“ศิลปิน-สายการบิน” งานเข้า เหตุเพราะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลักลอบเข้าช่องทางธรรมชาติ ไม่ยอมกักตัว แถมตระเวนไปทั่ว จนคนทั้งประเทศผวา ด้านแพทย์เผย เที่ยวปีใหม่ไม่ต้องแคนเซิล สถานการณ์ไทยตอนนี้ “เอาอยู่”
ผู้ติดเชื้อติดเที่ยว ทำเดือดร้อนทั้งประเทศ!
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า คนไม่กี่คนจะสร้างความหวาดผวาให้แก่คนในประเทศได้ถึงเพียงนี้ เมื่อมีกลุ่มไทยผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากประเทศเมียนมา ที่ลักลอบเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติ โดยไม่ยอมกักตัว 14 วัน ตามมาตรการของรัฐ อีกทั้งเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ในไทย ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ไปยังหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ หรืองานเทศกาลต่างๆ ที่ขณะนี้เริ่มส่อเค้าไม่ดีให้เห็นแล้ว!
ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ ขณะนี้มีนักดนตรีชื่อดังหลายท่าน ทั้ง Big Ass, BOWKYLION และ Safeplanetที่ขึ้นแสดง Farm Festival On The Hill 2020ที่สิงห์ปาร์ค จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ต่างทยอยกันออกมาประกาศ “ยกเลิกงาน” ที่รับไว้ล่วงหน้า และกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน เพื่อความปลอดภัย เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าร่วมงานดังกล่าวด้วย
ขณะที่ “อิ๊งค์-วรันธร เปานิล” นักร้องสาวชื่อดัง ก็ออกมาประกาศยกเลิกงานและกักตัวเช่นเดียวกัน เหตุเพราะเธอและทีมงานเดินทางร่วมเที่ยวบินเดียวกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากดอนเมืองไปพิษณุโลก
ส่วนทางด้านของสายการบิน “ไทย ไลอ้อน แอร์” ที่มีคำสั่งกักตัวนักบิน-ลูกเรือ เป็นเวลา 14 วัน หลังพบผู้โดยสารที่เป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใช้บริการสายการบินดังกล่าว เดินทางมาจากเชียงรายมายังกรุงเทพฯ
แน่นอนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความกังวลเป็นอย่างมาก ตลอดจนคำถามถึงความเสี่ยงที่ไทยจะเกิดการระบาดในระลอกที่ 2 หรือไม่?!
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงสถานการณ์ตอนนี้ว่า ยังควบคุมได้ เนื่องจากใช้มาตรการเชิงรุกและเชิงรับควบคู่กัน
“การระบาดรอบสองที่ถือว่าเริ่มจะอันตราย หมายความว่า เราพบผู้ติดเชื้อ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีก็ตาม แล้วเราไม่สามารถระบุว่าคนนั้นไปติดเชื้อมาจากใคร สถานที่ใด ได้อย่างไร และมีการกระจายตัวไปในลักษณะอย่างนี้อยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย
แต่ว่าสถานการณ์ขณะนี้ เรายังไม่ได้เลวร้ายอย่างที่เรียนให้ทราบ เพราะเราสามารถระบุตัวตนของคนที่ติดเชื้อ มีอาการ และแพร่เชื้อได้ เราสามารถสืบเสาะหาคนที่เข้าไปสัมผัส ไม่ว่าจะสัมผัสเสี่ยงสูง-กลาง-ต่ำ ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งในกรณีนี้ก็ทำให้เรายังมีความพร้อมที่จะประกาศได้ว่าเรายังเอาอยู่
ซึ่งมาตรการตรงนี้จะไม่ใช่มาตรการในการตั้งรับ หรือว่ามากักตัวอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงสืบเสาะหาผู้สัมผัส กลายเป็นเชิงรุกที่จะหาคนที่แพร่เชื้อต่อไปได้ ประเทศไทยเองที่เรารอดมาได้ตั้งแต่มกราถึงปัจจุบัน เป็นเพราะว่ามีการประสานงานกันระหว่างคนในพื้นที่ที่คอยสอดส่องและพยายามที่จะรายงาน หรือว่าให้คำแนะนำว่าควรจะต้องกักตัวหรือต้องรักษา ซึ่งตรงนี้เป็นรากฐานสำคัญซึ่งประเทศไทยมี ประเทศอื่นไม่มี ไม่ใช่แต่ อสม.อย่างเดียว”
ไม้แข็งเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้ผล?!
“ถามว่ามีบทลงโทษมั้ย จริงๆ แล้วมี แต่ผมคิดว่าทางการเองก็คงจะประนีประนอมมากกว่า เพราะถ้าหากว่ามีบทลงโทษจริง ขณะนั้นผลที่ได้ออกมาอาจจะเป็นผลลบด้วยรึเปล่า สิ่งที่เราประชาสัมพันธ์คือให้เข้ามาช่องทางที่เป็นมาตรฐาน สามารถตรวจจับการติดเชื้อได้”
ส่วนอีกประเด็นที่พูดถึงกันอย่างมากบนโลกโซเชียลฯ นั่นคือ การเสนอให้มีบทลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อผู้ที่ลักลอบเข้ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งเรื่องนี้หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ มองว่า การใช้ไม้แข็งอาจจะยิ่งเป็นการทำให้สถานการณ์ไม่ดีขึ้น ทางที่ดีควรประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงอันตรายของโรค เพื่อที่จะเป็นการกระตุ้นเตือนว่า โควิด-19 ไม่ได้อันตรายแค่ผู้ติดเชื้อ หากแต่ยังรวมไปถึงคนในครอบครัวพวกเขาด้วย
“เราไม่คิดว่าการลงโทษหรือการจับ-ปรับ จะเป็นมาตรการที่ได้ผลอย่างเดียว น่าจะเป็นมาตรการควบรวมกันของการได้เห็นความสำคัญของตัวเองว่าเป็นโรคหรือติดเชื้อหรือไม่ ถ้าเราตอบโต้เขาด้วยมาตรการทางกฎหมาย มันก็จะมีแรงขัดขืนมากขึ้น
เรื่องของมาตรการชายแดน มีการร่วมมือกันของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ยังไงก็ตามคงเก็บไม่หมด เพราะจะต้องมีผู้ลักลอบเข้ามาแน่ๆ สิ่งที่อยากจะส่งเสริม คือ พยายามให้ข้อมูล สื่อสารไปถึงคนที่จะเข้ามาในประเทศว่าไม่ควรจะลักลอบเข้ามา จริงๆ แล้วเชื้ออาจจะกำลังฟักตัวอยู่ในร่างกายเขา
ถึงแม้จะอายุ 20-30 ไม่มีโรคประจำตัวก็ตาม เน้นย้ำว่า คนเหล่านี้เสียชีวิตได้หมด การรักษาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถึงแม้ว่าไม่เสียชีวิตก็ตาม อวัยวะที่ถูกกระทบ ถึงไม่ตายแต่มันเสีย 10-50 เปอร์เซ็นต์ได้ เช่น ปอด ไต สมอง และเส้นเลือดหัวใจ การที่เข้ามาจากตะเข็บชายแดนหรือประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าเข้ามาแล้วควรจะเข้ามาในช่องทางที่เป็นมาตรฐาน มีการกักตัวเพื่อดูอาการ ถ้าดูอาการแล้วพบว่ามีอาการ ก็รักษาได้เลย ทำให้เขารักษาชีวิตเขาได้”
ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังย้ำอีกว่า แม้อากาศที่เย็นอาจเป็นปัจจัยให้การติดเชื้อเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น แต่การท่องเที่ยวในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ยังสามารถทำได้ หากคนไทยยังมีระเบียบวินัยและการ์ดไม่ตก
“ไวรัสโดยปกติแล้ว มันจะชอบเย็นๆ มากกว่า หมายความว่าอาจจะทำให้มีการติดเชื้อง่ายกว่าธรรมดา ขณะนี้จะมีเรื่องของฝุ่นละออง หรือเกสรของต้นไม้ต่างๆ ในบางคนมีภูมิแพ้อยู่แล้วด้วย ก็ทำให้ระบบป้องกันในจมูก ในลำคอ ในทางเดินหายใจส่วนต้นของเรามันบกพร่อง ก็ทำให้เกิดติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
แต่ยังไงก็ตาม ประเทศไทยเรายังค่อนข้างแห้ง เมื่อเทียบกับประเทศหนาวที่หนาวด้วยและมีชื้นด้วย ซึ่งตรงนั้นจะทำให้ติดเชื้อไปกันใหญ่ เราก็ยังคงไปเที่ยวได้ในปีใหม่นี้ จริงๆ แล้วก็ไม่ควรแคนเซิล เป็นการเที่ยวที่มีการระมัดระวังตัว และสถานประกอบการตรงนั้น ต้องมีมาตรฐานในการรองรับ ทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการด้วยครับ
ย้ำตรงนี้เรื่องของระเบียบวินัย ก็ต้องทำตลอด หน้ากากเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย และการเว้นระยะห่าง การล้างมือ เป็นกิจวัตรที่ต้องทำ ไม่ว่าจะหมดโควิดแล้วก็ตาม ตอนนี้เชื้อโรคต่างๆ เราทำแล็บอยู่เยอะเลย ที่กำลังจะเข้ามาตัวใหม่ หรือเข้ามาแล้วแต่ยังไม่ระบาด เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตัวอย่างนี้ สามารถป้องกันโรคที่กำลังมีอยู่ขณะนี้ แต่ยังไม่รุนแรงหรือโรคที่กำลังจะเข้าใหม่ ซึ่งอาจจะรุนแรงมากกว่าโควิด-19 ก็ได้”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **