มีเงื่อนงำ?! แม่ทหารเกณฑ์ผูกคอตายในค่ายร้องกองปราบ ปมลูกเสียชีวิตปริศนา แถมครอบครัวยังถูกข่มขู่ นักสิทธิมนุษยชนเผย “ค่ายทหารเป็นพื้นที่ปิดและมีความปลอดภัย แต่ตัวทหารกลับไม่ปลอดภัย” ล่าสุด “พ.ร.บ.เลิกบังคับเกณฑ์ทหาร” ถูกนายกฯปัดตกไปเรียบร้อย!
อีกแล้ว! ทหารเกณฑ์ตายคาค่าย
เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจ และนำมาซึ่งคำถามมากมายถึงแวดวงทหารอีกครั้ง กับกรณีที่ พลทหารพิชวัฒน์ เวียงนนท์ อายุ 22 ปี ที่เสียชีวิตหลังหนีค่ายออกมา และถูกจับกลับไปก่อนจะถูกพบเป็นศพ โดยทางค่ายแจ้งว่า พลทหารผูกคอตัวเองเสียชีวิตภายในห้องน้ำในห้องขังของกองรักษาการณ์ มณฑลทหารบกที่ 27 ค่ายประเสริฐสงคราม จ.ร้อยเอ็ด
แม้ทางต้นสังกัดอย่าง มทบ.27 จะมีการเปิดไทม์ไลน์ชี้แจงรายละเอียดการเสียชีวิตแล้ว แต่ทางญาติของทหารคนดังกล่าว ไม่เชื่อว่าเป็นเป็นการฆ่าตัวตาย โดย หนูไกร บุญวิเศษ แม่ของผู้เสียชีวิต กล่าวว่า สัปดาห์ก่อนเกิดเหตุ มีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาบอกให้ลูกชายกลับมารายงานตัวที่ค่าย ซึ่งก่อนลูกชายจะไป ได้บอกกับตนว่าไม่อยากกลับไปอีกไม่อย่างนั้นคงตายแน่ๆ ที่ผ่านมาต้องถูกทำร้ายทั้งเหยียบคอ โรยพริกเกลือ ตัดผม และตีหลังจนช้ำ
หลังเกิดเรื่อง ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารท่านหนึ่งโทรศัพท์มาข่มขู่ทางครอบครัวให้หยุดสืบหาความจริงเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิต ที่ทางครอบครัวไม่เชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตาย โดยแม่ผู้ตายได้มาเดินทางมาพร้อมกับ รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมเพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมแก่กองปราบ ให้ช่วยรับโอนคดีมาอยู่ในความรับผิดชอบ จึงเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรม
ไม่เพียงแค่กรณีนี้เท่านั้น เหตุการณ์ที่ทหารเกณฑ์เสียชีวิตในค่าย ปรากฏบนหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง ย้อนกลับไปเพียงเดือนเศษ กับกรณีดัง ของทหารเกณฑ์ วัย 21 ปี ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนา หลังเข้ากรมได้เพียง 2 สัปดาห์ โดยทางผู้บังคับบัญชาแจ้งว่ามีสาเหตุการเสียชีวิตมาจาก เส้นเลือดตีบ เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่ทัน ครอบครัวได้รับเพียงคำขอโทษ กับเงินค่าทำศพ 20,000 บาท พร้อมกับคำถามคาใจ ว่าตกลงแล้วสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงคืออะไร
และเมื่อกลางปีที่แล้ว พลทหาร ลือชานนท์ นันทบุตร อายุ 22 ปี สังกัดหน่วยทหารแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ที่เสียชีวิตภายในหน่วยทหาร หลังเป็นทหารเกณฑ์ได้เพียง 11 เดือน แน่นอนว่าครอบครัวของเขาติดใจการเสียชีวิต ซึ่งผู้เป็นพ่อสอบถามจากเพื่อนผู้ตายกลับได้รับคำตอบไม่ตรงกัน บ้างบอกว่าโดนไฟช็อต บ้างก็บอกว่าตกตึก แต่หลังจากที่ตนได้ตรวจดูร่างกายลูกชายแล้วไม่พบร่องรอยที่ว่า ทำให้รู้สึกข้องใจและ มั่นใจว่าลูกชายของตนจะต้องโดนฆ่าอำพรางศพ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และอดีตกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความเพื่อสะท้อนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเขาให้ความเห็นว่า ด้วยสถานที่เกิดเหตุล้วนอยู่ในค่ายทหาร ที่มีเพียงทหารเข้าออก จึงไม่แปลกที่จะถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใส
[ สุรพงษ์ กองจันทึก ]
“ทหารมีอำนาจหน้าที่ปกป้องบ้านเมืองให้มีความปลอดภัย จากกรณีที่ทหารเสียชีวิตหลายราย บางรายมีการถูกซ้อมด้วย ซึ่งค่ายทหารเป็นพื้นที่ปิด มีการควบคุมอย่างดี น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีความปลอดภัยสูงสุด แต่ปรากฏว่าตัวทหารเองอยู่ข้างในนั้น กลับไม่ได้รับความปลอดภัย อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าห่วง ทำให้ถูกตั้งคำถามว่าทหารจะให้ความมั่นคงปลอดภัยกับประชาชนได้จริงหรือ เพราะแม้กระทั่งตัวทหารเองก็ยังไม่ปลอดภัย
ล่าสุดที่มีการเสียชีวิต จากรายงานของแพทย์แม้ว่าจะไม่พบการถูกทำร้ายอย่างชัดเจน มันก็ไม่ได้หมายความว่าทหารผูกคอตายเอง หรือทหารคนนั้นตั้งใจที่จะทำให้ตัวเองเสียชีวิตเอง เพราะว่าแพทย์ไม่ได้บอกไปชัดๆ ว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ก็ยังมีคำถามที่ต้องพิสูจน์ต่อไปว่า การเสียชีวิตนี้มันเกิดจากการทำด้วยตัวเอง หรือผู้อื่นทำให้ตาย
ถ้าไปถึงคำว่าผู้อื่นทำให้ตาย ก็ต้องเป็นคนที่อยู่ภายในค่ายทหาร ซึ่งเป็นตัวทหารทั้งนั้น เพราะคนภายนอกไม่สามารถเข้าไปภายในค่ายทหารได้ประกอบกับมันมีเหตุจูงใจที่คนนี้หนีทหารมาแล้ว ไม่พอใจในระบบทหาร พอตามกลับเข้ามาได้ก็มีการเสียชีวิต เรื่องเหล่านี้ทหารเองต้องทำให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้ประชาชนที่จะต้องเกณฑ์ทหารและญาติพี่น้องของทหารเกณฑ์จำนวนมาก จะได้เกิดความสบายใจและเกิดความมั่นใจในระบบทหารครับ”
วอน “แก้ไข” ไม่ใช่ “แก้ตัว”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่นับรวมไปถึงกรณีที่ทหารเกณฑ์เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำก่อนหน้านี้อีกนับไม่ถ้วน นำมาสู่การตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าควรมีการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร และเปลี่ยนเป็นการเกณฑ์ทหารด้วยความสมัครใจแทนได้แล้วหรือยัง
ทว่า ประเด็นดังกล่าวมีแนวโน้มว่าต้องพับโครงการเข้ากรุ เพราะล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก “พรรคก้าวไกล - Move Forward Party”ได้โพสต์ถึง 'ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร' ที่มีเนื้อหาสำคัญในประเด็นของการยกเลิกการเกณฑ์กำลังพลในยามสันติ ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการรับสมัคร ตลอดจนยกเลิกการฝึกและการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ฯลฯ ที่ทางพรรคได้ยื่นต่อรัฐบาลไปเมื่อ 14 พฤศจิกายนปีที่แล้ว และเพิ่งได้รับคำตอบกลับมา
“โดยผลปรากฏตามหนังสือระบุว่าว่า นายกรัฐมนตรีไม่ให้การรับรองร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นผลให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องตกไปก่อนการพิจารณาของสภา เป็นการปิดประตูก้าวแรกของการ 'ปฏิรูปกองทัพ' เพื่อสร้างกองทัพที่ทันสมัยและเป็นทหารอาชีพไปอย่างน่าเสียดาย” เฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกลเผย
ในประเด็นนี้ อดีตกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ให้ความเห็นว่า ในเมื่อยังมีการบังคับเกณฑ์อยู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่ออกมาสร้างความเชื่อมั่นอย่างเป็นรูปธรรมให้มากกว่านี้
“การบังคับเกณฑ์ทหารในช่วงนี้ยังจำเป็นอยู่ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธี จากข้อมูลของทหาร ทหารเองก็ทราบดี ทหารที่สมัครใจเข้าไป มีการหนีทหารน้อยกว่า การทำงาน ความตั้งใจก็ได้ดีกว่าในช่วงนี้เรามีทหารสมัครประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นทหารที่ถูกบังคับเกณฑ์กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่ต้องทำคือ ทำยังไงให้ทหารมีการสมัครใจมากขึ้น
แต่การที่จะให้ทหารสมัครใจเข้าไป ผมมองว่าการที่ฝ่ายทหารแค่รณรงค์เล็กน้อย ปัจจุบันไม่เพียงพอแน่นอนตอนนี้ทหารเองก็รู้ดี แต่วิธีการจะไปสู่ตรงนี้ยังไม่ทำอย่างจริงจัง เช่น ยังไม่มีการตั้งเป้าหมายเลย ว่าปีหน้าจะให้มีทหารสมัครใจเข้าไปเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ยังไง ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน กระบวนการที่จะดำเนินการไปด้วยกันมันจะตามมา
อาจจะเป็นการเพิ่มสวัสดิการเช่นว่า ต้องมีเงินเดือนเพิ่มขึ้น สามารถเปลี่ยนจากทหารกองประจำการเป็นทหารประจำการจากพลทหารเป็นนายสิบ เป็นนายร้อย สามารถเติบโตในระบบราชการทหารได้ ต้องวางระบบเหล่านี้ไว้นะครับ รองรับให้เขาอยู่ในระบบทหารจนเกษียณได้อย่างมั่นคง ปลอดภัย และเป็นอาชีพที่ดีสำหรับเขา ถ้าวางระบบเหล่านี้ได้ เราจะได้ทหารที่มีคุณภาพ และจะมีทหารที่จำเป็นต้องเกณฑ์น้อยลงเรื่อยๆ จนนำไปสู่การไม่บังคับเกณฑ์ทหารครับ
สุดท้าย เมื่อถามว่า หากในอนาคตสามารถจัดการระบบให้เป็นไปตามนี้ แนวโน้มที่ทหารจะถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำจะลดลงหรือไม่ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้คำตอบว่า แน่นอน
“เราพบว่าทหารที่ถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตในค่าย เกือบทั้งหมดเป็นทหารถูกเกณฑ์ทั้งนั้น เมื่อเขาถูกบังคับมันก็เกิดความอึดอัดภายในเขา อาจจะเกิดการกระทบกระทั่งกับทหารด้วยกันเอง หรือกับผู้บังคับบัญชาภายในของทหาร บางคนก็นำไปสู่การหนีทหาร แต่หนีทหาร กฎหมายก็บังคับอีกว่า เมื่อหนีก็ต้องไปตามกลับมา พอตามกลับมาก็กลายเป็นว่าคนนั้น มีการถูกทำร้ายหรือเสียชีวิตตามที่เป็นข่าวที่ผ่านมา ถ้าเกิดเรามีทหารที่สมัครใจ ปัญหาภายในค่ายทหารก็จะลดน้อยลง
มีภาพตลอดเวลาว่า คนไม่อยากเกณฑ์ทหาร ระบบทหารทำให้คนไม่อยากอยู่ เพราะมีระบบในการใช้กำลัง ใช้วิธีการคิดซึ่งไม่นุ่มนวล ไม่เข้าใจหลักจิตวิทยาที่ดีพอ กระบวนการในการบริหารจัดการ การที่คนบังหนีทหารอยู่ ยิ่งหนีทหารแล้วกลับมา ก็พบว่าเสียชีวิต ทำให้ทหารยิ่งถูกตั้งคำถามเหล่านี้มากขึ้น
ทหารพูดตลอดเวลาว่าดูแลทุกอย่างภายใต้กฎเกณฑ์และมีความชัดเจนตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย แต่การที่ทำอะไรลับๆ เงียบๆ ไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผย ก็ทำให้ทหารเองถูกตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้ ยิ่งถ้าเกิดมีเงื่อนงำ ปกปิดเท่าไหร่ ก็จะเป็นคำถามเรื่องการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนในค่ายทหารมากขึ้นเท่านั้น สิ่งที่ทหารควรทำคือเร่งออกมา “แก้ไข” ผมเน้นคำว่าแก้ไขนะครับ ไม่ใช่แก้ตัว ว่าเรื่องเหล่านี้ต่อไปมันจะไม่เกิดขึ้นอีก”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “พรรคก้าวไกล - Move Forward Party” และ “รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **