xs
xsm
sm
md
lg

อุทาหรณ์คนดังสายสเกต “ล้มหน้าช้ำ-สะโพกเคลื่อน” แพทย์เตือนเล่นริมถนนเสี่ยงตายสูงสุด!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ลูกชายพีท ทองเจือ” สะโพกเคลื่อน “ปอย ปวีณา” ล้มหน้าช้ำ หลังเล่น “สเกต” จนเกิดอุบัติเหตุ ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกเตือน เล่นสเกตมีประโยชน์ แต่ห้ามลืมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เด็กไม่เกิน 10 ขวบ โอกาสเจ็บมากกว่า เล่นริมถนนเสี่ยงตายสูงสุด!

สนุกแลกเสี่ยง ล้มหน้าช้ำ-สะโพกเคลื่อน-เสียชีวิต

เรียกได้ว่า กระแส “เซิร์ฟสเกต” ยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรม Extreme ไม่ว่าจะหันไปทางไหนเป็นต้องได้เห็นคนทุกเพศทุกวัน ไถแผ่นบอร์ดสี่ล้อไปด้วยลีลาสุดพลิ้ว อัปลงโซเชียลมีเดียกันอย่างล้มหลาม

แต่ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากมุมความสนุกสนานเร้าใจแล้ว ยังมีอีกด้านที่ทำให้ต้องยิ้มไม่ออก เพราะกระแสข่าวที่มีมาเป็นระยะ จากการที่ผู้เล่นเซิร์ฟสเกต ประสบอุบัติเหตุเจ็บตัวกันไปไม่มากก็น้อย


[ น้องโรเตอร์และคุณแม่ ]
ล่าสุด กับกรณีของ “น้องโรเตอร์” ลูกชายคนเล็กวัย 13 ปี ของ “พีท ทองเจือ” ที่เกิดอุบัติเหตุล้ม สะโพกกระแทกขณะเล่นเซิร์ฟสเกต ทำให้กระดูกส่วน Growth plate บริเวณหัวสะโพกเคลื่อน

แพทย์พิจารณาการผ่าตัดด้วยการใส่สกรู เพื่อป้องกันไม่ให้เคลื่อนมากไปกว่านี้ เพราะอาจทำให้กระดูกโตผิดรูป หรือหัวสะโพกขาดเลือดจนหัวสะโพกตาย ทำให้ครอบครัวทองเจือวิตกกังวลถึงผลที่จะตามมาหลังการรักษาเป็นอย่างมาก

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ปอย-ปวีณา ตันท์ศรีสุโรจน์ หรือ ปริษา ครบนพรัตน์ นักแสดงสาวมากฝีมือ ก็ได้โพสต์ภาพใบหน้าฟกช้ำดำเขียวของตนเอง โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตาที่บวมและห้อเลือดอย่างน่ากลัว เธอเล่าถึงที่มาของอาการบาดเจ็บนี้ว่า ล้มหน้าฟาดพื้น เพราะเล่นสเกตบอร์ด โดยใส่รองเท้าแตะ และไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกัน



[ อาการบาดเจ็บของ ปอย-ปวีณา ]
และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ไม่นาน ก็มีข่าวเศร้าเกิดขึ้น เมื่อชายชาวจังหวัดตรังวัย 41 ปี เล่นเซิร์ฟสเกตบนดาดฟ้าชั้น 5 ของบ้าน จนประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงมาบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

เพื่อเป็นการรู้เท่าทันความเสี่ยงของกิจกรรมนี้ก่อนที่จะสายเกินแก้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยจาก นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC) โดยคุณหมอกล่าวถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุไว้ มีตั้งแต่การพฤติกรรมของผู้เล่นเอง ตลอดจนประเด็นของอุปกรณ์ป้องกัน

“ผมเคยรักษาคนเจ็บจากเซิร์ฟสเกตทุกกรณี แผลถลอก แผลฟกช้ำ เอ็นฉีกขาด กระดูกหัก ตั้งแต่ทำแผล ใส่เฝือก ผ่าตัด ปกติการเล่นเซิร์ฟสเกตมันได้ออกกำลังกาย และฝึกการบาลานซ์ แต่ก่อนที่เราจะเล่นได้ถึงจุดนั้น มันต้องมีการฝึกฝนมาระดับนึง ส่งผลให้เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงอันตรายได้


มี 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรง อันดับแรกคือ การกระโดด การเล่นเซิร์ฟสเกตพอเริ่มคล่องก็อยากจะกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดจากพื้น หรือการใช้ ramp เป็นอุปกรณ์ช่วยกระโดดของสเกต จากรายงานการวิจัยพบว่า การกระโดดจะทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น

ถัดมา การเล่น downhill มันจะมีแรงที่ทำให้เกิด speed ขึ้น ถ้า speed เยอะ มันก็จะ control ยาก และมันสามารถที่จะทำให้เราไหลไปได้เรื่อยๆ โดยที่เบรกไม่ได้ พอเบรกไม่ได้ก็เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

สุดท้าย การไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน รวมถึงรองเท้าผ้าใบด้วย แนะนำให้ใช้รองเท้าผ้าใบที่มีพื้นยาง มีแรงเสียดทานสูงๆ กับตัวสเกต การใส่รองเท้าแตะ ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงครับ

และอีกข้อนึงสำคัญมาก ตามรายงานการวิจัยพบว่า อัตราการตายที่เกิดขึ้นจากการเล่นสเกต คือ เล่นในสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย เล่นในถนนใหญ่ที่มีรถยนต์ เป็นข้อเดียวที่สัมพันธ์กับอัตราการตายอย่างมีนัยสำคัญครับ”



[ ภาพเอกซเรย์กระดูกของน้องโรเตอร์ ]
เมื่อถามถึงกรณีการบาดเจ็บของน้องโรเตอร์นั้น แพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ ให้คำตอบว่า ไม่อาจสรุปได้ เนื่องจากต้องดูเป็นรายกรณีไป

“ถ้าเกิดล้มก้นกระแทก ผู้ใหญ่มักจะเป็นกระดูกสะโพกหัก แต่เนื่องจากว่ากระดูกเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้บริเวณข้อต่อกระดูกสะโพกส่วนนั้น มีความอ่อนแอ ทำให้มันเคลื่อนออกจากกัน และอาจจะจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดในบางกรณี

กระดูกสะโพกบริเวณ Growth plate ที่เคลื่อน มันจะแบ่งเป็นหลายกรณีมากๆ ขึ้นอยู่กับว่ามันเคลื่อนไปทางไหน และเคลื่อนไปมากน้อยแค่ไหน และการเคลื่อนในแต่ละเปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้น จะถูกรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างออกไป โดยที่จะมีหมอกระดูกเฉพาะทางที่เป็นหมอกระดูกเด็กจะเป็นคนดูในส่วนนี้ครับ”

ผลวิจัยเผย เด็กไม่เกิน 10 ขวบ เจ็บมากสุด

กูรูด้านออร์โธปิดิกส์ อธิบายต่อว่า ช่วงวัยที่แตกต่างกันของผู้เล่นเซิร์ฟสเกต ก็เป็นอีกสิ่งที่ก่อเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ทั้งกายภาพและการตอบสนองที่ไม่รวดเร็วเท่าผู้ใหญ่ จึงมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้มากกว่า

“อันตรายเริ่มตั้งแต่การที่อายุน้อยเป็นจุดที่เราไม่คิดถึง เด็กเล็ก 6-10 ปี เขาจะมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าผู้ใหญ่ มีเหตุผลที่เขียนไว้ในรายงานการวิจัย คือ การที่เด็กมีลักษณะศีรษะที่ใหญ่ถ้าเทียบกับลำตัว ผู้ใหญ่จะศีรษะเล็กถ้าเทียบกับลำตัว มันเป็นการเจริญเติบโตปกติของมนุษย์ เนื่องจากศีรษะและลำตัวที่ใหญ่ ส่งผลให้เด็กเล็กล้มง่ายกว่า

และการเล่นสเกตมันต้องใช้ reflex (การสนองแบบฉับพลัน) เด็กจะมี reflex ที่ช้ากว่าผู้ใหญ่ ส่งผลให้เด็กเล็กมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่า



[ นพ.เกรียงศักดิ์ เล็กเครือสุวรรณ ]
ขณะที่วัยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป อาจจะมีกระดูกที่บางลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระดับความรุนแรงที่เท่ากัน ผู้ใหญ่เกิดการบาดเจ็บมากกว่า แต่ถ้าเป็นการรักษาและการฟื้นตัว อายุยิ่งเยอะขึ้น การฟื้นตัวก็จะช้ากว่า พบว่าในเด็กที่อายุ 6-10 ปี การฟื้นตัวจะดีที่สุดครับ”

ในส่วนอวัยวะที่เสี่ยงต่อได้รับการบาดเจ็บได้มากที่สุด นั่นก็คือ “ข้อมือ” มีโอกาสสูงถึงขั้นกระดูกหักได้

“ที่เรามักจะใส่สนับ เช่น ข้อเข่า หรือข้อศอก มักจะเกิดแค่แผลถลอกหรือแผลฟกช้ำเท่านั้น ไม่ได้ป้องกันหัก ส่วนใหญ่แล้วเวลาเกิดอุบัติเหตุ คนจะคิดว่าจะเกิดที่ข้อเข่า ข้อศอก ผมบอกเลยว่าผิด จากรายงานการวิจัย ตำแหน่งที่เกิดการบาดเจ็บได้มากที่สุด คือ ข้อมือ เพราะเวลาเราล้ม มือดันพื้นซะเป็นส่วนใหญ่ มันจะเป็นอัตโนมัติ ฝ่ามือเราจะลงไปแล้วป้องกันบริเวณใบหน้าก่อน ตำแหน่งข้อมือพบว่ามีกระดูกหักได้มากที่สุด

อันดับต่อไปคือ ข้อเท้า เหตุผลคือ การเล่นเซิร์ฟสเกตมันใช้การบิดเพื่อทำให้ตัวสเกตมันไถไปข้างหน้า จะเห็นกระดูกข้อเท้ามันเล็กนิดเดียวและมีการขยับได้เยอะ การบิดจะใช้แรงจากลำตัวมาที่ข้อเท้า ส่งผลให้เวลาเกิดอุบัติเหตุ หรือสเกตตกหลุมหรือพลิก แรงก็จะส่งผ่านมาที่ข้อเท้า

รวมถึง กระดูกจมูก หรือกระดูกกราม ผมบอกเลยเวลาคนเล่นเซิร์ฟสเกตไม่ใส่หมวกเต็มใบ ถ้าไม่ได้เล่น downhill ก็ใส่ครึ่งใบทั้งนั้นครับ การที่มีหมวกครึ่งใบมันก็จะช่วยปกป้องบริเวณศีรษะได้ อันนี้ดีแล้ว แต่บริเวณตั้งแต่ใต้กกหูลงมามันก็คือ underproduction เวลาล้มลงไปมันเกิดการบาดเจ็บได้ตามมา”


ทั้งนี้ แพทย์เฉพาะทางกระดูกและข้อ ได้ย้ำถึงวิธีการเล่นอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ข้อมือ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

“ปัจจุบันการเล่นเซิร์ฟสเกตเป็นกีฬาที่สนุก ฝึกสมาธิ ได้ออกกำลังคาร์ดิโอ และฝึกการทรงตัว เป็นสิ่งที่ดีครับ แต่อุปกรณ์ป้องกันถือว่าเป็น 1 ใน 3 ปัจจัยที่จำเป็น ควรจะต้องใส่

โดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันการหัก หรือแตกร้าวของบริเวณข้อมือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น การรักษาครั้งนึงใช้เวลานาน ทำให้เราต้องหยุดเล่นนาน หรือในบางครั้งก็ไม่สามารถที่จะกลับมาเล่นได้อีกเลย ก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย การใส่อุปกรณ์ป้องกัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่แพทย์แนะนำครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : อินสตาแกรม @seyamiya และ @poy_peweena_tun



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น