ระวังค่าใช้จ่ายแอบแฝง!! กูรูเตือน สั่งของเมืองนอก ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท อาจเจอเก็บภาษีบวกเพิ่ม ตั้งคำถามซัด หรือรัฐถังแตก? ด้านเหยื่อ #ศุลกากรหรือซ่องโจร ชี้เสียงไปไม่ถึง เรื่องยังเงียบ วิจารณ์หนักเก็บภาษีแพง-ทำสินค้าเสียหาย ไม่คิดจะรับผิดชอบ!!?
ดับฝันนักช้อป! กูรูเตือน ระวังจ่ายภาษีเพิ่ม
“ที่บอกว่ารัฐบาลถังแตก? ช่วงนี้ผมลองสั่งของผ่านทาง Ali Express เล่นๆ ดูจากข่าวที่บอกว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีสินค้าที่ไม่เกิน 1,500 บาท
ปรากฏว่า... จริงด้วย!!! ผมลองสั่งสินค้าที่ราคาประมาณ 1,100-1,200 บาท โดนค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากศุลกากรไป 511 บาท นั่นแปลว่า ความชิบหายได้มาเยือนพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยแล้ว ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ครับ ถ้าคุณเคยสั่งมา 1,000 เอามาขาย 1,500 กำไร 500 บาทต่อชิ้น ต่อไปคุณต้องขาย 2,000 บาท ถ้าคุณยังอยากได้กำไร 500 บาทต่อชิ้นอยู่ ของจะแพงขึ้น คนจะซื้อน้อยลง กำไรก็จะน้อยลง... ประเทศไทยจงเจริญ”
โจ้-โอภาส อาลมิสรี กูรูด้านส่งออกบริษัทแห่งหนึ่ง เปิดใจกับ ทีมข่าว MGR Live หลังโพสต์เฟซบุ๊ก “โอภาส อาลมิสรี - Opas Almaseri” ตั้งคำถาม ถึงการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ของไม่เกิน 1,500 บาท ทำไมโดนจ่ายเพิ่มอีก 500 บาท
“เราในฐานะผู้บริโภค คุณซื้อของออนไลน์ คุณจ่ายเงินไปแค่ 1,100 แต่พอมาถึงปลายทาง และบอกของคุณถ้าบวกค่าขนส่งแล้วเป็น 1,500-1,600 อันนี้มันคืออะไร
คือ ผมไม่โพสต์ว่าผมโทษใคร ผมไม่ได้โทษใคร ไม่ได้โทษศุลกากร ไม่ได้โทษอะไรเลย ผมแค่ลงว่าดูไว้นะ พ่อค้าแม่ค่าที่จะซื้อของ สั่งของมาขาย ไม่ใช่คุณจ่าย 1,100 แล้วมันจบต้นทุนไม่ใช่แค่ 1,100 เวลาเอาเข้ามาแล้ว มันยังมีบวกเพิ่ม เพราะต้นทุนที่คุณไม่รู้”
แน่นอนว่า ทันทีที่มีการแชร์ออกไป นำมาซึ่งข้อสงสัยอีกว่า อาจจะเป็นการเรียกเก็บเงินเพิ่ม เพราะไม่นานมานี้เพิ่งมีกระแสข่าวช่วงเดือนที่ผ่านมา ว่า กรมศุลกากรเตรียมเก็บภาษีนำเข้าพัสดุนำเข้าจากต่างประเทศที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท โดยเก็บทั้งภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (VAT) นั้น จะเป็นเรื่องจริงและเริ่มใช้แล้ว
“ผมต้องการให้คนที่กำลังสั่งของระแวง หรือตื่นตัวว่า จริงๆ มันไม่ใช่ว่าราคาแค่น่าเว็บแล้วมันจบ มันยังมีอะไรอีกนิดๆ ย่อยๆ ที่คุณไม่รู้อยู่ อันนี้คือสิ่งที่ผมต้องการจะสื่อ
คือมันเป็นการเบิกเนตร คนไม่รู้กี่คน ไม่มีใครรู้ อย่างผมรู้บ้าง แต่ผมไม่รู้เหมือนกันว่า ค่า Freight (ค่าขนส่ง) เท่าไหร่ เพราะว่ามันไม่ได้แจ้ง มาแจ้งตอนปลายทาง
เราก็คิดคำนวณว่า ถ้าเราสั่งของ 1,100 ค่าส่งถึงไทยตามที่มันโชว์ เราจ่ายไปเท่านี้ ของต้องถึงเราก็คิดว่าราคานี้ 1,100 บาท คือ มันรวมค่าขนส่งแล้ว
แต่มาถึงปุ๊บ มันก็เอาค่าขนส่งที่มาจากไหนไม่รู้ มันคือ ข้อตกลงระหว่างผู้ส่งกับบริษัทขนส่ง ที่ไปยื่นให้กรมศุลกากร เขาก็คิดให้คำนวณแบบนี้ ค่าของ 1,100 ค่าขนส่ง 500 คือ 1,600 บาท ราคาภาษีต้องคิดจาก CIF คือ ต้องเอาทั้งค่าสินค้า ค่าประกัน และค่าขนส่งมารวมกัน และคิดเป็นฐานภาษี และมีการบวกค่าบริการของกรมศุลกากรอีกร้อยกว่าบาท
จริงๆ ส่วนที่จ่ายให้ศุลกากรมันคือไม่เกิน 300 บาท และจะมีส่วนของค่าบริการเคลียร์สินค้าโดยบริษัทขนส่ง บวกเข้าไปอีก 200 บาท มันเลยกลายเป็นว่าเราต้องเสียภาษีเพิ่มอีก 500 ถ้าถามคนไม่รู้ คุณสั่งราคาของ 1,100 พอมาเก็บปลายทาง เก็บภาษีธุรกิจ 500 แล้วบริษัทขนส่งยังบอกว่าเก็บภาษีเพิ่ม
เราก็ตกใจ เรางัวเงียเพิ่งตื่น เสียภาษีเพิ่มอีก 500 ผมไม่ใช่คนเลี่ยงภาษี ผมจ่ายภาษีมาตลอด แล้วผมก็ไม่เคยไปหาวิธีที่จะหลีกเลี่ยงภาษีเลยสักครั้ง ผมเป็นคนตรงไปตรงมา เราจ่าย จ่ายเสร็จก็มาดู เฮ้ยทำไมมันถึง 500 พอมาแจกแจง อ๋อ มันมีค่า Freight ซึ่งเราไม่รู้มาก่อนว่าราคาหน้าเว็บ การที่ free shipping มันมีค่า Freight อยู่ ซึ่งเขาสำแดงกันเอง คือ ผู้บริโภคไม่รู้เรื่อง”
อย่างไรก็ดี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก รวมทั้งออกมาให้ข้อมูลว่า นี่อาจจะเป็นการเข้าใจผิด เพราะการจะได้รับการยกเว้นภาษีกรณีสินค้าไม่เกิน 1,500 บาท ต้องรวมค่าประกัน ค่าขนส่งสินค้าแล้วไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งกรณีนี้รวมแล้วเกิน จึงต้องจ่ายภาษี
โดยเขาชี้แจงไว้ว่า ยังมีผู้บริโภคอีกหลายคนไม่ทราบข้อมูลว่ามีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอยู่ เขาเพียงออกมาให้ข้อมูล ให้หลายคนตระหนักยิ่งขึ้น
“คือ ผมรู้ทุกอย่าง ว่าคิดภาษียังไง แต่ค่า Freight คือเท่าไหร่อันนี้เราไม่รู้ แล้วหลายๆ คนก็ไม่รู้ แม้กระทั่งเพจ drama addict ผมก็คุยกับเขา เขาก็บอกว่ามันเป็นการเบิกเนตรให้ทุกคนเลยว่า ตัวเขาเองก็เพิ่งรู้ หลายๆ คนก็เพิ่งรู้ว่า มันมีค่า Freight อยู่ ถ้า free shipping มันต้องมี Freight ด้วย Freight เท่าไหร่ไม่มีใครรู้ ตอนนี้ก็เข้ามาซัดกันเต็มเฟซบุ๊กเลย
ผมต้องการที่จะเตือนพ่อค้าแม่ค้าหรือคนที่จะสั่งของมาว่าให้ดูดีๆ คำว่า free shipping บางครั้งมันมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอยู่ ซึ่งเราไม่รู้ และเราไม่มีทางรู้ จนกระทั่งของมาถึงเรา ถ้าเลือกได้ คือ เราเลือกส่งทางอื่นดู แต่ถ้าของเกิน 1,500 ยังไงก็ต้องจ่ายอยู่ดี ภาษีเราหนีไม่พ้น”
คิดเกินราคา-สินค้าเสียหาย ทำผู้บริโภคซวย!!
ส่วนประเด็นที่ยังคงเป็นประเด็นที่คนวิจารณ์กันหนักอย่างต่อเนื่องในสังคม ถึงหลักเกณฑ์ยึดของ ของกรมศุลกากร
รวมไปถึงการตั้งเก็บภาษีในราคาที่ไม่สมเหตุสมผล จนเกิดแฮชแท็กขึ้นเทรนด์ว่า #ศุลกากรหรือซ่องโจร
และเมื่อทีมข่าวเข้าไปตรวจสอบ พบว่าชาวทวิตเตอร์หลายรายยืนยัน ถึงการเสียหายมากพอสมควร
เช่นเดียวกับ ผู้เสียหายรายหนึ่ง จากทวิตเตอร์ ได้เปิดใจกับทีมข่าว ไว้ว่า ได้ซื้อของในราคาลด 40% แต่ศุลกากรกลับคิดในราคาเต็ม และถูกคิดเป็นเงินดอลลาร์มูลค่ากว่า 11,292 บาท
“แท็กศุลกากรซ่องโจรคือเรื่องจริง ตอนแรกเราก็ไม่อะไรนะคะ พอเจอกับตัวเองก็ จริงมาก (เน้นว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ) เห็นด้วยกับแท็กนี้เลยค่ะ คือ เราซื้ออัลบั้มศิลปินเกาหลีไป 157 อัลบั้ม เพื่อลุ้นคอลไซน์ พัสดุเรามา 5 กล่อง กล่องนึงแบ่งเป็นรอบละ 30, 34, 30, 25 รวมทั้งหมด 5 กล่อง เราโดนทุกกล่อง
แล้วมีกล่องนึงเว็บเก่าส่งมาให้เรา 34 อัลบั้ม ส่วนของพี่เราส่งมา 30 อัลบั้ม ต่างกัน 4 อัลบั้ม เราโดนภาษีไป 2,800 กว่าบาท พี่เราโดนไป 1,500 ซึ่งเราไม่โอเคตรงที่ต่างกัน 4 อัลบั้ม ภาษีเราพุ่งเกินไป 1,400
เราไม่รู้เขาใช้อะไรประเมิน แล้วประมาณราคาเกินจริงมาก เราซื้ออัลบั้มในราคาลด 40% แต่ศุลกากรคิดเราราคาเต็มเป็นเงินดอลลาร์ เราบอกให้คิดเงินวอน เพราะเราจ่ายเงินแต่ศุลกากรตีราคาเราเป็นดอลลาร์ที่แพงกว่าราคาวอน”
ไม่เพียงแค่นั้น ผู้เสียหายก็เห็นด้วยกับกระแสสังคม ที่มองกศุลกากรว่าเป็นเหมือนซ่องโจร ที่ขโมยสินค้า รีดเงินผู้บริโภค พร้อมย้ำชัดควรมีการตรวจสอบเรื่องที่เกิดขึ้น และเรื่องนี้ไม่ควรเงียบหายไป
“เราเฟลมากค่ะ นอกจากเก็บไปเกินจริงแล้วยังมาบอกเราได้กำไรอีก กำไรยังไม่ได้ ขาดทุนย่อยยับ แถมยังต้องมาเสียเงินไปกับอะไรไม่รู้แบบนี้อีก
อยากให้มีหน่วยงานตรวจสอบเกี่ยวกับการประเมินราคาของที่เกินจริง ไม่ใช่ประเมินจากความรู้สึก แล้วก็รื้อของออกมาตรวจแล้วเก็บเหมือนเดิมด้วย ของเราเสียหายไปไม่มีการรับผิดชอบใดๆ เลยค่ะ
เราคิดว่าเก็บภาษีเกินไปจริงๆ ค่ะ แฟนเราอยู่เกาหลีก็ยังตกใจกับภาษีนำเข้าบ้านเราเลย
เรามองว่าควรมีมาตรฐานในการประเมินมากกว่านี้ค่ะ”
ขณะเดียวกัน ด้าน โอภาส อาลมิสรี ยังให้คำแนะนำเพิ่มเติมให้ฟังว่า หากพบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโดยมิชอบ สามารถร้องเรียนได้ทางสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
“สำหรับเรื่องศุลกากรที่ #ศุลกากรหรือซ่องโจร เรื่องนี้ลองดูว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบคุณก็ร้องเรียนมา
คือจริงๆ เราได้ยินมาบ่อย และได้ยินมาตลอด แต่ว่าตอนนี้เราร้องเรียนได้ เก็บหลักฐานร้องเรียนมา ว่าใครประพฤติไม่ชอบ ยื่นเรื่องมาได้ มีสมาชิก ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตรวจสอบที่รัฐ เรามีช่องทางการตรวจสอบมากมาย คือ ใครคิดว่าภาครัฐทำผิด คุณก็ยื่นเรื่องมา เดี๋ยวเราก็จะตรวจสอบให้ ในกลไกของรัฐสภาตรวจสอบได้”
ข่าวโดย: ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **