“เกมก็เหมือนกัน ให้ความรู้ก็ได้ ให้โทษก็ได้ มันอยู่ที่คนเอาไปใช้” เปิดใจคุณพ่อยุคใหม่เมื่อลูกชายงอแงไม่อยากเข้าวัด ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงพาลูกเข้าวัด “สไตล์เกมเมอร์” พร้อมเล่า เคล็ด (ไม่) ลับ พ่อแม่ยุคใหม่ลูกไม่ใช่ร่างก๊อบปี้ของพ่อแม่ โตมาไม่จำเป็นต้องเหมือนเรา
พาลูกเข้าวัด สไตล์เกมเมอร์
“ต้องลากลงไปจากรถ ไม่งั้นไม่ยอมลงรถ แม่จะไหว้พระไม่ลงรถแล้วจะยังไงใช่ไหม มันก็ต้องมีวิธีการหลอกล่อ เราจะเอาชนะกันด้วยกำลังไมได้ การหว่านล้อมคนให้ทำอะไรก็ตามจะต้องใช้ตามลำดับขั้น จากเบาไปหาหนัก ค่อยๆ เกลี้ยกล่อม ค่อยๆ พูด ค่อยๆ ทำ ช้าๆ
คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องอาศัยความอดทน เข้าใจ มันง่ายถ้าตวาด ลงมา จะไปดีๆ หรือจะไปทั้งน้ำตา เลือกเอาจะร้องไห้เข้าไป หรือว่าจะยังไง ทำไมไม่ฟัง อันนี้คือคุณพ่อคุณแม่ไม่มีความอดทนไง มันก็ง่ายไง ตวาด แล้วใช้กำลังบังคับกัน เราจะบังคับได้กี่ครั้ง ครอบครัวมันมีสุขที่ไหนเล่าแบบนั้น”
นพดล สุเนต์ตา วัย 45 ปี คุณพ่อ น้องอิสระ สุเนต์ตา วัย 6 ขวบ เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงกระแสชื่นชมหลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Noppadol Suneta” สำหรับการเลี้ยงลูกยุคใหม่ พาลูกเข้าวัดทำบุญสไตล์เกมเมอร์
โดยได้โพสต์เล่าถึงการสอนลูกด้วยวิธีการแบบใหม่ ด้วยการยกตัวอย่างเกมที่ลูกชอบเล่น เปรียบเทียบในสิ่งชีวิตประจำวันที่พบเจอ
ซึ่งคุณพ่อท่านนี้เปรียบวัด คือ holy temple เปรียบร้านพระเครื่อง เป็นร้าน items shop ที่คนมาซื้อ artifact ไปเสริมสเตตัส บางอัน +health บางอัน +str ได้ และยังเปรียบสายสิญจน์คือ rope bracelet ถ้ามีไว้จะ -10% spell damage จากมอนสเตอร์ได้ แต่อันนี้เป็น common item
สุดท้ายเปรียบการไหว้พระเป็นการ save point ถ้าผ่านแล้วไหว้บ่อยๆ ถ้าตายจะได้มา respawn ที่นี่ได้ ทำให้ลูกชายวัย 6 ขวบ เข้าใจได้ง่ายขึ้น กลายเป็นว่าชอบวัดมากขึ้น อยากมาทุกวัน และนอกจากจะได้ผลกับลูกชายแล้ว ยังทำให้ชาวเน็ตหลายคนชื่นชมอีกด้วย
คุณพ่อเล่าว่า เชื่อว่าเด็กทุกคนชอบเล่นเกม น้องอิสระเองก็เล่นอยู่หลายเกม หลากหลายแนว ส่วนเกมที่คุณพ่อยกมาเปรียบเทียบเพื่อชักจูงลูกชายให้เข้าวัด นั่นคือ เกม “Minecraft Dungeon” เป็นเกมแนว RPG (Role-playing game) ที่ต้องฝ่าด่านต่างๆ ผ่านฟาร์มไอเทม ยิ่งเล่นจบ ระดับความยากก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“เขาชอบเกมครับ เวลาเราสอนอะไรใครก็พยายามจะพูดจาภาษาเขา เรื่องยากๆ มันจะได้กลายเป็นเรื่องสนุก ก็ไม่คิดว่าคนจะเอาไปแชร์กันเยอะ
ลูกผมก็เล่นหลายเกมนะครับ เกมสร้างสะพาน เกม RPG เล่นหมดมันทุกแนว ก็เล่นแบบน้อยๆ เล่นแบบจำกัดเวลา แบบครอบคลุมกัน เนื้อหาในเกมต้องไม่รุนแรงจนเกินไปนัก ก็สอนเล่นต้องอยู่ในเวลา ต้องอยู่กับเขา ไม่ใช่ว่าทิ้งเขาไว้กับเกม อยู่แล้วก็สอนกันไป
วัดมันคนเยอะ แล้วมันก็น่าเบื่อด้วย พาเด็กเข้าวัด มันไม่ใช่สวนสนุกนะ มีแต่พระ แล้วก็มีแต่คนแก่เข้าไป แล้วเราก็พาลูกเข้าไป เด็กก็โยเยตามประสาเด็ก 6 ขวบเองนะ คงไม่มีอะไรบันเทิงเริงใจสำหรับเด็กเท่าไหร่
ครั้นจะไม่ให้ลูกเข้าวัดเลย เดี๋ยวโตมามันก็ไม่เป็นเด็กปกติ ไม่เหมือนชาวบ้านเขา เราก็จะต้องหาวิธีหลอกล่อ เราเรียกกุศโลบาย อย่างเขาสนใจอะไร ชอบอะไร เราให้ลูกกินผัก กินอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะเล่าเป็นนิทานให้ฟัง
สมมติว่าลูกเข้าวัด เราก็พยายามเทียบวัดกับสิ่งที่เขามีความสนใจเดิมอยู่แล้ว ชอบเล่นเกม RPG (Role-playing game) เดี๋ยวพ่อพาไปทำเควสต์กันลูก แบบนี้เป็นต้น”
ส่วนหลายคนที่มองว่าเป็นการบังคับลูก หลอกให้เข้าวัด แต่คุณพ่อมองว่า ไม่ได้เป็นการโกหก หรือหลอก แต่เป็นเพียงเทคนิคที่ดึงความสนใจในสิ่งที่เขาชื่นชอบมาเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ปรับให้เหมาะในการใช้ชีวิต และไม่ได้แปลว่าใช้ได้กับเด็กทุกคน เด็กทุกคนไม่ได้สนใจเรื่องเดียวกัน
“มองเป็นเกมก็สนุก เดี๋ยวเสาร์อาทิตย์พาไปอีกวัด พอไปวัดเราก็มีโอกาสสอดแทรกธรรมะ สอดแทรกคติได้ ทำไมพระพุทธรูปเขาต้องทำปรางนี้ ทำไมเขาต้องทำมือแบบนี้ มันมีสตอรี่นะ เดี๋ยวเราเล่านิทานให้ฟัง มันมีเรื่องเล่าอยู่ แต่ต้องมีวิธีการแบบอื่นชักจูงเขาก่อน น้องสนุก แต่พ่อปวดหัว พ่อต้องหามุกใหม่เรื่อยๆ พ่อก็ไม่ไหวเหมือนกันนะ (หัวเราะ)”
ยอมรับว่า ลูกซน และเป็นเด็กหัวไว ตั้งคำถามกับทุกเรื่องที่ต้องทำ คุณแม่จึงจำเป็นที่ต้องมีเทคนิคในการอธิบายให้มีความสนใจ บวกกับการเชื่อมโยงในสิ่งที่ลูกชายวัย 6 ขวบ ชื่นชอบ
“คือลูกเรามันซนมาก เป็นเด็กหัวไว ไม่สามารถพูดแล้วจะฟังง่ายๆ จะตั้งคำถามเสมอ มันต้องมีเทคนิคชั้นสูงในการหลอกล่อ ให้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่สามารถบอกได้ว่าอิสระไปวัดกัน ไปไหว้พระ แล้วเดินลงรถเข้าวัดได้เลย มันต้องมีการหลอกล่อ ไม่ใช่ว่าสั่งให้ทำ ไม่ใช่เด็กที่ไม่ตั้งคำถาม ถามว่าทำไมจะต้องเข้าวัด เข้าไปทำไม มันมีอะไร ไม่ไปได้ไหม เต็มไปด้วยเหตุผล มันจะต้องอธิบาย
ศาสนามันเป็นสิ่งที่ดำรงสังคมนะลูก มันมี ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ลูกหลับพอดี เด็ก 6 ขวบ อธิบายแบบนั้น โตก่อน 15-16 ปีก่อนเดี๋ยวเราค่อยอธิบายที่มันซับซ้อนกว่านั้น ตอนนี้ตามพ่อไปรับเควสต์ก่อนลูก เรามาถึงแล้ว ภารกิจของเรา เดินทางมาตั้งไกล หลายชั่วโมง มันจะได้แบบอ๋อเหรอลงไปดู เขาจะได้เห็นภาพ สนุก
เหมือนเราพาไปเดินป่า ดูสิว่าจะมีหีบสมบัติอยู่ตรงไหนไหมลูก อะไรอย่างนี้ เวลาให้ของขวัญลูก เอาของขวัญไปซ่อน เราต้องเขียนแผนผัง ต้องแก้ปริศนาหน่อย มันสนุกไง ชีวิตทำให้มันสนุกก็ได้ใช่ไหม มันก็มีหลายอย่างอะแด๊ปได้ มีตั้งหลายเรื่องที่เขาสนใจ ช่วงไหนเขาดูการ์ตูนเรื่องไหนก็สอนเป็นการ์ตูนเรื่องนั้น”
ทั้งนี้ คุณพ่อยุคใหม่คนนี้ก็ย้ำว่า ไม่ได้ถือว่าตัวเองเลี้ยงลูกดีกว่าคนอื่นเพียงแค่โชคดีกว่าที่มีเวลาให้ลูกเยอะ เพราะด้วยภาระหน้าที่การงาน ทำให้หลายคนไม่มีเวลาเลี้ยงลูก หรืออยู่กับลูกมากพอ
“ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใช้เวลาอยู่กับลูก ไม่ใช่ว่าพ่อกับแม่ทุกคนจะทำได้ด้วย เพราะว่าภาระการงานหน้าที่ บางคนก็ให้คุณปู่คุณย่าเลี้ยง คนละเจเนอเรชันกันแล้ว เป็นความเข้าใจ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนทำไม่ได้แบบนี้อย่ารู้สึกผิด เพราะมันกินเวลามาก
พอดีว่าเราโชคดีกว่าพ่อแม่คนอื่นที่เรามีเวลาให้ลูกเยอะพอสมควร ไมได้ถือว่าตัวเองเหนือกว่า หรือว่าเลี้ยงลูกดีกว่าอะไรแบบนั้นนะ แค่เราโชคดีกว่า มีเวลาให้เขาเยอะกว่าแค่นั้น คุณพ่อคุณแม่ทุกคนทำไม่ได้อย่ารู้สึกผิดนะครับ เราทำดีแล้ว”
เคล็ด (ไม่) ลับ เลี้ยงลูกยุคใหม่
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว คนเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องปรับตัวและสอนลูกด้วยวิธีการแบบใหม่ เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่าย แต่ต้องมีวิธีที่น่าสนใจด้วย เด็กๆ ถึงจะชอบ
เช่นเดียวกับคุณพ่อท่านนี้ที่มีเคล็ดไม่ลับ ในการเลี้ยงลูกแบบวิธีการสมัยใหม่ ด้วยการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ เด็กทุกคนมีความคิดเป็นของตัวเอง ต้องรับฟังลูกให้มาก คุยในเรื่องที่เขาสนใจ หากคุยในภาษาเดียวกัน ไม่ว่าอายุจะห่างจากลูกเท่าไหร่ก็สามารถคุยกันได้ทุกเรื่อง
“ไม่มีเคล็คลับเลย อย่าเรียกว่าเป็นเคล็ดลับ มันไม่ใช่เรื่องลับอะไรเลย ก็เลี้ยงไปตามธรรมชาติ คือ พ่อแม่รุ่นโบราณคาดหวังว่าลูกทุกคนจะต้องเชื่อฟัง หรือว่าจะโตมาเป็นเด็กดี หรือว่าจะต้องไม่ดื้ออะไรอย่างนี้
ความเป็นจริงยุคสมัยมันได้เปลี่ยนไปแล้ว บริบทต่างๆ รอบๆ เรามันเปลี่ยนไปแล้ว เลี้ยงลูกสมัยนี้ไม่เหมือนกับสมัยที่เราโตมา ผมก็เลี้ยงลูกไม่คล้ายที่พ่อกับแม่เราเลี้ยงมา เพราะว่ามันใช้วิธีการเดียวกันไม่ได้ สมัยก่อนอินเทอร์เน็ตก็ไม่มี มือถือก็ไม่มี ทีวีก็เปิดถึงแค่สี่ทุ่มปิด รายการอะไรก็ไม่มีแล้ว จะดูการ์ตูนทีก็ต้องรอเช้าวันอาทิตย์อย่างเดียว
เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยนไป ข้อมูลมันเปลี่ยนไป เราทำได้คือเราเป็นได้เหมือนกับเพื่อนเขา เป็นเหมือนกับพี่เลี้ยงเขา แต่ว่าเราไม่ใช่เจ้าของชีวิตเขา เราเป็นเพียงผู้แนะนำ นำทาง ส่วนวิธีการดำเนินชีวิตของเขา เขาเป็นผู้กำหนดเอง ตัดสินใจเอง
ลูกไม่ใช่บอนไซ จะไปดัดให้มันอยู่ท่าไหน มันก็แคระเป็นบอนไซอยู่อย่างนั้น ให้เขาเป็นต้นไม้ใหญ่ ให้เขาได้โตของเขาเอง หน้าที่เราคือคอยใส่ปุ๋ยบำรุงดินไป แต่ว่าไม่ต้องไปดัดเขา ดื้อมากก็ตัดแต่งกิ่งนิดหน่อยพอ ปล่อยให้เขาได้เติบโตเอง มีความคิดของตัวเอง เป็นอิสระ
สุดท้ายเลย ลูกไม่ใช่ร่างก๊อบปี้ของพ่อแม่ โตมาไม่จำเป็นต้องเหมือนเรา ฝากบอกพ่อแม่ยุคใหม่ด้วย ไม่จำเป็นต้องเหมือน ไม่ใช่มนุษย์โคลนนิ่ง แต่เป็นลูกนะ ไม่ต้องเหมือน
ไม่ว่าจะใช้กับมนุษย์อายุเท่าไหร่ จะ 6 ขวบ หรือ 60 ขวบก็ตาม อยากคุยกับเขา คุยภาษาของเขา คุยในเรื่องที่เขาสนใจ ไม่อย่างนั้นก็จะทะเลาะกันเป็นสภาผู้แทนราษฎรอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาทำไมคนรุ่นใหม่มันหัวรุนแรงจัง ทำไมคนรุ่นเก่ากลายเป็นไดโนเสาร์ ปัญหาเลยทั้ง 2 คนนี้มาฟังเลย อยากให้ใครเขาฟังเรา คุยในภาษาของเขา คุยในเรื่องที่เขาสนใน รับฟังเขาให้เยอะ พูดให้น้อยกว่าเสมอ”
คุณพ่อยังย้ำถึงการที่พาลูกเข้าวัด ไม่ใช่เป็นการบังคับ เพียงแต่อยากให้รู้จักกับศาสนาบ้าง โตขึ้นจะได้เลือกหรือแสวงหาสิ่งที่เหมาะสำหรับตัวเอง
“พ่อก็อยากให้น้องโตมาเป็นคนปกตินะครับ รู้จักกับศาสนาบ้าง โตขึ้นจะนับถือพุทธ คริสต์ อิสลาม ก็เรื่องของมันแล้ว พ่อไม่เกี่ยว พ่อมีหน้าที่ไปรู้จักหลายๆ ศาสนา เขาให้ใส่ในบัตรประชาชน ก็เอาเหมือนพ่อกับแม่ไปก่อน ศาสนาพุทธ โตมาจะเป็นอะไร จะนับถืออะไร จะเป็นตุ๊ด เป็นชายแท้ เป็นชายรักชาย เป็นสาวประเภทสอง จะเป็นชายหญิงปกติเรื่องของเขา เป็นอะไรก็ได้ เป็นชีวิตเขา
หน้าที่ของเราก็คือเลี้ยงดูให้เขาโตมารับผิดชอบตัวเองได้ รับผิดชอบสังคมได้ ถ้ามีปัญญาช่วยเหลือคนอื่นได้หน่อย ก็ดี ส่วนที่เหลือจะเป็นอะไรก็เรื่องของเขาแล้ว เรามีหน้าที่แค่สืบข้อมูลให้ อันนี้คือวัดแบบนี้นะ ศาสนาพุทธเป็นแบบนี้นะลูก อิสลามเป็นแบบนี้นะ คริสเตียนเป็นแบบนี้นะ ฮินดูมี ยิวมี อะไรอย่างนี้
โตขึ้นเดี๋ยวเขาก็จะไปแสวงหา ทางที่เหมาะสมกับตัวของเขาเอง กับบริบทแวดล้อมตัวของเขาเอง ผมถึงตั้งชื่อลูกว่าอิสระไง”
ไม่เพียงเท่านี้คุณพ่อท่านนี้ยังฝากอีกว่า เกมไม่ได้มีคุณหรือโทษในตัวเอง ที่จะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายได้ขนาดนั้น แต่เกมเป็นเพียงการจำลองชีวิตจริงเด็กๆ เท่านั้น
“มันก็เป็นยา ใช้ให้ถูกมันก็เป็นยา ถ้าพ่อแม่ไปทั้งวัน แล้วทิ้งลูกไว้กับเกม 24 ชั่วโมง ปล่อยให้เกมเลี้ยงลูก ก็บรรลัยครับ ไม่มีอะไรที่เป็นโทษ หรือเป็นคุณในตัวมันเอง ให้นึกถึงมีดทำกับข้าวไว้ ใช้ทำอะไรก็ได้ทำกับข้าวสามารถปรุงอาหารก็ได้ ฆ่าคนก็ได้ ตัวมีดเองไม่ได้มีคุณหรือโทษในตัวมันเอง ขึ้นอยู่กับวิธีการใช้ เกมก็เหมือนกัน ให้ความรู้ก็ได้ ให้โทษก็ได้ มันอยู่ที่คนเอาไปใช้”
ข่าว : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพและข้อมูล : ร้าน “หมูก๊อง by Suneta” ของคุณพ่อนพดล https://www.facebook.com/moogong69
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **