xs
xsm
sm
md
lg

2 ปีโควิด ติดหนี้ 20 ล้าน!! จากใจร้านอาหารดังระดับนานาชาติ “ล็อกดาวน์ไร้แผน-ธุรกิจล้มตาย-วอนรัฐใช้หัวใจฟัง” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ถ้านายกฯใช้หัวใจฟัง จะได้ยินเสียงร้องไห้ของผู้ประกอบการร้านอาหารดังมาก” เปิดใจ “สตีฟ สรเทพ” ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล วอนเยียวยาร้านอาหารก่อนล้มตายกันหมด ฟากตนเจอพิษโควิดเล่นงานจนหนี้พุ่งกว่า 20 ล้าน แต่ไม่ท้อ ขอเดินหน้าแจกอาหารแก่คนเดือดร้อน “ถ้าเราไม่ช่วยกัน สังคมก็อยู่ลำบาก”



สาหัส! โควิดเกือบ 2 ปี สร้างหนี้ 20 ล้าน!!

“ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่กระแสเงินสด ส่วนใหญ่ถ้าเป็นร้านระดับ Micro SME กระแสเงินสดจะอยู่ได้ไม่เกิน 2-3 เดือน อาจจะเป็นเพราะเป็นธุรกิจซื้อมาขายไป กำไรก็ไม่ได้เยอะ ต้นทุน ค่าเบ็ดเตล็ดค่อนข้างสูง ตัวกระแสเงินสดบริษัทเอง ณ วันที่เกิดโควิดรอบแรก เรามีเต็มที่แค่ 2 เดือน

เราก็ไปกู้ soft loan รอบแรกเรากู้มา 2 แบงก์ ประมาณ 6-7 ล้าน ช่วงนั้นรัฐบาลคลายล็อกให้กลับมานั่งได้ ลูกค้ากลับมาซัก 70 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังพอดูแลค่าใช้จ่ายไปได้ ก็ประคองไปได้ระยะนึง เงิน 7 ล้านก็หมด ต้องมากู้ต่อประมาณปลายปีที่แล้วอีกประมาณ 5 ล้าน เป็น 12 เอามาใช้จ่าย ดูแลพนักงาน จ่ายค่าเช่า

ตั้งแต่โควิดรอบแรกมาจนถึงปัจจุบัน ปีกับ 8 เดือนโดยประมาณ มารอบ 3 นี่หนักสุด เราก็ต้องเอาพวกอสังหาฯเข้าไปรีไฟแนนซ์ เอาเงินกู้ออกมาอีก ก็มีหนี้เพิ่มขึ้นมา เบ็ดเสร็จอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านครับ”

“สตีฟ-สรเทพ โรจน์พจนารัช” เจ้าของร้านอาหารในเครือ Steve Cafe & Cuisine และประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร วัย 50 ปี เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ด้วยน้ำเสียงติดเศร้า อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ส่งผลธุรกิจร้านอาหารของเขาได้รับผลกระทบหนักอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับร้านอาหารในเครือ Steve Cafe & Cuisine เป็นร้านอาหารไทยชื่อดัง โดยเฉพาะในหมู่ลูกค้าชาวต่างชาติ ที่หากมาเยือนเมืองไทยแล้วต้องแวะมาลิ้มลอง ขนาดที่ว่าต้องจองล่วงหน้าถึง 2 เดือน


แต่หลังจากเกิดวิกฤตโรคระบาดนี้ขึ้น การเดินทางข้ามประเทศถูกจำกัด เท่ากับว่า ลูกค้าต่างชาติหายไปทั้งหมด ส่วนลูกค้าคนไทยก็ลดลง อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่เช่นนี้ ทำให้ร้านต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นกว่า 20 ล้านบาท!!

“ก่อนเกิดโควิดมันก็ไปของมันได้เรื่อยๆ ตอนนี้เรามีทั้งหมด 4 ร้าน ผลตอบรับค่อนข้างดี อย่างสาขาเทเวศร์ ด้วยโลเกชันเองมันก็หายาก แต่เราโชคดีว่าลูกค้าต่างชาติที่มา เขาเอาไปรีวิว เอาไปลงหนังสือ Lonely Planet คนยุโรปเวลามาเที่ยวจะถือ guide book เล่มนี้ ในนั้นจะมีคอลัมน์ของประเทศไทย เรื่องร้านอาหารที่จะต้องมากินถ้ามากรุงเทพ ในตอนนั้นมีแค่ 12 ร้าน เราก็เลยกลายเป็นที่นิยม ส่วนใหญ่เวลาฝรั่งเขาจะบินมา จะจองไว้ก่อนล่วงหน้า 2 เดือน

ฐานลูกค้าคนไทยก็ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นด้วย แล้วแต่สาขา ถ้าเป็นร้านสาขาเทเวศร์ ลูกค้าเราจะเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นต่างชาติ 50 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย ปลายปี 62 แล้วก็เริ่มเห็นสัญญาณยอดขายตกอะไรตก เริ่มมีข่าวเรื่องโควิดมาบ้างแล้วแต่ตอนนั้นมันยังไม่เข้าไทย เราก็ยังไม่รู้ว่าโควิดมันคืออะไร และไม่รู้จะร้ายแรงขนาดไหน”

นับวันโควิด-19 คืบคลานเข้าใกล้ตัวมากขึ้น และตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าลูกค้าชาวต่างชาติหายเกลี้ยง ส่วนลูกค้าก็ลดลง ประกอบกับที่ผ่านมา ทางร้านเน้นให้ลูกค้ามานั่งรับประทานอาหารที่ร้านเพื่อดื่มด่ำบรรยากาศ แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้น ทำให้ลูกค้าลดลงไปจนเขาแทบล้มทั้งยืน


“พอปี 63 โควิดที่มีการล็อกดาวน์ครั้งแรกเดือนเมษา เราทำใจเลยว่าตายแน่ ทุกคนคงไม่ได้ตั้งหลักกันหรอก ไม่ได้เตรียมตัว สำหรับเราเองก็ถือว่าตอนนั้นล้มเหมือนกัน เพราะกลุ่มลูกค้าต่างชาติเราหาย 100 เปอร์เซ็นต์ เวลานั้นลูกค้าประจำคนไทยที่จะมาทานหรือจะมาสั่งออนไลน์ เราใช้คำว่า ‘น้อยมาก’ ก็ทำใจเลยครับ

ต้องเรียนให้ทราบก่อนว่า ร้านอาหาร Steve Cafe & Cuisine เป็นกึ่ง fine dining เป็นร้านอาหารไทย เรามีความเข้าใจว่า อาหารไทยเป็นอาหารที่ต้องนั่งทาน โดยเฉพาะ concept ของร้านเราเป็นร้าน homemade ต้องมานั่งทานที่ร้านเท่านั้น ฉะนั้นโควิดรอบแรกเข้ามาปุ๊บ เราก็แทบจะล้มทั้งยืน คือ ไม่มีช่องทางในการขายเลย”

หลังจากที่ตั้งสติและทำความเข้าใจกับปัญหา การปรับตัวอย่างแรกที่เกิดขึ้น คือ หันมาทำ delivery ผ่านแพลตฟอร์ม Line Official Account ของทางร้านเอง ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เปิดกิจการมาเกือบ 10 ปี

ช่วงเวลา 2 วันแรก คิดอะไรไม่ออก มึนตึ้บ ตั้งแต่เราเปิดกิจการมา 9 ปี เราไม่เคยอยู่ในแพลตฟอร์มของ food delivery ใดๆ ทั้งสิ้น สุดท้ายเราก็ต้องยอมรับกับมันว่ายังไงเราก็ต้องอยู่ออนไลน์ให้ได้ ก็ให้ลูกชายลูกสาวมาช่วยลง register ในการขาย delivery แต่ปรากฏว่าลูกก็หันมาบ่น ป๊าทำธุรกิจยังไง ไม่อยู่ใน delivery ใดๆ ทั้งสิ้น พวกหนูเองใช้สั่งอาหารแบบนี้มาตั้งหลายปีแล้ว ซึ่งผมก็บอกว่าป๊าไม่อยากจะลงและไม่คิดว่าจะขายได้ด้วย

ลูกก็บอกว่าไม่ทันแล้วล่ะ ชั่วโมงนี้ร้านอาหารเขาวิ่งไปหา delivery กันหมด เขาคงไม่รับเรา ไหนจะต้องลงทะเบียนอีก วุ่นวาย กินเวลาเป็นเดือนเราตายก่อนแน่ สุดท้ายก็เลยตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเอง คือ สร้าง Line OA (Line Official Account) ของร้าน ผมมีหน้าที่ไปซื้อ tablet ให้แต่ละสาขาไว้ใช้ นั่นคือ การเริ่มปรับตัวครั้งแรกครับ

พอเราทำแพลตฟอร์มของเราเอง เราทำโปรได้ เช่น ลด 10 เปอร์เซ็นต์ หรือระยะทางไม่เกินกี่กิโล ยอดสั่งขั้นต่ำเท่าไหร่ ส่งฟรี เราสามารถสร้างลูกเล่นได้มากกว่าและเกิดการสื่อสารโดนตรงกับลูกค้าได้มากกว่า ลูกค้าต้องการอะไรหรือปรับเปลี่ยนอะไร สามารถแจ้งได้ตรงกับเรา ไม่จำเป็นต้องผ่าน third person การสื่อสารมันจะลำบากกว่า”


นอกจาก Line Official Account ของทางร้านแล้ว เมื่อไม่นานมานี้ Steve Cafe & Cuisine ก็เพิ่งมีการขยายฐานลูกค้าไปยัง application food delivery อื่นๆ แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของปรับตัวมาลงออนไลน์สำหรับร้านนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์นัก เพราะ food delivery ทำรายได้ให้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายทั้งหมด

“เพิ่งจะมาลงแพลตฟอร์ม delivery เมื่อปลายเดือน ก.ค. ต้องใช้คำว่า delivery platform หลายเจ้าเขาติดต่อเข้ามาเอง เราไม่ได้ติดต่อไป เหตุผลอาจจะเป็นการที่ว่ามันเริ่มเกิด demand จากร้านเรา เรารู้ได้จากลูกค้าติดต่อเข้ามาบอกว่า หาร้านไม่เจอใน 1, 2, 3, 4, 5 แพลตฟอร์ม ทำไมไม่มี เราก็บอกงั้นสั่ง Line OA ของเรา เขาก็บอกว่าบางทีเป็นเรื่องของการจัดส่ง delivery บางทีเป็นเรื่องของลูกค้าชินกับการใช้ app แบบนั้น

สุดท้ายแล้วมันมี feedback ไปถึง app หรือ app อาจจะดูการ search หาชื่อร้านเรา ที่ติดต่อมา 5 เจ้าแล้วครับ สุดท้ายแล้วเขาให้ค่า GP (Gross Profit คือค่าดำเนินการของ Food delivery) เราดีพอสมควร ก็เลยตัดสินใจลงขายหลายแพลตฟอร์ม แต่จำนวนออร์เดอร์เทียบแล้วแพลตฟอร์มเรา 80 เปอร์เซ็นต์ แพลตฟอร์มอื่นแค่ 20 เปอร์เซ็นต์

เอาจริงๆ ร้านอาหารที่เป็นกึ่ง find dining ขายออนไลน์จริงๆ ได้แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าที่จะมาทานอาหารประเภทอย่างเรา เขาจะต้องมาเสพในเรื่องของบรรยากาศ ในเรื่องของประสบการณ์ การจะสั่งออนไลน์น้อย ต่อให้เราลงทุกแพลตฟอร์มก็ตาม”

วอนนายกฯเห็นใจ ผ่านจดหมายเปิดผนึก

แน่นอนว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ร้านขนาดใหญ่ไปจนถึงหาบเร่แผงลอย ต่างพากันล้มเป็นโดมิโน ในเวลาต่อมาจึงมีการรวมตัวกันในหมู่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยมีสตีฟเป็นหัวเรือใหญ่ ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องถึงมาตรการเยียวยา

ทว่า… กลับไม่ได้รับการตอบรับกลับมาแม้แต่น้อย

“เราเริ่ม setup เป็นชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารมารวมตัวกัน พูดคุยกันจดหมายไปถึงนายกรัฐมนตรี สิ่งที่เราเรียกร้องเพื่อเอามาประคองธุรกิจร้านอาหาร ที่ผ่านมา เราเป็นเด็กดีมาโดยตลอด สั่งให้ปิดเราก็ต้องปิด และเราไม่ได้เรียกร้องขอเงินเปล่าๆ เราขอให้เขาออกนโยบายในการช่วย support เราเท่านั้นเอง

ตัวอย่างเช่น ให้ลดค่าไฟ 30 เปอร์เซ็นต์ อย่างร้านผมขนาดล็อกดาวน์ ค่าไฟรวมกันทั้งกรุ๊ปอยู่ประมาณ 70,000 การไฟฟ้าฯเขาบอกลดไปก็ได้ แต่ปรากฏว่าการไฟฟ้าฯก็ลดให้แบบมีเงื่อนไขเยอะแยะเต็มไปหมด ซึ่งอันนี้เจ็บปวดมาก เบ็ดเสร็จแล้วผมได้ลดแค่หลักพัน ซึ่งมันอยู่ไม่ได้

ทำไมถึงต้องลด 30 เปอร์เซ็นต์ให้เรา เหตุผลเพราะว่ามันเป็นต้นทุน operation cost ของร้าน เท่ากับไปเซฟต้นทุนของร้าน แต่มันไม่ได้รับเสียงตอบรับกลับมาเลยจากรัฐบาล จนถึงทุกวันนี้เราก็มีเครื่องหมายคำถาม ทำไมถึงช่วยลดค่าไฟ 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เลยเหรอ หรือมันจะไปกระทบโบนัสของการไฟฟ้าฯรึเปล่า เราคิดถึงขนาดนั้น”

ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารให้ข้อมูลเพิ่มเติมแก่ผู้สัมภาษณ์ว่า มูลค่าทางการตลาดที่หายไปจากการสั่งปิดร้านอาหาร มีมูลค่ารวมแล้วเกือบ 2 แสนล้านบาท



“มูลค่าทางการตลาดของร้านอาหารปี 62 โดยรวมอยู่ที่ 4 แสนล้าน จำนวนร้านอาหารทั้งประเทศมีที่ประมาณ 4 แสนร้าน รวมถึงร้านเล็กๆ ตึกแถว ร้าน street food จนกระทั่งมาปลายปี 63 มูลค่าทางการตลาดของร้านอาหารตกลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.2 แสนล้าน หายไป 8 หมื่นล้าน จำนวนร้านอาหารปิดตัวไป 8-9 หมื่นร้าน เหลือประมาณ 3 แสนกว่าร้าน

จนถึง ณ วันนี้ เวลานี้ มูลค่าทางการตลาดหายไปประมาณ 1.8 แสนล้านเลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะนโยบายล็อกดาวน์ไปถึงสิ้นเดือน ส.ค.ผมว่าร้านอาหารคงหายไปอีกประมาณ 1.4 แสนร้าน มหาศาลนะครับ เพราะผลกระทบรอบนี้มันหนักมาก ไม่ใช่ร้านอาหารที่เป็นร้านทั่วไป มันกระทบร้านในห้าง นี่คือ ผลพวงของการคิดไม่รอบคอบ”

จากผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับ แน่นอนว่า ได้สร้างแรงสะเทือนไปถึงภาคแรงงานด้วย เพราะหากผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหวจนกิจการปิดตัว พนักงานที่อยู่ในความดูแลก็ต้องถูกให้เลิกจ้างเช่นกัน

“รัฐบาลแก้ปัญหาที่บุคคล แต่ไม่ได้แก้ปัญหาภาพรวมองค์ใหญ่ เอาง่ายๆ โครงการคนละครึ่ง ถามว่าดีมั้ย ดีนะ ลงไปช่วยร้านอาหารที่เป็น street food แต่เขาไม่มองถึงผู้ประกอบการ

รู้มั้ยว่า ร้านอาหารประมาณ 3 หมื่นกว่าร้านที่อยู่ในระบบภาษี จ่ายให้รัฐบาลปีนึงเกือบ 1 พันล้านบาท ทำไมเขาไม่ให้ร้านอาหารที่อยู่ในระบบเข้าร่วมได้ แปลกมั้ย เขาก็จะอ้างว่าช่วยรากหญ้า อ้าว… แล้ว SME ที่จ่ายภาษีทุกเดือนล่ะ ไม่ได้สำคัญเลยเหรอ ทุกวันนี้กลับไม่ได้รับการดูแลเลย

ซ้ำร้าย โครงการคนละครึ่ง ใช้จ่ายผ่าน application ก็ยังไม่ได้อีก แทนที่จะพิจารณาและอนุมัติให้ใช้ได้เลย สุดท้ายไปตั้งหลักว่าเดี๋ยวรอโครงการที่ 3 เดือน ต.ค.แล้วกัน โควิดมันไม่ได้หยุดตามนะ ผู้ประกอบการตายก่อนสิ ผมก็นึกในใจว่าร้านอาหารที่เข้าร่วมจะเหลืออยู่ซักกี่ร้าน

ทำไมไม่ช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อให้ประคองภาคแรงงานให้อยู่ในระบบได้ สุดท้ายผู้ประกอบการไม่ไหว ก็ต้องปิดกิจการ lay off คนงานออก มันก็วนอยู่อย่างนี้

และสำหรับร้านอาหาร Steve Cafe & Cuisine เอง จากวิกฤตโควิด-19 นี้ก็ส่งผลกระทบจนทำให้พนักงานในร้านหายไปเกินครึ่งด้วยเช่นกัน

“ถ้าเป็นธุรกิจอื่นมีปัญหาปุ๊บ เขาสามารถจ้างพนักงานออกได้เลย แต่พอเป็นร้านอาหาร ความเป็นนายจ้างกับลูกจ้างมันแตกต่างกัน ความผูกพันสูงมาก โดยเฉพาะพนักงานที่เริ่มอยู่กับเรามาตั้งแต่แรกๆ สู้กันมา จู่ๆ จะให้จ้างเขาออก ผมบอกเลยว่ายากมาก ฉะนั้น เราเลยจำเป็นต้องดูแลเขาต่อไป เราจำเป็นที่จะต้องดูแลเขาไว้

ก่อนโควิดร้านเรามีพนักงานประมาณ 120 คน หลังโควิดรอบแรกเรามีพนักงานเหลืออยู่ประมาณ 60 เราไม่ได้ให้ออก แต่ปรากฏว่า เขาเทเรา (หัวเราะ) ด้วยความที่เขากลัว เป็นคนต่างจังหวัดบ้าง เป็นคนต่างด้าวกลับไปประเทศตัวเอง แล้วก็มารอบนี้ก็ทยอยกลับบ้านกันอีก สุดท้ายแล้วเราเหลือประมาณ 40 กว่าคน ที่ทำร้านกันทั้ง 3 สาขา ถามว่าเหนื่อยมั้ย เหนื่อย เขาสู้กับเรามาตลอด ก็ต้องดูแลกันต่อไป



เขากล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร แต่ก็ยังมีความหวังอยู่ว่า รัฐบาลจะหันมาดูแลภาคธุรกิจร้านอาหาร เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผู้ประกอบการตัดสินใจพากันปิดตัวแล้ว โอกาสที่จะฟื้นกลับมานั้นเป็นไปได้ยาก

“เราเหนื่อยกับการร้องขอ กระทั่งจดหมายฉบับล่าสุดผมเปลี่ยนหัวใหม่ ไม่ใช้คำว่าจดหมายในเรื่องของการเรียกร้องเยียวยา เพราะนายกฯเองเห็นแล้วอาจไม่อยากอ่าน ผมใช้คำว่า จดหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคธุรกิจร้านอาหาร เราคิดว่าฉบับสุดท้ายที่เราส่งไปเมื่อตอนเริ่มล็อกดาวน์รอบที่ 3 มันน่าจะได้ผล แต่สุดท้ายแล้วมันได้กลับมาน้อยมาก รัฐบาลทำงานตามหลังเวลา ตามหลังปัญหาตลอด ผมไม่อยากใช้คำว่าล้มเหลวนะ ก็ยังมีความหวังอยู่

ผมก็พูดมาเสมอในจดหมายทุกฉบับว่ามันไม่ใช่เฉพาะร้านอาหารที่จะมีผลกระทบ supply chain ทั้งเกษตรกรเอง พ่อค้าแม่ค้าในตลาดผักสดก็เริ่มบ่นกันแล้ว ขายไม่ได้เพราะร้านอาหารปิด ยอดสั่งซื้อน้อยลง ภาคเกษตรกรสินค้าราคาตก ประมงก็เหมือนกัน มันกระทบไปหมด มันเป็นภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะร้านอาหาร

ทั้งนายกฯ และ ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) กรุณาคิดให้ครบ 360 องศา ควรจะต้องกลับมาดูแลในภาคธุรกิจร้านอาหาร เพราะสร้างรายได้เป็นมูลค่าทางการตลาดให้กับประเทศไทยมหาศาล แต่ปิดโดยไม่มีการดูแลหรือเยียวยา มันทำให้ล้มตายกันไปเยอะ ทุกวันนี้ SME เป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น โอกาสที่จะกลับมาเปิดนี่ยากแล้ว

หญ้าเวลาตัดให้สั้น ทิ้งเอาไว้ 2-3 วันก็งอกใหม่ แต่ตอนนี้รากหญ้ามันเริ่มเน่าแล้ว เมื่อไหร่ที่รากเน่ามันขึ้นไม่ได้ครับ

#saveร้านอาหาร ร้านช่วยร้าน หลังล็อกดาวน์กะทันหัน

ไม่เพียงแค่เรื่องราวของจดหมายเปิดผนึกที่ส่งไปถึงนายกรัฐมนตรี เจ้าของร้านอาหารชื่อดัง ยังได้ย้อนเล่าเหตุการณ์สุดฝังใจ นั่นคือ การที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศการล็อกดาวน์พื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างกะทันหัน ช่วงเวลาราว 01.00 น. ของวันที่ 27 มิ.ย.ผ่านมา ซึ่งในส่วนของร้านอาหารมีข้อกำหนดว่า ห้ามกินที่ร้าน สามารถจำหน่ายได้เฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น

เหตุการณ์นี้ ทำให้เขาในฐานะคนทำร้านอาหาร เกิดความรู้สึกว่า รัฐบาลทรยศผู้ประกอบการร้านอาหาร!!

“(ถอนหายใจ) ผมใช้คำว่า “รัฐบาลทรยศผู้ประกอบการร้านอาหาร” ซึ่งเป็นเด็กดีมาตลอด แต่สิ่งที่คุณทำคือทรยศเขา ถ้าคุณพูดกับเขาดีๆ แล้วบอกล่วงหน้าซัก 3-4 วัน ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ ตัวผมเองรู้มาตั้งแต่ตอนบ่ายวันศุกร์แล้วว่าโดนแน่ๆ เราก็ positive think ว่าคงไม่อยู่ๆ ประกาศออกมา เราก็จัดการในเรื่องของวัตถุดิบให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

แต่ปรากฏว่า พอเช้าวันอาทิตย์ประกาศล็อกดาวน์ตอนตี 1 ร้านเล็กๆ เขาหาเช้ากินค่ำ ปิ้งย่าง ชาบู หมูกระทะ เขาสต็อกของ ทุกคนเตรียมตัวที่จะขาย ลงของเต็มที่ แล้วคุณมาล็อกดาวน์ตอนตี 1 ตื่นมาจะเตรียมของขาย แต่สิ่งที่เขาเจอคือขายไม่ได้ แล้วของที่เพิ่งลงไปเต็มตู้จะทำยังไง เป็นอะไรที่เจ็บปวดมาก



เมื่อทราบดังนั้น สตีฟ จึงตัดสินใจรับซื้อวัตถุดิบจากร้านที่เตรียมของสดไว้และไม่สามารถระบายได้ทัน เพื่อมาทำอาหารแจกคนตกงานและบุคลากรทางการแพทย์ โดยกระจายข่าวผ่านแฮชแท็ก #saveร้านอาหาร เหตุการณ์ในครั้งนั้น ก็มีร้านอาหารชื่อดังอีกหลายร้าน ที่ออกมาประกาศรับซื้อวัตถุดิบด้วยเช่นกัน

“เวลานั้นสิ่งที่ตัวผมเองทำได้คือ ผมสร้างแฮชแท็ก #saveร้านอาหาร ขึ้นมา แล้วก็ประกาศ ใครที่เป็นร้านอาหารชาบู ปิ้งย่างเล็กๆ เฉพาะใน กทม.ของที่สต็อกเอาไว้แล้วขายไม่ได้ เอามาขายผม จริงๆ เราทำอาหารแจกบุคลากรทางการแพทย์กับชาวบ้านชุมชนเปราะบาง มาตั้งแต่โควิดรอบแรก เราทำมาตลอด ผมซื้อมาแล้วทำอาหารแจกต่อ

ตอนแรกเราคิดว่ามีร้านไม่เยอะ แล้วศักยภาพเราก็ไม่ได้มีเงินเหลือเฟือที่จะซื้อ ก็ตั้งไว้ว่าน่าจะไม่เกินแสนนึง ปรากฏว่ามันกลายเป็นไวรัลแชร์ออกไปเยอะมาก มีร้านติดต่อเข้ามาเยอะ ผมเองก็เหงื่อแตกสิ ทำยังไงดี ก็เลยคุยกับกลุ่มเพื่อนที่เป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบด้วยกันว่าตายแน่ ปรากฏว่าเพื่อนๆ เองก็บอกสตีฟลุย ซื้อตามวัตถุประสงค์ที่อยากจะช่วย

กลุ่มคนที่ได้ข่าวก็ช่วยกัน ลูกค้าของร้านเอง ก็ line กันเข้ามาบอกว่าคุณสตีฟช่วยเลย เราก็เลยมีกองทุนขึ้นมา ได้ประมาณ 2.4 แสน ก็ช่วยซื้อของสด เซฟร้านอาหารได้ถึงทุกวันนี้ได้ประมาณ 26 ร้านอาหาร เอามาทำอาหารแจกเบ็ดเสร็จ 15,000 ชุด ใช้เงินไปประมาณเกือบ 3 แสน มันเกินก็เป็นเงินของผมเองที่ตั้งใจไว้”



และเหตุการณ์การประกาศเคอร์ฟิวและล็อคดาวน์ครั้งล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.กระทั่งพิจารณาต่ออายุไปถึง 31 ส.ค.ยังไม่มีแผนรองรับถึงอนาคตหลังจากนั้น สตีฟยอมรับอย่างเหนื่อยใจว่า จากใจของคนทำร้านอาหารก็ปรับตัวตามไม่ไหวแล้วเช่นกัน

โควิดรอบแรกคุณไม่ได้เตรียมอะไร ไม่มีใครผิดเพราะไม่มีใครรู้ แต่พอเกิดแล้วคุณควรจะต้องระดมทุกหน่วยงานมานั่งคุยกัน เขียนออกมาเป็น crisis management (การบริหารจัดการภาวะวิกฤต) จะแก้ปัญหายังไง

เหมือนรัฐบาลทำงานแค่เช้าชามเย็นชาม ประชุม ครม.ทุกวันพุธ อนุมัติอะไรออกมาทีต้องไปรออีกทีวันศุกร์ให้ร่างรายละเอียด แล้วพุธหน้าก็เข้าที่ประชุมอีกที กว่าจะประกาศออกมาเป็น พ.ร.ก.อีก 1 พุธ สรุปแล้ว 1 เรื่องในการเยียวยาแก้ปัญหาให้ประชาชนใช้เวลา 3 อาทิตย์ นี่คือการทำงานระบบราชการ ซึ่งมันไม่ทัน วิกฤตขนาดนี้

หรือแม้กระทั่งในเรื่องของการขอวัคซีน ทุกครั้งที่คุณปิด คุณมักจะมีคำพูดว่า ร้านอาหารเป็นสถานที่สุ่มเสี่ยงในการแพร่เชื้อ แต่พอ กทม.ประกาศให้กิจการที่ได้รับวัคซีนก่อน กลับไม่มีธุรกิจร้านอาหาร อย่าลืมว่าร้านอาหาร ร้อยพ่อพันแม่มาทานข้าวกัน เราก็กลัวสิ

เราปิดมาถึงวันที่ 16 ส.ค.แล้วมาประกาศว่าต่อเลย ไม่มีแผนล่วงหน้าใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีการแจ้งว่าจะต้องทำอะไร รัฐบาลจะทำอะไร แก้ได้ยังไง สาธารณสุขจะทำอะไร ภาคเศรษฐกิจจะทำอะไรบ้าง คุณต้องแจ้งล่วงหน้าสิว่าวันที่ 1 ก.ย.ถ้าตัวเลขลงมาประมาณนี้ จะเปิดให้นั่งกี่เปอร์เซ็นต์ เราจะได้เตรียมตัวได้ ไม่ใช่เหมือนการล็อกดาวน์ตี 1 ที่ผ่านมา มันเป็นการล็อกดาวน์แบบไม่มีแผนรองรับ และเป็นการล็อกดาวน์แบบไม่มีอนาคต ผู้ประกอบการปรับตัวไม่ไหวหรอกครับ

แม้ลำบากแต่ขอแจกอาหารต่อ

สำหรับร้านอาหารในเครือ Steve Cafe & Cuisine นั้น ทุกวันนี้ยังเปิดขายตามเงื่อนไขของรัฐบาล นอกจากนี้ ทางร้านเองก็ทำอาหารแจกให้กับประชาชนมาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว

“เรายังขายอยู่ ทุกวันนี้ก็ยังแจก แจกตั้งแต่โควิดรอบแรก ผมก็ตลกดีนะได้เงินกู้มาทีไรก็มาทำอาหารแจก มาแจกหนักๆ คือรอบ 3 เราทำอาหารแจกตก 300 กล่องต่อวัน เพราะโควิดรอบนี้คนทำอาหารแจกน้อยมาก อาจจะเป็นเพราะสภาวะเศรษฐกิจ ร้านอาหารหลายร้านเองเขาก็หมดแรง บางร้านก็ปิดไป คนยังมีใจอยู่นะแต่มันมีการใช้จ่าย ก็ต้องระวัง ก็อาจจะทำน้อยลง

คนที่ต้องการอาหารมากขึ้น จากสมัยก่อนเราแจกแค่ชาวบ้านชุมชน คนตกงาน แจกบุคลากรทางการแพทย์ แต่ทุกวันนี้เราแจกมากขึ้น คือ 1. โรงพยาบาลสนาม 2. ชุมชน Community isolation ล่าสุด มีแคมป์คนงานที่เราดูแลเขามาเกือบ 2 เดือนอยู่ 3-4 แคมป์ เขาดีใจมากที่เราดูแลเขา พอคลายล็อกแล้วเราก็ขออนุญาตไปแจกสถานที่กักตัวแทน


หรือแม้กระทั่งชุมชน อย่างชุมชนคลองเตย 70 ไร่ ซึ่งเรามองว่าน่าจะมีคนเอาไปให้เยอะ แต่ปรากฏว่าพอเราหยุดปุ๊บ เอาออกจากตารางแล้วไปใส่สถานที่กักตัว โรงพยาบาลสนามแทน แค่วันเดียวเขาโทร.กลับมาหาแล้ว บอกคุณสตีฟอย่างเพิ่งหยุด ขอเถอะ อาหารไม่พอ แปลกมากรอบนี้ นั่นถึงทำให้เรายังคงต้องแจกต่อ”

นอกจากประชาชนในชุมชนใกล้เคียงที่ร้านตั้งอยู่ เขาผู้นี้ยังมอบความช่วยเหลือไปยังคนขับรถแท็กซี่และพนักงานขับรถส่งอาหารที่ผ่านไปมา ตลอดจนพระภิกษุสงฆ์ที่พุทธศาสนิกชนใส่บาตรกันน้อยลง จนต้องเลือกว่าอาหารที่ได้มาจะฉันในมื้อใด

“โครงการ #Supportแท็กซี่ ทำอาหารแจกพี่ๆ แท็กซี่ที่ร้าน Steve cafe สาขาพระราม 6 ตอนแรกคิดว่าจะทำแค่อาทิตย์เดียว เราแจกวันละ 100 ชุด ปรากฏว่าโดดขึ้นมา 200 ชุด นอกจากพี่ๆ แท็กซี่แล้ว คือคนขับไรเดอร์ที่ส่งอาหาร เขาบอกออร์เดอร์ลดไปครึ่ง ได้มื้อนึงไปประหยัดค่าใช้จ่าย ทำให้เราต้องขยายโครงการนี้เป็น 3 อาทิตย์ แล้วเพิ่งจบไป


แม้กระทั่งชาวบ้านแถวนั้นก็เดินมา บอกเราไม่ได้ขับแท็กซี่ ขอได้มั้ย และมีครอบครัวนึงมากัน 4 คนพ่อแม่ลูก บอกว่าน้าไม่มีแท็กซี่แล้ว น้าขออาหารทั้งครอบครัวได้มั้ย น้าเพิ่งโดนยึดแท็กซี่เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมเลยบอกงั้นน้ามาทุกวัน

หรือคนขับรถเมล์ ทุกรอบเราจะแจกอาหารหน้าร้านแพทคาเฟ่ รถเมล์จะวิ่ง 4 ด้าน ไม่เคยมีรถเมล์คันไหนจอดลงมารับอาหาร เชื่อมั้ยว่าเที่ยวนี้ทุกครั้งที่เราแจก รถเมล์ รถร่วมบริการจะจอด แล้วก็ให้กระเป๋าวิ่งลงมา ขอไป 2 ชุดคือตัวเขาและคนขับ ถ้าเขาไม่หิว เขาไม่จำเป็นต้องจอดรถเพื่อมาขอหรอก

รวมทั้ง “พระ isolation” เรามารู้ในเขตพระนคร พระเดินบาตรได้แต่พยายามเดินให้สั้นที่สุด พระวัดใหญ่ๆ เขาบอกเลยว่า “อาตมาต้องเลือกเอาว่าวันนี้จะฉันเพลหรือฉันเช้า เพราะอาหารที่ได้มาน้อยมาก คนใส่บาตรแทบไม่มี”มันมีผลกระทบไปถึงพระนะ เราก็เลยกระจายถวายอาหารพระสลับกันหลายวัด ก็ต้องดูแลพระด้วย มันทำให้เราหยุดแจกไม่ได้ครับ ล็อกดาวน์ถึงเมื่อไหร่ก็ต้องแจกถึงเมื่อนั้น”

และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ยังประคับประคองร้านให้ไปต่อได้ คือ การเข้าร่วมโครงการ Home isolation ของ สปสช.เป็นการทำอาหารแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวที่บ้าน


“ต้องใช้คำว่าโชคดี เป็นร้านแรกในประเทศไทยที่เป็นร้านโครงการนำร่อง Home isolationของ สปสช.เมื่อประมาณกลางเดือน ก.ค. ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้อะไร โจทย์ที่เขาให้มาก็เหนื่อยพอสมควร ตอนนั้นรู้สึกยังมีผู้ป่วยประมาณ 300 กว่าคน คนนึง 3 มื้อ ตกวันนึงประมาณเกือบ 1,000 ชุด เราก็เหงื่อแตก ทำยังไง มาเจอเคอร์ฟิวอีก ตี 4 ถึงจะออกจากบ้านได้ อาหารต้องส่งก่อน 6 โมงเช้า 3 มื้อเลย คุณสตีฟลองทำให้หน่อยได้มั้ย ผมก็โอเค ก็มาทำ

เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ ตอนนี้เราทำประมาณ 1,500-1,600 กล่องต่อวัน เราก็มานั่งปรับปรุงอาหาร ผมพยายามคิดว่าจะทำยังไง 3 มื้อ เก็บได้ถึงตอนเย็น ไม่เน่า ไม่บูด ไม่เสีย อาหารต้องมีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ใช้สมุนไพร ต้องมีผลไม้ ของสดให้เขาด้วย ก็ทำมาจนถึงวันนี้เกือบ 2 เดือนแล้ว ทำให้เราประคองธุรกิจอยู่ได้”

และในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ หลายคนอาจเลือกที่จะประคองตัวเองก่อน แต่เจ้าของร้านอาหารรายนี้ ยังตัดสินใจแจกอาหารอยู่ ทั้งๆ ที่ตนเองเจอมาก็หนักไม่แพ้กัน สตีฟให้เหตุผลไว้ว่า เพราะยังมีคนที่ลำบากกว่าเขาอยู่มาก


ผมคิดว่าถ้าเราไม่ช่วยกัน สังคมอยู่ลำบากผมคิดแค่นั้น เราไม่อยากให้คนอื่นลำบากเหมือนเรา ผมมีแจกหน้าร้าน แพทคาเฟ่ เขตพระนคร เชื่อมั้ยว่าเราแจกเที่ยง แต่ 11 โมงคนมายืนต่อแถวเป็นร้อย

ถามว่าทำไมเขาต้องมายืนตากแดดรออาหารกล่องแค่ชุดเดียวเป็นชั่วโมง คำตอบง่ายมาก คนเราถ้าไม่หิว ไม่ทรมานจริงๆ ไม่มายืนรอแบบนั้น แล้วจะให้ผมใจร้ายบอกเขาว่าไม่แจก ผมทำไม่ได้

เคยมีเด็กน้อยตรงชุมชนวัดเทวราชกุญชร เขามาประจำ เมื่อ 3 อาทิตย์ที่แล้ว เขาพูดกับผมว่า “คุณลุงคะ คุณลุงมาแจกทุกวันได้มั้ย” มันสะเทือนใจนะ

และผมโชคดี รอบนี้เราทำหนักขึ้น กลายเป็นว่าลูกค้าร้านร่วมบุญกับเราเยอะขึ้น บางคนสั่งอาหาร 50 กล่อง 100 กล่อง เสร็จแล้วก็บอก คุณสตีฟเอาไปแจกได้เลย เราก็เพิ่มน้ำกับขนมเข้าไป มีอย่างนี้ทุกวัน ลูกค้าร้านเราน่ารักมาก ไม่มีใครมองผมเป็นลบเลย เพราะเขารู้ว่าเราทำจริงๆ ทำตั้งแต่ต้น เป็นกำลังใจที่ยังทำให้เราทำอยู่อย่างทุกวันนี้ครับ อาหารกล่องนึง 40-50 บาท เอาเหอะไม่เป็นไร เราได้เงินกู้มารอบนี้ก็ยังพอทำแจกได้ (หัวเราะ)

อยากรอดต้องอย่าหยุดโต

เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า ได้มีการวางแผนถึงทิศทางของธุรกิจร้านอาหารในเครือ Steve Cafe & Cuisine ที่มีอยู่ด้วยกันหลายร้านไว้อย่างไร เขาก็ให้คำตอบว่า เมื่อมาถึงขนาดนี้แล้วก็คงต้องประคองกันต่อไปให้ตลอดรอดฝั่ง

เราคงต้องประคองอยู่ให้ได้ ให้รอด ในเมื่อเราเข้ามา season 4 แล้ว เราคงไม่อยากลากกระเป๋าออกไปจากบ้าน season 5 แน่นอนเราพยายามทำธุรกิจให้มันโต แม้กระทั่งในเรื่องของ online delivery เองก็ปรับตลอดเวลา ถามว่าตัวเลขรอบนี้ยอดสั่งออนไลน์สูงกว่ารอบที่แล้วมั้ย สูงขึ้น เพราะเรามีการปรับเป็นรูปแบบ packaging หน้าตาอาหาร

เราก็แตกแบรนด์มากขึ้น ขยายธุรกิจ เรารวมร้านอาหารทุกยี่ห้อของเราไปรวมในแพลตฟอร์มชื่อบริษัทกำจัดหิว ไม่ว่าจะเป็น Steve Cafe & Cuisine, แพท คาเฟ่โบราณ, จะกินอย่าบ่น, กายา ส้มตำ ยำ ปลาร้า หรือแม้กระทั่งอีกแบรนด์นึงของลูกสาวที่จะทำขึ้นมาคือ อยากกินข้าวต้มจับรวมเข้ามาในแพลตฟอร์มของเราเอง

เราไม่หยุดโตนะ เมื่อไหร่ที่เกิดวิกฤตแล้วคุณถดถอยลง อันนี้อันตราย อันตรายในเรื่องของถ้าคุณไปกู้เงินกับแบงค์ แบงค์เขาจะดูศักยภาพของคุณว่าคุณมีโอกาสที่จะกลับมาเอาเงินจ่ายคืนเขามั้ย เมื่อไหร่ธุรกิจคุณล้มหรือไม่โตเลย เขาจะมองว่าโอกาสที่จะได้เงินคืนยาก คุณจะกู้ไม่ได้”



ทั้งนี้ เขายังมีข้อเสนอแนะ ไปถึงหน่วยงานทางด้านสาธารณสุขในเรื่องของวัคซีน ควรมีมาตรการที่ชัดเจน เพื่อให้ร้านอาหารได้กลับมาเปิดได้ และควรมีการฉีดวัคซีนผู้ที่อาศัยในประเทศไทย โดยยกเว้นเพศ วัย และชาติพันธุ์

“ผมกำลังตัดสินใจว่าจะเขียนจดหมายเปิดผนึกอีกฉบับ ว่าเรามาสร้างมาตรการต่างๆ เพื่อใช้ชีวิตปกติ หรือให้มันคู่กับโควิดไปให้ได้ แทนที่เราจะมาล็อกดาวน์แล้วไม่เกิดประโยชน์ ตัวเลขก็ยังเพิ่มตลอด ก็ยังมีคลัสเตอร์อื่นๆ เปิดแคมป์คนงาน เปิดโรงงานปกติ แต่มาล็อกร้านอาหาร มันลำเอียงไปมั้ย ฝ่ายสาธารณสุขเองก็บอกว่า ลองเปิดร้านอาหารสิมันอาจจะระบาดมากกว่านี้ มองคนละมุมเลยคุยกันไม่ได้ซักที

สิ่งที่สาธารณสุขคิดหรือแม้กระทั่งนายกกับทีมเศรษฐกิจก็คิดวันต่อวัน เขาไม่ได้คิดไปถึงอนาคต ควรออกมาตรการอะไรซักอย่าง เช่น เรานำเสนอว่า พอ ก.ย.ให้เปิดนั่งได้ 50 เปอร์เซ็นต์ โดยมีเงื่อนไขคือ 1.ลูกค้าจะเข้าร้านได้ต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 2.พนักงานทุกคนต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรืออย่างน้อย 1 เข็ม โดยที่คุณลงมาดูแลหรือร้านอาหารแจ้งไปแล้วฉีดให้

สิ่งที่เราอยากเรียกร้องรัฐบาลตอนนี้คือ การให้วัคซีนโดยยกเว้นเพศ วัย หรือชาติพันธุ์ได้แล้ว เรื่องนี้ผมพูดออกสื่อมาหลายรอบแล้ว คุณบอกว่าให้คนไทยฉีดก่อน ต่างด้าวไว้ทีหลัง เพราะกลัวคนไทยยังได้ไม่ครบเลย คุณคิดแบบนั้นไม่ได้ ตราบใดที่คนต่างด้าวยังเดินหายใจร่วมกับคนในกรุงเทพอยู่ เขาคือคนกรุงเทพนะ เพราะถ้าคนไทยฉีดครบหมดแล้วแต่ต่างด้าวยังไม่ได้ฉีด คนต่างด้าวเป็นขึ้นมามันก็จะวนอยู่อย่างนี้”

ขณะที่ความต้องการของผู้ประกอบการร้านอาหารนั้น หลังจากที่ได้หารือกันในชมรมก็ได้ข้อสรุปว่า พวกเขาต้องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพื่อมาประคองร้านให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

เราคุยกันในชมรมเรื่องของเงินกู้มากกว่า ตอนนี้สิ่งที่เขาต้องการมากที่สุดคือเงินกู้แต่เขาเข้าไม่ถึง ซึ่งเรื่องนี้เรามีการประชุมทาง Zoom กับผู้ว่าแบงค์ชาติไปแล้ว เราเรียกร้องว่าธุรกิจ Nano SME เข้าแหล่งเงินทุนไม่ได้เลย เพราะเขาไม่มี statement หลายเจ้าเขาติดบูโร พวกมอร์เตอร์ไซค์ พวกรถยนต์ หาวิธีให้เขากู้หน่อยได้มั้ย หรือบางที่หนักเลย เป็นเรื่องของการพักชำระหนี้ตั้งแต่รอบ 3 ก็ไม่รู้อีกจะมีรอบ 4 พอจะไปยื่นกู้ก็ยื่นไม่ได้เพราะติดเงื่อนไข ปลดล็อกให้หน่อยเถอะ

เราก็คุยกับผู้ว่าการแบงก์ชาติ เพราะตอนนี้เงินที่ค้างอยู่ในท่อที่เอามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ ค้างอยู่ 2 แสนกว่าล้าน ดึงออกมาตั้งกองทุนปล่อยให้ธุรกิจเหล่านี้กู้ผ่านแบงก์ชาติเอง หรือรัฐค้ำประกันให้ก็ได้ เพราะคนเหล่านี้กู้ไม่เยอะ เต็มที่ก็แสนนึง เพื่อมาประคองยืดอายุร้านเขาให้อยู่ หวังว่าจะเปิดได้ปลายปี แค่นั้นแหละ”



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ใช้โอกาสนี้ ฝากย้ำไปถึงรัฐบาล ว่าอย่าใช้ “อคติ” แต่ควรใช้ “หัวใจ” ในการฟังความเดือดร้อนของประชาชน

“จริงๆ แล้วรอบนี้ผมเงียบมานาน เพราะผมเหนื่อยกับรัฐบาล ผมเหนื่อยกับนายกฯ ผมเหนื่อยกับทีม ศบค.ทำไมไม่ฟังเราบ้าง เรายอมหมด เราฟังแล้วก็ทำตามคุณทุกครั้ง เพราะสิ่งที่เราขอไปเราไม่ได้ขอไปด้วย ego ไม่ได้ขอไปด้วยอคติ ไม่ได้ขอไปด้วยอารมณ์พุ่งพล่าน เราขอไปด้วยเหตุผลว่าจะเกิดอะไรขึ้น กลับมาดูแลเถอะ สิ่งที่เราขอไป

นายกฯเลือกได้ว่าจะใช้อคติฟังหรือใช้หัวใจฟัง เมื่อไหร่ที่นายกฯใช้อคติ ใช้อารมณ์ฟัง นายกฯจะได้ยินแต่เสียงก่นด่าของประชาชน จะได้ยินแต่เสียงกร่นด่าของผู้ประกอบการร้านอาหาร

ถ้านายกฯใช้หัวใจฟัง นายกฯจะได้ยินเสียงร้องไห้ของผู้ประกอบการร้านอาหารดังมาก จะรู้เลยว่าผู้ประกอบการร้านอาหารเจ็บปวดตรงไหน และต้องการอะไร แล้วนายกฯก็จะสามารถแก้ไขได้ตรงจุดครับ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “Steve Cafe & Cuisine Dhevet Branch” และช่องยูทูบ “SteveCafeandCuisine”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น