ถูกแฉหนักจน “ผอ.รพ.มุกดาหาร” ต้องขอพื้นที่ชี้แจง!! หลังเก็บเงิน “ค่ามัดจำแลกบัตรเฝ้าไข้” กับญาติผู้ป่วยในราคา 20-100 บาท เพราะกลัวบัตรหาย ย้ำไม่ใช่นโยบายทางโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่มีเจตนาทำด้วยความหวังดีเท่านั้น
เก็บเงินค่ามัดจำ เพราะกลัวบัตรหาย
เป็นประเด็นเมื่อชาวบ้านออกมาร้องเรียน ว่าโรงพยาบาลมุกดาหาร ได้มีการเก็บเงินค่ามัดจำในการแลกบัตร เฝ้าไข้กับประชาชนที่มาเฝ้าไข้ หรือเยี่ยมคนไข้ที่มารักษาตัวในโรงพยาบาล
โดยหลังจากคนไข้ออกจากโรงพยาบาล หรือเยี่ยมคนไข้เสร็จต้องนำบัตรที่โรงพยาบาลให้ไว้ตอนเข้าเยี่ยมคนไข้มาแลกเงินคืนตามที่แต่ละคนมัดจำไว้ โดยแต่ละคนจะถูกเก็บค่ามัดจำไม่เท่ากัน
จึงมีการตั้งคำถามออกมามากมายว่าทางโรงพยาบาลทำถูกต้องหรือไม่ เพราะชาวบ้านที่มีฐานะยากจน หรือคนหาเช้ากินค่ำ เงินจำนวน 100 บาท มีค่าต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก บางคนมีเงินติดตัวมา 100 บาท มาเฝ้าคนไข้ที่โรงพยาบาล จึงทำให้ไม่มีเงินซื้ออาหารเครื่องดื่มรับประทานได้ เพราะต้องเอาไปแลกบัตรเฝ้าคนไข้
นอกจากนี้ ยังต้องมารอเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเพื่อทำการแลกบัตรคืนที่นานแสนนาน เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่คอยทำการรับแลกบัตร และเจ้าหน้าที่ทำการรับแลกบัตรส่วนใหญ่เป็นพยาบาลที่ขึ้นเวรนั้น ทำหน้าที่รับแลกบัตรคนเฝ้าคนไข้ หน้าที่พยาบาลก็ล้นมืออยู่แล้วในการปฏิบัติงาน
จนมีเสียงสะท้อนออกมาอย่างเป็นวงกว้าง จึงอยากให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลออกมาชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน และหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาความทุกข์ให้กับประชาชนที่มาเข้ารับบริการ
ด้าน นพ.บัญชา ผลานุวงษ์ ผอ.รพ.มุกดาหาร เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live ถึงเรื่องราวดังกล่าว ว่านโยบายเก็บเงินค่ามัดจำไม่ได้เป็นนโยบายของทางโรงพยาบาล เป็นการจัดการของเจ้าหน้าที่ที่ประสบปัญหากับชาวบ้านที่ทำบัตรหายอยู่บ่อยครั้งจึงทำให้เจ้าหน้าที่คิดมาตรการนี้ขึ้นมา
“จริงๆ ก็คือในช่วงที่มีโควิดระบาด เขาก็จำกัดการเยี่ยมคนไข้ ก็มีการไปจัดทำบัตรขึ้นมา เสร็จแล้วมันก็มีปัญหาเรื่องบัตรหายอยู่เรื่อย เขาก็เลยไปคิดเพื่อที่จะไปเก็บการมัดจำหรืออะไรอย่างนี้
แต่ว่าจริงๆ อันนี้ไม่ได้เป็นนโยบายผม ผมไม่สั่ง แต่ว่าเขาก็คงทำด้วยความหวังดี บัตรมันหายอยู่เรื่อย ตอนนี้เรารับทราบแล้ว แล้วก็ทางท่านรองแพทย์ท่านสั่งการไปแล้วว่าให้ยกเลิก ก็ให้ไปดำเนินการ
หลังจากเกิดกระแสเรื่องราวดังกล่าวขึ้นทางโรงพยาบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ สั่งให้ยกเลิกการเก็บค่ามัดจำทันที นอกจากนี้ ผอ.รพ.มุกดาหาร ยังย้ำอีกว่าหากใครโดนเรียกเก็บแล้วไม่ได้เงินคืนสามารถเข้ามาร้องเรียนได้โดยตรงเลย เข้าใจดีว่าเรื่องดังกล่าวสร้างความเดือดร้อน และความลำบากให้กับชาวบ้าน
“มันก็สร้างความลำบากไง ยุคนี้มันไม่ควรที่จะมีใครสร้างความลำบากให้ใคร ตอนแรกผมว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ว่าดูแล้วเขาก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปเอาเงินเข้าส่วนตัวอะไร เพียงแค่ว่ารับมาแล้วก็คืนไป แต่มันก็สร้างความเดือดร้อน ผมก็เลยบอกว่ายกเลิกไป
คือมันเป็นเรื่องของบางคนนะ มันไม่ใช่เรื่องของทางโรงพยาบาลที่โรงพยาบาลสั่งการ นำเรียนเบื้องต้นก่อนว่า จริงๆ ไม่ทราบ ถ้ามีปัญหาก็ช่วยแจ้งมาได้เลย จะช่วยดูแลให้
ก็ขอบคุณมากที่ช่วยสะท้อน ก็ได้บอกให้ท่านรองแพทย์ท่านไปช่วยดู ท่านก็ไปบอก เอาจริงๆ ก็ไม่มีอะไร ก็เป็นการเขาก็กลัวบัตรหายนั่นแหละ ไม่ใช่กลัวมันหายด้วยซ้ำ มันหายแล้ว
ลักษณะที่เขาให้ขึ้นมาเยี่ยม เขาก็จะพยายามทำบัตรให้มันดี ตอนแรกเขาก็พยายามจะพัฒนา แต่ผมก็ไม่รู้ทำไมถึงเก็บเงินเยอะ แล้วทำไมถึงเก็บต่างกัน แล้วก็ถ้าเก็บต่างกันมีใครที่เสียเงินไปจริงๆ ไหม ก็ลองสอบถามดู ถ้าเกิดมีใครที่ถูกเก็บเงินไปจริงๆ ก็มาแจ้งได้ เดี๋ยวจะแจ้งกรรมการตรวจสอบอีกที
แต่ว่าเบื้องต้นเท่าที่ทราบก็คือเขาคืนให้หมด มันก็ไม่มีปัญหาถ้าเขาคืน ผมก็บอกว่าแล้วอย่าทำอีก คือเรื่องนี้เขาไม่ได้มาขออนุญาตไม่ได้มาขออะไรเลย เขาคงเห็นหน้างานที่เขาทำ เพราะว่าประสบปัญหาตรงหน้างานว่ามันมีบัตรหาย แล้วเขาควบคุมไม่ได้
เนื่องจากคนที่ทำ ผมเข้าใจว่าเขาก็ไม่ได้มีเจตนาอะไรไม่ดี แล้วก็ไม่ได้มีเรื่องร้องเรียนว่าเขาไปเอาเงินมาเลย ซึ่งต่างกันนะ ถ้าไปเก็บเงินแล้วเอาของเข้ามาเลย ผมถือว่ามีความผิดแน่ ก็ต้องสอบสวนเอาความจริง แต่ว่าเรื่องนี้เท่าที่ผมไปตรวจสอบดู เขาก็บอกว่าเขาเลิกไปแล้ว ไม่มีการดำเนินการแล้ว อันนี้ผมทราบจากท่านรองแพทย์นะที่ท่านรายงานผม”
ไม่เห็นด้วยเรียกเก็บเงิน เจ้าหน้าที่มีความผิด
ไม่เพียงเท่านี้ ยังได้พูดคุยกับ นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรสาธารณประโยชน์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านต่างๆ โดยเธอให้ข้อมูลว่าหากไม่ใช่นโยบายทางโรงพยาบาลเจ้าหน้าที่ถือว่ามีความผิด
“อันนี้มีความผิด เพราะว่าถ้าไม่ใช่นโยบาย แสดงว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าหน้าที่ไหม อย่างเช่นโรงพยาบาลกำหนดว่าทุกคนที่จะเข้าเยี่ยมไข้ต้องมีบัตร แค่กำหนดแค่นี้ แต่เจ้าหน้าที่กลัวจะมีภาระว่าจะต้องไปหาบัตรมาทำให้ญาติเฝ้าไข้ใหม่บ่อยๆ เขาก็เลยตัดความรำคาญว่า ทุกคนต้องดูแลบัตร แต่ด้วยความที่บัตรมันหายบ่อย ก็เลยใช้วิธีเก็บเงินซะเลย”
หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังย้ำอีกว่า ไม่เห็นด้วยกับการเรียกเก็บเงินกับชาวบ้าน แต่ทางโรงพยาบาลควรจะมีมาตรการดูแลที่ดีกว่านี้ และคนที่มาใช้บริการก็ควรจะมีความรับผิดชอบในการดูแลบัตรเพื่อที่จะไม่ให้บัตรหาย
“ ส่วนวิธีการการเก็บมันต้องถามหาสาเหตุว่าทำไมถึงต้องเก็บ อันนี้เราคงตอบแทนโรงพยาบาลไม่ได้ เขามีเหตุผลในการเก็บว่าชาวบ้านทำบัตรหายบ่อย คิดว่ามาตรการเก็บเงินก็ไม่ใช่ประโยชน์ แต่มันเป็นมาตรการว่าถ้าบัตรคุณหาย คุณไม่มีสิทธิได้เยี่ยมไข้คนนั้นเลย อันนี้เป็นการสร้างมาตรการเพื่อให้เขาดูแลบัตรนั้นให้ดี
เพราะบางทีมันก็เป็นภาระของเจ้าหน้าที่อย่างหนึ่งว่าเดี๋ยวต้องมาทำบัตรให้ใหม่บ่อยๆ แล้วชาวบ้านก็แบบว่าถือไปก็ไม่รับผิดชอบ นึกออกไหมคะ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเกิดเป็นประชาชนทั่วไป คือบางคนเขามองว่าถ้าเก็บเงินก็จะกลายเป็นว่าทุกคนก็ดูแลรักษา
แต่ไม่ใช่ช่องทางการหาเงิน ก็คือหาเหตุยึดเงินชาวบ้านไม่ได้ อันนี้เราคิดว่าไม่ควรเก็บเงิน แต่เราสร้างมาตรการอื่นได้ อย่างเช่นถ้าเกิดว่าโรงพยาบาลจำกัดสิทธิคนเฝ้าและก็คนเยี่ยม ก็ควรจะมีมาตรการว่าบัตรไหนให้เฝ้า บัตรไหนให้เยี่ยม ก็คือแจกบัตรกันไปเลย ถ้าไม่มีบัตรห้ามเข้า
แต่ว่าการเรียกเก็บเงิน มันหมายถึงว่าโรงพยาบาลตั้งกติกายังไง อย่างเช่นคุณว่าเขาทำบัตรหาย คุณจะลิบเงินเขาหรอ หรือว่ายังไง อันนี้มันเป็นภาระนะ โรงพยาบาลก็ไม่ได้มีนโยบาย เพราะบัตรมันก็ไม่ใช่ต้นทุนอะไรมากมาย เพียงแต่ว่าคุณกำจัดสิทธิ์คนเข้าหรืออะไรก็อธิบายให้ชัดเจน ถ้าถามในความเห็นพี่มันก็น่าจะมีมาตรการอื่นมากกว่าการเก็บเงินค่าบัตร”
ข่าว : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : policemagazine24.blogspot.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **