xs
xsm
sm
md
lg

หมดเป็นแสน แขนยังไม่เคยเห็น!! อุทาหรณ์ “หนุ่มโอนไว” เสี่ยงเกมพลิกเพราะประจานมิจฉาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หนุ่มขอนแก่นพบรักออนไลน์กับสาวสวย คุยกัน 2 ปีไม่เคยเห็นหน้าจริง แถมโอนเงินให้นับแสน มารู้ภายหลัง “ชื่อปลอม-รูปปลอม-เฟซบุ๊กปลอม” สุดท้ายติดต่อไม่ได้หายเข้ากลีบเมฆ ตัดสินใจโพสต์ข้อมูลมิจฉาชีพสาว หวังโซเชียลฯ ช่วยหาเบาะแส แต่กลับเสี่ยงกลายเป็นฝ่ายผิดซะอย่างนั้น!!
คุย 2 เดือน หมดเป็นแสน!

“หนุ่มขอนแก่น (ผู้เสียหาย) ขออนุญาตแจ้งข้อมูลบุคคลผู้ต้องหาเอารูปคนอื่นปลอมเฟซและฉ้อโกง ตอนนี้ผมได้แจ้งความไว้แล้วที่ สภ.เมืองขอนแก่น ชื่อ น.ส.ลักขณา (สงวนนามสกุล) ตามทะเบียนบ้าน 71 ม.1 ต.บางลูกเสือ อ.องครักษ์ จ.นครนายก เบอร์ 06-4774-XXXX ซิมเพนกวิน คุยล่าสุดวันศุกร์ที่ 24 เมษายน 63 ตอนนี้ติดต่อไม่ได้ พ่อนางบอกไปทำงานดูแลผู้สูงอายุแต่ไม่รู้ที่ แต่ตอนนี้พ่อก็ไม่รับโทรศัพท์ รบกวนช่วยเป็นสื่อให้ด้วยครับ จะขอบพระคุณมาก”
กลายเป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์สนั่นโลกโซเชียลฯ หลังจากที่เพจเฟซบุ๊ก ที่นี่ “นครนายก” เปิดเผยเรื่องราวร้องทุกข์หนุ่มขอนแก่นวัย 39 ปี ที่ถูกหญิงสาวนางหนึ่ง หลอกใช้ชื่อและภาพของสาวสวยคนอื่นมาทำความรู้จัก เธออ้างตัวว่าเป็นนักธุรกิจบ้านจัดสรรในจังหวัดชลบุรี ชื่อว่าพราว มีการพูดคุยกันผ่านข้อความและทางโทรศัพท์กับเหยื่อ

เมื่อพูดคุยกันเป็นที่ถูกใจ มิจฉาชีพสาวก็ได้หว่านล้อมให้ชายหนุ่มคนนี้โอนเงินให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าที่พักที่ทั้งคู่นัดกันไปเที่ยว แต่สุดท้ายทริปก็ล่ม รวมถึงค่าแหวน ชุดคู่ เสื้อคู่ รองเท้าคู่ แก้วคู่ โดยมีการโอนครั้งแรกคือ 11 ต.ค.61 และครั้งสุดท้ายคือ 25 ธ.ค.61 ระยะเวลาเพียง 2 เดือน เขาโอนเงินให้เธอทั้งหมด 26 ครั้ง รวมเป็นเงิน 107,450 บาท





จนปี 62 แม้จะไม่มีการโอนเงินให้แล้ว แต่ทั้งคู่ก็ยังคุยกันในลักษณะของคนรัก เมื่อฝ่ายชายขอวิดีโอคอลเพื่อคุยแบบเห็นหน้า ฝ่ายหญิงก็จะปฏิเสธทุกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าไม่ชอบ รวมถึงการนัดเจอก็จะบ่ายเบี่ยงเสมอ ตลอดเวลาที่คุยชายหนุ่มเกิดความสงสัยและพยายามสืบหาตัวตนจริงๆ ของเธอ แต่สุดท้ายก็ไม่พบ


กระทั่งเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ฝ่ายชายลองเช็กข้อมูลอีกครั้ง จนเจอสาวสวยเจ้าของรูปภาพตัวจริง และพบว่ามิจฉาชีพรายนี้นำข้อมูลและภาพของสาวสวยตัวจริงมาใช้ในเฟซบุ๊กที่ปลอมขึ้นทั้งหมด เหยื่อได้คุยกับมิจฉาชีพรายนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 เม.ย.63 ซึ่งเจ้าตัวสารภาพและอ้างจะคืนเงินให้ทั้งหมด แต่ถึงขณะนี้ก็ยังติดต่อสาวรายนี้ไม่ได้

เขาได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อมิจฉาชีพสาวเป็นที่เรียบร้อย พร้อมกับโพสต์เล่าถึงพฤติกรรม ตลอดจนรูปภาพหน้าจริงและข้อมูลต่างๆ และจะมอบสินน้ำใจจำนวน 5,000 บาท ให้ใครก็ตามที่ให้เบาะแสจนนำไปสู่การนำจับกุมได้



[หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นมิจฉาชีพ]
แม้จะผ่านมาหลายยุคหลายสมัย แต่การหลอกลวงลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้นเสมอ ประหนึ่งหนังม้วนเดิมแต่เปลี่ยนเพียงแค่ตัวละคร เพื่อความชัดเจนถึงประเด็นทางข้อกฎหมาย ทางทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยจาก เกิดผล แก้วเกิด ทนายความชื่อดัง เขาให้ข้อมูลว่า หากพบว่ามีความผิดจริง ต้องเจอโทษหลายกระทง ทั้งจำทั้งปรับจนอ่วม!

“เราจะดูจากพฤติการณ์หรือเจตนาของฝ่ายหญิงเป็นหลักนะ มีการปลอมทั้งเฟซบุ๊ก เอารูปคนอื่นมาใส่ แล้วก็มาหลอกลวงผู้ชายเพื่อให้หลงเชื่อหรือหลงรัก ก็แสดงว่ามีเจตนาที่จะปิดบังข้อความจริงที่ควรบอกควรแจ้ง หรือมีเจตนาที่จะหลอกลวงมาตั้งแต่ต้น กรณีแบบนี้เชื่อว่ามีเจตนาฉ้อโกงครับ คือหลอกให้เขาเสียหายด้วยทรัพย์สิน ได้ไปด้วยทรัพย์สินของเขา ซึ่งฝ่ายชายอาจจะให้ด้วยความเต็มใจหรือเสน่หาก็ได้

[ทนายเกิดผล แก้วเกิด]

ในกรณีที่ผู้หญิงหลอกลวง ผิด 2 ข้อหานะครับ 1.ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท และการที่เอารูปภาพคนอื่นมาใช้โดยที่เจ้าของไม่ยินยอม มาหลอกลวงคนอื่น เจ้าของภาพย่อมเป็นผู้เสียหาย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทครับ”


สำหรับความคืบหน้าของเรื่องราวนี้ ล่าสุด ตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุได้สอบปากคำและรวบรวมหลักฐานจากผู้เสียหาย และเตรียมออกหมายเรียกมิจฉาชีพรายนี้มาสอบสวนต่อไป ทางด้านของสาวสวยเจ้าของภาพตัวจริง ก็จะมีการดำเนินคดี ในกรณีที่ภาพของเธอถูกนำไปสร้างเฟซบุ๊กปลอมเพื่อหลอกลวงคนอื่นด้วยเช่นกัน
ประจานผู้ร้าย หวิดเข้าคุกเอง!

“ไม่ว่าจะโดนโกงอะไรหรือหลอกลวงอะไรก็ห้ามประจานครับ เพราะว่าการประจานกันกฎหมายยังไม่พิสูจน์เลยว่าเขาโกงหรือไม่โกง เป็นฟังความข้างเดียว”

อีกประเด็นที่ทนายดังได้พูดถึง หากวันใดวันหนึ่งเราๆ ท่านๆ เกิดตกเป็นผู้เสียหายในลักษณะนี้ สิ่งสำคัญคือการไม่นำข้อมูลของมิจฉาชีพมาเผยแพร่ลงสื่อสาธารณะ เพราะไม่เช่นนั้น ตนเองอาจมีความผิดไปด้วย!


“ไม่ควรเลยครับ ถ้าสมมติว่าเป็นเรื่องของการฉ้อโกงจริงๆ ในทางกฎหมายเขาไม่ให้ประจานกัน ถ้ามีอะไรให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ ฟ้องร้องต่อศาล การนำบุคคลอื่นมาประจานกันทั้งๆ ที่ศาลยังไม่ได้ตัดสินคดี หรือข้อเท็จจริงยังไม่ทันยุติ

มันอาจจะเป็นการพูดของเขาฝ่ายเดียว เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา การเอารูปของเขามาเปิดเผย เอาข้อมูลของเขามาประจาน เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาทครับ”
ส่วนการป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่เข้ามาทางโลกโซเชียลฯ นั้น ทนายเกิดผล กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะระวังตัว เพราะแม้จะมีการโชว์บัตรประชาชน ก็อาจเป็นบัตรที่ปลอมมาได้

“การวิดีโอคอลมันป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ได้ทั้งหมด เพราะยอมพูดคุยกับเราก็จริง เรารู้แต่หน้า แต่ไม่รู้ข้อมูลอะไรเขาเลย เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ เลขที่บัญชี อาจจะเป็นของคนอื่นที่เขาเอามาหลอกเราอีกทีก็ได้ มันป้องกันได้แค่เห็นว่าคนนี้เป็นใครเท่านั้นเองครับ ซึ่งมันควรจะมีข้อมูลมากกว่านั้นนะครับ แม้กระทั่งบางคนยอมให้ดูบัตรประชาชนเลย แต่ก็เป็นบัตรประชาชนปลอมอีกก็มี”

สุดท้าย กุรูกฎหมายชื่อดัง ได้ฝากคำแนะนำไปถึงพี่น้องประชาชนในการใช้สื่อโซเชียลฯ เพราะทุกวันนี้กลายเป็นช่องทางให้มิจฉาชีพเข้ามาหากินได้ง่าย โดยเฉพาะสภาวการณ์ที่ทุกคนลำบากดังเช่นตอนนี้

“สำหรับประชาชนที่ในภาวะเช่นนี้ ข้าวยากหมากแพง ตกทุกข์ได้ยาก สิ่งที่ต้องพึงระวังคือมิจฉาชีพที่แอบแฝงเข้ามาในเรื่องของความเห็นใจและความช่วยเหลือ เขาจะแอบแฝงเข้ามาว่ามีรายได้ มีงาน มีสิ่งต่างๆ ที่จะให้เราแลกเปลี่ยน และให้เราหลงเชื่อ
ส่วนใหญ่มาในลักษณะให้บริจาคโดยขอเลขบัญชีเรา ให้เราบอกแล้วก็เอาเลขบัญชีไปหลอกลวงคนอื่นอีกทีนึง ซึ่งกว่าจะรู้ตัว เราก็ถูกมิจฉาชีพหลอกใช้ เราก็กลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักใคร ให้ระมัดระวังว่า ของฟรีไม่มีในโลก เราไม่รู้จักเขาดีพออย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากนะครับ”

ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก ที่นี่ “นครนายก”





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น