มีเท่าไหร่ให้หมด เปิดใจ “หลวงพ่อพล” อุทิศตนเพื่อสังคม แบ่งปันความทุกข์ร้อนแก่ผู้ที่ขาดแคลน เป็นที่พึ่งให้ผู้ยากไร้ สร้างโรงทาน จัดงานศพ-บวชฟรี มอบทุนการศึกษาแก่อนาคตของชาติ ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง แบ่งปันความเดือดร้อนผ่านตู้ปันสุข ยึดหลักเป็นผู้ให้ ย่อมเป็นที่รัก พร้อมทั้งสร้างค่านิยมใหม่ พระไม่จำเป็นต้องรับ “ปัจจัย” แต่พระควรเป็นฝ่าย “ให้” ญาติโยมบ้าง จนกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่พึ่งของชุมชนมาโดยตลอด
แบ่งปันความสุข สร้างโรงทาน-มอบทุนการศึกษาเด็ก
“อาตมาคิดว่า ยังมีสิ่งดี ที่ควรทำอีกเยอะ ทุกวันนี้ยังเสียดายว่า เวลามันสั้น อยากมีเวลาเยอะๆ อยากมีหลายมือ อยากทำสิ่งดีๆ ให้สังคม”
หลวงพ่อพล-พระครูใบฎีกาสุรพล มหาปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดหนองวัลย์เปรียง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่ครองตนอยู่ในผ้าเหลืองมานาน 20 กว่าพรรษา ผู้เปี่ยมล้นด้วยเมตตา อุทิศตนเป็นที่พึ่งของคนยากไร้ จัดงานศพ งานบวช เปิดโรงทานให้ชาวบ้านกินฟรี
ด้วยความมีน้ำใจโอบอ้อมอารีชอบช่วยเหลือ ทำให้ชาวบ้านละแวกนั้นต่างเลื่อมใสศรัทธา ยกให้เป็นต้นแบบของพระนักพัฒนาอย่างแท้จริง จนกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจที่พึ่งของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดีมีจน
หลวงพ่อพลเล่าว่า ตั้งแต่เป็นพระลูกวัด หลวงพ่อได้เห็นความยากลำบากหลายอย่างของชาวบ้าน แล้วอดสงสารไม่ได้ จึงตั้งใจว่า ถ้ามีโอกาส อยากจะช่วยแบ่งเบาความทุกข์ร้อนนั้น
เมื่อหลวงพ่อได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส จึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อสงเคราะห์ชาวบ้านดังที่ตั้งใจไว้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานบวชฟรีโดยญาติโยมไม่ต้องเสียเงินสักบาท รวมถึงการจัดงานศพให้ผู้ยากไร้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ พร้อมทั้งเปิดโรงทาน “เสบียงบุญ” ให้ชาวบ้านได้ทานฟรี เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ที่ขาดแคลน หรือยากไร้
“อาตมามาคิดว่าวัดทุกวัดย่อมจะมีของเหลือใช้เยอะ ข้าวสารอาหารแห้ง แม้กระทั่งสบู่ ยาสีฟัน แฟ้บอะไรพวกนี้ เราจะทำยังไงให้เป็นประโยชน์ ซึ่งก่อนหน้านั้นอาตมาก็รับภาระกับโรงเรียน อย่างข้าวสาร พวกน้ำมันพืช น้ำปลา น้ำตาลอะไรอย่างนี้ ส่วนมากก็จะเป็นของโรงเรียน ออกค่าย ทำกิจกรรมกับส่งไปที่โรงเรียนกันดาน
แล้วอาตมาก็มาคิดดูว่ามันน่าจะทำประโยชน์ให้กับสังคม ในชุมชนเราได้มากกว่านั้น ก็เลยคุยกับท่านกรรมการกับพระว่าผมมีโครงการตรงนี้นะ ซึ่งขณะนั้นเชื่อไหมว่าอาตมายังไม่มีทุนเลยสักบาทหนึ่ง แต่เรามีใจ มีข้าวสารอาหารแห้งกับมีพระ มีกรรกการที่ดีมีใจอยู่แล้ว ก็เลยออกกันคนละเล็กละน้อย คือใหม่ๆ คิดว่าจะทำแค่ระยะสั้นๆ เริ่มด้วยข้าว อาหาร อะไรในโรงทาน
ทีนี้ข่าวนี้มันออกไปถึงโยมข้างนอกปรากฏว่าโยมข้างนอกให้การตอบรับเป็นอย่างดี เห็นว่าเป็นโครงการที่ดี ก็เลยพากันมาบริจาค เช่น ข้าวสาร เครื่องปรุง น้ำมัน แม้กระทั่งพวก หมู เห็ด เป็ดไก่ วัตถุดิบ ทุนทรัพย์
บางส่วนพวกเราก็ใส่ตู้ไว้ ก็คือเราจะมีค่าใช้จ่ายให้กับแม่ครัวบ้างบางส่วน ก็มีแม่ครัวจิตอาสาด้วย ก็กลายเป็นว่าเป็นโครงการที่โตขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งผ่านไปปีกว่าเราก็อยู่ได้ โดยที่ว่าเราไม่ต้องเอาเงินส่วนของวัด ค่าน้ำค่าไฟของวัดไปยุ่งเกี่ยวได้เลย”
สำหรับโรงทานเสบียงบุญใช้ชาวบ้านทานฟรี มานานกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งละแวกวัดมีโรงงานเยอะ ทำให้ผู้ที่ได้มาอิ่มท้องที่นี่ มีทั้งคนไทยและแรงงานพลัดถิ่น
“โรงทานที่นี่ทำมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 62 มันก็ปีกว่าแล้ว ก็คืออาตมาคิดร่วมกันกับพระ กับชาวบ้าน อาตมาคิดว่าวัดทุกวัดล้วนจะมีของเหลือใช้เยอะใช่ไหม ข้าวสาร อาหารแห้ง สบู่ ยาสีฟัน แฟ้บอะไรพวกนี้ เราจะทำยังไงให้เป็นประโยชน์
ทำไมเราไม่ลองมาหุงหาอาหารให้คนมาทานที่วัดดูบ้าง ก็เลยเอาแม่ครัวมาทำ ทีแรกทำทุกวันปรากฏว่าบริเวณนี้จะมีโรงงานอยู่เยอะ โรงงานจะมีทั้งคนไทย คนพม่า คนเขมร รวมถึงคนภาคอื่นๆ ด้วย บางคนก็อยู่ในไร่ อยู่ตามโรงงาน เขาลำบากก็เลยมาทานกัน ก็เลยคิดว่าอย่างน้อยๆ วันหนึ่งอิ่มใหญ่ๆ ซักมื้อนึงอยู่ได้แน่ๆ เลย”
ความเมตตาไม่เพียงให้การสงเคราะห์ชาวบ้านที่ยากไร้เท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับเด็กๆ อีกด้วย เพราคิดว่าเด็กคืออนาคตของชาติ
หลวงพ่อจึงมีอีกหนึ่งบทบาทคือเป็นครูสอนธรรมมะ และบรรยายธรรมทั้งในโรงเรียนเล็ก-ใหญ่ พร้อมสละปัจจัยที่ควรได้รับ ให้ทางโรงเรียนใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาของเด็กๆ มานานกว่า 10 ปีแล้ว
“แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ อาตมาก็ให้หมด ให้ทุนการศึกษา ให้ข้าวให้น้ำ แม้กระทั่งบางครั้งบ้านไฟไหม้อาตมาก็จะพาพระพาเณรไปทำบ้านให้ญาติโยม สร้างกันให้เป็นจิตปลูกฝังกันให้ในใจของพระของญาติโยม”
นอกจากนี้ ยังนำอาหารที่ได้จากการบิณฑบาต ซึ่งมีจำนวนมาก กระจายไปยังโรงเรียนที่กันดาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนขาดแคลนแก่เด็กๆ และครู ไม่เท่านั้น ที่วัดยังแบ่งปันความสุขแก่ผู้ทุกข์ร้อนยากไร้ ผ่าน “ตู้ปันสุข” อีกด้วย
“ทีแรกเลยอาตมาตั้งใจเป็นเวชภัณฑ์ อาตมาตั้งใจแบบนั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นยา พวกพาราแก้ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ แก้คัน น้ำเกลือแร่อะไรพวกนี้ แล้วก็เพิ่มสบู่ แฟ้บ ยาสีฟัน ซึ่งวัดเรามีอยู่ อาตมาก็เลยเอาตรงนี้ไปทำ
เสร็จแล้วโยมที่ชาวบ้านทั่วไปเห็นมันดีด้วย เขาก็เลยเอาพวกอาหารมาใส่ ข้าวสาร ไข่ แม้กระทั่งเสื้อผ้า เขาคงเห็นว่าเราเป็นสะพานบุญที่ดีได้”
สงเคราะห์คนยากไร้ จัดงานศพ-งานบวชให้ฟรี
ภาพคนยากไร้ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อโลงศพ ยังติดตาฝังใจหลวงพ่อพลตั้งแต่ยังเป็นพระลูกวัด หลวงพ่อจึงไม่เพียงไม่รับปัจจัย แต่ยังสะกิดพระด้วยกันให้คืนปัจจัยแก่ญาติโยมด้วย
“ตั้งแต่อาตมาเป็นลูกวัด มีโอกาสไปงานศพบางงานอาตมาเห็นว่าเขาเดือดร้อน ลำบากเรื่องค่าใช้จ่าย สำหรับคนที่มีก็อาจจะไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าไหร่นะโยม แต่บางงานอาตมาเห็นว่า บางทีเขาไม่มี ไม่มีแม้แต่เงินจะซื้อโลง หรือจะเป็นพวกอาหารที่จะทำบุญถวายพระ หรือทำทานต่างๆ
อาตมาก็ได้ไปคิดว่า มันน่าจะมีทางออกที่ดีกว่านี้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเราจะไปจมปักกับค่านิยมเก่าๆ ที่ว่าโยมเป็นผู้ให้ พระเป็นผู้รับ แม้กระทั่งการตายอย่างนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ก็คิดมาตลอดเราจะทำอย่างไรจะช่วยแบ่งเบาภาระตรงนี้”
งานศพบางงานที่เจ้าภาพขาดแคลน ไม่เพียงไม่รับปัจจัยที่เจ้าภาพทำบุญ แต่ยังมอบเงินช่วยเหลือ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเพิ่มเติมให้อีกด้วย
“บางงานอาตมาไปงานศพ ไปเจอเขามันเศร้าใจนะ บางทีอาหารจะถวายพระยังไม่มีเลย อาตมาจะสะกิดพระด้วยกันคืน คือให้โยมคืนไป แล้วต้องควักของตัวเองทำบุญเพิ่มให้ เพราะความสงสาร
นอกจากไม่รับแล้วมันก็น่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก เพิ่มยังไง ก็คือรับมาเป็นภาระของเราซะเลย เช่น โลงศพหามาให้ฟรีได้ไหม ได้ สวดฟรีได้ไหมได้ ไม่ต้องถวายปัจจัยได้ไหม ได้ ถ้ามีอะไรเราก็แบ่งเบาภาระจัดการให้ตรงนั้นเลย
ประเพณีอย่างคนไทยเราก็คือ เมื่อมีการตายขึ้นมาสิ่งแรกเลยคืออะไร โลง วัดเรามีแล้ว สองคือสถานที่เรามีแล้ว โยมคงนึกว่าแล้วคนจัดละ ดอกไม้ เครื่องแสง อุปกรณ์ต้องใช้จ่ายไหม สำหรับที่นี่ไม่ต้องเรามีพร้อมทุกอย่าง พระเณร แม้กระทั่งกรรมการก็ช่วยกันจัด พระพร้อม สถานที่พร้อม โลงพร้อม แม้กระทั่งสัปปะเร่อพร้อม”
การจัดงานศพฟรีแก่ผู้ยากไร้ของหลวงพ่อพลและวัดหนองวัลย์เปรียง อาจพิเศษกว่าวัดทั่วไป เพราะที่นี่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับญาติโยมดุจญาติมิตร แต่ยังให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ โดยทั้งพระทั้งเณรจะลงสวดหมดทั้งวัด
“อย่างเรื่องโลงศพ ใหม่ๆ เราก็จะบอกบุญกับญาติโยม ปัจจุบันนี้คนที่ทำบุญโลงศพเยอะ แล้วอาตมาโชคดีว่าโยมจะเอาโลงมาถวายเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นข่าวที่แพร่ออกไปโยมก็จะเอาโลงมาถวาย
ส่วนสัปปะเร่อนั้นเข้าใจถูกแล้วว่าต้องมีค่าใช้จ่าย แต่สัปปะเร่อจริงๆ แล้ว เขาก็ไม่ได้เรียกร้องนะที่นี่ อาตมามีนโยบายให้ข้อคิดกับสัปปะเร่อไว้ คนที่เป็นสัปปะเร่อต้องมีจิตสาธารณะอย่าไปเรียกร้อง แล้วแต่เขาจะให้
แต่สำหรับศพฟรีอาตมาก็ไม่ไปตัดกำลังใจเขา อาตมาจะรับมาเป็นภาระเอง ก็คือจะให้เองเท่านี้อยู่ได้ ถ้าถามว่าอาตมาเอาเงินมาจากไหนจ่ายค่าสัปปะเร่อ ส่วนหนึ่งอาตมาไปเทศน์ หรือไปกิจนิมนต์อาตมาก็จะเอาส่วนนี้ไปให้บ้าง
ตรงนี้มันก็เลยไม่เดือดร้อน ค่าศาลาไม่ต้องเก็บ ค่าถวายพระไม่ต้องเก็บ ค่าน้ำค่าไฟไม่มีปัญหา เราอนุเคราะห์ฟรีทั้งหมด และที่น่าจะปลื้มใจให้ญาติโยมภูมิใจได้ก็คือ พระเณรที่นี่จะลงสวดหมดทั้งวัดเลย”
นอกจากจัดงานศพฟรี ยังจัดให้มีการบวชฟรี เพราะสงสารญาติโยมหลายครบครัวที่ขัดสน อยากบวชลูกหลานแต่ขาดแคลนปัจจัย
“เรื่องบวชนี่ก็เหมือนกัน ตั้งแต่อาตมาเป็นลูกวัดอีกนั่นแหละ ไปงานบวช บางงานเขาจัดใหญ่โตอย่างนั้นไม่เป็นไรนะเขากำลังทรัพย์พร้อม บางงานนี่งานบวชอาตมาเคยไปคุยกับโยมพ่อโยมแม่ของพระ หรือกระทั่งยังไม่ได้บวชมาปรึกษาว่าค่าบวชพระ อาจารย์ บูชา อุปชาย์ สวด ค่าน้ำมันรถ ค่าคนขับ ค่าของชำร่วย ค่าเลี้ยงดูแขก บางทีก็เป็นหมื่น บางทีก็เป็นหนี้เป็นสิน เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
ซึ่งการบวชจริงๆ แล้วไม่ต้องบวชให้ใหญ่โตเราก็ได้บุญ โยมไปยึดถือประเพณีปฏิบัติ ประเพณีนิยมกันมาก บางคนก็มาปรึกษาว่าทำยังไง อยากจะบวชแล้ว มันไม่พอ ถ้าเรามีโอกาสเราก็อยากจะทำโครงการดีๆ อีกสักโครงการหนึ่ง
ปีหนึ่งเราจัดการบวชฟรีให้สักครั้งหนึ่งดีไหม ก็เหมือนเดิมเรียกคุยกับกรรมการ พระทั้งวัดบอกว่าเรามีโอกาสจะทำบุญแล้ว อาตมาอยากมีโครงการดีๆ แบบนี้มานำเสนอพระลูกวัด พระคุณเจ้า โยมกรรมการจะเห็นดีด้วยไหม
ซึ่งทุกคนก็เห็นดีด้วยมันก็ดีเหมือนกัน ปีนึงเราได้ทำบุญกันบ้าง โดยเฉพาะการบวชพระ มีโอกาสจะสร้างศาสนทายาทของพระศาสนา บุญใหญ่เนอะ
ก็เลยว่าปีนึงเราให้หนึ่งครั้งคือก่อนเข้าพรรษา 1 อาทิตย์ คือคนอยากจะบวชมาบวชได้เลย ไม่ต้องจ่ายเลยสักบาทหนึ่ง เรามีข้าวมีน้ำเลี้ยงอีกต่างห่าง”
แม้จะเป็นวัดเล็กๆ นอกจากสร้างโรงทาน จัดงานศพ งานบวชฟรีแก่ผู้ที่ขาดแคลน และยังมีอีกหลายโครงการที่ทำเพื่อสงเคราะห์คนยากไร้ ไม่ว่าจะเป็นการนำสิ่งของไปมอบให้ผู้ป่วยติดเตียง ตั้งตู้ปันสุขที่วัด และที่สำคัญคือมอบทุนการศึกษาให้เด็ก ที่เป็นอนาคตของชาติ
สร้างค่านิยมใหม่ พระคือ “ผู้ให้”
กว่า 20 พรรษาที่อุทิศตนเพื่อพระศาสนา เปี่ยมไปด้วยเมตตาและเป็นผู้ให้อย่างแท้จริง ให้ทุกสิ่งที่สามารถให้ได้ ให้คนยากไร้ ได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะเป็นการบวชลูกหลานโดยไม่ต้องใช้เงินสักบาท
ให้คนยากจนที่ขาดแคลน แม้กระทั่งเงินซื้อโลงศพ สามารถจัดงานศพได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ หลวงพ่อและพระวัดนี้พร้อมจัดหา และรับเป็นภาระทุกสิ่งอย่างแทน
“ประการแรกที่อาตมาได้รับก็คือ สุขกาย สุขใจ แล้วอันต่อมาก็คือญาติโยมเริ่มเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญในการให้ก็คือญาติโยมได้เอาไปประพฤติปฏิบัติตาม
พูดถึงการให้ เชื่อไหมย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้วอาตมาเกือบไมได้เป็นพระ อาตมาเจอวิกฤติในการดำเนินชีวิต อยากจะสึก แต่มามองดูแล้วอาตมาไม่มีปัจจัยเลยในขณะนั้น ก็เพราะการให้ของอาตมานี่แหละ”
นอกจากนี้หลวงพ่อพลยังสร้างค่านิยมใหม่ และให้ข้อคิดที่น่าเลื่อมใสกับพระทุกรูปด้วยว่า พระไม่จำเป็นต้องรับปัจจัย หรือรอให้ญาติโยมมาทำบุญเท่านั้น แต่พระสามารถเป็นผู้ให้และทำบุญให้ญาติโยมได้เช่นเดียวกัน
กว่าหลายปี ที่ทางวัดประกาศจัดงานฌาปนกิจศพให้ญาติโยม โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ยิ่งสร้างศรัทธา และทำให้ชาวบ้านอยากเข้าวัดทำบุญมากขึ้น ซึ่งนับว่าจุดประกายสังคมแห่งการแบ่งปันให้เกิดขึ้นในหัวใจของญาติโยมและชุมชน
“ มีเท่าไหร่ให้หมด ก็เลยไม่มีปัจจัยติดตัว ก็เลยมานึกว่าสึกไม่ได้ไม่มีปัจจัยติดตัว ก็ยังนึกอยู่ว่าถ้าวันนั้นอาตมามีปัจจัยจากการเก็บสะสม ไปยึดติด ก็คงไม่มีพระอย่างอาตมาในวันนี้
นี่ไงคืออานิสงส์ที่เราไม่ยึดติด เป็นผู้ให้เราถึงมีวันนี้ แล้วที่วัดหนองวัลย์เปรียงตอนนี้ ที่เจริญขึ้น มีผู้คนเข้ามาเพราะอาตมายึดหลักที่ว่าเป็นผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก”
แม้สิ่งที่หลวงพ่อทำจะมีมากมายหลายโครงการ และทำให้เหนื่อยมากพอสมควร แต่ไม่เคยท้อ กลับต้องการทำสิ่งดีๆ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ไปเรื่อยๆ
“ถามว่าเหนื่อยไหมอาตมายอมรับว่าเหนื่อย ถามว่าท้อไหมไม่ท้อ นอกจากเหนื่อยและไม่ท้อแล้ว อาตมายังคิดว่าอาตมาตั้งใจในสิ่งที่ว่าสิ่งที่ดีในวันนี้มันยังมีอีกเยอะที่เราจะต้องทำ สิ่งที่ควรทำยังมีอีกเยอะ
ทุกวันนี้อาตมายังนึกเลยว่าอาตมาเสียดายเวลามันสั้น มือเท้าเรามันน้อยไปกับสิ่งที่ใจอาตมาอยากทำ กับการทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม
บางครั้งก็ยังพูดเลยว่าเสียดายอยากจะมีหลายๆ มือ อยากจะมีเวลาเยอะๆ อยากจะทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม”
สัมภาษณ์ รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
เรียบเรียง : MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “มหา ปัญโญ”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **