xs
xsm
sm
md
lg

#ฌอนบูรณะหิรัญ บทเรียน “ไลฟ์โค้ช” เอี่ยวการเมือง จุดแตกหักอาชีพที่เติบโตบนความเปราะบาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสียเป็นแสนเพราะคำว่า “น่ารัก”…ดรามาสนั่น คลิป “ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตรครับ” ของ “ฌอน บูรณะหิรัญ” ทำโซเชียลอันฟอลโลว์เพจไปเป็นแสน ฟากนักจิตวิทยา เผย มีการเมืองมาเอี่ยว มีผลกระทบแน่นอน “คุณฌอนมองทุกอย่างสวย แต่ละเลยความทุกข์ยาก”
แฮชแท็กเดือด!! #ฌอนบูรณะหิรัญ


“ต้องยอมรับว่าเมื่อเป็นเรื่องทางการเมืองปั๊บ คนที่ได้รับผลกระทบมันมีแน่นอน และมีค่อนข้างหนักด้วย พอคุณฌอนนำเสนอในภาพบวก โดยที่ละเลยสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นหรือละเลยความรู้สึกไม่พอใจ ความรู้สึกคลางแคลงต่อคุณประวิตรของประชาชน เลยกลายเป็นว่า ประชาชนก็เลยรู้สึกว่าคุณฌอนก็ไม่น่าไว้วางใจเช่นกัน”

“ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์” หรือ “เอิ้น” นักจิตวิทยาการปรึกษาเจ้าของเพจ “นักจิตวิทยาการปรึกษาคนหนึ่ง : ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์” ให้ความคิดเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดบนโลกโซเชียลในขณะนี้

หลังจากที่ “ฌอน บูรณะหิรัญ” นักพูดสร้างแรงบันดาลใจชื่อดังในโลกออนไลน์ วัย 29 ปี เจ้าของเพจ “Sean Buranahiran - ฌอน บูรณะหิรัญ” ที่มีผู้ติดตามกว่า 4 ล้านคน ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอ “ผมได้ปลูกต้นไม้กับท่านประวิตรครับ” เป็นกิจกรรมโครงการปลูกต้นไม้ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้ร่วมงานกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ



โดยสิ่งที่กลายเป็นตัวจุดชนวนขึ้นมา คือ คำพูดของหนุ่มฌอน ที่กล่าวถึง พล.อ.ประวิตร ว่าตัวจริงของท่านต่างกับภาพที่ถูกนำเสนอตามสื่อ โดยฌอนระบุว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักพร้อมฝากให้ทุกคนอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใครจนกว่าจะได้เจอ หรือพูดคุยกับเขาด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ยังพูดถึงเยาวชนที่กำลังเติบโตว่าอยากให้เสพข่าวอย่างมีสติ อย่าเพิ่งเชื่อสิ่งที่สื่อนำเสนอทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์

ทันทีที่คลิปวิดีโอดังกล่าวเผยแพร่ ก็นำมาซึ่งกระแสตีกลับไปสู่นักพูดสร้างแรงบันดาลใจผู้นี้ เพราะส่วนใหญ่ไม่พอใจที่เขาชื่นชม พล.อ.ประวิตร จนเกิดปรากฏการณ์ชักชวนกันให้อันฟอลโลว์เพจของเขา จนทำให้ยอดผู้ติดตามหายไปเป็นแสน ส่งให้แฮชแท็ก #ฌอนบูรณะหิรัญ ทะยานขึ้นสู่อันดับ 1 บนโลกทวิตเตอร์ในเวลาไม่นาน ยิ่งไปว่านั้น มีแฟนคลับบางคนไม่พอใจเรื่องราวที่เกิดขึ้น ถึงขั้นเผาหนังสือที่เขาเขียนก็มี!

เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ดร.สุววุฒิ ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า สิ่งที่นักพูดสร้างแรงบันดาลใจผู้นี้ทำ คล้ายกับการทำการตลาดโดยเลือกสื่อสารเพียงแง่มุมด้านเดียว โดยที่ไม่ได้คำนึงข้อมูลหรือข้อเท็จจริงในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นทางการเมือง หรือในแง่ที่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากบทบาททางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน


[ ดร.สุววุฒิ วงศ์ทางสวัสดิ์ ]
“เท่าที่ผมทราบ เขาไม่ใช่ไลฟ์โค้ช เขาไม่ใช่นักวิชาชีพทางด้านจิตใจ แต่เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่มีความสนใจจะผลิตสื่ออะไรก็ตามที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำทางชีวิต และหันมาทำสื่อด้านนี้อย่างจริงจังในเชิงธุรกิจ ซึ่งในยุคหลังดูเหมือนเขาจะพยายามทำการตลาด หรือสร้าง Branding ในรูปแบบของคนดัง หรือเซเลบริตี้

ถ้าเราสังเกต เขาจะเน้นที่การจับคู่สัมภาษณ์ หรือพูดคุยและไปพบปะคนที่มีชื่อเสียง อันนี้เป็นเทคนิคในการทำการตลาด ซึ่งเป็นคนละมิติกับคุณภาพของตัวเนื้อหาสาระที่เขาสื่อที่ควรพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป

การยืนหยัดที่จะนำเสนอเนื้อหาเพียงด้านเดียวที่ตนเลือก มันเลยคล้ายเป็นการปฏิเสธ การไม่มองหรือการดูแคลนสิ่งที่เกิดขึ้นอีกด้าน ซึ่งในประเด็นของคุณประวิตร คุณฌอนเลือกที่จะนำเสนอในแง่ท่านเป็นคนน่ารักหรืออะไรก็ตาม ในแง่หนึ่งก็เหมือนการละเลยหรือมองข้ามความรู้สึกของคนอื่นที่ได้รับผลกระทบบางอย่างจากพฤติกรรมทางการเมืองของคุณประวิตร แน่นอนว่า ท่าทีของคุณฌอนแบบนี้ ย่อมส่งผลกระทบถึงความรู้สึกของใครหลายคนในประเทศ

กรณีที่คุณฌอนไปทำงานปลูกป่า ร่วมกับคุณประวิตร ผมไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดของคุณฌอน และทีมงานเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของการได้อยู่ในแวดวงของชนชั้นนำหรือเปล่า อันนี้เป็นความสงสัยและเป็นการวิเคราะห์ของผมเอง ซึ่งผมอาจจะวิเคราะห์ถูกหรือผิดก็ได้

>

ส่วนประเด็นเรื่ององค์ความรู้ทางวิชาการ หรือหลักการทางจิตวิทยาของคุณฌอน ผมมองว่าเขาอาจพอมีอยู่เท่าที่เขาศึกษาด้วยตัวเอง แต่ถ้าถามว่าถูกหลักการ ถูกต้องตามหลักความเป็นจริงไหม เป็นสิ่งที่ผมไม่แน่ใจ เพราะอย่างทางฝั่งผมที่เป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา เราศึกษาเรื่องความทุกข์ทางจิตใจของผู้คนมาอย่างจริงจัง

ทุกอย่างมีปรัชญาพื้นฐาน ทฤษฎีทางจิตวิทยา และมีการวิจัยเชิงประจักษ์ การปฏิบัติงานของทางฝั่งเราที่เป็นนักจิตวิทยาจะคำนึงถึงจริยธรรมและจรรยาบรรณโดยคำนึงเสมอว่าสิ่งที่เราพูด สิ่งที่เราทำ ส่งผลดีหรือส่งผลเสียกับใครบ้าง เรากำลังเอาประโยชน์ตัวเองเป็นตัวตั้ง หรือเรากำลังเอาประโยชน์ของผู้อื่นเป็นตัวตั้งกันแน่ นั่นคือสิ่งที่เราต้องระลึกและรู้เท่าทันตัวเองอยู่เสมอ

สิ่งที่ผมรู้สึกเป็นห่วง คือ ในยุคหลังคุณฌอนดูเหมือนวางบทบาทและสถานะของตัวเองในภาพของผู้ที่มีความคิดและจิตใจสูง คอนเทนต์ของเขาและทีมงานดูเหมือนจะมองข้ามความรู้สึกและเสียงทัดทานจากใครหลายๆ คน เลยทำให้คนหลายคนไม่พอใจมาก ซึ่งนี่เป็นความรู้สึกของผมเวลาที่มองโปรดักชั่นของคุณฌอน”

ทั้งนี้ ดรามาร้อนๆ ไม่เพียงแค่เนื้อหาของคลิปวิดีโอดังกล่าวเท่านั้น เพราะการตอบกลับของฌอน ในลักษณะติดตลก เช่น ล้อคำว่านักการเมืองเป็นนักการเมีย ก็ยิ่งเป็นการจุดไฟดรามาให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก



“พอเขาทำเพจมันต้องมีจุดยืนอะไรสักอย่างที่ต้องสื่อออกไปให้ชัดเจน ซึ่งคุณฌอนมักจะสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นคนคิดบวก มองโลกดี เห็นทุกอย่างมีคุณค่า และสิ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีคนเข้ามาโต้แย้ง นั่นคือ ท่าทีของคุณฌอนที่พยายามลดทอนสาระหรือความสำคัญของข้อโต้แย้งนั้นๆ ด้วยการพูดเล่นหรือทำใจกว้าง ยกตัวอย่างเช่นที่เขาตอบข้อความว่าผมไม่ค่อยได้สนใจการเมือง แต่สนใจการเมีย

หรือในกรณีที่ คุณจอห์น วิญญู ต่อว่าคุณฌอน แล้วคุณฌอนก็ตอบกลับด้วยทำนองว่าแม้พี่จะไม่ชอบผม แต่ผมก็ยังชอบและชื่นชมพี่นะครับ ผมยังรักพี่เหมือนเดิม ซึ่งนั่นเป็นมันคือคาแรกเตอร์ที่คุณฌอนเหมือนจะพยายามสื่อว่าฉันมีความใจกว้างเป็นมหาสมุทร

ฉันสามารถให้อภัย ฉันสามารถรักได้ทุกคน และฉันอาจจะใจกว้างมากกว่าเธอ การยกตัวเองให้ดูสูงขึ้นไปเหนือปัญหา เหนือข้อโต้แย้ง และไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือความใส่ใจกับความคิดเห็น และความรู้สึกของผู้อื่นแน่นอนการทำแบบนี้ย่อมทำให้ใครหลายคนรู้สึกไม่ชอบ ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าผมกล่าวเกินไปไหม อาจจะพอดีแล้วหรือกล่าวหากันเกินไปก็ได้”
“ไลฟ์โค้ช” ฟังได้ แต่ต้องฟังหูไว้หู?!


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้อาชีพนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ตลอดจนผู้ที่เรียกตนเองว่า “ไลฟ์โค้ช” นิยมในหมู่ผู้ต้องการคำปรึกษาด้าน ดร.เอิ้น ได้ให้ข้อมูลว่า ด้วยภาพจำในแง่ลบของนักจิตวิทยาในสังคมไทย ทำให้ผู้คนเลือกที่จะเข้าหาไลฟ์โค้ชมากกว่า

“มันเป็นภาพจำในสังคมเรา เพราะบางทีภาพของนักจิตวิทยาอาจจะถูกเชื่อมโยงกับเรื่องการโน้มน้าวจิตใจคน การอ่านใจ หรือแม้กระทั่งละครที่เราเห็นว่าตัวละครเข้าโรงพยาบาลจิตเวช ต้องพบจิตแพทย์และถูกกักตัวไว้ในโรงพยาบาล มันเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาทำให้คนรู้สึกกลัวที่จะเข้าหา เพราะมันจะไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกว่าตัวเองมีปัญหามีความเจ็บป่วย เขาก็เลยเลี่ยงไปทางไลฟ์โค้ช ซึ่งรุนแรงน้อยกว่า

ผมมีคนที่มาปรึกษาเหมือนกัน เขาบอกว่าเขายอมไปปรึกษาไลฟ์โค้ช เพราะเขาไม่อยากมีประวัติการคุยกับนักจิตวิทยาหรือแพทย์ เพราะว่าจะมีปัญหาเรื่องการงาน หรือภาพลักษณ์ในสังคม ซึ่งเขาบอกว่าคุยไปประมาณ 5 คน เสียตังค์ไปเป็นแสน แต่สุดท้ายไม่ตอบโจทย์ สุดท้ายก็ต้องย้อนกลับมาหานักจิตวิทยาเพื่อทำให้เขาได้แก้ปัญหาจริงๆ อย่างถูกทิศทาง

ทางฝั่งไลฟ์โค้ช เซเลบริตี้ หรือแม้กระทั่งอินฟลูเอนเซอร์ ไม่ได้มีองค์กรอะไรมาตรวจสอบครับ เพราะฉะนั้นอย่างที่เราเห็นในเฟซบุ๊ก มีหลายคนที่เน้นสอนเรื่องการใช้ชีวิต แล้วก็มักจะเป็นประเด็นดรามาซ้ำแล้วซ้ำอีก นั่นอาจเป็นเพราะว่าในประเด็นเหล่านี้ไม่มีมาตรฐานใดๆ มาเป็นตัวกำกับเลย”



นอกจากนี้ เขายังสะท้อนถึงความแตกต่างระหว่างนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา และ ไลฟ์โค้ช ไว้อีกด้วย

“ความแตกต่างระหว่างไลฟ์โค้ช กับฝั่งนักจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานของไลฟ์โค้ชกับนักจิตวิทยา มีสเกลที่ต่างกัน ไลฟ์โค้ชจะเน้นปัจจุบันกับอนาคต แต่ว่านักจิตวิทยาจะย้อนไปตั้งแต่อดีตจนถึงอนาคตเลย เพราะฉะนั้น สเกลจะกว้างกว่าครับ


ไลฟ์โค้ชจะมองที่เป้าหมายข้างหน้าเป็นหลัก อยากเห็นชีวิตเป็นยังไง แล้วก็ตั้งคำถามว่าเราจะทำอะไรเพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น เขาจะไม่เน้นเรื่องอดีต เรื่องปัญหาชีวิตเก่าๆ ส่วนในฝั่งจิตวิทยา เราจะบอกว่าคุณมีเป้าหมายได้ แต่คุณต้องเข้าใจตัวเองก่อนแล้วค่อยตั้งเป้าหมาย ไม่งั้นการตั้งเป้าหมายจะไม่ใช่ตัวเอง แต่เป็นการตั้งเป้าหมายตามคนอื่น

ผมว่าจริงๆ ทุกคนกำลังเสาะแสวงหาแนวทางการใช้ชีวิตที่ทำให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขมากขึ้น การมีไลฟ์โค้ชเหมือนเป็นคนช่วยมาไกด์ให้ทางลัดว่าเขาจะใช้ชีวิตแบบไหนได้บ้าง เพื่อให้มีความสุขมากขึ้น ไม่รู้สึกด้อยค่า แต่ก็ต้องบอกว่าในสายไลฟ์โค้ช มีสิ่งที่ต้องระวังคือเรื่องเกี่ยวกับความสำเร็จในชีวิตที่ไลฟ์โค้ชจะหยิบมาใช้เสมอ มันจะควบคู่มากับความร่ำรวย ซึ่งเป็นเทรนด์ที่นิยมในช่วงนี้และมีจุดที่น่าเป็นห่วงหลายจุด

อย่างของผมกว่าจะเรียนจบตรี-โท-เอก มาเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษา ผมใช้เวลาทั้งหมด 13 ปี ส่วนไลฟ์โค้ชบางที่เรียนกันเป็นปี บางที่เรียน 3 วัน ได้ประกาศนียบัตร แล้วระบุว่า ตัวเองเป็นไลฟ์โค้ชก็มี โค้ชดีๆ ก็คงมี แต่จะเหมารวมว่าไลฟ์โค้ชทั้งหมดแย่ มันก็คงไม่ใช่”



สุดท้าย เมื่อถามความคิดเห็นที่มีต่ออาชีพไลฟ์โค้ช ผ่านมุมมองของนักจิตวิทยา ดร.เอิ้น ได้ให้คำตอบว่า

“มองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ครับ เพียงแค่มันอยู่ที่คนๆ นั้น สร้างสื่อหรือสร้างตัวตนขึ้นมาโดยผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลักรึเปล่า แล้วก็การสร้างสิ่งนั้น มันมีความปลอดภัย หรือกำลังเอาประโยชน์ใครเป็นตัวตั้ง บางทีการเข้าใจไปเองว่าประโยชน์ของผู้อื่น อาจจะเป็นประโยชน์ของเขาเองก็ได้ เพราะมันก็มีเหมือนกัน คนที่จะช่วยผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองรู้สึกยิ่งใหญ่ขึ้น ยิ่งช่วยยิ่งรู้สึกตัวเองยิ่งใหญ่ ความเป็นทิฐิ หรือการไม่รับฟังผู้อื่นก็อาจจะเพิ่มตามไปด้วย อันนี้เป็นความเสี่ยงมากครับ เป็นดาบสองคม

อย่างพวกอินฟลูเอนเซอร์อะไรก็ตาม ถ้าถามผม ผมก็มองว่าฟังได้ครับ ฟังหูไว้หู แต่สุดท้ายให้ย้อนกลับมาที่วิจารณญาณของเรา ว่าจะเชื่อดีหรือไม่เชื่อดี ก็เป็นดุลพินิจและวิจารณญาณของแต่ละคน”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฮชแท็ก #ฌอนบูรณะหิรัญ


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น