xs
xsm
sm
md
lg

เจาะมาตรการ “คนละครึ่ง” หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กีดกันคนจนเกินครึ่ง?!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยุคโควิด! กูรูเศรษฐศาสตร์หนุน “คนละครึ่ง” เหตุเพราะกระจายรายได้ได้ดี แนะเพิ่มสิทธิ เหตุเพราะคนจนนับสิบล้านคนเข้าไม่ถึง ไม่เห็นด้วย “ช้อปดีมีคืน” เผย มีแต่คนรวยได้เปรียบ?!!

วอนเพิ่มสิทธิ “คนละครึ่ง”


“ผมมองว่าคนละครึ่งเป็นโครงการที่ดี อยากให้ขยายสิทธิ เพิ่มสิทธิ แต่ไม่อยากให้ทำช้อปดีมีคืน เพราะว่ามันไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจครับ”

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส และนักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI)กล่าวกับทีมข่าว MGR Live หลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายในประเทศ ประกอบด้วย 1.มาตรการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) 2.มาตรการคนละครึ่ง และ 3.มาตรการช้อปดีมีคืน โดยเฉพาะ 2 มาตรการหลังที่ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก



สำหรับ โครงการคนละครึ่ง นั้น ภาครัฐจะให้การช่วยเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าอุปโภค บริโภค ในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน รวมวงเงินไม่เกิน 3,000 บาท จำกัดจำนวนผู้ชิสิทธิได้อยู่ที่ 10 ล้านคน ใช้จ่ายได้ถึง 31 ธันวาคมนี้ และล่าสุดเปิดให้ลงทะเบียนในรอบที่ 3 และเล็งเปิดเฟส 2 ในปีหน้า

ขณะที่ โครงการช้อปดีมีคืน โดยให้ผู้บริโภคที่ใช้จ่ายซื้อสินค้าตามเงื่อนไข มาหักลดหย่อนภาษีได้ จำนวน 30,000 บาทต่อคน ตั้งแต่ 23 ตุลาคมไปจนถึง 31 ธันวาคม 2563 และหากใช้สิทธิในโครงการคนละครึ่งแล้ว จะไม่สามารถใช้สิทธิมาตรการช้อปดีมีคืนได้



[ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร ]

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นถึงโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นว่า เห็นด้วยและสนับสนุนมาตรการคนละครึ่ง เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและผู้ค้ารายเล็ก อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง

“ผมคิดว่าจุดเด่นที่ผมชอบของโครงการคนละครึ่งก็คือ เป็นเรื่องของการที่คนที่มีรายได้ ฐานภาษีไม่สูงมักจะใช้ และไปให้กับร้านค้าที่เป็นตัวเล็กๆ ด้วย มันเกิดประโยชน์ 2 ทาง และข้อกำหนดของโครงการคนละครึ่งก็ยังบอกด้วยว่า ร้านค้าที่จะใช้บริการ จะต้องเป็นร้านเล็กๆ ย่อยๆ ไม่ใช่ร้านขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นตรงนี้เองทำให้มันสามารถกระจายทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า



เรามีการทำสถิติตัวเลขออกมาแล้วว่า เราคำนวณว่ามีคนใช้ครบจำนวน 10 ล้านสิทธิ และมีการจ่ายผลประโยชน์คนละ 3,000 บาทครบถ้วน แปลว่าภาครัฐจะเสียเม็ดเงินไปประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่การกระตุ้นเศรษฐกิจจะเกิดเพิ่มขึ้นมาได้ 1.85 เท่า

เศรษฐกิจปีนี้เราติดลบไปประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าช่วยได้ประมาณนึง 0.34 จาก 6 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น คิดแล้วประมาณ 55,000 ล้านบาทครับ เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ผมจึงค่อนข้างที่จะเห็นด้วยกับโครงการนี้ และอยากให้ทำได้เยอะๆ”

“ช้อปดีมีคืน” ถูกใจคนรวย แต่แทบไม่กระตุ้นเศรษฐกิจ?!

เมื่อพูดถึงข้อดีไปแล้ว ก็มากล่าวถึงช่องโหว่มาตรการคนละครึ่งบ้าง โดยนักวิชาการอาวุโสกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะให้สิทธิประชาชนถึง 10 ล้านสิทธิ แต่ยังมีประชาชนอีกกว่าครึ่งที่เข้าไม่ถึง สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม

ทีนี้จุดด้อยคือ เป็นเรื่องของจำนวนสิทธิมันไม่ค่อยเท่าเทียมถ้าเทียบกับช้อปดีมีคืน ช็อปดีมีคืนใครสามารถยื่นภาษีก็สามารถที่จะได้รับสิทธิเลย ฉะนั้นคนที่เข้าก็จะเป็นคนที่ฐานภาษีสูงๆ ทุกคน จะได้รับสิทธิหมด



แต่พอไปดูจำนวนคนที่ฐานภาษีต่ำ ถ้าหัก 14 ล้านคนที่ได้รับสิทธิจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว เราพบว่ามีอย่างน้อย 20 กว่าล้านคน ในกรณีของคนละครึ่ง ที่ภาครัฐให้แค่ 10 ล้านสิทธิ ก็จะเห็นว่าในเรื่องของความเหลื่อมล้ำมันมีอยู่ ก็คือคนจนไม่ได้รับสิทธิทุกคน แต่ถ้าคนที่มีฐานภาษีสูงๆ คนเข้าช้อปดีมีคืนได้หมด”

อีกกรณี ผมมองว่าเป็นข้อจำกัดที่อยากให้รัฐบาลพัฒนา ก็คือตัวธุรกิจขนาดย่อมมีอยู่ 2 ล้านกว่าราย แต่ปัจจุบันโครงการนี้เข้าถึงได้ประมาณ 570,000 ราย ก็จะเห็นว่า ภาครัฐยังไม่สามารถดึงผู้ประกอบการเข้ามาในระบบได้อย่างครบถ้วน ในช่วงโควิด คนที่ได้รับผลกระทบคือคนตัวเล็กๆ ต่างๆ เหล่านี้ ที่อยากให้ภาครัฐทำให้เกิดความครอบคลุม

ภาครัฐต้องเข้าไปศึกษาว่าทำไมใน 2 ล้านกว่ารายที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก เข้าได้แค่ 570,000 ราย อาจจะดูเหมือนเยอะ แต่อีก 1.4 ล้านรายที่เข้าไม่ถึง แน่นอนว่าบางเหตุผลเป็นผู้สูงอายุที่ไม่สามารถใช้มือถือได้ เราพบกรณีบางพื้นที่ที่สัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ไม่สามารถใช้ได้ ก็มีอยู่บ้าง”



ทั้งนี้ นักวิชาการอาวุโสยังเสริม ในช่วงท้ายของบทสนทนาว่า รู้สึกไม่เห็นด้วยกับโครงการช้อปดีมีคืน เนื่องจากเขามองว่า ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างตรงจุด

“โครงการช้อปดีมีคืนจะให้สิทธิในการลดหย่อนภาษี แปลว่าถ้าคนที่มีฐานภาษีสูงจะได้รับการลดหย่อนเยอะ เช่นถ้าเกิดมีฐาน 20 เปอร์เซ็นต์ ถ้าใช้ครบ 30,000 บาท จะได้คืน 20 เปอร์เซ็นต์ก็คือ 6,000 บาท จะเห็นว่ายิ่งมีฐานภาษีเยอะคนก็อยากใช้ช้อปดีมีคืนมากกว่า เงินปริมาณที่เท่ากัน จะมีผลกับคนตัวเล็ก ขณะที่คนตัวใหญ่ที่มีเงินฐาน 20 เปอร์เซ็นต์ เงิน 3-4 ล้านต่อปี ได้เงินเพิ่มขึ้นมาอีกไม่กี่พันบาท เขาจะไม่รู้สึก ตรงนี้เองเป็นส่วนต่าง



ในส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับช้อปดีมีคืน เพราะว่าเงื่อนไขและวิธีการ ท้ายที่สุดแล้วมันทำให้คนรวยได้เปรียบ การกระตุ้นเศรษฐกิจมันจะเกิดน้อยกว่าด้วย และผมคิดว่ามันน้อยกว่ามาก เพราะเงื่อนไขที่ภาครัฐกำหนด เช่น ให้การซื้อ-ขายหุ้น สามารถที่จะเอามาใช้ในการลดหย่อนได้

ลักษณะนี้มันจะทำให้คนที่มีฐานภาษีสูงๆ แทบจะไม่ต้องเกิดการใช้จ่ายใหม่เลย เขาก็ดำเนินชีวิตของเขาตามปกติ ไปซื้อของเพียงแต่ขอใบเสร็จแค่นั้นเอง เขาก็ได้แล้ว ไม่ยากเลย 30,000 บาท มีเวลา 3 เดือน เขาสามารถที่จะหาใบเสร็จได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเทรดหุ้น ซื้อกองทุนต่างๆ หรือซื้อของในชีวิตประจำวัน มันจะไม่เกิดเงินใหม่

สุดท้าย ผมคิดว่าภาครัฐแก้ไขปัญหาได้ดีในระดับนึงแล้ว แต่กระบวนการใช้ แน่นอนว่ามีคนพยายามแอบอ้างต่างๆ มีคนพยายามจะโกงการใช้สิทธิ ตรงนี้คิดว่าภาครัฐควรจะหาบทลงโทษและควรที่จะตรวจสอบให้ดี”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live




** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น