกาย

แต่จากที่ รศ.ดร.เฉลิมพล สุวรรณภักดี นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ได้ทำวิจัยเรื่องภูมิแพ้เกสรดอกไม้ของพืชในสังคมเมืองนั้น พบว่า อาการของคนที่แพ้ต้นตีนเป็ดนั้น เรียก ภาวะทนไม่ได้



[ “รศ.ดร.เฉลิมพล” นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ]

“จริงๆ แล้วคนที่บอกว่าแพ้ ไม่ได้เกิดจากการแพ้ แต่เกิดจากการที่เรียกว่า “ภาวะทนไม่ได้” กับกลิ่นของต้นตีนเป็ดมากกว่า โดยปกติถ้าพืชทั่วไป คนเราจะแพ้จากเกสร แต่ในส่วนของต้นตีนเป็ดไม่ได้เกิดจากการแพ้เกสร เพราะเราไม่ได้สัมผัสกับเกสรโดยตรง อาการที่เป็นจึงเรียกว่า ภาวะทนกลิ่นไม่ได้”

สำหรับคนที่แพ้ หรือทนกลิ่นไม่ไหว นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ แนะนำให้ตัดแต่งที่ช่อดอก หรือตัดแต่งกิ่งให้น้อยลง ก็จะทำให้อยู่ร่วมกันได้ พอผ่านฤดูหนาวไป ดอกของต้นตีนเป็ดก็จะไม่ออกอีกแล้ว



ส่วนกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกราย อ้างว่า “มีคนแพ้ อาการหนักจนเข้าโรงพยาบาล” ผศ.ภก.ดร.ชัยศักดิ์ จันศรีนิยมอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยให้ข้อมูลกับสื่อไว้ว่า อาการของผู้ที่แพ้ต้นตีนเป็ดนั้น ไม่ได้เป็นอาการที่ถึงขั้นอันตรายต่อชีวิต เพราะเป็นพืชชนิดที่ไม่มีพิษ

แต่ “ต้นตีนเป็ดที่มีพิษ” ก็มีเช่นเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า “ต้นตีนเป็ดน้ำ” ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกัน แต่มีลักษณะของต้นที่แตกต่างกัน



[ “ผศ.ภก.ดร.ชัยศักดิ์” อาจารย์เภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ]

ต้นตีนเป็ดน้ำ จะมีผลเป็นทรงกลม มีเมล็ด 1-2 เมล็ด และในส่วนของเมล็ดจะมี สาร Cerberin (เซอร์เบอร์ริน) อยู่ในปริมาณมาก ซึ่งเป็นพิษต่อหัวใจ ถ้าบริโภคเมล็ดของต้นตีนเป็ดน้ำเข้าไป อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลงได้ หรืออาจทำให้เป็นอัมพาตได้

“ความจริงแล้ว เราไม่ได้นิยมบริโภคเมล็ดของต้นตีนเป็ดน้ำ เพราะในส่วนของเมล็ดไม่ได้มีเนื้อให้กิน เมื่อรู้แล้วว่าเมล็ดของมันมีพิษ จึงขอเตือนว่าไม่ควรไปยุ่ง หรือนำเมล็ดของ ต้นตีนเป็ดน้ำ มาใช้”



[ ผลของต้นตีนเป็ดน้ำ ]

ต้นตีนเป็ดน้ำ จะนิยมใช้ปลูกเพื่อประดับหน้าบ้าน จะมีดอกเล็กๆ ให้กลิ่นหอมอ่อนๆ และต้องอยู่ใกล้มาก ถึงจะได้กลิ่น
ส่วน ต้นตีนเป็ด ที่เจอตามท้องถนนทั่วไปนั้น เน้นปลูกเพื่อให้ร่มเงา และจะมีกลิ่นที่รุนแรงจาก “ดอกที่เบ่งบานออกเป็นช่อๆ ของต้นตีนเป็ด” แต่ไม่ได้เป็นอันตรายเท่ากับพิษของ “เมล็ดต้นตีนเป็ดน้ำ”

“ไม่ต้องกลัวว่ากลิ่นของต้นตีนเป็ด หรือ พญาสัตบรรณ จะมีพิษร้ายแรง ยกเว้นเพียงแต่ว่า อาจทำให้วิงเวียนศีรษะบ้าง และจะเกิดขึ้นในเฉพาะกับคนที่แพ้ต่อกลิ่นนี้เท่านั้น”


[ ดอกตีนเป็ดออกเป็นช่อๆ ทำให้กลิ่นรุนแรง ]

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ปิยะธิดา อุดมชาลี
ภาพ : มัลลิกา เหลาเกตุ
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วน : แฟนเพจ “Ch7HD News”, ยูทูบ “ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share” และ “jumkunjai_ocsc”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น